Posted: 26 Aug 2017 06:34 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2560 เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีซีไรต์และศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ได้เขียนบทความ “กวีฤๅแล้งแหล่งสยาม” ลงในมติชนสุดสัปดาห์เพื่อตำหนิบรรดากลอนและกวีนิพนธ์ในสื่อสาธารณะที่ได้เขียนถึงความโศกเศร้าของปวงชนชาวไทยว่าควรเอาใจใส่กับการแต่งกวีให้มาก การเขียนบทกวีนั้นควรคำนึงถึงความดีเด่นทางวรรณศิลป์หรือภูมิกวี เพราะถ้าหากต้องใช้คำดาษๆ ไปอยู่ในที่โดดเด่นนั้นก็จะยิ่ง “ประจานความด้อยเดียงสา” ของทั้งผู้แต่งและสถานที่นั้นๆ ไปด้วย

เนาวรัตน์ทิ้งทายไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า วิชากวีนั้นแท้จริงแล้วเป็น “วิชาชีวิต” ที่ทำให้เราได้ประจักษ์ในความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับงานศิลปะที่ให้สุนทรียรสอันจะแดงให้เห็นอลังการของสังคมภูมิธรรม ในบทความนี้ เนาวรัตน์มีความเป็นห่วงเป็นใยต่อสถานะของกวีนิพนธ์ในสังคมไทยที่จะหาคนเขียนดีๆ สักคนนั้นลำบากมาก เพราะโดยมากเป็นกวีสมัครเล่นที่เขียนโดยไม่เอาใจใส่ความงามทางวรรณศิลป์ซึ่งไม่แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยนั้นเป็นสังคมภูมิธรรมสังคมอารยะ เนาวรัตน์ได้ฝากถึงสถาบันการศึกษาให้ช่วยกวดขันการเขียนกวี เพราะบทกวีนั้นเป็นหน้าเป็นตาของสังคม เป็นสิ่งที่ช่วยยกระดับจิตใจของคนรวมไปถึงยกระดับสังคมด้วย

การตระหนักรู้ว่าบทกวีคือสิ่งที่สูงส่งและช่วยยกระดับจิตใจของคนในสังคมนั้นไม่แน่ชัดว่าเริ่มต้นเมื่อไรแต่มันดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในความเข้าใจของบรรดากวีของไทย “ส่วนหนึ่ง” ด้วยเหตุนี้เองกวีไทยส่วนนั้นก็ได้พยายามสร้างบทกวีที่ต้องการยกระดับจิตใจและทำให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมภูมิธรรมมีอารยธรรมที่สูงส่ง...ประมาณหนึ่ง กวีส่วนนั้นเอาใจใส่ถ้อยคำและความหมายในทุกๆ คำที่ได้หล่นลงมาจากความคิดของพวกเขา หลายครั้งบทกวีเหล่านั้นก็ตราตรึงจิตใจของผู้อ่าน (ซึ่งหลายครั้งเช่นกันเป็นคนกันเองและอยู่ในแวดวงเดียวกันกับกวี) หลายครั้งบทกวีได้ชำแรกลงไปในจิตใจของผู้อ่านและกลายเป็นปณิธานในการดำรงชีวิตของผู้อ่านได้จริงๆ


เมื่อวานคือ วันที่ 25 สิงหาคม 2560 หลังจากเหตุการณ์กรณีที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยไม่ไปฟังการอ่านคำตัดสินของศาลในคดีจำนำข้าว ในสังคมไทยก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ต่อเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างกว้างขวางในหลากหลายวงการ ไม่เว้นแม้แต่ในแวดวงกวีและนักเขียน โดยเฉพาะแวดวงกวีนิพนธ์นั้นก็ได้ปรากฏบทกลอนที่แสดงความคิดเห็นซึ่งเป็นที่ฮือฮาและได้รับการพูดถึงตลอดบ่ายของเมื่อวานจำนวน 2 ชิ้น

เจ้าของบทกลอนทั้ง 2 ชิ้นนั้น คนหนึ่งเป็นนักเขียนรางวัลซีไรต์ เป็นศิลปินแห่งชาติ เป็นรองศาสตราจารย์ทางด้านภาษาและวรรณกรรมไทย มีผลงานทางวรรณกรรมทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย บทวิจารณ์วรรณกรรม หนังสือและบทความวิชาการทางวรรณกรรมมากมาย อีกคนหนึ่งเป็นอาจารย์ เป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นนักวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับคติชนของภาคใต้คนสำคัญ มีบทบาททั้งทางการเมืองและการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องพื้นบ้านของภาคใต้ บทกวีทั้งสองชิ้นที่ร่วงหล่นลงมาได้สร้างปรากฏการณ์ที่สำคัญให้กับวงการกวีนิพนธ์ไทยอย่างยิ่ง เพราะมันได้สถานะของกวีและกวีนิพนธ์ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายและรวดเร็วในโลกออนไลน์ ความน่าสนใจสำหรับผู้เขียนก็คือมันได้ปลุกความสนใจในด้านกวีของสังคมไทยให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง...หรือไม่?

สถานะของกวีนิพนธ์ในสังคมไทยนั้น หากจะพูดให้ถึงที่สุดจริงๆ ก็ดูเหมือนจะเป็น “ลูกเมียน้อย” เพราะเป็นรูปแบบและประเภทของวรรณกรรมที่สังคมไทยปัจจุบันให้การต้อนรับน้อยกว่าวรรณกรรมประเภทอื่นๆ อย่างเรื่องสั้นและนวนิยาย กวีนิพนธ์ในสังคมไทยนั้นแทบจะนับหัวคนอ่านได้ ถ้าไม่ใช่คนในแวดวงเดียวกัน เพื่อนกัน พี่น้องกัน คนอ่านก็แทบจะไม่มี หากลองไปสำรวจยอดพิมพ์ซ้ำของกวีนิพนธ์ในสังคมไทยหากไม่ใช่กวีนิพนธ์ที่ได้รับรางวัลใหญ่ๆ อย่างซีไรต์ยอดพิมพ์ซ้ำนั้นคือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ กวีนิพนธ์ทั่วๆ ไปที่ไม่ได้รางวัลอะไรเลย พิมพ์ครั้งหนึ่งก็ไม่กี่พันเล่มอาจจะสักสองพันก็เท่านั้น เมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรของประเทศก็เรียกได้ว่าน้อยมากๆ และเมื่อเราเดินเข้าร้านหนังสือ กวีนิพนธ์ก็ถูกจัดวางอยู่ในซอกในหลืบของร้านหนังสือ ถ้าไม่สังเกตให้ดีก็อาจจะนึกว่าเป็นหนังสือเก่าที่ร้านเอามาเลหลังขายถูกๆ หรือเป็นกองหนังสือที่คนลืมไว้ที่ร้านเท่านั้น

กวีนิพนธ์ไทยนั้นประสบกับปัญหาผู้อ่านมาช้านาน หลังจากอิทธิพลตะวันตกเข้ามามีบทบาทในสังคมไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 รูปแบบการเขียนและการอ่านของสังคมไทยก็เปลี่ยนไป คือ เดิมทีรูปแบบของวรรณกรรมไทยที่เป็นที่นิยมนั้นจะเป็นร้อยกรองและแต่งเป็นเรื่องยาวๆ เช่น อิเหนา พระอภัยมณี และอีกหลายเรื่อง แต่เมื่ออิทธิพลตะวันตกเข้ามาในสังคมไทยพร้อมๆ กับวิธีการเขียนแบบใหม่คือร้อยแก้ว ซึ่งถูกนำมาใช้ในการเขียนนวนิยาย เรื่องสั้น บทความ อีกทั้งเทคโนโลยีการพิมพ์ก็ได้ทำให้สังคมไทยเกิดความนิยมในรูปแบบการเขียนที่เป็นของใหม่นี้อย่างมาก คนไทยหันไปอ่านร้อยแก้วกันเกือบหมดเพราะมันน่าตื่นเต้นกว่า เร้าใจกว่า ในขณะที่ความนิยมในร้อยกรองเริ่มหดตัวลงพื้นที่ในสื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ในสังคมก็ไม่มีพื้นที่ที่มากพอที่จะให้ร้อยกรองแบบเก่านั้นลงได้

แม้จะมีความพยายามในการกระตุ้นให้กวีและนักเขียนไทยกลับมาเขียนกวีนิพนธ์แบบเดิม เห็นได้จากการก่อตั้ง “วรรณคดีสโมสร” ในสมัยรัชกาลที่ 6 แต่ก็ดูเหมือนเหมือนว่าจะเป็นการกระตุ้นดังกล่าวจะได้ผลน้อยและได้รับการตอบรับที่ไม่มากนัก เพราะคนก็ยังนิยมเขียนและอ่านร้อยแก้วแบบใหม่อยู่ดี

ด้วยเหตุนี้เอง ร้อยกรองไทยจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดและยังมีคนอ่านอยู่ การเล่าเรื่องยาวๆ หรือเขียนนิยายด้วยร้อยกรองนั้นจึงไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไปและเพื่อให้เหมาะสมกับขนาดของพื้นที่อย่างใหม่ในหนังสือพิมพ์ ร้อยกรองไทยจึงกลายเป็นบทกวีขนาดสั้นที่สื่อความคิดและแสดงความคิดเห็นในด้านต่างๆ หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ นักวรรณคดีคนสำคัญของสังคมไทยเคยอธิบายความเปลี่ยนแปลงของร้อยกรองไทยในยุคนี้ว่าเป็น “พาหะสื่อความคิด” ซึ่งเร้าให้ใช้สมองพร้อมกับเร้าอารมณ์อันประณีต

กวีนิพนธ์ไทยอยู่สภาวะกระท่อนกระแท่นมาตลอดประวัติศาสตร์ของวรรณกรรมไทย แต่ด้วยความที่กวีนิพนธ์ไทยมีการปรับตัวแล้ว ดูเหมือนว่ากวีนิพนธ์ไทยจะอยู่ในสถานะที่ดีขึ้น มีคนเขียน มีคนอ่านอยู่บ้าง และสร้างความประทับใจแก่ผู้อ่านก็ไม่น้อย บทกวีบางชิ้นก็มีเนื้อหาที่ทรงพลังข้ามยุคข้ามสมัยบางชิ้นเขียนขึ้นมาประทับใจอยู่ชั่วครู่แล้วก็ถูกลืมดุจโยนทรายลงไปในแม่น้ำ

ในปัจจุบัน กวีนิพนธ์ก็ยังคงประสบปัญหาเรื่องผู้อ่าน สิ่งที่น่าสนใจก็คือ มีคนนิยมเขียนกวีนิพนธ์จำนวนมาก (แต่ก็แทบจะไม่มีคนอ่าน) กิจกรรมการเขียนกวีนิพนธ์กลายเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นความสามารถของผู้เขียนในด้านภาษา (แต่ใครจะอ่านนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง) เมื่อโลกออนไลน์แพร่สะพัดไปทุกหย่อมหญ้าในสังคมไทย กวีไทยทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นก็มีพื้นที่ในการสำแดงฝีมือกันมากขึ้น โดยที่คนอ่านนั้นก็ยังอยู่ในพื้นที่อันจำกัดเช่นเคย กวีในโลกออนไลน์บางคนได้รับความนิยมมากเห็นได้จากมีการแชร์อย่างแพร่หลาย (ข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ กวีสมัครเล่นที่ได้รับความนิยมมากๆ นั้นโดยมากแล้วไม่ได้ฝึกฝนมาเพื่อเป็นกวีโดยเฉพาะ แต่มีความชอบในบทกวีและมีความสามารถด้านภาษามาก เช่น ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ)

ลักษณะเด่นของกวีนิพนธ์ออนไลน์ในสังคมปัจจุบันคือเป็นบทกวีที่เกาะติดสถานการณ์สังคมบ้านเมืองแบบวันต่อวัน ดังนั้นสถานะของกวีนิพนธ์จึงไม่ได้ตั้งใจให้เป็นบทกวีที่สามารถชี้นำสังคมและผู้คนในระยะยาวได้ หรือแม้กระทั่งทำให้เห็นปัญหาของสังคมในเชิงโครงสร้างที่ซับซ้อน เป็นเพียงการแสดงอารมณ์ความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งในสังคมเท่านั้น “บางชิ้น” ก็มีความลุ่มลึก เสียดสีและชี้ให้เห็นปัญหาบางอย่างในสังคมไทยได้อย่างแยบคาย

บทกวีที่เป็นปรากฏการณ์ในสังคมไทยตั้งแต่เมื่อวานนั้นเป็นบทกวีที่เสียดสีและถากถางนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรจากกรณีที่ “หลบหนี” ออกจากประเทศไม่มาฟังคำตัดสินในคดีจำนำข้าว เนื้อหาของบทกวีทั้งสองชิ้นเป็นการเล่นกับคำผวนที่ว่าด้วย “รูหู” โดยเอามาผวนเป็นคำที่หมายถึงอวัยวะเพศของผู้หญิง ชี้ให้เฉพาะเจาะจงมันคือการบ่งชี้ไปที่อวัยวะเพศของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย กวีผู้รังสรรค์บทกวีทั้งสองชิ้นนี้เป็นผู้ชายทั้งคู่และยังมีสถานะทางสังคมที่ไม่ธรรมดาดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในข้างต้น

การเล่นคำผวนเป็นการละเล่นอย่างหนึ่งในภาษาไทยโดยมากเรื่องที่ใช้ในการเล่นคำผวนจะเป็นเรื่องเพศ นี่อาจเป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งของภาษาไทยที่ไม่มีภาษาอื่นๆ การเล่นคำผวนมักใช้ในการล้อเลียน เสียดสี หรือด่าทอโดยมุ่งไปที่เรื่องเพศเป็นสำคัญและเป็นการหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงคำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศโดยตรง บ่อยครั้งการเล่นคำผวนก็เรื่องสนุกสนาน แต่บางครั้งมันเป็นการแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เรียกว่า “สถุนรส” ในจิตใจของผู้พูด

การเอาคำผวนมาใช้ในการเขียนกวีนิพนธ์นั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่ในสังคมไทยบ่อยครั้ง บางเรื่องก็เป็นที่รู้จักและแพร่หลายมากเช่น “สรรพลี้หวน” วรรณกรรมท้องถิ่นของภาคใต้ แต่สรรพลี้หวนนั้นก็สร้างขึ้นเพื่อความบันเทิงล้วนๆ และมันก็บรรลุวัตถุประสงค์ในตัวเอง ต่างจากบทกวีของกวีสองท่านนั้นที่เอามาใช้ในการแสดงความคิดเห็นความรู้สึกทางการเมืองและมุ่งเป้าไปที่อวัยวะเพศของผู้ถูกว่ากล่าวโดยตรง

กวีนิพนธ์ไทยนั้นถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง เพื่อแสดงอารมณ์ความรู้สึกและความคิดที่มีต่อสังคมการเมือง แต่กวีนิพนธ์การเมืองที่ผ่านมาในอดีตซึ่งเป็นที่จดจำข้ามยุคข้ามสมัยนั้นแม้จะเป็นการด่าทอหรือเสียดสีก็ล้วนแต่เป็นวีนิพนธ์ที่มีความลุ่มลึกในการแสดงออก มีความงามทางภาษา กระตุ้นให้คนอ่านเกิดความคิด เกิดอารมณ์ เกิดความรู้สึก ความต่ำตมในสติปัญญาและรสนิยมของกวีนิพนธ์เหล่านั้นแทบจะไม่ปรากฏเลย

แม้รสนิยมและจิตใต้สำนึกจะเป็นสิ่งสอนกันไม่ได้ แต่มันขัดเกลาได้ กวีทั้งสองท่านนั้นควรจะต้องตระหนักว่าตนเองไม่ใช่คนธรรมดาสามัญแต่เป็นนักวิชาการ เป็นเขียน เป็นกวี เป็นถึงศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ เป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่ตนเองศึกษามามากกว่าคนอื่น ดังนั้นท่านจะต้องแบกรับเอาความรับผิดชอบนี้ทุกครั้งที่ท่านแสดงออกในเรื่องใดๆ ก็ตาม การเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์นั้น สังคมย่อมคาดหวังว่าท่านจะเสนอแนะแนวทางของการเขียนและการอ่านวรรณกรรมในทางที่ดีได้ สิ่งที่ท่านแสดงออกมาย่อมกลั่นมาจากประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับวรรณกรรมที่ได้สั่งสมมาตลอดชีวิตของท่าน

การเขียนกวีนิพนธ์เพื่อประณามนักการเมืองก็ดี เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองก็ดี มันมีวิธีการที่ลุ่มลึกกว่าที่ท่านทั้งสองได้แสดงออกมาในที่สาธารณะ มีตัวอย่างให้เห็นมากมายในอดีต ซึ่งน่าแปลกใจว่ากวีนิพนธ์การเมืองที่ดีดังกล่าวในอดีตนั้น ท่านทั้งสองก็ล้วนแต่เป็นผู้ที่ร่วมยุคร่วมสมัยด้วยเช่นกัน ดังนั้นก็น่าจะคาดเดาได้ว่าท่านทั้งสองผ่านการขัดเกลาเรียนรู้ในการเขียนกวีนิพนธ์การเมืองจากยุคสมัยนั้นด้วยมิใช่หรือ? ก็แล้วเหตุใดเล่าท่านจึงได้แสดงออกมาเช่นนั้น... ทั้งๆ ที่ท่านมีทั้งความสามารถและรสนิยมที่จะเขียนอะไรที่ดีกว่านั้นได้

ในฐานะที่ท่านทั้งสองไม่ชอบนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ชอบรัฐบาลของเธอซึ่งถูกรัฐประหารไปแล้ว ไม่ชอบพี่ชายของเธอ แน่นอนว่าท่านแสดงออกได้ มีโอกาสแสดงออกได้มากกว่าคนทั่วๆ ไปที่ชอบและศรัทธาในตัวนางสาวยิ่งลักษณ์และรัฐบาลของเธอ (รวมถึงพี่ชายของเธอด้วย) ท่านมีอิสระเสรีเต็มที่ในการแสดงออกจะด่าทออย่างไรก็ไม่ถูกจับ ไม่ถูกนำไปปรับทัศนคติ แต่...จะวิจารณ์หรือด่าทอทั้งทีน่าจะใช้ความสามารถและความรู้ที่ท่านมี (แน่นอนมาว่ามีมากแน่นอน) ให้มากกว่านี้อย่างน้อยก็ให้สมศักดิ์ศรีนักลอนไทย

ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านย้อนกลับไปอ่านย่อหน้าแรกของบทความชิ้นนี้ ที่ว่าด้วยความกังวลใจของบรมครูกวีนิพนธ์อย่างเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ที่มีต่อแวดวงกวีนิพนธ์ไทย ผู้เขียนไม่เคยเห็นด้วยกับความเห็นทางการเมืองหรือชื่นชมกวีนิพนธ์การเมืองของเนาวรัตน์เลย แต่ในวันนี้ผู้เขียนรู้สึกเคารพและศรัทธาในข้อเสนอของเนาวรัตน์ที่กล่าวว่า การเขียนกวีโดยไม่ใส่ใจความงามทางภาษาใช้แต่คำดาษๆ นั้นเป็นการประจานความด้อยเดียงสาของผู้แต่ง

สถานะของกวีนิพนธ์ในสังคมไทยนั้น ธรรมดาก็ไม่ใคร่จะมีใครอ่านอยู่แล้ว และเท่าที่มีอยู่นั้นก็ไร้รสนิยมและไม่นำพาสติปัญญาอะไรเลย ยิ่งไปกว่านั้น บทกวีนิพนธ์ไร้รสนิยมที่กฎขึ้นเป็นผลงานของนักคิด นักเขียน ที่ทำงาน มีผลงานเกี่ยวกับวรรณกรรมมาชั่วชีวิต ผู้เขียนเองก็คงได้แต่เวทนาในชะตากรรมของกวีนิพนธ์ไทยไปเช่นนี้นั่นแล หาความหวังอันใดมิได้เลย...

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.