Posted: 27 Aug 2017 11:51 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

รวบรวมกรณีตัวอย่างการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 iLaw เผยข้อมูลหลังรัฐประหารอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนคดีมีนัยสำคัญ 20 คดีมีเหตุจากการวิจารณ์รัฐประหาร รัฐบาล และ คสช. ชี้ส่อใช้กฎหมายปิดปากประชาชน

อาจจะคุ้นกันพอสมควรสำหรับตัวเลข 116 กับระยะเวลา 3 ปีหลังการรัฐประหาร 2557 ซึ่งคาดเดาได้ว่าผู้ที่ติดตามข่าวการเมืองเป็นกิจวัตรก็คงได้ยินเรื่องราวการบังคบใช้กฎหมายมาตราอาญามาตรา 116 กันมาพอสมควร อย่างไรก็ตามกฎหมายมาตรานี้ ไม่ได้บัญญัติขึ้นภายใต้รัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) แต่อัตราการเพิ่มขึ้นของการบังคับใช้กฎหมายที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “กฎหมายความมั่นคง” ดูจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw โดยทีมทำงานของคนรุ่นใหม่ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย และสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนได้รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลในงานเสวนาภายใต้หัวข้อ “มาตรา 116: ยุยงปลุกปั่นหรือมั่วนิ่ม”(รายงานเสวนาเร็วๆนี้) เอาไว้อย่างสนใจ ซึ่งหากนับตั้งวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน(27 สิงหาคม 2560) ข้อมูลที่ iLaw รวบรวมไว้แสดงให้เห็นว่ามีผู้ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีจากฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 อย่างน้อย 66 คน แยกออกได้อย่างน้อย 26 คดี โดย 20 จาก 26 คดีเกิดขึ้นจากการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำต่างๆ ของ คสช.

มีขันแดงในครอบครอง, ลุงมอบดอกไม้ให้พลเมืองโต้กลับ, 8 แอดมินเพจเรารักพลเอกประยุทธ์ , พลเดินรุกเดิน, โปรยใบปลิวต่อต้าน คสช., 14 ขบวนการประชาธิปไตยใหม่, บก.ลายจุด โพสต์เฟซบุ๊กชวนคนคัดค้านรัฐประหาร ,นักข่าวโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ คสช. , วัฒนา เมืองสุข โพสต์เฟซบุ๊กให้กำลังใจยิ่งลักษณ์คดีจำนำข้าว, แชร์ผังข้อมูลการทุจริตโครงการอุทยานราชภักดิ์ นี่คือส่วนหนึ่งจากของการกระทำที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 116 ในยุครัฐบาล คสช. บางเรื่องอาจจะฟังดูตลกขบขัน ทว่าการดำเนินคดีกลับเกิดขึ้นจริง

000000

กฎหมายอาญามาตรา 116 คืออะไร

กฎหมายอาญามาตรา 116 ถูกเรืยกอีกชื่อว่ากฎหมายความมั่นคง/ข้อหายุยงปลุกปั่น โดยบัญญัติไว้ว่า

“มาตรา 116 ผู้ใดกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย

(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ

(3) เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี”

ข้อมูลจาก iLaw ระบุว่า กฎหมายข้อนี้เขียนอยู่ในประมวลกฎหมายอาญาภาค 2 ลักษณะที่ 2 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร โดยเป็นความผิดอาญาที่มุ่งเอาผิด “การทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่น” ซึ่งนั่นหมายความว่า กฎหมายนี้เป็นกรอบกำกับการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะไม่ให้กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ
สถิติน่าสนใจสำหรับการบังคับมาตรา 116
การบังคับใช้มาตรา 116 ตั้งแต่ปี 2553 - รัฐประหารปี 2557

นับตั้งแต่ปี 2553 จนถึงช่วงก่อนการรัฐประหาร 2557 พบว่ามีการดำเนินคดีตามมาตรา 116 อย่างน้อย 4 คดี ประกอบด้วย


1.คดีปืนรั้วรัฐสภาคัดค้านการออกกฎหมายโดย สนช. เมื่อปี 2550 จำเลยในครั้งนั้นประกอบด้วยนักพัฒนาเอกชน(NGOs) 10 ราย โดยศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษฐานบุกรุก แต่ยกฟ้องในข้อหายุยงปลุกปั่น เนื่องจากเห็นว่าเป็นการใช้เสรีภาพการชุมนุม และแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา แต่ศาลฎีกาพิพาษาว่า มีความผิด แต่สั่งรอกำหนดโทษ 2 ปี เหตุจำเลยมีความรู้ความสามารถ มีหน้าที่การงานที่ทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติ และการกระทำดังกล่าวทำไปเพราะมีเจตนาที่ดี อีกทั้งจำเลยมีอายุมากแล้ว (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: ศาลฎีกาพิพากษาคดี 'ปีนสภาต้าน กม.สนช. ปี 50' มีความผิด แต่สั่งรอกำหนดโทษ 2 ปี)

2. คดี “ดีเจหนึ่ง” หรือจักรพันธ์ ประกาศผ่านรายการวิทยุให้ประชาชนชุมนุมปิดถนนสายเชียงใหม่-ลำปาง บริเวณแยกดอยติ ในช่วงเดียวกับการชุมนุมของคนเสื้แดงในเดือนเมษายน 2552 ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดแต่ให้รอการกำหนดโทษไว้มีกำหนด 3 ปี เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าคนที่ไปปิดถนนเป็นคนที่ฟังรายการของจำเลย อีกทั้ง การลงโทษทางอาญาในคดีที่มีเหตุจูงใจทางการเมืองไม่ใช่หนทางแก้ปัญหา(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: ศาลพิพากษาคดีดีเจหนึ่ง ผิด ม.116 แต่ให้รอการกำหนดโทษ 3 ปี)

3. คดี “เคทอง” หรือ พรวัฒน์ อัดรายการในแคมฟรอกทำนายว่าจะมีเหตุระเบิดในกรุงเทพ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากถ้อยคำที่จำเลยกล่าวตามฟ้องแล้ว เห็นได้ว่าเป็นถ้อยคำที่คนทั่วไปรับฟังแล้วย่อมเกิดความตระหนกตกใจ แต่ไม่ได้มีข้อความใดๆ ในทำนองยุยงส่งเสริมหรือปลุกระดมให้เกิดความปั่นป่วน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: ศาลยกฟ้อง ‘เคทอง’ ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กรณีถูกกล่าวหาโพสต์คลิปขู่บึ้ม)

4. คดีสมชาย ไพบูลย์ ส.ข.พรรคเพื่อไทย ปราศรัยที่แยกผ่านฟ้าระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้มีความผิดตามมาตรา 116 ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี เนื่องจากในช่วงเวลานั้นมีประชาชนใช้กำลังและอาวุธปืน ท่อนไม้ และท่อนเหล็ก เข้าขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่จนเจ้าหน้าที่ทหารได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต รวมทั้งทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย(อ่านข่าววที่เกี่ยวข้อง: อุทธรณ์ยืนคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา 'สมชาย ไพบูลย์' ปราศรัยปลุกระดมนปช.ปี53)
การบังคับใช้มาตรา 116 หลังการรัฐประหารปี 2557

ขณะที่ภายหลังการรัฐประหาร 2557 พบว่า มีที่ถูกจับกุมดำเนินคดีจากฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 อย่างน้อย 66 คน แยกออกได้อย่างน้อย 26 คดี


จากจำนวน 26 คดีจัดประเภทการตั้งข้อกล่าวหาตามเนื้อหาการแสดงออกพบว่า มี 20 คดีที่มีเหตุมาจากการวิพากษ์วิจารณ์การรัฐประหาร รัฐบาล และ คสช. 2 คดีเป็นกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 2 คดีมาจาการพูดถึงทักษิณ ชินวัตร 1 คดีจาการวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ 1 คดีเป็นการปล่อยข่าวลือเรื่องการรัฐประหารซ้อน และอีก 1 คดีมาจาการตัดพ้อ ขอแบ่งแยกประเทศล้านนา


สำหรับการตั้งข้อกล่าวหาโดยแบ่งจากสถานะของคดีพบว่า 10 คดีกำลังอยู่ในการพิจารณาของศาล 7 คดีอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน 1 คดียกฟ้อง 1 คดีรอลงอาญา 6 คดีสั่งไม่ฟ้องหรือจำหน่ายคดี 1 คดีพิพากษาจำคุก และไม่ทราบสถานะ 1 คดี

ตัวอย่างใน 20 คดีที่ถูกฟ้อง ม.116 เพียงเพราะวิจารณ์รัฐประหาร รัฐบาล และ คสช.


ในส่วนของคดีที่มีสาเหตุมาจาการการวิพากษ์วิจารณ์การรัฐประหาร รัฐบาล และ คสช. ซึ่งมีทั้งหมด 20 คดี อาทิ


ภาพจากเฟซบุ๊กวาสนา นาน่วม

ไม่ไปรายงานตัวกับ คสช. และให้สัมภาษณ์สื่อต่างชาติ วิจารณ์การรัฐประหาร

1.เริ่มแรกเปิดฉากการตั้งข้อกล่าวตามมาตรา 116 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 โดยจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต รมว.ศึกษาธิการ ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้ถูกควบคุมตัว ขณะขึ้นกล่าวปราศรัยต้านรัฐประหารที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ โดย คสช. ระบุว่า ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนโดยมีเนื้อหาที่เข้าข่ายยุยงส่งเสริมให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนที่อาจก่อให้เกิดความไม่สงบ(อ่านข่าวที่เกี่ยว: จาตุรนต์ นอนคุก-แจ้งข้อหา ม.116 ศาลทหารคัดค้านประกัน) และไม่ไปรายงานตัวตามประกาศ คสช. ที่ 41/2557 โดยในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า (ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการนัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 1 ในวันที่ 1 กันยายน 2560 – อ่านเรื่องราวทางคดีได้ที่นี่)


สวัสดีครับทุกท่าน ในหลายสิบปีมานี้ผมได้แสดงความเห็นไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารมาตลอด และยังได้เคยให้ความเห็นไว้หลายครั้งว่า ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นในสังคม การรัฐประหารจะยิ่งทำให้ปัญหาเลวร้ายยิ่งขึ้นเสมอ วันนี้ผมก็ยังมีความเห็นอย่างเดิม คือไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจในครั้งนี้ และเห็นว่าการยึดอำนาจไม่ใช่ทางออกของประเทศ หากมีแต่จะยิ่งทำให้ประเทศมีปัญหามากยิ่งขึ้นไปอีก

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมจึงขอสงวนสิทธิ์ที่จะแสดงความไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจในครั้งนี้ และจะเรียกร้องผลักดันให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยโดยเร็วต่อไป ทั้งนี้การดำเนินการใด ๆ ของผมจะยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย ผลประโยชน์ของประเทศชาติและโดยสันติวิธี สำหรับกรณีที่มีการให้ผมกับนักการเมืองและบุคคลจำนวนมากไปรายงานตัวต่อคสช.นั้น ขอเรียนว่าเมื่อผมไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจและเห็นว่าการยึดอำนาจนี้ไม่เป็นการแก้ปัญหาของบ้านเมืองและไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ผมจึงไม่อาจไปรายงานตัวต่อคสช.ได้ ทั้งนี้มิใช่ว่าผมต้องการจะไปกระทำการอะไรที่ขัดต่อกฎหมายบ้านเมืองตามปรกติ และก็มิได้ต้องการจะก่อความไม่สงบใด ๆ

ทราบจากเพื่อนรัฐมนตรีบางคนที่เข้าไปรายงานตัวว่า บางท่านได้รับแจ้งว่า รมต.ที่ถูกกักตัวไว้จะได้รับการปล่อยตัว เมื่อรมต.ทุกคนมารายงานตัวกันครบแล้ว ผมก็เลยกลายเป็นภาระต่อท่านเหล่านั้น หากกรณีเป็นเช่นนั้นจริง ผมก็ไม่ขัดข้องที่จะไปพบกับคสช. เพียงแต่ว่าคงต้องขอที่จะไม่ไป “รายงานตัว” หากคสช.จะกรุณาก็ขอให้ช่วยมารับตัว หรือจะเรียกว่าคุมตัวไปพบกับคสช.ก็ได้ ในเวลาที่เหมาะสมผมจะได้ประสานติดต่อเพื่อการนี้ต่อไป

อยากจะเรียนยืนยันต่อทุกฝ่ายทุกท่านด้วยความเคารพว่า ในท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในหลายปีมานี้ รวมทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน ผมไม่มีความผิดหรือข้อกล่าวหาว่ากระทำผิดกฎหมายใด ๆ ติดตัวอยู่เลยแม้แต่เรื่องเดียว และก็ไม่ต้องการที่จะทำผิดกฎหมาย (ปรกติและที่ชอบธรรม) ใด ๆ ด้วย ผมจึงมิได้คิดจะหลบหนีเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายแต่อย่างใด จึงเรียนมาเพื่อทราบทั่วกัน


ขึ้นข่าวการต้านรัฐประหารและเขียนวันที่ผิด (ยกฟ้อง)

2.คดีต่อมาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับ ชัชวาลย์ นักข่าวที่จังหวัดลำพูน โดยถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ภายหลังส่งภาพ และข่าวชุมนุมต้านรัฐประหารที่จังหวัดลำพูนให้สำนักข่าวผู้จัดการออนไลน์ โดยระบุวันคลาดเคลื่อนจากเหตุที่เกิดขึ้นจริง สำหรับคดีนี้ศาลพิพากษายกฟ้อง

โดยศาลได้พิเคราะห์ว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่เพียงพอ และการกระทำของจำเลยเป็นเพียงการนำเสนอข่าวในเหตุการณ์ประจำวัน ไม่เป็นข้อแสดงว่าจำเลยมีเจตนาจะทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และถือไม่ได้ว่าจำเลยนำเสนอภาพข่าวโดยไม่สุจริต (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: ศาลทหารพิพากษายกฟ้อง-กรณีนักข่าวลำพูนลงข่าวชุมนุมต้านรัฐประหารผิดวัน)


ชัชวาลย์เล่าถึงที่มาที่ไปของคดีว่าเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2557 ภายหลังรัฐประหารไม่กี่วัน เพื่อนนักข่าวได้ส่งภาพเหตุการณ์การชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี จ.ลำพูน มาให้ทางไลน์ส่วนตัว โดยเป็นภาพประชาชนรวมตัวกันใส่หน้ากากขาวและชูป้ายต่อต้านรัฐประหาร จึงได้โทรศัพท์สอบถามจากเพื่อน และได้รับการยืนยันว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเย็นวันนั้น จึงส่งเป็นรายงานข่าวไปยังศูนย์ข่าวของผู้จัดการออนไลน์

ข่าวได้ขึ้นเผยแพร่ทางเว็บไซต์ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2557 โดยกองบรรณาธิการมีการนำไปรวมกับข่าวต้านรัฐประหารของจ.เชียงใหม่ ภายใต้พาดหัวข่าว “แดงลำพูนแปลงกาย ใส่หลากสี สวมหน้ากากชูป้ายต้านรัฐประหารกลางเมือง" แต่ได้ทราบต่อมาภายหลังว่าเป็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ไม่ได้มีการบิดเบือนแต่อย่างใด แต่เป็นความเข้าใจผิดเรื่องวันเวลาที่เกิด ส่วนในวันที่ 31 พฤษภาคม นั้น ไม่ได้มีการชุมนุมเกิดขึ้นในจังหวัดลำพูนแต่อย่างใด ทางสำนักข่าวได้มีการลบข่าวนั้นออกไปจากระบบออนไลน์ภายหลังการเผยแพร่ไม่กี่ชั่วโมง

บก.ลายจุด โพสต์เฟซบุ๊กชวนต้านรัฐประหาร

3. คดีของสมบัติ บุญงามอนงค์ ซึ่งถูกจับเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2557 จากการโพสเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์นัดหมายให้ประชาชนออกมาชุมนุมต่อต้าน คสช. ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพ(อ่านเรื่องราวทางคดีที่นี่)

โดยภายหลังการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ได้ประกาศและออกคำสั่งห้ามบุคคลชุมนุม เผยแพร่ข่าวสารหรือส่งข้อความทางสื่อออนไลน์ หรือกระทำการใดๆ ที่จะก่อให้เกิดความปั่นป่วน วุ่นวายถึงขนาดก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้น

ซึ่งระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม - 5 มิถุนายน 2557 สมบัติได้โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ก ส่วนตัวว่า "นัดใหญ่ 3 นิ้ว วันอาทิตย์ที่ 8 มิ.ย. เที่ยงตรง เห็นชอบกด Like ไปร่วมกด Share" "มีรุ่นใหญ่บอกผมว่าเราล้ม คสช ไม่ได้ผมไม่อยากฟันธง หลุดจากอาทิตย์ ผมจะเสนอกิจกรรม ล้ม คสช" และอีกหลายข้อความซึ่งอาจเป็นการทำให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนและยุยงส่งเสริมให้ประชาชนทำผิดกฎหมายถึงขนาดก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร

โปรยใบปลิวต่อต้านการทำรัฐประหาร

4.จับสองหนุ่มโปรยใบปลิวต้าน คสช. คดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2557 จากมีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์มาทางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และโปรยใบปลิวโจมตี คสช. โดยเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล และ ทหารจาก กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ (ป.1 รอ.) นำโดย พ.อ.คชาชาต บุญดี ผบ.ป.1รอ. ได้ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ขอควบคุมตัว นายสิทธิทัศน์ เหล่าวานิชธนาภา อายุ 54 ปี ว่าต้องสงสัยเกี่ยวกับการแจกใบปลิวต้าน คสช. โดยผลการสอบสวนนายสิทธิทัศน์ ยอมรับว่าได้ทำสำเนาใบปลิวดังกล่าวจริง และได้นัดพบกับ นายวชิระ ทองสุข หรือ บอย ภายใน ซ.สำราญราษฎร์ เขตพระนคร และนำถุงใส่ใบปลิวจากรถเบนซ์รุ่น C200 สีดำ ใส่รถจักรยานยนต์ของนายวชิระ นำใบปลิวดังกล่าวไปโปรยบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: นครบาลแถลงจับ 2 หนุ่มโปรยใบปลิวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อ 23 พ.ย. , ทีมโฆษก คสช. ตำหนิผู้โปรยใบปลิวทำให้พื้นสกปรก-ไม่เกิดประโยชน์สังคม)

ทั้งนี้ตำรวจตั้งข้อหาร่วมกันโปรยใบปลิว ที่มีข้อความที่ส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่น ก่อให้เกิดความขัดแย้ง รวมไปถึงร่วมกันฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 97 และก่อความไม่สงบ สร้างความปั่นป่วนในราชอาณาจักร ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์ (อ่านเรื่องราวทางคดีที่นี่)


5.หนุ่มแรงงานจังหวัดระยองใบปลิว “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” คดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2558 มีชายขี่รถจักรยานยนต์ นำใบปลิวมีข้อความซึ่งระบุว่า เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ และมีรูปชูสามนิ้ว มาโปรยที่หน้าหอพระพุทธอังคีรส สวนศรีเมือง หน้าโรงเรียนระยองวิทยาคม และวิทยาลัยเทคนิคระยอง (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:ศาลทหารชลฯ ให้ประกันคนงานระยองโปรยใบปลิว ‘ประชาธิปไตยจงเจริญ’ แล้ว) ต่อมาในวันที่ 28 มีนาคม 2558 พล.ต.ต.ชุมพล ฉันทะจำรัสศิลป์ ผบก.ภ.จว.ระยอง เปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารได้คุมตัวนายพลวัฒน์ วโรดมพุฒิกุล อายุ 22 ปี มาจากค่ายทหาร จ.ชลบุรีแล้ว หลังให้การรับสารภาพ เป็นผู้ลงมือโปรยใบปลิว เพื่อมาควบคุมที่สภ.เมืองระยอง หลังควบคุมตัวและนำตัวไปสอบสวนที่ค่ายทหารใน จ.ชลบุรี ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2558 ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างสืบพยานโจทก์ (อ่านเรื่องราวทางคดีที่นี่)

เดินตามหาความเป็นธรรม คัดค้านพลเรือนขึ้นศาลทหาร

6.เป็นคดีความที่เกิดขึ้นกับ พัธศักดิ์ ศรีเทพ อาชีพขับรถแท็กซี่ ผู้เป็นพ่อของสมาพันธ์ ศรีเทพ ซึ่งเสียชีวิตในวัย 17 ปี จากเหตุการณ์การสลายการชุมนุม เมื่อปี 2553 โดยคดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเกิดการจับกุม 4 นักกิจกรรมที่ออกมาทำกิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลัก เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 ต่อมาในวันที่ 12 มีนาคม 2558 พันธ์ศักดิ์และผู้ถูกกล่าวหาอีก 3 รายในคดี เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก ได้ออกแถลงการณ์ถึงประธานศาลฎีกาเรียกร้องสิทธิพลเมือง โดยขอขึ้นศาลอาญาแทนศาลทหารในความผิดที่พวกตนถูกจับกุมในคดีดังกล่าว

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ต้องหาดังกล่าวยังได้ประกาศผ่านเฟซบุ๊กเพจ “พลเมืองโต้กลับ” ว่าจะจัดกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” ในวันที่ 14-16 มีนาคม 2558 โดยเป็นการเดินเท้าจากบางบัวทองถึง สน.ปทุมวัน เพื่อให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตามนัดหมายในวันที่ 16 มีนาคม


15 มีนาคม 2558 พันธ์ศักดิ์เริ่มออกเดินเพียงผู้เดียวไปยังเส้นทางตามแผน คือ จากหน้าสำนักพิมพ์ไทยรัฐ ผ่านซอยรางน้ำ ผ่านหมุดเฌอ ผ่านหมุด 2475 ผ่านสภาทนายความ ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปสิ้นสุดที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อพันธ์ศักดิ์เดินมาถึงกรมวิทยาศาสตร์บริการ มีกลุ่มชายแต่งกายคล้ายนักศึกษาจำนวน 3 ราย เป็นผู้ต้องหาที่ 2, 3, 4 มอบดอกกุหลาบสีแดงให้พันธ์ศักดิ์ ระหว่างนั้นมีนักข่าวไม่ทราบสังกัดเข้ามาถ่ายรูปการทำกิจกรรมดังกล่าวเรื่อยมาจนถึงกรมทางหลวง มีผู้ต้องหาที่ 5 เข้ามาร่วมเดินด้วย จนถึงแยกผ่านฟ้าได้มีผู้ต้องหาที่ 6 เข้าร่วมเดินขบวนด้วย เมื่อมาถึงหน้าร้านอาหารเมธาวลัย ศรแดง ปรีชา แก้วบ้านแพ้ว ได้มอบดอกกุหลาบสีแดงพร้อมถุงอาหารให้พันธ์ศักดิ์

การเดินเท้าของพันธ์ศักดิ์และผู้ต้องหาอีก 6 ราย เป็นการกระทำที่เข้าข่ายต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร เนื่องจากก่อนการเดินเท้ามีการประกาศผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค มีการนัดประชาชนมารวมตัวกันและเสวนาทางการเมือง ณ จุดต่างที่ตนเองเดินผ่าน โดยไม่ได้มีเจตนาเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนตามปกติ นอกจากนี้ ยังมีการจำหน่ายตราสัญลักษณ์ “พลเมืองโต้กลับ” ให้กับคนที่มาพูดคุยและเห็นด้วยกับพันธ์ศักดิ์

โดยพนักงานสอบสวนเห็นว่า การกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดจำนวน 3 ข้อหา ได้แก่ ปลุกระดมยั่วยุให้ฝ่าฝืนกฎหมายตามมาตรา 116 ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) และฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์ (อ่านเรื่องราวทางคดีที่นี่)

มอบดอกไม้ให้กำลังใจพลเมืองโต้กลับ โดนจับยุยงปลุกปั่น พิพากษาคุก 3 เดือน รอลงอาญา

7.อีกหนึ่งคดีที่อาจสร้างความแปลกใจอยู่ไม่น้อยคือคดีที่เกิดขึ้นกับ ปรีชา แก้วบ้านแพ้ว อายุ77 ปี ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการบำนาญ ถูกตั้ง 2 ข้อกล่าวหาคือ มาตรา 116 และร่วมกันฝ่าฝืนประกาศฯ ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ถูกนำตัวจากเชียงรายส่งตัวมาสอบสวนที่สน.ชนะสงคราม อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: อดีตครูวัย 77 ขึ้นศาลทหาร-ตั้ง 2 ข้อหาหนัก หลังมอบดอกไม้พ่อเฌอขณะเดิน ‘พลเมืองไม่ขึ้นศาลทหาร’ , ศาลทหารจำคุกลุงมอบดอกไม้ 3 เดือน รอลงอาญา 1 ปี ปรับสี่พัน)

เรื่องราวเกิดขึ้นจาก ในวันที่ 15 มีนาคม 2558 พันศักดิ์ ศรีเทพ ทำกิจกรรม "พลเมืองรุกเดิน รณรงค์คัดค้านการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร" ปรีชา ซึ่งไปร่วมสังเกตการณ์กิจกรรมอยู่ที่บริเวณร้านอาหารเมธาวลัย ศรแดง ใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้นำดอกไม้ดอกไม้และถุงอาหารมามอบให้พันธ์ศักดิ์ และเดินตามพันธ์ศักดิ์ไปจนถึงลานปรีดี ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยทนายจำเลยให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า ระหว่างที่ปรีชาสังเกตการณ์อยู่ มีสายสืบจากสน.ชนะสงคราม เข้ามาพูดคุยเพื่อให้ปรีชายอมบอกหมายเลขโทรศัพท์ และหลังจากนั้นศาลทหารกรุงเทพออกหมายจับปรีชาในภายหลัง โดยแจ้งข้อกล่าวหาว่า ร่วมชุมนุมเกิน 5 คน และยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนฝ่าฝืนกฎหมาย


ปรีชา แก้วบ้านแพ้ว ผู้ต้องหา

โดยคดีดังกล่าว ศาลทหารพิพากษาลงโทษจำคุกจำเป็นเวลา 6 เดือนและปรับเป็นเงิน 8000 บาทตามคำสั่งสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 แต่จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 3 เดือนปรับ 4000 บาท

ตามที่จำเลยยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพขอให้รอการลงโทษ เห็นว่าจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนและพฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรงเกินสมควร จึงเห็นควรให้รอการลงโทษจำคุกไว้ก่อนเพื่อให้จำเลยมีโอกาสกลับตัวอันเป็นประโยชน์ต่อตัวจำเลยและสังคมโดยรวม ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนดหนึ่งปีนับจากศาลมีคำพิพากษา และให้จำเลยชำระค่าปรับ (อ่านเรื่องราวทางคดีที่นี่)

การเคลื่อนไหวต่อต้าน คสช. ของขบวนการประชาธิปไตยใหม่


8.คดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมือวันที่ 26 มิถุนายน 2558 โดยมีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งสิ้น 14 คนประกอบด้วย 1.รังสิมันต์ โรม 2.วสันต์ เสดสิทธิ 3.ทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ 4.พายุ บุญโสภณ 5.อภิวัฒน์ สุนทรารักษ์ 6.รัฐพล ศุภโสภณ 7.ศุภชัย ภูคลองพลอย 8.อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ 9.ภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ 10.สุวิชา พิทังกร 11.ปกรณ์ อารีกุล 12.จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา 13.พรชัย ยวนยี 14. ชลธิชา แจ้งเร็ว โดยสาเหตุเกิดจากการชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร ซึ่งผู้ต้องหาทั้งหมดถูกจับกุมและฝากขังอยู่ที่เรือนจำเป็นเวลา 12 วัน โดยถูกตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 และฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ปัจจุบันคดียังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน (อ่านเรื่องราวทางคดีที่นี่)

9.อีกกรณีต่อมาซึ่งเกี่ยวข้องกันเกิดขึ้นกับ บารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานกลุ่มสมัชชาคนจน โดยในวันที่ 5 สิงหาคม 2558 โดยถูกดำเนินคดีจากการให้ที่พักกับขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ถูกตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 ปัจจุบันคดียังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน (อ่านเรื่องราวทางคดีที่นี่)

10.นอกจากนี้ยังมีทนายความ ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ถูกแจ้งข้อหาชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปและยุยงปลุกปั่นตามม.116 โดยคดีนี้เกิดขึ้นจากกรณีการนำ 14 ขบวนการประชาธิปไตยใหม่มาฝากขังที่ศาลทหาร โดยนักกิจกรรมทั้งหมดแสดงเจตจำนงที่จะไม่ประกันตัว จึงฝากโทรศัพท์มือถือและของใช้ส่วนตัวไว้กับทีมทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่เดินทางไปที่ศาลเพื่อช่วยเหลือในกระบวนการฝากขัง

หลังเสร็จสิ้นการพิจารณาในเวลาประมาณเกือบเที่ยงคืนเจ้าหน้าที่ตำรวจขอตรวจค้นรถของศิริกาญจน์เพื่อยึดโทรศัพท์ของนักกิจกรรมโดยไม่มีหมายมาแสดงแต่ศิริกาญจน์ไม่ยอม เจ้าหน้าที่จึงล็อกล้อรถของศิริกาญจน์และล้อมรั้วรถไว้ที่หน้าศาลทหารก่อนจะนำหมายค้นมาทำการตรวจค้นในวันรุ่งขึ้น (อ่านเรื่องราวทางคดีที่นี่)

โพสต์ข่าวลือในเฟซบุ๊กเรื่องพลเอกประยุทธ์โอนเงินไปเก็บไว้ที่สิงคโปร์ ศาลทหารพิพากษายกฟ้อง

11.คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2558 พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. พร้อมคณะ ได้นำตัว รินดา ปฤชาบุตร อายุ 44 ปี ผู้ต้องหาคดีโพสต์เฟซบุ๊กกล่าวหาพล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และภรรยาโอนเงินไปสิงคโปร์หมื่นล้าน มาแถลงข่าวการจับกุม

พล.ต.ท.ศิริพงษ์ ติมุลา ผู้บังคับการ ปอท. กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้ทำการสืบสวนสอบสวนคดีนี้ ปอท.จึงร่วมกับ ไอซีทีและหน่วยงานความมั่นคงสืบหาตัวผู้กระทำความผิดจนจับกุมได้ และพบว่ารินดามีความเชื่อมโยงกับกลุ่มคนต่างๆ ที่เป็นที่จับตาของฝ่ายความมั่นคง เจ้าหน้าที่่ทหารได้ใช้ อำนาจตาม มาตรา44 ในรัฐธรรมนูญ 2557(ชั่วคราว) เข้าควบคุมตัว

รินดาโดนเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบบุกจับกุมที่บ้านพักจังหวัดปทุมธานีเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2558ไปควบคุมตัวที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ 1 คืนก่อนนำส่งกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ในวันต่อมา ตำรวจแจ้งข้อหาว่าว่ารินดากระทำความผิดโพสต์ข้อความดังกล่าวในเฟซบุ๊ก วันที่ 6 กรกฎาคม 2558 เวลา 06.41 น. มีความผิด 3 ข้อหา คือ มาตรา 14(2) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ,มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 384 ประมวลกฎหมายอาญา แกล้งบอกเล่าความเท็จให้เลื่องลือจนเป็นเหตุให้ประชาชนตื่นตกใจ


นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ทำผังเครือข่ายผู้โพสต์ข้อความ โดยรินดาปฏิเสธว่าเธอไม่ได้มีความรู้จักกับบุคคลซึ่งถูกโยงเอาไว้ในผังเครือข่ายผู้โพสต์ข้อความซึ่งตำรวจนำมาใช้ประกอบการแถลงข่าว ปัจจุบันศาลทหารสั่งจำหน่ายคดีของรินดาออกจากสารบบ เนื่องจากเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ศาลทหารกรุงเทพนัดรินดาฟังคำวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ 2/2559 ของศาลอาญา ลงวันที่ 30 มีนาคม 2559 ซึ่งสรุปความได้ว่า

ตามที่ศาลทหารส่งสำนวนคดีของรินดาพร้อมความเห็นว่าการกระทำตามข้อกล่าวหาไม่น่าจะเป็นความฐานกระทำด้วยวาจาหรือวิธีการอื่นใดเพื่อให้ประชาชนก่อความวุ่นวาย แต่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯซึ่งไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร

ศาลอาญาเห็นพ้องว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไม่อยู่เขตอำนาจศาลทหาร กรณีจึงเป็นที่ยุติว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหาร (อ่านเรื่องราวทางคดีที่นี่)

ทำเพจล้อเลียนนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กลับเป็นกลายเป็นภัยความมั่นคง

12.แอดมินเพจ “เรารักพล.อ.ประยุทธ์” ถูกจับกุมทั้งหมด 8 ราย เนื่องจากทำแฟนเพจเฟซบุ๊กล้อเลียนพล.อ.ประยุทธ์ ตันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. โดยในวันที่ 27 เมษายน 2559 ทหารบุกควบคุมตัวประชาชนหลายรายตั้งแต่เช้ามืด แบ่งเป็นในจังหวัดขอนแก่น 2 รายคือ หฤษฏ์ มหาทน หรือ ปอน และนิธิ กุลธนศิลป์(ได้รับการปล่อยตัว) และในกรุงเทพฯ อีก 7 ราย ทราบชื่อภายหลัง ได้แก่ 1.ณัฏฐิกา วรธัยวิชญ์ หรือนัท 2.นพเก้า คงสุวรรณ 3.วรวิทย์ ศักดิ์สมุทรนันท์ หรืออ้วน 4.โยธิน มั่งคั่งสง่า หรือโย 5.ธนวรรธน์ บูรณศิริ อายุ 22 ปี 6.ศุภชัย สายบุตร หรือ ตั๋ม อายุ 30 ปี และ 7.กัณสิทธิ์ ตั้งบุญธินา หรือ ที อายุ 34 ปี การควบคุมตัวในครั้งนี้ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในโซเชียลมีเดีย เนื่องจากไม่ทราบสาเหตุว่าพวกเขาถูกจับกุมจากกรณีใด นำตัวไปไว้ที่ใด จนกระทั่งพ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวผู้ที่มีพฤติกรรมเกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดีย ที่เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จำนวน 8 คน

28 เมษายน 2559 เวลาประมาณ 18.30 น. ที่กองบังคับการปราบปราม ตำรวจตั้งแถลงข่าวนำโดยพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติร่วมกับทหารพระธรรมนูญและแพทย์ที่ตรวจร่างกาย โดยมีการนำผู้ต้องหาทั้ง 8 คนมาร่วมแถลงข่าวด้วยและให้ตัวแทนจากสภาทนายความเข้าร่วมรับฟัง อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านนี้ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและญาติของผู้ต้องหาจำนวนหนึ่งขอเข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าวด้วยพร้อมทั้งแจ้งว่าญาติผู้ต้องหาได้แต่งตั้งทนายความแล้วจึงขอเข้าพบลูกความแต่ตำรวจไม่ได้อนุญาตให้ทนายและญาติเข้าฟังการแถลงข่าวและพบผู้ต้องหา



เจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 8 คน ในความผิดนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และสร้างความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน มาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา โดยการทำเพจในเฟซบุ๊กชื่อ เรารักพล.อ.ประยุทธ์ ทั้งหมดปฏิเสธข้อกล่าวหา ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา (อ่านเรื่องราวทางคดีที่นี่)

ผลทางการเมือง จากการตั้งข้อหามาตรา 116

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ระบุว่า หากพิจารณาตามตัวบทกฎหมายอาญามาตรา 116 การที่จะเกิดความผิดตามประมวลกฎหมายข้อนี้ได้สิ่งแรกคือต้องเป็นการกระทำที่มีเจตนาเพื่อให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด โดยการจะผิดตามประมวลกฎหมายข้อนี้ได้ต้องเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ซึ่งตามรัฐธรรมนูญทั้ง 2540 , 2550 และ 2560 ได้รับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยสงบ ปราศจากอาวุธไว้


ยิ่งชีพ กล่าวต่อไปว่า ความผิดตามมาตรา 116 จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดสิ่ง 3 สิ่งคือ

1.เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายแผ่นดิน หรือรัฐบาล แต่การกระทำดังกล่าวต้องมีลักษณะของการข่มขืนใจ และใช้กำลังประทุษร้าย ซึ่งหากเป็นการแสดงออกโดยสุจริตใจว่าต้องการให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายบางฉบับ หรือต้องการขับไล่รัฐบาลโดยการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ก็ไม่น่าจะเป็นความผิด

2.เพื่อให้เกิดความปั่นปวน สร้างความกระด่างกระเดื่องในหมูประชาชน ซึ่งเจตนาพิเศษในข้อนี้สามารถตีความได้กว้างมากว่าอะไรคือความปั่นป่วน และอะไรคือความกระด่างกระเดื่อง แต่ถึงอย่างไรก็ตามการะทำจากเจตนานี้จะต้องส่งผลไปถึงขั้นก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร นั่นหมายความว่าหากเป็นการพูดคุยกันเพียงไม่กี่คน มีคนเห็นด้วยไม่กี่คน ก็คงไม่ถึงขึ้นก่อให้เกิดความกระด่างกระเดื่องในหมูประชาชน และก็ไม่ก่อให้เกิดความไม่สงบใดๆ การกระทำในลักษณะนี้ก็ไม่น่ามีความผิด

3.เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน โดยต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ซึ่งการระบุว่าเพื่อทำให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินก็มีการเปิดช่องให้มีลักษณะการตีความที่กว้างเกินไป หากเป็นการการทำผิดกฎหมายเล็กๆ น้อยๆ เช่นทำพื้นที่สาธารณะสกปรก หรือกีดขวางการจราจร ก็ไม่น่าจะผิดตามมาตรา 116 แต่หากเป็นการปั่นป่วนให้คนเกิดความเกลียดชังจนสามารถลุกขึ้นมาฆ่ากันได้ กรณีนี้ก็อาจไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ

ยิ่งชีพ ระบุด้วยว่า กฎหมายอาญามาตรา 116 ถูกจัดอยู่ในความผิดด้านความมั่นคงของชาติ อีกทั้งเป็นคดีที่มีโทษสูงสุดถึง 7 ปี และด้วยเงือนไขในลักษณะดังกล่าวสิ่งที่เกิดขึ้นคือ การถูกมองว่าใครก็ตามที่ถูกฟ้องดำเนินคดีด้วยกฎหมายมาตรานี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ และโดยกระบวนการพิจารณาของศาลเนื่องจากคดีลักษณะนี้เป็นคดีความั่นคง และมีอัตราโทษสูง สิ่งที่จะตามคือ ความยากในการขอประกันตัว หรือขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารเงินประกันตัวขั้นต่ำที่สุดสำหรับคดีนี้อยู่ที่ 7 หมื่นบาท ขณะเดียวกันภายหลังการรัฐประหารได้มีการออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ที่กำหนดให้คดีความมั่นคงทุกคดีต้องถูกพิจารณาโดยศาลทหาร นั่นเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้ตกเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวยากที่จะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม

ท้ายที่สุดยิ่งชีพตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หลังจากการมีการจับกุมดำเนินคดีตามมาตรา 116 หลายๆ จะมีการแถลงการจับกุมที่ใหญ่โตมีสื่อมวลชนมาร่วมรายงานการแถลงข่าวทุกสำนัก และการแถลงข่าวมักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่เป็นผลดีกับ คสช. มากนัก เช่นกำลังถูกตรวจสอบ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากสังคม อย่างกรณีการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ หรือกรณีมีข่าวลือที่ไม่ดีเกิดขึ้นกับ คสช. ซึ่งมีคนพูดถึงกันจำนวนมาก แต่กลับมีการจับกุมผู้ต้องหาเพียงไม่กี่คนและนำตัวมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวการจับกุม กรณีดังกล่าวอาจมองได้ว่าเป็นเรื่องปกติที่รัฐสามารถทำได้ แต่อย่างไรก็ตามปฎิเสธไม่ได้ว่าเป็นการกระทำที่สร้างให้เกิดความหวาดกลัว และทำให้ประชาชนเริ่มจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของตัวเอง เพราะถึงที่สุดไม่มีใครที่ต้องการนำพาตัวเองไปสู่จุดที่ต้องถูกดำเนินคดี



แหล่งข้อมูลอ้างอิง: “ยุยงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 ข้อหาเพื่อประโยชน์ทางการเมืองในยุครัฐบาลคสช.

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.