Posted: 24 Aug 2017 03:19 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

สื่อต่างประเทศนำเสนอข่าวกรณีที่กลุ่มนักธุรกิจจีนเข้ามาสำรวจพื้นที่คอคอดกระร่วมกับคนในพื้นที่และอดีตนายพลเกษียณอายุชาวไทย ทำให้ประเด็นการสร้างคอคอดกระกลับมาอีกครั้ง พร้อมคำถามว่านี่จะกลายเป็นการแผ่อิทธิพลจีนในรูปแบบใดบ้าง ไทยจะมีศักยภาพมากพอในการดีลเรื่องนี้หรือไม่ และใครที่จะเสียประโยชน์ นอกจากไทยแล้วใครที่มีโอกาสได้ประโยชน์อย่างแท้จริง


ที่มาของภาพประกอบ: Google Maps

24 ส.ค. 2560 สื่อต่างประเทศอย่างเดอะนิวส์เลนและนิคเคอิเอเซียนรีวิวนำเสนอเรื่องแผนการสร้างคอคอดกระเชื่อมระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นโครงการที่ได่รับเงินสนับสนุนจากนักธุรกิจจีน แม้ว่าจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" อย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตามโครงการนี้เป็นสัญญาณเตือนเรื่องที่น่ากังวลอย่างการพยายามแผ่อิทธิพลจากจีนเพื่อครอบงำภูมิภาค นอกจากนี้โครงการนี้อาจจะทำให้เกิดผู้แพ้และผู้ชนะในระดับที่ห่างชั้นกันมากได้

เอเซียนนิคเคอิอ้างอิงเรื่องนี้จากแหล่งข่าวเป็นชาวประมงชื่อสิทธิชัย อายุ 48 ปี เขาบอกว่าเมื่อปีที่แล้วมีกลุ่มนายพลวัยเกษียณจากกรุงเทพฯ และนักธุรกิจจากจีนเรียกตัวเขา เพราะมีคนในพื้นที่บอกว่าเขารู้จักชายฝั่งแห่งนี้ดี พวกเขาจ้างสิทธิชัยให้เป็นไกด์และถามความคิดเห็นเขาเกี่ยวกับโครงการขุดคอคอดกระ ซึ่งเป็นโครงการเมกะโปรเจกต์มูลค่า 28,000 ล้านดอลลาร์ ที่จะเป็นการขุดเส้นทางน้ำ 135 กิโลเมตร

นิคเคอิระบุว่าการสร้างคอคอดกระดังกล่าวจะเป็นทางลัดที่ไม่ต้องผ่านพื้นที่ช่องแคบมะละกา โดยช่องแคบมะละกานั้นมีความคับคั่ง เสี่ยงต่อสินค้าหนีภาษี และมีความอ่อนไหวทางยุทธศาสตร์ แต่ก็เป็นเส้นทางการค้าที่คับคั้งที่สุดจากการที่มันเชื่อมระหว่างจีน ญี่ปุ่น และประเทศเอเชีตะวันออกอื่นๆ กับประเทศแถบที่มีน้ำมันอย่างตะวันออกกลางและตลาดใหญ่ในยุโรป แอฟริกา และอินเดีย การผ่านคอคอดกระย่นระยะการเดินทางลงอย่างน้อย 1,200 กม. ประหยัดวันเวลาเดินเรือลงได้ราว 2-3 วัน และเป็นเส้นทางทางเลือกใหม่สำหรับทางผ่านของเรือนพื้นที่ที่มีเรือผ่าน 84,000 ลำ ในปี 2559

กลุ่มนายพลเกษียณอายุของไทยรวมตัวกันเป็นองค์กรที่ชื่อสมาคมศึกษาและพัฒนาคอคอดกระร่วมมือกับมหาวิทยาลัยปักกิ่งของจีนกับบริษัทจีนอีกแห่งหนึ่งที่ไม่เป็นที่รู้จัก โดยบริษัทนี้ให้ทุนในการศึกษาประเมินการสร้างคอคอดกระถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" อย่างเป็นทางการก็ตาม

เดอะนิวส์เลนส์ระบุว่าแนวคิดจะทำเส้นทางผ่านคอคอดกระนั้นมีมานานแล้วตั้งแต่ยุคคริสตศตวรรษที่ 19 ซึ่งอังกฤษและฝรั่งเศสเคยพยายามหาหนทางสร้างมาก่อนหน้านี้ แต่ก็เห็นว่ายากเกินไป อย่างไรก็ตามทางการอังกฤษเคยมีบันทึกว่าราชวงศ์แห่งสยามเคยทรงให้คำมั่นไว้ว่าจะไม่ให้ใครอื่นมาสร้างด้วยเช่นกัน ในช่วงคริสตทศวรรษ 1930s ก็เคยมีมีความกลัวว่าญี่ปุ่นจะมีแผนการสร้างคอคอดกระเพื่อให้ส่งกองทัพเรือไปโจมตีอังกฤษได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องผ่านฐานทัพอังกฤษในสิงคโปร์ แผนการจะสร้างทางผ่านจุดนี้มีมานานแต่ดูเหมือนว่านายทุนจากจีนจะกำลังมองโอกาสนี้

มีนักวิเคราะห์บางส่วนแสดงความกังวลในแง่ความมั่นคงว่าอาจจะทำให้จีนสามารถนำเรือบรรทุกน้ำมันผ่านได้ง่ายขึ้นขณะเดียวกันก็สามารถส่งเรือรบไปยังมหาสมุทรอินเดียได้ง่ายขึ้นด้วย โดยที่จีนส่งสัญญาณว่ากองทัพเรือของพวกเขาดูเตรียมพร้อมมากขึ้นในแถบทะเลอินเดียช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีการเปิดท่าเรือแห่งใหม่ที่จิบูตีเป็นแห่งแรก

กระนั้นคอคอดกระอาจจะส่งในแง่ของการขนส่งทางเศรษฐกิจมากกว่าความมั่นคง ขณะที่คอคอดกระอาจจะส่งผลดีต่อการเป็นศูนย์บริการแห่งใหม่สำหรับทางผ่านท่าเรือโดยไม่ต้องพึ่งพาสิงคโปร์นั่นทำให้สิงคโปร์เสียประโยชน์จากการเป็นผู้ให้บริการทางผ่านท่าเรือมาโดยตลอด นับตั้งแต่ที่สิงคโปร์เปิดเส้นทางการค้าฝิ่นอินโด-แปซิฟิก อาศัยความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์สร้างความมั่งคั่งมาโดยตลอดจากการเป็นศูนย์รวมหรือ "ฮับ" จากบริการอย่างธนาคารไปจนถึงบริษัทกฎหมาย

เดอะนิวส์เลนส์ประเมินว่าผู้ที่จะได้รับประโยชน์มาที่สุดจากคอคอดกระคือศรีลังกาที่กลายเป็นแหล่งวางโครงการท่าเรือใหม่ของจีน รวมถึงโครงการเมืองท่าโคลอมโบที่อื้อฉาวโดยอยู่ภายใต้การควบคุมของจีนซึ่งทางการศรีลังกาหวังว่าจะทำให้ช่วยแก้ปัญหาในประเทศที่ตกค้างมาจากสงครามกลางเมือง 30 ปีได้ ขณะเดียวกันก็เป็นการสกัดกั้นนักลงทุนใหญ่ๆ อย่างญี่ปุ่นไปในตัว

ขณะที่สิงคโปร์กำลังประสบปัญหาการขนถ่ายทางเรือจากอินเดียลดลงพวกเขาก็มีความตระหนักถึงภาวะเสี่ยงตรงนี้ และเริ่มประเมินศรีลังกาในฐานะคู่แข่งมากขึ้น ขระเดียวกันก็เล็งเห็นว่าศรีลังกาเองก็ยังมีปัญหาที่จะต้องจัดการก่อนที่จะสามารถแข่งขันการบริการมูลค่าสูงที่มีความซับซ้อนได้

นอกจากสิงคโปร์แล้วแน่นอนว่าชาวบ้านในพื้นที่ของไทยย่อมเสี่ยงได้รับผลกระทบจากโครงการนี้ นิคเคอิอ้างว่าขณะที่ทหารเกษียณเหล่านี้ยืมเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพลาดตระเวณพื้นที่จุดนี้ ในทางภาคพื้นดินพวกเขาก็ออกโครงการหว่านล้อมชาวบ้านที่ได้อาจจะรับผลกระทบจากโครงการนี้จนมีการลงนาม 100,000 รายชื่อสนับสนุนการสร้าง

อย่างไรก็ตามมิคเคอิประเมินว่าโครงการนี้ยังมีอุปสรรคเนื่องจากไม่ใช่ประเด็นหลักลำดับต้นๆ ที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สนใจ ทำให้ผู้สนับสนุนโครงการนี้หวังว่าจะผลักดันในรัฐบาลถัดไป อีกประการหนึ่งคือการสนับสนุนจากประชาชนทั่วไป ผู้ที่ต้านการสร้างคอคอดกระกังวลในเรื่องความมั่นคงที่จะให้มีช่องทางผ่านประเทศ รวมถึงความกลัวเรื่องการแบ่งแยกดินแดนจากสามจังหวัดภาคใต้

ทั้งนี้ นิโคลัส ฟาร์เรลลี นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) ยังคงไม่แน่ใจว่าประเทศไทยจะมีศักยภาพมากพอในการดำเนินข้อตกลงครั้งนี้หรือไม่ ทั้งในเรื่องการจัดหาทุนมากพอจะดำเนินการขุดครั้งใหญ่ในอีกไม่นานนี้ อย่างไรก็ตามถ้าหากนายพลเกษียณอายุที่สนับสนุนเรื่องนี้อ้างต่อรัฐบาลเผด็จการทหารว่าเป้นการส่งเสริมเศรษฐกิจของไทยที่กำลังเปราะบาง ก็มีโอกาสที่จะมีการดำเนินโครงการนี้

เรียบเรียงจาก

Alarm Bells Ringing over Thailand's Chinese-Funded Canal Plans, The News Lens, 23-08-2017
Influential Thais in push for Kra Canal project, Nikkei Asian Review, 07-08-2017

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.