อนุสรณ์ ธรรมใจ
Posted: 24 Aug 2017 09:57 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
อนุสรณ์ ธรรมใจ ชี้การตัดสินคดีรับจำนำข้าวเป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของประทศ การดำเนินนโยบายสาธารณะใดๆ รวมทั้งรับซื้อ 15,000 บ/เกวียน นั้น หากเกิดความผิดผลาดโดยไม่เจตนาทุจริตไม่ควรรับผิดทางอาญา แต่ต้องรับผิดชอบในทางการเมือง
24 ส.ค.2560 รายงานข่าวแจ้งว่า อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวว่า การตัดสินคดีรับจำนำข้าวพรุ่งนี้ (25 ส.ค.60) เป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของประทศ การดำเนินนโยบายสาธารณะใดๆ รวมทั้งการับซื้อข้าวที่ 15,000 บาทต่อเกวียน นั้น หากเกิดความผิดผลาดหรือเสียหายโดยไม่เจตนาทุจริตไม่ควรรับผิดทางอาญา หากเกิดความเสียหายจากการดำเนินนโยบายโดยเกินควบคุมต้องรับผิดชอบในทางการเมือง ให้ประชาชนตัดสินผ่านการเลือกตั้งหรือลงประชามติ ส่วนการรับผิดทางแพ่งต้องสอบสวนให้ละเอียดรอบคอบและต้องรอให้ผลกระทบ ทั้งทางบวกทางลบ แสดงผลอย่างชัดเจนก่อนในระยะยาว หากผิดต้องลงโทษทางแพ่ง ฉะนั้นไม่ควรด่วนสรุปขณะนี้ ต้องยึดหลักความเป็นธรรม และ หลักนิติรัฐ
อดีตกรรมการและผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี แนะนำให้ใช้วิธีการแทรกแซงราคาโดยตรงด้วยการรับจำนำข้าวหรือประกันราคาจะมีประสิทธิภาพมากกว่า รัฐบาลควรมีมาตรการสนับสนุนชาวนาจัดตั้งบริษัทหรือสหกรณ์เพื่อการเกษตรในการเพิ่มอำนาจต่อรองในโครงสร้างตลาดและโครงสร้างการผลิต เพราะขณะนี้ ข้าวเปลือกราคาตกต่ำ ราคาข้าวสารที่บริโภคและราคาข้าวส่งออกไม่ได้ปรับตัวลดลงมากนัก ส่วนต่างตรงนี้ไม่ตกถึงมือคนส่วนใหญ่ โครงสร้างตลาดไม่มีการแข่งขันดีนัก มีอำนาจผูกขาดของกลุ่มทุนธุรกิจขนาดใหญ่อยู่ แต่รัฐบาลไม่ควรเข้าไปผูกขาดตลาดเองเพราะจะสร้างปัญหาไม่ต่างกันหรืออาจจะแย่กว่า จึงขอให้ “รัฐบาล” ศึกษาหามาตรการในการปรับโครงสร้างส่วนนี้ให้ดีขึ้นก็จะทำให้แก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณและภาระทางการคลัง
นโยบายแทรกแซงราคาหรือพยุงราคา ไม่ว่าจะเป็นนโยบายรับจำนำ นโยบายประกันราคาก็ตาม อนุสรณ์ มองว่า รัฐบาลควรนำมาใช้ระยะหนึ่งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวนาหรือเกษตรกรเมื่อราคาพืชผลตกต่ำและผันผวนเท่านั้น ที่สำคัญ รัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนวิธีการรับจำนำเสียใหม่ ไม่ให้กลายเป็น การผูกขาดการค้าข้าวโดยรัฐบาล หรือ ตั้งราคาจำนำสูงเกินกว่าราคาตลาดมากๆ ซึ่งอาจเป็นการส่งสัญญาณราคาที่บิดเบือน ทำให้มีการขยายพื้นที่ปลูกข้าวเกินพอดีเกินศักยภาพและเบียดบังพื้นที่เพาะปลูกพืชผลประเภทอื่น การแทรกแซงราคาที่ฝืนกลไกตลาดไม่สามารถทำได้ในระยะเวลานานๆเพราะจะส่งผลเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ ระบบตลาด ระบบการผลิตและฐานะทางการคลังของรัฐบาล และไม่สามารถสร้างรายได้หรือชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาหรือเกษตรกรให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนได้ หลังจากที่รายได้เกษตรกรมีความมั่นคงด้วยการจำนำข้าวแล้ว ก็มุ่งไปที่การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มอำนาจของเกษตรกรในโครงสร้างการผลิตและโครงสร้างการตลาด
12 ข้อเสนอนโยบายภาคเกษตร-แก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ
อนุสรณ์ คาดการณ์อีกว่า ราคาข้าวและราคาสินค้าเกษตรอื่นๆที่ตกต่ำจะทำให้กำลังซื้อในภาคชนบทชะลอตัวลง ส่งผลต่อกิจกรรมเศรษฐกิจต่างๆในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือบางจังหวัด อย่างไรก็ตาม ภาคส่งออกที่กระเตื้องขึ้น ภาคท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่องจะทำให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้ไม่ต่ำกว่า 3% โดยจีดีพีไตรมาสสามน่าจะเติบโตสูงสุด ส่วนไตรมาสสี่เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงเล็กน้อยจากไตรมาสสาม
สำหรับข้อเสนอในเรื่องนโยบายภาคเกษตรและแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำนั้น อดีตกรรมการและผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะฯ มีข้อเสนอดังต่อไปนี้
ข้อแรก ต้องมีการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร เริ่มต้นตั้งแต่ปฏิรูประบบข้อมูลที่ดินเพื่อการเกษตร กำหนดเพดานการถือครองที่ดินอย่างเหมาะสม กำหนดเขตการใช้ที่ดินและแผนการใช้ที่ดิน จัดตั้งกองทุนที่ดินเพื่อเกษตรกร รวมทั้งการพลักดันให้มีการเก็บภาษีที่ดินเพื่อกระตุ้นให้นำที่ดินรกร้างว่างเปล่ามาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการผลิต
ข้อสอง ไทยต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนต่อ ไตรลักษณะของภาคเกษตรกรรมของไทย อันประกอบด้วย เกษตรดั้งเดิม เกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เกษตรอินทรีย์ทางเลือก ในขณะที่โลกเผชิญความท้าทายทางด้านความมั่นคงอาหารและพลังงาน
ข้อสาม ใช้ เทคโนโลยี การบริหารจัดการความรู้ เพื่อ เพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปสินค้าเกษตร (ข้าวหรือสินค้าเกษตรอื่นๆ)
ข้อสี่ เพิ่มรายได้เกษตรกรด้วยการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนการผลิต ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มสวัสดิการให้ชาวนาและเกษตรกร
ข้อห้า ทะยอยลดระดับการแทรกแซงราคาลง (แต่ต้องไม่ยกเลิกทันที) โดยนำระบบประกันภัยพืชผลและตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้ามาแทนที่ ทำให้ “ไทย” เป็นศูนย์กลางของตลาดซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตรของภูมิภาค
ข้อหก พัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตรและมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร
ข้อเจ็ด จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจจากการเปิดเสรีภายใต้ WTO, FTA, AEC
ข้อแปด ส่งเสริมการขยายฐานในรูป Offshore Farming เกษตรพันธะสัญญาโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV
ข้อเก้า การปฏิรูปภาคเกษตรกรรมและเดินหน้าสู่ยุทธศาสตร์ ครัวของ
ข้อสิบ จัดให้มีตลาดสินค้าเกษตรให้มากและหลากหลายและพัฒนาไทยสู่โลก รัฐควรลดบทบาทแทรกแซงกลไกตลาดสินค้าเกษตรลง ลดการบิดเบือนกลไกราคาการเป็น “ครัวของโลก” และทำให้ไทยเป็นผู้ผลิตอาหารปลอดภัยของโลก
ข้อสิบเอ็ด ทำให้ ชาวนาหรือเกษตรกรทั้งหลายเข้าถึงแหล่งทุนได้ดีขึ้นปล่อยสินเชื่อถึงเกษตรกรโดยตรง ไม่ต้องผ่านคนกลาง โรงสี หรือ บริษัทค้าปัจจัยการผลิตทั้งหลาย บูรณาการการบริหารจัดการกองทุนที่เกี่ยวกับการแก้ไขหนี้สินเกษตรกรให้เป็นเอกภาพและเร่งรัดแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร
ข้อสิบสอง นำนโยบายรับจำนำข้าวกลับมาดำเนินการจนกว่าราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวดีขึ้นระดับหนึ่งและยกเลิกนโยบายแจกเงินให้ชาวนาเนื่องจากเป็นมาตรการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ สิ้นเปลืองและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรนอกจากบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้ชาวนาในระยะสั้นมากๆ เพราะเงิน 1,000 บาทใช้ไม่เกินสามวันก็หมดแล้ว นอกจากนี้การกำหนดมาตรการแบบนี้อยู่บนฐานคิดแบบสังคมสังเคราะห์และส่งเสริมวัฒนธรรมอุปถัมภ์อันไม่ได้ทำให้ชาวนาเข้มแข็งขึ้นในระยะยาวและยังเป็นการทำให้ประชาธิปไตยฐานรากอ่อนแอลงด้วย
นอกจากนี้เรายังต้องเตรียมตัวรับมือกับข้อตกลงการเปิดเสรีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงว่าด้วยการใช้อัตราภาษีพิเศษที่เท่ากันสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน (CEPT-ทำข้อตกลงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536) และข้อตกลง ATIGA ต่อข้าวไทย เช่น การปรับลดภาษี ไทยลดภาษีศุลกากรในสินค้าข้าวให้เหลือ 0% ตั้งแต่ปี 2553 ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนอื่นๆได้จัดข้าวอยู่ในบัญชีสินค้าที่มีการอ่อนไหวสูง (Highly Sensitive List) จึงค่อยทยอยลดภาษี
ประเด็นเรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ประเด็นเรื่องมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชที่เราทำข้อตกลงเอาไว้เรื่องมีผลต่ออุตสาหกรรมการผลิตข้าวในประเทศไทย เราจึงต้องมีมาตรการรับมือเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ต่อเกษตรกร ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมข้าวและประเทศโดยรวม
อนุสรณ์ กล่าวให้ข้อมูลและข้อเท็จจริง อีกว่า มาตรการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรและการรับจำนำข้าวเป็นเครื่องมือหนึ่งในการลดความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ เป็นวิธีการแก้ปัญหาราคาตกต่ำของราคาสินค้าเกษตรและราคาข้าวได้รวดเร็วที่สุด ต้องยอมรับภาระทางการคลังหรือการเกิดหนี้เนื่องจากการแทรกแซงหากเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและประชาชน เม็ดเงินที่ใช้ไปไม่ใช่ความเสียหายต้องถือเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการที่ต้องจ่าย เป็นนโยบายควรนำกลับมาใช้ชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าขณะนี้ซึ่งดีกว่าใช้วิธีแจกเงินให้เกษตรกรต่อไร่หรือจำนำยุ้งฉาง นโยบายรับจำนำข้าวย่อมดีกว่าและมีประสิทธิภาพสูงกว่าการแก้ปัญหาด้วยการแจกเงินต่อไร่ให้เกษตรกรหรือจำนำยุ้งฉาง การรับจำนำ รัฐบาลยังมีสต๊อคข้าว อย่างไรก็ตาม แผนการรับจำนำครั้งใหม่ต้องทบทวนจุดอ่อนในอดีต เช่น ไม่รับจำนำในราคาสูงเกินราคาตลาดมากเกินไป ไม่รับจำนำทุกเมล็ด แยกรับจำนำข้าวในราคาตามระดับคุณภาพ ตรวจสอบขั้นตอนการรับจำนำให้โปร่งใสและลดการรั่วไหลทุจริต เป็นต้น ต้องบริหารจัดการระบายข้าวในสต็อคของรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใสเพื่อให้ได้สภาพคล่องมาชำระหนี้ชาวนาและทำให้เกิดภาระทางการคลังให้น้อยที่สุด ขณะเดียวกันต้องสร้างความมั่นใจต่อระบบสถาบันการเงินเพื่อปล่อยกู้หรือชำระเงินให้ชาวนาที่ถือใบประทวน โดยสถาบันการเงินสามารถนำใบประทวนซึ่งเป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันมารับเงินจากรัฐบาลได้ต่อไป
แนะทบทวนปัญหาและข้อผิดพลาดจากนโยบายรับจำนำข้าว
ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ในการศึกษาทบทวนปัญหาและข้อผิดพลาดจากนโยบายรับจำนำข้าวเพื่อนำมาสู่การพิจารณาว่า จะปรับปรุงนโยบายรับจำนำข้าวอย่างไรให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น และ สามารถช่วยเหลือเกษตรกรรายได้น้อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศให้หลุดพ้นจากความยากลำบากทางเศรษฐกิจ นโยบายรับจำนำข้าวที่ผ่านมาได้ทำให้ชาวนายากจนจำนวนไม่ต่ำกว่า 3.45 แสนราย ได้รับเงินจำนำข้าวเฉลี่ยรายละ 94,579 บาท และชาวนาระดับกลางและรายได้สูงไม่ต่ำกว่า 2.69 แสนราย ได้รับเงินจำนำข้าวเฉลี่ยรายละ 405,937 บาท นอกจากนี้ยังทำให้ชาวนาบางรายที่มีที่ดินขนาดนา 100 ไร่ขึ้นไปมีรายได้ปีละ 2-3 ล้านบาท หรือ ชาวนาที่มีที่ดินขนาดใหญ่จะได้รายได้เฉลี่ย 4-6.6 แสนบาทต่อปี ด้วยระดับรายได้แบบนี้จึงทำให้ภาคเกษตรกรรมไทยเติบโตและขยายตัวได้อย่างมั่นคงต่อไป
อนุสรณ์ ชี้ด้วยว่า รายได้ที่เพิ่มขึ้นของชาวนาอย่างชัดเจนจะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตและฐานะทางเศรษฐกิจของชาวนาจำนวนมากดีขึ้น ลดปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจและทำให้ประชาธิปไตยฐานรากเข้มแข็งขึ้น ประชาธิปไตยรากฐานเข้มแข็งจากฐานะทางเศรษฐกิจและอำนาจต่อรองที่มากขึ้นไม่น้อยหลุดพ้นจากกับดักความยากจน
พรรคเพื่อไทยออกแบบและปั้นนโยบายรับซื้อข้าว 15,000 เพื่อสร้างความนิยมทางการเมืองต่อประชาชนโดยเฉพาะชาวนา 15 ล้านคนซึ่งเป็นปรกติของพรรคการเมืองในระบบประชาธิปไตย โดยหวังว่านโยบายจะทำให้ “ชาวนา” มีรายได้และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สร้างความเป็นธรรมทางสังคม กระตุ้นกำลังซื้อช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้พึ่งพาอุปสงค์ในประเทศมากขึ้นจากที่พึ่งพิงภายนอกมากเกินไป (70-80% ของ GDP พึ่งพิงการส่งออกและการลงทุนภายนอก)
ย้ำการตัดสินคดีรับจำนำข้าวกระทบดำเนินการนโยบายสาธารณะในอนาคต
อนุสรณ์ กล่าวในตอนท้ายด้วยว่า การตัดสินคดีรับจำนำข้าว (รับซื้อข้าว 15,000 บาท) จะส่งผลต่อการดำเนินการนโยบายสาธารณะ ของรัฐบาลในอนาคต ต่อการทำงานของกลไกระบบราชการ ต่อเศรษฐกิจ ต่อการเมือง สังคม และต่อสันติสุขรวมทั้งเสถียรภาพความมั่นคงของประเทศอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเราทุกคน
แสดงความคิดเห็น