ประยุทธ์ แจงปมเหมืองทอง อัครา เผย ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นเจรจา บ.คิงส์เกตยันคำสั่งที่ออกมาทำเพื่อประชาชน มั่นใจมี ม.44 คุ้มครอง " ผมไม่ต้องรับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น" ไม่ต้องกลัวอะไร เสียใจ 'ยิ่งลักษณ์' หนี ฝ่ายความมั่นคงเป็นจำเลยสังคม
29 ส.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (29 ส.ค. 60) เวลา 14.30 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชา 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีการออกคำสั่ง ม.44 เรื่อง การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ภายหลังจากบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด ผู้ประกอบการเหมืองแร่ ของออสเตรเลีย เป็นผู้ร่วมทุนใหญ่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส ยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดใช้ค่าเสียหายทางธุรกิจมูลค่า 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 30,000 ล้านบาท ว่า ขออย่านำคดีรับจำนำข้าวมาเทียบกับเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งกรณีของบริษัทอัครา รัฐบาล และ คสช. ดำเนินการเพราะมีการเรียกร้องจากประชาชน จึงจำเป็นต้องสั่งให้หยุดการทำงานเพื่อให้มีการตรวจสอบให้เกิดความชัดเจนว่ามีผลอะไรหรือไม่
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ส่วนตัวมองว่าการทำเพื่อประชาชนแม้ในทางกฏหมายมีทางสู้มากมาย แต่ก็ควรจะเสี่ยง ขณะเดียวกันควรคำนึงถึงประชาชนเพราะส่วนตัวไม่ได้ประโยชน์จากการ เปิด - ปิดเหมืองแร่ พร้อมกล่าวยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับประชาชนมากกว่า จะได้เงินหรือเสียเงินก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะหากไม่ดำเนินการก็จะไม่เกิดความชัดเจน รวมถึงเกิดการเรียกร้องเดินขบวน ขณะที่ส่วนตัวทำตามคำเรียกร้องพอเกิดปัญหากลับให้รัฐบาลรับผิดชอบ จึงมองว่าเป็นคนละเรื่องกับคดีรับจำนำข้าวเพราะจำนำข้าวเป็นเรื่องของการทุจริตจึงขอให้แยกแยะด้วย อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวยังไม่ได้มีการเรียกร้องใด ๆ เพราะอยู่ในขั้นตอนของการเจรจาและยังไม่ได้ตัดสินว่าใครผิดหรือถูกแต่หากเป็นเรื่องกฏหมายระหว่างประเทศก็ต้องสู้คดีต่อไป
"ที่ใช้มาตรา 44 ในประเทศนี้ ผมไม่ต้องรับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น ผมทำได้หมด ส่วนกฎหมาย อนุญาโตตุลาการ กฎหมายระหว่างประเทศ ก็ต้องสู้คดีกันไป แต่เมื่อผมใช้มาตรา 44 ผมไม่ต้องกลัวอะไรทั้งสิ้น เพราะคุ้มครองผม แต่ประเด็นนี้มันเป็นเรื่องของต่างชาติด้วย แยกแยะหน่อยผมทำเพื่อใคร การนำคดีมาเทียบกันแบบนี้เท่ากับไม่ให้ความเป็นธรรมกับผมเลย" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ด้าน เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ด้านทรัพยากรแร่ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษากล่าวว่า สำหรับเหมืองทอง ถ้าไม่เปิดเหมือง รัฐก็ยอมจ่ายค่าชดเชย ซึ่งตอนนี้อยู่ในกระบวนการไกล่เกลี่ย เจรจาว่าจะเปิดหรือไม่ ถ้าไม่เปิดต้องจ่าย คสช.จะชั่งใจว่าถ้าจะเสีย 3 หมื่นล้านบาท จะเอาที่ไหนมาเสีย ถ้ามีก็น่าเสีย เพื่อได้ช่วยเหลือประชาชนที่ทุกข์ร้อนจากกิจการเหมืองทอง ถึงแม้จะยังไม่มีการพิสูจน์ทางหลักวิทยาศาสตร์ แต่ผลกระทบหลักฐานเชิงประจักษ์มีสูง แต่ถ้า คสช.เห็นว่าไม่น่าจ่าย คสช.จะให้เปิดเหมืองทองแน่นอน
นอกจากนี้ เลิศศักดิ์ยังกล่างถึง พ.ร.บ.แร่ฯ ฉบับใหม่ที่ประกาศใช้เป็นวันแรกว่า พรบ. แร่ฉบับนี้ มีส่วนดี ถ้าต้องเทียบกับฉบับเก่า แต่ก็มีพัฒนาการที่ติดๆ ขัดๆ อยู่มาก มีประโยชน์ต่อการขอสัมปทานแร่บางชนิด แต่ไม่มีประโยชน์ต่อแร่บางชนิดที่มีการทำเหมืองแร่ที่แตกต่าง ที่น่าสนใจ คือตัวโครงการสร้างของ คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติหรือ คนร. มีอำนาจกว้างขวาง มีอำนาจอนุมัติสัมปทานแร่ได้ เนื่องจากว่า คณะกรรมชุดนี้สามารถดุลอำนาจกับ กพร. ที่เคยเป็นหน่วยงานหลักในการ อนุมัติสัมปทานมาโดยตลอด แต่ตอนนี้มีกรมทรัพยากรธรณีที่ย้ายเข้าไปในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ทำหน้าที่ในการมองทรัพยากรแร่เไม่ใช่ป็นเพียงสิ่งที่ต้องอนุมัติสัมปทานเพียงอย่างเดียว แต่มองต้องดูพื้นที่ สงวนห่วงห้าม เรื่องภัยพิบัติ ซึ่งแตกต่างจากการอนุมัติสัมปทาน คณะกรรมชุดนี้ที่มีอำนาจกว้างชวาง จึงน่าสนใจว่าจะสามารถหน้าที่อะไรได้บ้าง
“คนร. เริ่มมีบทบาทขึ้น เนื่องจากเกี่ยวข้องว่าจะเปิดหรือเหมืองทอง ตามคำสั่งของ คสช. 72/2559 ที่สั่งปิดเหมืองฟื้นฟู จนกว่า คนร.จะมีมติเป็นอย่างอื่น ขณะเดียวกันหน้าที่อีกคือการรับรองยุทธศาสตร์แร่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ออก” เลิศศักดิ์ กล่าว
เสียใจ 'ยิ่งลักษณ์' หนี ฝ่ายความมั่นคงเป็นจำเลยสังคม
พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวด้วยว่า ยอมรับ รู้สึกเสียใจ ที่ขณะนี้ฝ่ายความมั่นคงกลายเป็นจำเลยของสังคม กรณี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่เดินทางมารับฟังคำพิพากษาในคดีโครงการรับจำนำข้าว ทั้งๆ รัฐบาลนี้นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และมุ่งหวังให้ทุกอย่างดำเนินการไปตามกระบวนการ
“ประเด็นแรก ถ้าทุกคนย้อนกลับไปดู สมัยก่อนใครจะไปไหนก็ตาม ก็ออกคำสั่ง มาตรา 44 ใช่หรือไม่ ว่าจะต้องขออนนุญาต คสช. และที่ผ่านมาสื่อฯ นักสิทธิมนุษยชน ฝ่ายการเมือง ก็บอกว่าเป็นการละเมิด ผมก็ยกเลิกคำสั่งนั้นไปแล้ว ฉะนั้นเขาไม่ต้องมาขอผม เข้าใจตรงนี้ด้วย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ประเด็นที่ 2 ในระหว่างนี้ ที่การตัดสินยังไม่เกิดขึ้น ศาลก็มีข้อตกลงกับผู้ถูกกล่าวหาว่า ให้มีเงินประกันตัว 30 ล้านบาท ว่าจะไม่หนีออกนอกประเทศ ซึ่งตอนนี้ก็ถูกยึดเงินประกันไปแล้ว นี่คืออีกขั้นตอน เป็นเรื่องของศาล และประเด็นที่ 3 เส้นทางการหายตัว ได้สั่งการไปหลายวันแล้ว การดำเนินการต้องเช็คหลายทาง ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ได้ประสานผ่านทางการทูต ทั้งประเทศในกลุ่ม CLMV สิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมถึง รอการตรวจสอบจากทุหน่วยงาน
“ผมก็ให้สอบถามไป และรอคำตอบอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง ผมก็ไม่ทราบว่าจะตอบมาว่าอย่างไร การเข้าการออก ไปตรงไหน ไปขึ้นเครื่องบินจากตรงไหน ไปยังไง ตอนนี้กำลังดำเนินการทั้งหมด ขึ้นอยู่กับต่างประเทศทั้งต้นทาง ปลายทาง ว่าจะตอบอย่างไร กระทรวงการต่างประเทศกำลังประสานอยู่ " พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว และว่า ยังไม่สามารถตอบได้ว่า ขณะนี้ ยิ่งลักษณ์ ยังอยู่ในประเทศ หรือหลบหนีไปในเส้นทางใด
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีความวุ่นวายสับสนพอสมควร ในการไปติดตามอดีตนายกรัฐมนตรีทุกแห่ง เพราะจะถูกมองว่าเป็นการไปรังแกอดีตนายกรัฐมนตรี จึงได้สั่งให้ฝ่ายความมั่นคงผ่อนปรนการติดตามออกมาเล็กน้อย มีจุดเฝ้าตรวจอยู่หน้าบ้าน ก่อนและหลังออกจากบ้าน ซึ่งเมื่ออดีตนายกรัฐมนตรียังไม่ได้เป็นผู้ต้องหา ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มาก
“อยากให้ทุกคนเข้าใจเหตุผล และการชี้แจงนี้ ไม่ได้เป็นคำแก้ตัว อยากให้ทุกคนมีหลักคิดให้ถูกต้อง และยืนยันว่า คสช.และฝ่ายความมั่นคง ไม่ได้ให้การช่วยเหลือในการหลบหนี เว้นแต่มีคนชั่วบางคนปล่อยปละละเลย และถ้าพบมีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือ หรือรับผลประโยชน์ ก็จะต้องหาจนเจอและถูกลงโทษ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว พร้อมกล่าวว่าเรื่องนี้ไม่เกินความสามารถ แต่ต้องขอเวลาระยะหนึ่ง เพราะเกี่ยวพันกับต่างประเทศ ไม่ต้องการให้วิพากษ์วิจารณ์ไปก่อน เกรงจะเป็นปัญหา อย่าเอาเรื่องทุกเรื่องมาปนกัน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะเสียหาย
“ถ้าไปต่างประเทศ ก็ต้องมีการขอความร่วมมือ ขอส่งตัว อะไรต่างๆ ท่านแรกยังกลับไม่ได้เลย เพราะว่าท่านก็เคลื่อนไหวของท่านไปเรื่อย เพราะฉะนั้นก็เป็นเคสเดียวกับทายาทกระทิงแดง นั่นขอตำรวจสากลไป 170 ประเทศ ยังกลับมาไม่ได้เลย แต่ผมยืนยันว่า ต้องลงโทษให้ได้ ต้องหาวิธีการทางกฎหมาย" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า เป็นการไม่สมควร หากหลังจากนี้อดีตนายกรัฐมนตรีจะมีความเคลื่อนไหว เพราะเป็นผู้กระทำผิด ซึ่งขณะนี้มีความผิดเพียงเรื่องเดียว คือ การหลีกเหลี่ยงการไปศาล และถูกยึดเงินประกัน ส่วนเรื่องคดียังไม่ถูกตัดสิน ต้องรอฟังผลเดือนกันยายน ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร
หัวหน้า คสช. ยังยอมรับว่า มีความกังวลว่า กรณีของ ยิ่งลักษณ์ อาจจะซ้ำรอยกับกรณีของ ทักษิณ ชินวัตร และว่า ถ้าหลบหนี ก็จะเป็นผู้ร้ายหนีคดี ก็ต้องลดการให้เกียรติ ที่ผ่านมาให้เกียรติมาตลอด
“วันนี้ อย่ายกความรับผิดชอบทั้งหมดให้ผม และไม่อยากให้คิดว่า ฝ่ายความมั่นคงล้มเหลว เพราะได้ทำเรื่องดีให้เกิดผลสัมฤทธิ์หลายเรื่อง ผมหนักอกนะ ถ้าเป็นผม ท่านจะรู้ว่า ท่านทำไม่ได้หรอก จะช่วยใคร ผมช่วยไม่ได้ อย่าเอาเรื่องนี้ไปพันเรื่องโน้น คลิปออกมาเต็มไปหมด มันคนละเวลา มันคนละเรื่อง มันปิดไม่มิดหรอก เดี๋ยวหาเจอจนได้ ใจเย็นๆ อย่าให้อย่างอื่นพังไปด้วยเลย ผมขอร้อง อย่าให้สิ่งที่ผมพยายามทำมา 3 ปี มันล้มละลายไปด้วยคนๆเดียว ผมขอแค่นี้ได้หรือไม่ ถ้าท่านเชื่อมั่น ผมจะทำให้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว และยังไม่ขอตอบ กรณีหาก ยิ่งลักษณ์ จะขอลี้ภัย โดยให้เหตุผลว่า ยังไม่ชัดเจนว่าจะลี้ภัยเพราะเหตุใด และคาดว่าไม่น่าจะขอลี้ภัยได้
ที่มา : เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล, สำนักข่าวไทย, มติชนออนไลน์ และอิศรา
แสดงความคิดเห็น