Posted: 25 Aug 2017 12:16 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

2 สภานิสิตจุฬาฯ ยันแอคชั่นเชิงสัญลักษณ์ดีสุดขณะนั้น แต่ยังไม่ดีพอสำหรับแก้ปัญหาระยะยาว แจงเหตุการณ์ในพิธีฯ ตามมุมมอง ชี้การถูกสอบ/ตัดสินสะท้อนภาพลักษณ์ความยุติธรรมของจุฬาฯ ย้ำบทบาทนิสิตถูกลดเป็นเพียง ‘ลูกค้า’ ส่วนใหญ่ไม่มีอำนาจตัดสินใจ ชี้ถึงโซตัสที่ยังซ่อนเร้นในมหา’ลัย

จากกรณีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งกรรมการสอบสวน เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และประธานสภานิสิตจุฬาฯ พร้อมด้วยเพื่อนสภานิสิตจุฬาฯ อีก 7 คน จากเหตุการณ์พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตจุฬาฯ ซึ่งในวันนี้ (25 ส.ค.60) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะดำเนินการสอบสวนพร้อมทั้งตัดสิน

ในโอกาสนี้ประชาไท ได้สัมภาษณ์ ชยางกูร ธรรมอัน กรรมาธิการสภานิสิต กับ ธรณ์เทพ มณีเจริญ สภานิสิตสามัญ สองใน 7 จำเลยที่ถูกสอบสวน เพื่อทำความเข้าใจสภาพปัญหาภายในจุฬาฯ ตั้งแต่การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของเหตุการณ์ดังกล่าวจนนำมาซึงการถูกสอบสวน ปัญหาอำนาจนิยมในเชิงโครงสร้างของมหาวิทยาลัย แนวนโยบายและการดำเนินการของสภานิสิตชุดนี้ โดยเฉพาะการสนับสนุนเสรีภาพการแสดงออก รวมไปถึงบรรยากาศทางการเมืองภายในมหาวิทยาลัย


ธรณ์เทพ มณีเจริญ (ซ้าย) และ ชยางกูร ธรรมอัน (ขวา)

ประชาไท: จุดไหนที่เป็นจุดที่เราคิดว่าพอดี หรือจริงๆ คิดว่าควรทำให้สุดไปเลย จากกรณีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ผ่านมา และได้เห็นปฏิกิริยาของหลายฝ่าย มองย้อนกลับไปคิดว่าเป็นจุดที่พอดีไหม

ชยางกูร: จุดที่พอดี คือจุดที่เปิดพื้นที่ให้ความแตกต่าง หลากหลายอย่างจริงจัง และเป็นจุดที่ให้ทุกคนได้มีเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเท่าเทียม ส่วนการทำให้สุดนั้น ถ้าในแง่ของหลักการ ก็ควรจะเป็นเช่นนั้น แต่ถ้าเป็นการกระทำ ในบางทีการทำอะไรแบบ “สุดขั้ว” ก็ย่อมนำเราไปสู่ความขัดแย้งที่ไม่อาจจะลงรอยได้ หรือแย่ที่สุดก็อาจเลยเถิดไปถึงขั้นการใช้ความรุนแรง เพราะมันขาดจุดยืนร่วม และคุยกันไม่รู้เรื่องในที่สุด

จากกรณีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หากมองย้อนกลับไปโดยพิจารณาจากปฏิกิริยาของหลายๆ ฝ่าย ผมคงตอบไม่ได้ชัดว่ามันเป็นจุดที่พอดีไหม เพราะจุดที่พอดีของแต่ละฝ่ายมันไม่ได้มีมาตรวัดชัดเจนเสียทีเดียว อีกทั้งหลายๆ ฝ่ายเองก็ยังไม่เคยได้มีพื้นที่อภิปรายอย่างจริงจังถึงจุดที่พอดีของตัวเอง โผล่มาอีกทีก็กลายเป็นการวิพากษ์วิจารณ์อย่างออกรสกันเสียแล้ว ซึ่งปัญหาที่แท้จริงก็ยังคงถูกเพิกเฉยต่อไป

ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นจุดที่ “พอดี” สำหรับหลักการในการยืนหยัดเพื่อหลักสิทธิ เสรีภาพ และความถูกต้อง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นจุดที่ผมคิดว่า “ยังไม่ดีพอ” สำหรับการพิทักษ์หลักเหล่านั้นไว้ เพราะมันไม่ได้มีการรื้อรากปัญหาออกมาชำแหละอย่างจริงจัง ไม่ได้มีการจัดตั้งโครงการเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว แต่ด้วยระยะเวลาที่ค่อนข้างกระชั้นชิด และด้วยรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์จึงอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำ ณ ขณะนั้นได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมเสียดายอยู่ไม่น้อย

ธรณ์เทพ: ผมว่าอันนี้ก็แล้วแต่การตีความเลยนะครับ เราต้องการจะทำอะไร เรื่องอะไร เต็มที่ขนาดไหน โดยใช้เกณฑ์อะไร นี่เป็นคำถามที่แล้วแต่ปัจเจกพึงมีเกณฑ์ต่างกันมากๆ ครับ

จากเหตุการณ์การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ผ่านมานั้น ผมคิดว่า ทุกคนในกลุ่มนั้นคงไม่ได้คาดหวังว่าการแสดงออกดังกล่าว อะไรคือทำแต่พอดี หรือต้องทำอะไรให้ได้ดีที่สุด อาจมีปัจจัยอื่นด้วยคือ เราเพิ่งมาเตรียมการกันก่อนเข้าสู่พิธีเป็นเวลาไม่นานนัก ทำให้มีเวลาตัดสินใจและไตร่ตรองไม่มากในการพิจารณาโดยละเอียดว่าสิ่งที่ตัดสินใจนั้นพอดีหรือดีที่สุดแล้ว พวกเราแค่อาจมีจุดร่วมกันในเรื่องบางอย่าง และเรื่องจุดร่วมที่ว่านั่นก็คือความกล้าหาญทางจริยธรรม (moral courage) พวกเราก็เห็นกันอยู่ว่ามีสิ่งที่ไม่ถูกต้องบางอย่างกำลังเกิดขึ้น โดยผู้ที่ถูกกระทำโดยความไม่ถูกต้องคือรุ่นน้องนิสิตชั้นปีที่หนึ่งของพวกเราแท้ๆ

ตามหลักสามัญสำนึกและหลักการใช้เหตุผลของวิญญูชน เราพึงรู้แน่ๆว่าการให้นิสิตตากฝนเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างชัดเจน ถึงแม้จะมีการแจกชุดกันฝน (ซึ่งรุ่นน้องนิสิตชั้นปีที่หนึ่งก็ได้รับไม่ครบกันทุกคน) เพื่อให้นิสิตปีหนึ่งดำเนินพิธีท่ามกลางสายฝนต่อไป (จนกว่าจะมีดุลยพินิจว่ามีพายุเข้า จึงจะมีการประกาศปล่อยให้นิสิตชั้นปีที่หนึ่งออกจากกิจกรรม อ้างอิงจากเอกสารที่มีการอธิบายแผนกิจกรรมกรณีฝนตก) แต่ก็ดูจะเป็นการแก้ปัญหาแบบไม่ตรงประเด็น เพราะหากเป็นห่วงน้องในฐานะรุ่นพี่ที่ห่วงใยรุ่นน้องจริงๆ ก็สมควรที่จะปล่อยให้รุ่นน้องแยกย้ายจากกิจกรรมออกไปได้ตั้งแต่ฝนตกแต่แรก มิใช่เพียงการแจกชุดกันฝน และให้น้องๆ ร่วมกิจกรรมท่ามกลางสายฝนกันต่อไปจนกว่าพายุ (ตามดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่) จะเข้า

ถึงจะสั่งให้น้องๆ แยกย้ายกันออกจากกิจกรรม การกระทำดังกล่าวของพวกเรา ในส่วนของผมเมื่อรับทราบมาก่อนแล้วว่าอาจมีการผิดสัญญาเกิดขึ้นในช่วงก่อนเริ่มเข้าแถวของสภานิสิตในกิจกรรม โดยเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ได้เล่าให้ผมและกลุ่มฟังว่า เขาเคยคุยกับท่านบัญชา ชลาภิรมย์ (ขณะนั้นท่านเป็นรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ว่าหากมีฝนตกในกิจกรรม จะให้เด็กทำการโค้งคำนับแสดงความเคารพพระบรมรูปสองรัชกาล และทำการแยกย้ายนิสิตเพื่อหลบฝน ผมเองก็ไม่พร้อมปักใจเชื่อเท่าใด ว่าท่านจะผิดสัญญาจริงๆ เพราะโดยส่วนตัวผมก็เคารพท่านเป็นอย่างมาก แต่หากการผิดสัญญาเกิดขึ้นจริง ผมก็พร้อมที่จะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อแสดงจุดยืนต่อความถูกต้อง เพราะความเคารพที่ผมมีต่อท่านก็ส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่ผมต้องแสดงจุดยืนเรื่องความถูกต้องก็อีกส่วนหนึ่ง

เมื่อเหตุการณ์ฝนตกเกิดขึ้น และน้องนิสิตปีหนึ่งไม่ได้ลุกหลบฝนทันที ก็ทำให้ผมตัดสินใจได้ว่าผมต้องทำอะไร

ณ ขณะนั้น ผมไม่ได้คิดว่านี่คือสิ่งที่พอดีหรือดีที่สุดหรือเปล่า ผมแค่คิดว่ามันดีเพียงพอสำหรับผมที่ตัดสินใจกระทำลงไปเพื่อความถูกต้อง ไม่ใช่เพียงในฐานะนิสิตรุ่นพี่ที่เป็นห่วงรุ่นน้องนิสิตปีหนึ่งเท่านั้น แต่ในฐานะผู้ดำรงตนในความกล้าหาญทางจริยธรรม แม้ผมจะพอคาดคะเนได้ว่าผมจะต้องถูกสอบสวนทางวินัยนิสิตจากการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ดังกล่าว ผมก็ยินดีที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมดังกล่าว เพื่อแสดงความสุจริตใจในการกระทำของตนเอง

การถูกสอบสวนและอาจถูกลงโทษทางวินัยสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของมหาวิทยาลัยอย่างไร

ชยางกูร: “อำนาจนิยม” คงจะเป็นคำอธิบายที่รวบรัดมากที่สุดเท่าที่ผมคิดออกในตอนนี้สำหรับหนึ่งในปัญหาเชิงโครงสร้างของมหาวิทยาลัย

เนื่องจากบทบาทของนิสิตได้ถูกลดทอนลงไปอย่างมาก และดูเหมือนว่าจะถูกบีบบังคับให้กลายเป็นเพียงลูกค้าเท่านั้น สังเกตจากศูนย์การค้าต่าง ๆ ที่ผุดขึ้นมาล้อมรอบมหาลัยมากมาย อำนาจในการต่อรองเรื่องต่างๆ ไม่ค่อยจะมีเท่าไหร่ เว้นแต่อำนาจในการเลือกซื้อ เลือกบริโภคสินค้าของนิสิต การตัดสินใจต่าง ๆ ก็ขึ้นอยู่กับมหา’ลัยเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งบางทีก็ปฏิบัติราวกับว่าไม่ได้นับนิสิตเป็นส่วนหนึ่งของมหา’ลัยด้วย มันตลกร้ายตรงที่เขาเรียกเราว่า “นิสิต” นี่แหละ

การสอบสวนครั้งนี้เองก็เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นบนฐานคิดของ “การทำได้” เพราะมีอำนาจรองรับอยู่ ซึ่งมหาวิทยาลัยนั้นมองว่าตัวเองมีอำนาจเหนือนิสิต และพร้อมที่จะใช้อำนาจนั้นกระทำกับนิสิตให้เกิดผลกระทบต่อนิสิตในทางใดทางหนึ่ง โดยที่ไม่ได้เอาผลประโยชน์ของนิสิตเป็นตัวตั้งต้น แต่กลับเอาผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัยเป็นตัวตั้งต้น คิดง่ายๆ เลยคือ การสอบสวนนี้เกิดขึ้นเพื่อทวงความชอบธรรมให้ใคร? ก็นั่นแหละครับ

แต่ตอนนี้การลงโทษผมยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้แน่ชัดเนื่องจากผมยังไม่รู้ผลที่แน่นอน แต่หากการลงโทษทางวินัยเกิดขึ้นจริง ก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงปัญหาดังกล่าว

ธรณ์เทพ: หากพูดถึงการถูกสอบสวนและถูกลงโทษทางวินัยดังกล่าวนั้นก็เป็นกระบวนการยุติธรรมในระดับมหาวิทยาลัย โดยทั้งนี้ก็ต้องพิจารณาถึงปัจจัยและองค์ประกอบในการสอบสวนและถูกลงโทษดังกล่าว ว่ามีหลักเกณฑ์การพิจารณาและคำตัดสินว่ามีหรือไม่มีความผิดอย่างไร เหมาะสม และได้สัดส่วนหรือไม่

ซึ่งกระบวนการยุติธรรมดังกล่าวในจุฬาฯ ก็จะสะท้อนถึงภาพลักษณ์ด้านความยุติธรรมต่อสังคมภายนอกเอง

หากผลการตัดสินว่ามีความผิดและมีการลงโทษทางวินัย ผมหรือทางกลุ่มจะตัดสินใจอย่างไร ก็คงต้องรอการปรึกษาหารือกันอีกทีในอนาคตที่จะมาถึง

แต่เป็นปัญหาระบบโครงสร้างหรือไม่ ต้องแก้ไขอย่างไรนั้น ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาโครงสร้างที่มีปัจจัยจากค่านิยมอนุรักษ์นิยมอย่างหนึ่ง หากผมหรือทางกลุ่มถูกลงโทษทางวินัยนิสิตจากกรณีดังกล่าว ก็เป็นผลมาจากการพิจารณาของคณะกรรมการที่มีค่านิยมทางวัฒนธรรมที่แตกต่างจากพวกผม พวกเขาอาจจะมองว่าการกระทำของพวกผมเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม แต่ผมกลับมองว่าเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยสุจริต และสมควรกระทำยิ่งเพื่อแสดงจุดยืนในเรื่องความถูกต้อง เรื่องนี้คือปัญหาความแตกต่างของระบบโครงสร้างค่านิยมกระแสหลักที่เกิดความขัดแย้งกับค่านิยมกระแสรอง การแก้ไขคือเราสมควรจะเปิดพื้นที่พูดคุยและแสวงหาจุดร่วมกันในประเด็นความขัดแย้งทางความคิด ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในทางปฏิบัติในลำดับต่อไป

ลักษณะการดำเนินการของสภานิสิตเป็นอย่างไรบ้าง ขณะที่เราสนับสนุนเสรีภาพการแสดงออก แต่ในมหาวิทยาลัย บางส่วนมีความคิดแบบอนุรักษ์นิยม เช่น ระบบโซตัส

ชยางกูร: ก่อนอื่นเลยเราต้องรับฟังให้มากที่สุด แล้วมาพิจารณาร่วมกันว่าข้อเสนอไหนจะเป็นจริงได้ ข้อเสนอไหนเป็นจริงไม่ได้ เพราะอะไร? ข้อจำกัดคืออะไร? เช่น การดื่มน้ำจากถังเดียวกันในแต่ละกิจกรรมที่นิสิตจัดกันเอง ถ้าจะใช้ข้ออ้างเรื่องประเพณี ณ จุดนี้คงต้องดูที่ข้อจำกัดอย่างสุขอนามัยก่อนเลยว่ามันสมควรไหม?

หรือ อย่างโซตัส ถ้าจะเอา “การว้าก” เช่น การตะคอก ขู่เข็ญรุ่นน้องมาใช้เพื่อดำเนินกิจกรรม ก็ต้องดูที่ข้อจำกัดอันเป็นสากลอย่างหลักสิทธิมนุษยชนเหมือนกันว่า มันมีการละเมิดกันไหม? เคารพกันไหม? มีความรุนแรงเกิดขึ้นหรือเปล่า?

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการหาจุดยืนร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนสังคมให้ได้ ซึ่งก็คือหลักอันเป็นสากลที่มาในรูปแบบของข้อจำกัดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น หลักสุขอนามัย หลักสิทธิมนุษยชน หลักความเสมอภาค การเคารพซึ่งกันและกัน ฯลฯ ไม่ว่าเราจะยืนอยู่บนฐานคิดไหน เสรีนิยม อนุรักษ์นิยม เราก็อยู่ในสังคมเดียวกัน

เท่าที่อยู่ในวาระมา ในฐานะกรรมาธิการสภานิสิต ส่วนตัวผมคิดว่าทำได้มากพอสมควร หากวัดจากการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมอย่างเช่น คำประกาศการรับน้องของสภานิสิต และแนวทางการรับน้องของอบจ. ที่เกิดจากการคุยกันกับหลายๆ ฝ่าย ส่งผลให้เกิดความโปร่งใสของห้องเชียร์แต่ละคณะมากขึ้น หรือว่าจะเป็นการที่สโมสรนิสิตคณะทันตแพทยศาสตร์ ออกมารณรงค์ไม่ดื่มน้ำร่วมถังร่วมหลอดกันก็นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลง และเป็นสิ่งที่ดี ส่วนแผนขั้นตอนต่อไปก็ต้องขึ้นอยู่กับโครงการต่างๆ และมติการประชุมของสมาชิกสภานิสิตในวาระต่อๆ ไป

ธรณ์เทพ: จุฬาฯ ณ ขณะนี้มีภาพลักษณ์เป็นมหาวิทยาลัยอนุรักษ์นิยมอย่างชัดแจ้ง แต่อย่างไรแนวคิดอนุรักษ์นิยมบางอย่างก็มีคุณค่า อาจมีแนวคิดบางอย่างเป็นปัญหาต่อวัฒนธรรมพลเมืองตามหลักสังคมประชาธิปไตยบ้างเท่านั้น ความเห็นต่างซึ่งนำมาสู่ความขัดแย้งทางค่านิยมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ยกตัวอย่างระบบโซตัส เท่าที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภานิสิต ผมรู้สึกว่าบรรยากาศในประเด็นระบบโซตัสในมหาวิทยาลัยจางลงไปมากกว่าปีก่อนสมัยที่ผมเป็นนิสิตชั้นปีที่หนึ่ง แต่ก็ยังมีค่านิยมในระบบโซตัสที่ “ซ่อนเร้น” อยู่ในโครงสร้างทางวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยโดยทั่วไป โดยที่นิสิตอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ทำไมเราจึงต้องยกมือไหว้รุ่นพี่โดยอัตโนมัติ อาจยกมือไหว้รุ่นพี่บ่อยกว่าไหว้อาจารย์หากเดินเจอกันด้วยซ้ำ

หรือแม้แต่การเลือกตั้งสมาชิกสภานิสิตสมทบ (นิสิตชั้นปีที่ 1) เราจะพบว่าสมาชิกสภานิสิตสมทบกลับไม่สามารถร่วมลงมติในการประชุมสภานิสิตได้ด้วยซ้ำ ถึงแม้ว่าจะเป็นนิสิตจุฬาฯด้วยกัน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ก็อาจเป็นหน้าที่ของสภานิสิตที่ต้องวางแผนผลักดันต่อไป

สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่ใหญ่มาก เพราะเป็นปัญหาในระดับโครงสร้างวัฒนธรรมเลยทีเดียว เราจะพบว่าค่านิยมระบบโซตัสส่งเสริมแนวคิดอำนาจนิยมในสังคมมหาวิทยาลัยอย่างยิ่ง ซึ่งจะส่งผลถึงการกดทับสิทธิ และเสรีภาพทางการแสดงออกของนิสิตนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มนิสิตจุฬาฯรุ่นใหม่ที่ผมเจอจำนวนมากนั้นมีแนวคิดการใช้เหตุผลแบบเสรีนิยม และพร้อมที่จะออกจากกรอบจารีตประเพณีที่มักอธิบายด้วยเหตุผลไม่ได้ การที่เราจะขับเคลื่อนสังคมมหาวิทยาลัยให้พัฒนาไปได้นั้น ก็ต้องการนิสิตจุฬาฯ ร่วมแรงขับเคลื่อนไปด้วยกัน ซึ่งสภานิสิตจะต้องจัดสรรพื้นที่การแสดงออกให้แก่พวกเขาเหล่านี้ เพื่อร่วมกันส่งเสริมวัฒนธรรมพลเมืองของผู้ตื่นตัวทางการเมืองตามหลักค่านิยมประชาธิปไตย โดยส่วนตัวผมคาดหวังว่าสภานิสิตจะสามารถร่วมขับเคลื่อนกับนิสิตจุฬาฯโดยทั่วไป สู่สังคมที่ยอมรับความเห็นต่าง และอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานของเหตุผลตามหลักวิญญูชน

บรรยากาศทางการเมืองภายในมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไร ทำให้เราทำงานยากขึ้นไหม

ชยางกูร: ผมคงบอกไม่ได้อย่างชัดเจนว่าบรรยากาศมันราบรื่นหรือมาคุขนาดไหน เพราะแล้วแต่ช่วงเวลา และกิจกรรมในช่วงนั้นๆ ด้วย แต่เท่าที่ผมสังเกต ด้วยกระแสแนวคิดของสมาชิกสภาฯ ส่วนใหญ่ที่ค่อนข้างใหม่ และไม่ตายตัว ต้องมาปะทะกับกระแสของระบบงานของมหาวิทยาลัยที่เป็นไปเชิงธรรมเนียมปฏิบัติ และมีแบบแผนตายตัว คงจะเรียกได้ว่ามีความทุลักทุเลบ้างบางที

ส่วนเรื่องการฉุดรั้งมักจะมาจากปัจจัยสนับสนุนจากมหาลัยที่มีให้น้อยเสียมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นอำนาจต่อรอง พื้นที่สำหรับจัดกิจกรรม และอุปกรณ์ต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งงบประมาณต่อปีเอง ส่วนนี้ผมคิดว่าน่าจะมีผลมากกว่าบรรยากาศทางการเมืองภายในมหาวิทยาลัยเสียอีก

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.