Posted: 28 Aug 2017 10:28 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
เดอะการ์เดียนนำเสนอบทวิเคราะห์การเลือกตั้งในเยอรมนี ที่จะมีขึ้นในเดือน ก.ย. นี้ ชี้แม้พรรคขวากลางของ “ขุ่นแม่” แองเกลา แมร์เคิล จะยังได้รับความนิยมสูง แต่ระบบการเลือกตั้ง และการจัดตั้งพรรคแนวร่วมอาจให้พรรคฝ่ายซ้ายมีโอกาสจัดตั้งแนวร่วมในสภา ขณะที่พรรคขวาจัดไม่มีใครอยากเป็นแนวร่วมรัฐบาลด้วยเลย
29 ส.ค. 2560 เยอรมนีกำลังจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.ย. ที่จะถึงนี้ การเลือกตั้งครั้งนี้นอกจากจะได้รัฐสภาเยอรมนีที่เรียกว่า "บุนเดสถาก" ใหม่แล้วยังจะเป็นการตัดสินว่า แองเกลา แมร์เคิล ผู้นำหญิงที่ได้รับฉายาว่า "ขุ่นแม่" หรือ "มุตติ" (Mutti) แห่งเยอรมนีจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยที่ 4 หรือไม่
แองเกลา แมร์เคิล ถูกมองว่าเป็นผู้นำประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของยุโรปนับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา อีกทั้งยังถูกมองว่าเป็นศูนย์กลางพลังอำนาจแห่งเสถียรภาพของภูมิภาคยุโรป ท่ามกลางยุคสมัยที่การเมืองเต็มไปด้วยข้อถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์
เดอะการ์เดียนนำเสนอบทวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ระบุว่า ความนิยมของแมร์เคิลกลับมาดีขึ้นหลังจากที่เคยลดลงในช่วงวิกฤตผู้ลี้ภัยยุโรปปี 2558 จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และประเด็นน่าตื่นตัวในต่างประเทศอย่างการโหวตออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรและการที่โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งในสหรัฐฯ โดยมีผู้หวังว่าถ้าหากแมร์เคิลจากพรรคคริสเตียนเดโมแครตยูเนียนหรือซีดียู (CDU) ชนะการเลือกตั้งก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่ดีหลังจากที่เอ็มมานูเอล มาครง นักปฏิรูปชนะการเลือกตั้งฝรั่งเศส อาจจะเปิดโอกาสให้มีการปฏิรูปสหภาพยุโรปซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นได้
ในแง่นี้แมร์เคิลยังดูมีแต้มต่อหลังจากการสำรวจโพลล์ล่าสุดพบว่า พรรคซีดียู มีคะแนนนิยมถึงร้อยละ 40 พรรคนี้ และพรรคคริสเตียนโซเชียลยูเนียนหรือซีเอสยู (CSU) ซึ่งเป็นพรรคส่วนย่อยในรัฐบาวาเรียได้รับความนิยมในหมู่คนสูงอายุ อยู่ในชนบท เป็นชาวคริสต์ และอนุรักษ์นิยม จุดยืนของพรรคซีดียูถูกมองว่าเป็นพรรคการเมืองที่มีแนวคิดแบบขวากลาง
อีกหนึ่งพรรคใหญ่ในเยอรมนีคือโซเชียลเดโมเครติคหรือเอสพีดี (SPD) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้ายกลางที่มักจะกลายเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับซีดียูด้วย พรรคนี้มีฐานที่เหนียวแน่นในเยอรมนีตะวันตกที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรม พรรคนี้ในปัจจุบันนำโดยมาร์ติน ชูลซ์ ที่เคยเป็นประธานสภายุโรปมาก่อนในปี 2555-2560 และเพิ่งได้มาเป็นหัวหน้าพรรคเอสพีดีในปีนี้
อย่างไรก็ตามความนิยมของชูลส์หลังช่วงที่ออกจากสภายุโรปใหม่ๆ ก็เริ่มจางลงแล้ว พรรคเอสพีดีเสียฐานที่มั่นคะแนนเสียงสำคัญไปในการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา โดยมีการประเมินว่าพวกเขาจะได้รับคะแนนเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปร้อยละ 23-25
พรรคเล็กๆ ล่ะ
ในะบบการเลือกตั้งของเยอรมนียังมีการกำหนดให้พรรคการเมืองต้องมีคะแนนเสียงอย่างน้อยร้อยละ 5 ถึงจะมีโอกาสได้ที่นั่งในสภาถ้าหากชนะการเลือกตั้งระดับเขตได้ ซึ่งมีพรรคเล็ก 4 พรรคที่ถูกประเมินว่ามีโอกาสจะได้รับคะแนนเสียเกินร้อยละ 5 รวมถึงพรรคฝ่ายซ้ายจัดที่ตั้งขึ้นในปี 2550 มีฐานเสียงหลักๆ อยู่เยอรมนีตะวันออก เป็นพรรคที่ไม่เคยเข้าเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และเป็นพรรคฝ่ายค้านมาโดยตลอด มีการประเมินว่าพรรคฝ่ายซ้ายจัดจะได้คะแนนเสียงในครั้งนี้ร้อยละ 9-10
อีก 3 พรรคคือพรรคฟรีเดโมแครตหรือเอฟดีพี (FDP) ที่เป็นสายสนับสนุนธุรกิจก็กำลังเติบโตขึ้นภายใต้ผู้นำพรรคคนใหม่คือคริสเตียน ลินด์เนอร์ มีการประเมินว่าน่าจะได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 8-9 พรรคกรีนส์ของเยอรมนีก็มีฐานเสียงจากเมืองมหาวิทยาลัยทางฝั่งตะวันตก มีการประเมินว่าจะได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 7-8 ซึ่งอ่อนกำลังลงมากเมื่อเทียบกับช่วงคริสตทศวรรษที่ 2000s ที่พวกเขาทำงานบริหารร่วมกับเอสดีพี ส่วนพรรคสายชาตินิยมกังขาต่ออียูอย่างเอเอฟดี (AfD) ที่มีแนวคิดต่อต้านผู้อพยพต่อต้านอิสลามก็ขยายตัวมากขึ้นและมีโอกาสได้เข้าสู่สภาเป็นครั้งแรก แต่มีการทะเลาะกันภายในพรรคและความนิยมลดลงจากร้อยละ 15 ตั้งแต่ช่วงวิกฤตผู้ลี้ภัยมาเป็นร้อยละ 8-9
ระบบเลือกตั้งของเยอรมนีเป็นอย่างไร
เยอรมนีเพิ่มปรับระบบการเลือกตั้งใหม่เมื่อไม่นานมานี้ซึ่งการ์เดียนระบุว่า "มีความซับซ้อนอย่างมหันต์" โดยการผสมกันระหว่างตัวแทนโดยตรงและตัวแทนแบบสัดส่วน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องกาสองช่องในบัตรลงคะแนนเดียว กาแรกกาให้กับผู้สมัครในท้องถิ่น และกาที่สองให้กับพรรคการเมืองที่พวกเขาจะเลือก
คะแนนในการกาช่องแรกที่เรียกว่า "เอียสชติมเม" (Erststimme) จะนำไปใช้เลือกผู้แทนสภา 299 ที่นั่งจากแต่ละเขตเลือกตั้งคิดเป็นราวครึ่งหนึ่งของที่นั่งในสภาทั้งหมด
ที่เหลือจะมีการจัดสรรจากคะแนนโหวตทั้งประเทศจากทุกพรรคที่ได้คะแนนร้อยละ 5 ขึ้นไปในการกาโหวตช่องที่สองที่เรียกว่า "ชไวต์ชติมเม" (Zweitstimme) นอกจากนี้การโหวตช่องที่สองยังจะนำมาคำนวนหาสัดส่วนที่นั่งในสภาที่พวกเขาควรได้รับ เช่น ถ้าพรรคหนึ่งได้รับคะแนนโหวตร้อยละ 25 พวกเขาก็ควรได้ที่นั่งในสภาร้อยละ 25
แต่ถ้าหากว่าเกิดกรณีที่การโหวตช่องที่ 1 ทำให้บางพรรคได้ ส.ส. มากเกินกว่าสัดส่วนในการโหวตช่องที่ 2 ก็จะมีการชดเชยด้วยการให้พรรคอื่นๆ ได้ที่นั่งในสภาเพิ่มเติม ทำให้รัฐสภาบุนเดสถากของเยอรมนี ซึ่งอาจจะทำให้ที่นั่งในสภาขยายจาก 598 ที่นั่งออกไปมากสุดถึง 800 ที่นั่ง (ในปัจจุบันมีผู้แทนอยู่ 631 ที่นั่ง)
หลังจากเลือกตั้งและนับผลเสร็จแล้วหลังจากนั้นก็จะมีการจัดตั้งพรรคแนวร่วมรัฐบาล ต่อด้วยการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีโดยประธานาธิบดี ซึ่งตำแหน่งประธานาธิบดีในเยอรมนีส่วนใหญ่จะมีบทบาทแค่ในเชิงพิธีการเท่านั้น ส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งมักจะเป็นหัวหน้าพรรคที่ใหญ่ที่สุดในสภาซึ่งจะได้รับการโหวตลงคะแนนลับผ่านสภาเมื่อยืนยันผู้เป็นนายกอีกครั้ง
แต่ละพรรคมีจุดยืนอย่างไร
เดอะการ์เดียนระบุว่า แองเกลา แมร์เคิล มีภาพลักษณ์เป็นที่เคารพและน่าเชื่อถือในความเป็นผู้นำโลกและผู้นำทางเศรษฐกิจ ก่อนหน้านี้เธอมีนโยบายแบบที่ไม่คิดว่าเธอจะทำคือการรับผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเข้าประเทศราว 900,000 คนในปี 2558 ทำให้เธอเสียการสนับสนุนจากฐานเสียงไปบางส่วน แต่ก็อาจจะได้รับคะแนนเสียงมากขึ้นจากคนหนุ่มสาวบางกลุ่ม ในเรื่องความมั่นคงแม้จะเคยมีเหตุโจมตีด้วยการขับรถพุ่งชนคนในกรุงเบอร์ลินเมื่อต้นปีที่ผ่านมาแต่ในตอนนี้แมร์เคิลก็กลับมาได้รับความนิยมแล้ว
ในด้านเศรษฐกิจนั้นแมร์เคิลสัญญาว่าจะให้มีการปรับลดภาษีและทำให้การจ้างงานอย่างเต็มที่ภายในปี 2568 ส่วนพรรคซ้ายกลางเอสพีดีเน้นที่การกระจายความมั่งคั่งและประเด็นความเป็นธรรมในสังคม นอกจากนี้ยังต่อต้านการเพิ่มงบระมาณกลาโหมให้นาโตจากร้อยละ 2 ของจีดีพี ขณะที่ซ๊ดียูสนับสนุนการเพิ่มงบประมาณดังกล่าว
พรรคฝ่ายซ้ายจัดของเยอรมนีต้องการให้มีการกำกับดูแลตลาดมากขึ้นและปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ พรรคสนับสนุนกลุ่มธุรกิจอย่างเอฟดีพีมุ่งจะปรับลดภาษีและเพิ่มบูรณภาพกับอียูมากขึ้น ส่วนพรรคฝ่ายขวาจัดอย่างเอเอฟดีเน้นแต่ที่เรื่องอนุรักษ์ "ประเพณี" แบบเยอรมนี และมีมาตรการต่อต้านผู้อพยพ
แนวโน้มการจัดตั้งพรรครัฐบาล
เดอะการ์เดียนประเมินว่าในทางการเมืองแล้วพรรคซีดียูอยากได้แนวร่วมเป็นพรรคเอฟดีพีที่เป็นสายปรับลดภาษีเหมือนกัน ซึ่งพรรคแนวร่วมเช่นนี้เคยปกครองเยอรมนีมานาน 16 ปีในสมัย เฮลมุท โคห์ล แต่จากโพลแล้วการตั้งแนวร่วมรัฐบาลสองพรรคนี้อาจจะทำให้ไม่ได้เสียงข้างมากในสภา
ฝ่ายพรรคซ้ายกลางเอสพีดีก็มีโอกาสเป็นแนวร่วมกับพรรคกรีนส์แต่ก็มีโอกาสน้อยที่จะได้ที่นั่งรวมกันเกิดครึ่งหนึ่ง และถ้าหากจะรวมเอาพรรคเอฟดีพีไปด้วยก็อาจจะต้องแสวงหาการยอมรับจากพรรคกรีนส์ด้วย ขณะเดียวกันถ้าหากซีดียูได้คะแนนเสียงน้อยกว่าที่คาดไว้ก็มีโอกาสที่ซ้ายกลางจะจัดตั้งพรรคแนวร่วมกับซ้ายจัดและพรรคกรีนส์ได้ซึ่งในตอนนี้เป็นกลุ่มพรรคแนวร่วมสภาปกครองกรุงเบอร์ลิน
ถึงแม้ทั้งสองพรรคอยากจะจับมือกับพรรคเล็กอื่นๆ ที่มีแนวทางใกล้เคียงกันมากเพียงใด แต่ประชาชนผู้เลือกตั้งในเยอรมนีคงเลือกผู้แทนออกมาในแบบที่เอื้อให้เกิด "พรรคแนวร่วมใหญ่" คือขวากลางซีดียูกับซ้ายกลางเอสพีดีจับมือเป็นพรรคแนวร่วมกันอีกครั้ง แม้จะขัดใจแต่ก็จะกลายเป็นแนวร่วมทางการเมืองด้วยความจำเป็น
แต่ที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ ไม่มีพรรคใดเลยที่อยากเป็นแนวร่วมกับขวาจัดอย่างเอเอฟดี
เรียบเรียงจาก
Germany's general election: all you need to know, The Guardian, 24-08-2017
https://www.theguardian.com/world/2017/aug/24/germanys-general-election-all-you-need-to-know
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Electoral_system_of_Germany
แสดงความคิดเห็น