Posted: 25 Aug 2017 11:56 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)


โครงการวิจัย “ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยในปริทรรศน์ประวัติศาสตร์” เป็นโครงการศึกษาปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อทิศทางและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจไทยจากแง่มุมต่าง ๆ อย่างครบถ้วน เพื่อให้สังคมเข้าใจรากฐานของระบบเศรษฐกิจของไทย การดำเนินโครงการฯ ในครั้งนี้ได้จัดพิมพ์หนังสือสถานภาพความรู้ปัจจุบัน และได้รวบรวมความรู้จากการค้นคว้าวิจัยมารวบรวมเป็นหมวดหมู่ ซึ่งเล่มนี้เป็นหนังสือลำดับที่ 4 ว่าด้วยสถานภาพความรู้เรื่องการสะสมทุนและเครือข่ายทางธุรกิจทั้งตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งจากภาคเหนือ ใต้ อีสาน และเครือข่ายธุรกิจสมัยใหม่ ซึ่งประกอบไปด้วยหัวข้อสถานภาพความรู้จากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับภาคใต้อยู่ 4 ชิ้นด้วยกัน คือ สถานภาพความรู้ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจเกี่ยวกับกลุ่มทุนในภาคใต้ของประเทศไทย โดย ศุภการ สิริไพศาล พัฒนาการของกลุ่มทุนและเครือข่ายธุรกิจในภาคเหนือของประเทศไทย พ.ศ. 2446-ปัจจุบันโดย ชัยพงษ์ สำเนียง พัฒนาการของกลุ่มทุนจีนในภาคอีสานตอนบนของประเทศไทย ค.ศ.1931 – 2016 (พ.ศ.2474 – 2559) โดย พิภู บุษบก และ ธุรกิจการค้าปลีกกับสังคมไทยร่วมสมัย โดย จิรวุฒิ หลอมประโคน งานแต่ละชิ้นมีทั้งความเหมือนและความต่างข้อมูลสังเขปโดยทางบรรณาธิการจะกล่าวโดยย่อแบบเปรียบเทียบเพื่อให้ง่ายต่อการอ่านในเล่ม โดยจะวงเล็บชื่อของผู้เขียงในข้อเสนอนั้น รวมถึงไปถกเถียงกับงานอื่นบ้าง

งานทั้ง 4 ชิ้นมี่จุดหลักร่วมกันคือ ประการแรก การอธิบายความเปลี่ยนแปลงของพัฒนาการเศรษฐกิจตั้งแต่ยุคเริ่มต้น โดยส่วนใหญ่อธิบายการสะสมทุนของกลุ่มนายทุนทั้งของกลุ่มทุนจีนตั้งแต่ยุครัฐกาลที่ 5 ผ่านการเอื้ออำนวยของรัฐโดยการให้สัมปทานทรัพยากร เช่น ป่าไม้ในภาคเหนือ แร่ดีบุกในภาคใต้ ซึ่งเป็นลักษณะของการสะสมทุนนิยมชายขอบ ประการที่สอง กลุ่มคนที่มีส่วนอย่างสำคัญในการสะสมทุนคือ กลุ่มคนจีน (ศุภการ, ชัยพงษ์, พิภู, จิรวุฒิ) โดยเฉพาะงานของพิภูที่มุ่งเน้นการอธิบายเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ เขาได้นำเราไปสู่งานที่ศึกษาการเข้ามาของกลุ่มคนจีนตั้งแต่เริ่มแรก ผ่านการสะสมทุน ขยายเครือข่ายไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ นโยบายของรัฐ แล้วกลายเป็นนายทุนสำคัญของภูมิภาค ซึ่งมีส่วนคล้ายกับงานของศุภการ ที่ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มทุนจีนในภาคใต้สร้างฐานธุรกิจอย่างไร รวมถึงการปรับตัวของกลุ่มทุนจีนภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 ซึ่งศุภการอธิบายว่างานที่ศึกษาวิกฤติเศรษฐกิจแล้วนำไปสู่การปรับตัวของกลุ่มทุนภาคใต้มีจำนวนน้อย และทำให้ไม่เข้าใจประวัติศาสตร์เศรษฐกิจในช่วงนี้ ส่วนงานของจิรวุฒิก็ได้ชี้ให้เห็นเครือข่ายการค้าขนาดใหญ่ที่เป็นทุนจีนที่สั่งสมความมั่งคั่งมาอย่างยาวนานแล้วสามารถขยายกิจการขนาดใหญ่จนกลายเป็นทุนที่ใหญ่และทันสมัยไปในตัว ที่สำคัญคือ เขาได้ชี้ให้เห็นการปรับตัวของกลุ่มทุนค้าปลีก และกลุ่มทุนสมัยใหม่ที่สามารถเอาตัวรอดจากวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 ซึ่งสนทนากับงานของศุภการได้เป็นอย่างดี

ประการที่สาม กระนั้นการสะสมทุนก็มิได้มีแต่ทุนจีนที่สามารถสร้างเครือข่ายการค้าได้อย่างกว้างขวาง งานของชัยพงษ์ และศุภการ ชี้ให้เห็นว่ายังมีกลุ่มทุนอื่น ๆ เช่น คนพื้นเมืองในภาคเหนือ และภาคใต้ก็สามารถเข้ามามีส่วนแบ่งในการสะสมทุน โดยส่วนใหญ่เป็นชนชั้นนำที่มีฐานะเป็นเจ้าเมืองแต่เดิมก็เข้ามาช่วงชิงผ่านการใช้อำนาจการเมืองที่มีแต่เดิม เพื่อแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ แม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรก็ตาม

ประการที่สี่ งานทั้ง 4 ชิ้นแสดงให้เห็นการดิ้นรนต่อสู้ของคนกลุ่มอื่น ๆ เช่น เกษตรกร ชาวนา (ศุภการ, ชัยพงษ์) จีนจน จีนอพยพ (พิภู) พ่อค้าปลีกรายย่อย (จิรวุฒิ) ที่ไม่จำยอมต่อการเข้ามาของทุนขนาดใหญ่ แต่ต่างสร้างพื้นที่ที่จะปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์กับทุนขนาดใหญ่ ทั้งคล้อยตามต่อต้าน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในด้านเศรษฐกิจคนสามัญธรรมดาก็ไม่ได้สยบยอมต่อทุนอย่างเซื่องเชื่อ

งานทั้ง 4 ชิ้น อาจนำมาสนทนากับงานงาน Ara Wilson[2] (2004) เรื่อง The intimate economies of Bangkok : tomboys, tycoons, and Avon ladies in the global city เธออธิบายเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ที่มีทั้งความต่อเนื่อง ย้อนแย้ง กลับไปกลับมาของวัฒนธรรมทุน (ดูงานของ, ชัยพงษ์, จิรวุฒิ ที่มีลักษณะเช่นนี้) เป็นภาพหลายแง่มุมความสัมพันธ์ของคนกลุ่มต่างๆ โดยใช้กรณีศึกษานวัตกรรมของสตรีและการมีส่วนร่วมของผู้คนที่อยู่ในความสัมพันธ์นั้นๆ เช่น ห้างเซ็นทรัล ห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง บริษัทโทรคมนาคมและ บริษัทขายตรงแอมเวย์และเอวอน Wilson อธิบายการขยายตัวที่มีประสิทธิภาพของการแลกเปลี่ยนทุนนิยมที่มีต่อสังคมไทย แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกกับเศรษฐกิจท้องถิ่นมีความสัมพันธ์กันแทบแยกกันไม่ออก และยังเชื่อมโยงถึงการดำเนินชีวิตตั้งแต่ "tomboys" แรงงานอารมณ์ (เด็กดริ้ง พนักงาน) พนักงานขายตรง การจัดการธุรกิจในครอบครัว เพื่อที่จะเข้าใจการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถเห็นได้จากงานทั้ง 4 ชิ้น

งานชิ้นนี้ของ Wilson แตกต่างอย่างสำคัญกับงานมานุษยวิทยาเศรษฐกิจโดยทั่วไปที่ส่วนใหญ่จะยึดกับหน่วยของหมู่บ้าน หรือพื้นที่ที่จำกัด แต่งานชิ้นนี้กับเรียงร้อยผู้คน และธุรกิจที่แตกต่างเพื่อให้ใจความเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง บนฐานความสัมพันธ์สองรูปแบบ คือ (1) ความสัมพันธ์ในระบบเศรษฐกิจโลก หรือทุนนิยม ที่สร้างความเติบโตให้เศรษฐกิจไทย (2) ความสัมพันธ์ส่วนตัวในสังคมไทยที่หนุนเสริมให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตไปได้ ทำให้งานชิ้นนี้สามารถอธิบายความเปลี่ยนแปลงได้อย่างกว้างขวางทั้งรสนิยม การสร้างความสัมพันธ์ของเครือข่ายธุรกิจ

ในการอธิบายเศรษฐกิจกระแสหลัก มักให้ความสำคัญกับระบบทุนนิยม ที่ให้ทุกคนสามารถแข่งขันได้ในระบบตลาด และทุกคนมีอิสระที่จะลงทุน ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมหรือทุนนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่ให้เสรีภาพแก่ภาคเอกชนในการเลือกดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน สามารถเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต เศรษฐทรัพย์ต่าง ๆ ที่ตนหามาได้ มีเสรีภาพในการประกอบธุรกิจ รวมทั้งการเลือกอุปโภคบริโภคสินค้า และบริการต่างๆ ใช้ระบบของการแข่งขันโดยมีราคาและระบบตลาดเป็นกลไกสำคัญในการจัดสรรทรัพยากร โดยรัฐบาลจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือพูดง่ายๆ ว่าระบบทุนนิยมมุ่งให้คนแข่งขันกันในตลาดอย่างเสรี ซึ่งจากการศึกษาทั้งของ Wilson และงานทั้ง 4 ชิ้น พบว่าทุนในสังคมไทยส่วนใหญ่ล้วนแอบอิงกับรัฐเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางธุรกิจ และกีดกันกลุ่มทุนอื่น

ลักษณะของทุนและเครือข่ายธุรกิจในสังคมไทยข้างต้นล้วนสัมพันธ์กับเศรษฐกิจระดับมหภาค หรือระดับโลก ภายใต้ระบบทุนนิยม ที่ทุนไม่มีสัญชาติ ขับเคลื่อนด้วยระบบตลาด ที่ทุกคนสามารถเข้าไปแข่งขันช่วงชิงได้ แล้วแต่ว่าเราอยู่ในฐานะไหน ได้เปรียบหรือเสียเปรียบจากการแข่งขันนั้น

อย่างไรก็ตาม ระบบทุนนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจระดับมหภาค ที่เชื่อมสัมพันธ์กับระบบโลก ที่เชื่อมร้อยด้วย “ตลาด” แต่ก็มีลักษณะของวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เข้าไปควบคุมจัดการทุนผ่านระบบกงสี (ศุภการ, ชัยพงษ์, พิภู, จิรวุฒิ) นายหัว (ศภการ) พ่อเลี้ยง (ชัยพงษ์) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นในการจัดการควบคุมทุน แม้ระบบทุนนิยมโลกเป็นระบบสากล ที่คนมักมองว่าเป็นก้อนเดียว โดยไม่เห็นความแตกต่าง แต่แท้จริงแล้วทุนมีลักษณะเฉพาะบางอย่างในท้องถิ่นที่เป็นตัวหนุนเสริมระบบทุนนิยมโลก ซึ่งคล้ายกับงานของ Sidney W. Mintz[3] ที่อธิบายว่าระบบทุนนิยมในพื้นที่ต่าง ๆ มีพัฒนาการที่แตกต่างกันโดยเฉพาะระบบทุนนิยมชายขอบ ซึ่งประเทศไทยก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้

ระบบทุนนิยมโลกที่สากลจึงมีวัฒนธรรมพื้นถิ่นบางอย่างคอยหนุนเสริมหล่อเลี้ยง เช่นในวัฒนธรรมความเห็นหน้าค่าตา หรือพูดได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบอุปถัมภ์[4] ที่เป็นห่วงโซ่ร้อยรัดสังคมไทยไว้ (ศุภการ, ชัยพงษ์, พิภู, จิรวุฒิ)

ฉะนั้นการศึกษาพัฒนาการของทุนนิยมจึงต้องอาศัยบริบทของพื้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา เราไม่อาจมองระบบทุนนิยมในพื้นที่ต่างๆ เป็นก้อนเดียว/เหมือนกันหมด ซึ่งจะไม่ทำให้เห็นลักษณะเฉพาะของพื้นที่และที่สำคัญ คือ ถ้าเรามองมันเป็นก้อนเดียวเราจะไม่เห็นความแตกต่างของระบบการขูดรีด และความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่แฝงเร้นอยู่ในระบบนั้น ๆ

งานทั้ง 4 ชิ้น นอกจากมีจุดร่วมหลายประการดั่งที่กล่าวมา ก็มีความต่างเล็ก ๆ น้อย โดยงานส่วนใหญ่สังกัดวิธีคิดแบบประวัติศาสตร์ทำให้เห็น “พลวัตของทุน” ที่มี “ความต่อเนื่อง” เปลี่ยนแปลงตามระดับเวลา แต่การศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจเช่นงานของ Wilson (2004) Mintz (1986) และชัยพงษ์ที่มีความต่างออกไปอาจส่องสะท้องงานทั้ง 4 ชิ้นให้สมบูรณ์มากขึ้น



ทั้งนี้ หนังสือสถานภาพความรู้ปัจจุบัน ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของไทยในปริทรรศน์ประวัติศาสตร์ จะช่วยกระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดความสนใจทางด้านประวัติศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจและเข้าใจถึงที่มาของปัญหาทางเศรษฐกิจของไทย เพื่อช่วยวิเคราะห์ถึงปัญหาทางเศรษฐกิจในปัจจุบันได้ (โดยหนังสือในโครงการในชุดสถานะภาพความรู้มี 4 เล่ม ผู้สนใจสามารถสั่งซื้อและหามาได้เพื่อเข้าใจพลวัตของเศรษฐกิจไทยในมิติต่าง ๆ)



เชิงอรรถ


[1] หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มที่ 4 ในโครงการ “โครงการวิจัย “ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยในปริทรรศน์ประวัติศาสตร์” มี อ.ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร เป็นหัวหน้าโครงการ


[2] Wilson, Ara. The intimate economies of Bangkok : tomboys, tycoons, and Avon ladies in the global city. Berkeley : University of California Press, 2004.


[3] Sidney W. Mintz. Sweetness and power : the place of surgar in modern history. New York : Penguin books, 1986.


[4] ดูเพิ่มใน, ม.ร.ว. อคิน รพีพัฒน์, ผู้แต่ง; ม.ร.ว. ประกายทอง สิริสุข, พรรณี ฉัตรพลรักษ์, ผู้แปล. สังคมไทยในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325-2416. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ; มูลนิธิตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2527.

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.