Peace News

วัฒนาตอกกลับ“คู่แฝดอำนาจนิยม”
ลั่นพท.ไม่เอาเผด็จการ-ไม่จับมือปชป.


วัฒนา ยัน เพื่อไทย เดินตามรอยประชาธิปไตย ลั่นไม่เอาเผด็จการ ไม่จับมือพรรคหนุนระบอบอำนาจนิยม ยกคำสอนพระพุทธเจ้าตอกกลับ“ศัตรูในร่างมิตร ยิ่งเป็นคนที่ไม่ควรคบ”

เมื่อ 30 พ.ย. 2560 นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊ค ว่า “ผมเชื่อว่า ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยและผู้ที่รักประชาธิปไตยทุกคนคงรู้สึกโล่งใจ เมื่อได้ยินการให้สัมภาษณ์ของหัวหน้าพรรค ปชป. ที่บอกว่าหากอุดมการณ์ไม่ตรงกันก็ร่วมกันไม่ได้”

รวมทั้ง ระบุว่า ส่วนเลขาฯพรรคบอกว่า ต้องดูนโยบาย หากยังกอดคนเผาบ้านเผาเมือง ไม่เคารพกฎหมาย หรือหากเอานายพานทองแท้มาเป็นหัวหน้าพรรคก็รับไม่ได้ เป็นการให้สัมภาษณ์หลังจากคุณจาตุรนต์และคุณนิพิฏฐ์ให้ความเห็นร่วมกันว่าพรรคใหญ่อาจต้องจับมือกันเพื่อไม่ให้มีการสืบทอดอำนาจของ คสช.

นายวัฒนา ระบุว่า วิธีการพูดของหัวหน้าและเลขาพรรค ปชป. แสดงให้เห็นถึงธาตุแท้ของคนพรรคนี้ที่ไม่เคยเปลี่ยน ทั้งสร้างภาพ เอาดีใส่ตัวและไม่เคยให้เกียรติผู้อื่น มิได้สำนึกว่าที่บ้านเมืองเสียหายครั้งนี้ เกิดจากคนของพรรคออกมาเป่านกหวีดเปิดทางให้ทหารออกมายึดอำนาจ สอดรับกับอดีตเลขาฯ พรรคที่จะสนับสนุนให้หัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป จึงเกิดความชัดเจนว่า อะไรเหมาะสมกับพรรค ปชป. ที่สุด แต่ไม่ใช่พรรคเพื่อไทย

“พรรคเพื่อไทยยืนยันจะเดินตามครรลองประชาธิปไตย ไม่เอาเผด็จการและไม่จับมือกับพรรคการเมืองที่สนับสนุนเผด็จการและไม่เลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตย ตามพุทธศาสนาสุภาษิตที่ว่า “บุคคลควรคบผู้เลื่อมใสเท่านั้น ควรเว้นผู้ไม่เลื่อมใส”

นายวัฒนา กล่าวว่า ยิ่งไปกว่านั้นการเอาดีใส่ตัวเอาชั่วให้เพื่อน พระพุทธเจ้าถือเป็นมิตรปฏิรูปก์คือ ศัตรูในร่างมิตรยิ่งเป็นคนที่ไม่ควรคบ ดังนั้น หากตนมีอำนาจตัดสินใจพรรคเพื่อไทยจะไม่มีทางจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์เพื่อตั้งรัฐบาลโดยเด็ดขาด

“พรรคเพื่อไทยยังมีภารกิจอีกมากที่จะต้องทวงคืนอำนาจให้ประชาชนตามระบอบรัฐสภา หนทางสู่เป้าหมายจึงต้องการพลังอันยิ่งใหญ่จากประชาชนเพื่อแปรเป็นคะแนนเสียงอย่างเพียงพอในอันที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ พลังของประชาชนยิ่งใหญ่เสมอ รอเวลาที่จะสร้างความสำเร็จไปด้วยกันครับ”

PEACE NEWS


Posted: 27 Nov 2017 09:52 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ปัญญวัฒน์ เถกิงเกียรติ

ที่หลายคนบอกว่า ต่างชาติทุกประเทศเขาก็ทำกัน จริงๆ แล้วเท่าที่ผมประสบมา จากโรงเรียนนายร้อยประเทศ อังกฤษ และ ออสเตรเลีย ไม่มีระบบการซ่อมแบบนี้

ผมเรียนจบCommisioning Course จากที่โรงเรียนนายร้อยอังกฤษ และเคยไปกินนอนในโรงเรียนนายร้อยออสเตรเลียหลายสัปดาห์

รวมทั้งสมัยเป็นนักเรียนนายร้อย รร.จปร. ผมเป็นนักเรียนที่คอยต้อนรับดูแลนักเรียนต่างชาติที่มาดูงานที่ประเทศไทย ได้คลุกคลีกับนักเรียนนายร้อย สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย และ เกาหลีใต้ ชาติละเป็นสัปดาห์ เป็นอย่างน้อย ซึ่งไม่เคยทราบว่าชาติไหนมีระบบการซ่อม หรือ ธำรงวินัย หนักๆ แบบประเทศไทยเลย จะมีบ้างก็ไม่ออกนอกกรอบระเบียบที่กำหนดไว้ว่าจะซ่อมด้วยท่าทางอะไรได้บ้าง มีความหนักแค่ไหนจำนวนครั้งเท่าไหร่ และผู้ที่สั่งซ่อมก็จะทำไปด้วยกับผู้ที่ถูกซ่อมทุกครั้ง(ระบบอเมริกัน)

จากประสบการณ์เอง ผมขอยกตัวอย่างจากโรงเรียนนายร้อยประเทศอังกฤษ ซึ่งไม่มีระบบการซ่อมการลงโทษด้วยการธำรงวินัย แต่ทางโรงเรียนนั้นจะมีกฏมีระเบียบปฏิบัติและมีมาตราฐานที่นักเรียนทุกๆ คนจะต้องมีวินัยและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้รวมถึงความสามารถในการศึกษาวิชาการด้วย จะมีการสอบการวัดมาตราฐานอยู่บ่อยครั้ง ในโรงเรียนจะแบ่งเป็นหมวดเป็นกองร้อยและทุกๆ หมวดซึ่งมีจำนวนนักเรียนประมาณ20คน จะมีนายทหาร1ท่านและมีนายทหารประทวนอีก1นายคอยกำกับดูแลตลอด24ชั่วโมง จะมีการประเมินความสามารถ ทั้งด้านความเป็นผู้นำ ทางด้านความรู้ และทางด้านสมรรถภาพร่างกาย อยู่ตลอดเวลา นักเรียนคนใดที่ไม่ได้ตามมาตราฐาน หรือไม่มีความเป็นผู้นำที่ดีพอ จะถูกเรียกพบตักเตือน และปลายเทอมถ้ายังไม่ได้มาตราฐานอยู่ก็จะถูกซ้ำชั้นและถูกให้ออกจากการเป็นนักเรียนในที่สุด ซึ่งมีคนไม่ผ่านมาตราฐานดังกล่าวปีละมีปริมาณไม่น้อย ส่วนการลงโทษรายวันนั้นก็มีบ้างเช่นเมื่อทำผิดวินัยหรือบกพร่องระเบียบด้านใด ก็จะถูกสั่งให้Show parade คือแต่งตัวเต็มยศอย่างเนี๊ยบและสะอาดสะอ้านมาเข้าแถวตรวจความเรียบร้อยและเดินสวนสนามจะเป็นระยะเวลาหรือระยะทางเท่าไหร่ ก็แล้วแต่ความหนักของความผิดที่กระทำลงไป

การที่จะเอาตัวรอดจนสำเร็จการศึกษาได้นั้น นักเรียนทุกคนต้องมีวินัยในตัวเอง ขอย้ำว่า”วินัยนั้นเกิดขึ้นด้วยตัวของนักเรียนเอง ไม่ต้องมีใครมาคอยซ่อมคอยธำรงวินัยให้” ถ้าใครไม่มีวินัยไม่มีความสามารถเพียงพอ ที่จะผ่านระบบการฝึกศึกษาที่เข้มข้น เคร่งครัด เด็ดขาด และยุติธรรม ก็จะถูกคัดออกไปโดยไม่มีข้อยกเว้น

ส่วนนักเรียนทหารของไทยนั้น มีบริบทที่แตกต่างจากชาติอื่นทุกชาติ เรามีเอกลักษณ์เป็นของเราเอง เรามีรายได้ มี่ภัยคุกคาม มีการสนับสนุน มีพื้นฐานทางสังคมแบบแผนประเพณีที่แตกต่างจากชาติอื่น เราจึงมีวิธีการฝึก การศึกษาที่ต่างไปและเป็นตัวของตัวเอง แตกต่างจากประเทศต้นแบบอย่างสหรัฐอเมริกา และประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ อยู่มากพอสมควร

การที่จะทำให้คนไทยคนหนึ่ง สละความสุขสบายมาเป็นรั้วของชาติที่มีความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวและเสียสละนั้น ไม่ได้ทำได้โดยง่าย ไม่ได้มีรายได้เยอะๆ มาดึงดูดใจเหมือนชาติอื่นแต่เราต้องสร้างความเป็นทหารในแบบของเรา สร้างผู้นำที่กล้าหาญ อดทน และเสียสละ มากพอที่จะป้องกันประเทศ ในภาวะคับขันโดยมีทรัพยากรและการสนับสนุนที่จำกัดของประเทศเรา

เราจำเป็นต้องมีการสร้างวินัย โดยการละลายพฤติกรรม และปลูกฝังให้ทำตามกฏตามระเบีย ต้องมีการสร้างจิตใจที่เข้มแข็งมุ่งมั่นไม่ว่าจะถูกจำกัดสิทธิจนต้อยต่ำเพียงใด ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจเพียงใด ทุกคนจะไม่ย่อท้อ และทุกคนจะรักสามัคคีช่วยเหลือซื่อกันและกันในทุกๆ ด้านของชีวิต จะมีระบบอาวุโส มีความเป็นเพื่อนเป็นพี่เป็นน้องที่เคร่งครัดและแน่นแฟ้น มีระบบเกียรติศักดิ์ ที่เป็นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจถึงขนาดที่สามารถตายแทนกันได้ เพื่อธำรงความแข็งแกร่งของกองทัพไว้ด้วยจิตใจ มิใช่ด้วยสิ่งตอบแทนอย่างนาๆ ประเทศเขามีกัน

การซ่อมจึงเป็นธรรมเนียมปฎิบัติที่ทำกันมาหลายสิบปีตั้งแต่เริ่มมีโรงเรียนทหารมาในประเทศไทย

ระบบการซ่อมหรือธำรงวินัยนั้น โรงเรียนเตรียมทหารและโรงเรียนเหล่าทัพต่างๆ ก็มีระเบียบกำหนดท่าทางที่ปฏิบัติได้ จำนวนครั้งที่สามารถให้ทำได้ รวมถึงช่วงเวลาที่ให้ทำได้ชัดเจน

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีผู้ฝ่าฝืนระเบียบ แอบทำโทษรุ่นน้องนอกเหนือจากท่าทางที่กำหนดไว้ และกระทำไปโดยถูกปล่อยปละละเลยจนเห็นเป็นเรื่องธรรมดาจนเกิดท่าทางที่พิสดารหลายท่าตามแต่จินตนาการที่เกิดจากความคึกคะนองของวัยรุ่นที่ยังไม่มีวิจารณญาณที่ดีพอ รวมทั้งขาดการดูแลเอาใจใส่จากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดความสูญเสียอย่างทุกวันนี้

จุดมุ่งหมายในทางตรงของการซ่อมนั้น การซ่อมถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปลูกฝังสิ่งต่างๆ ที่ผู้บังคับบัญชาอยากจะฝังเข้าไปในระบบความคิดและพฤติกรรมของนักเรียน เหมือนกับการละลายตัวตนของคนออกไปด้วยความเหนื่อยความอ่อนล้า จนกระทั่งคนๆ นั้นจะยอมรับอะไรก็ได้ที่จะปลูกฝังเข้ามาและทำแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกจนพฤติกรรมของคนผู้นั้นจะเปลี่ยนไปตามที่ระบบต้องการให้เป็น

การซ่อมนั้นยังมีจุดมุ่งประสงค์แฝงอยู่อีกหลายสิ่ง ทั้งในแง่ดีและแง่เสีย

ในแง่ดีก็เพื่อสร้างความแข็งแรงอดทนทั้งร่างกายและจิตใจ, สร้างความผูกพันความสามัคคีความเป็นกลุ่มก้อนความไว้เนื้อเชื่อใจกันที่ลึกไปถึงจิตวิญญาณ, สร้างความภาคภูมิใจ ฯลฯ

ในแง่เสียก็คือ ผู้ถูกซ่อมจะพัฒนาการเอาตัวรอด จะใช้ทุกวิถีทางที่จะหลบหลีกและใช้วิธี”อู้”เพื่อให้รอดจากการถูกซ่อมอย่างแนบเนียน,

ผู้ถูกซ่อมจะเป็นผู้ที่จะต้องทำดีทำถูกต้องและจะรักษาวินัย เพราะกลัวที่จะถูกซ่อม ไม่ใช่การมีวินัยด้วยจิตสำนึกของตัวเอง ดังนั้นบางคน เมื่อหลุดจากระบบซ่อมไปแล้วจะหลุดจากการกดดันและปล่อยตัวเองจนขาดวินัยในหลายๆ ด้าน เมื่อออกไปทำงานในโลกแห่งความจริงเช่นปล่อยตัวให้อ้วน เพราะเบื่อและเอียนแล้วกับความยากลำบากและการถูกบังคับให้ออกกำลังกายขณะที่อยู่ในโรงเรียน

บางคนเก็บกดเคียดแค้นจากการถูกซ่อม เมื่อถึงเวลาที่ตนมีอำนาจจึงไปกระทำต่อผู้ใต้บังคับบัญชาเหมือนที่ตนถูกกระทำมา และส่วนใหญ่จะเลยเถิดไปจะเป็นการทำเพื่อความสาแก่ใจของตน

ถ้าจะวิเคราะห์ลงลึกไปอีกระดับ การซ่อมนั้นยังเป็นการกระทำเพราะความเสน่หาอีกด้วย

เนื่องจากความเป็นพี่น้องกัน เมื่อผู้ใต้บังคับบัญชาทำผิดหรือมีความสามารถไม่พอ จริงๆ แล้วตามระบบจะต้องถูกตัดคะแนน และต้องถูกไล่ออก ตามความหนักหนาของโทษที่ได้ทำ

แต่รุ่นพี่หรือแม้แต่ผู้บังคับบัญชาเองก็คิดว่าจะช่วยไม่ให้ต้องถูกไล่ออก โดยแลกกับการไปถูกซ่อมแทน (ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้มักจะนำไปสู่การซ่อมที่เกินเลยจากที่ระเบียบกำหนดไว้ และหนักหนาถึงขั้นทะลุขีดจำกัดของร่างกายทำให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว)

วิเคราะห์ลึกลงไปอีก การทำแบบนี้ก็การกำเนิดและยังเป็นผลมาจากของแนวคิดแบบระบบอุปถัมภ์ การสร้างอำนาจ สร้างความเกรงกลัว สร้างคำว่าพระเดชพระคุณให้เกิดขึ้นในจิตใจของคน

ซึ่งระบบอุปถัมภ์นั้นเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับชาติไทยมาตั้งแต่เริ่มความเป็นชาติแล้ว ปัจจุบันเราอาจจะมองมันว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีไม่เหมาะสม แต่ต้องไม่ลืมว่ามันก็เป็นสิ่งที่สร้างความเข้มแข็งความเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย และเคยนำให้ประเทศเราอยู่รอดมาถึงทุกวันนี้ด้วย

ดังนั้น การซ่อม หรือการธำรงวินัยนั้น มันเป็นวิธีหนึ่งในการฝึกทหารที่มีเอกลักษณ์ มีความสืบเนื่องมาจากวัฒนธรรมและความเป็นไทยมาอย่างยาวนานซึ่งไม่มีชาติใดเหมือน จึงจะเทียบกับชาติอื่นไม่ได้

แต่การซ่อม จะเป็นเครื่องมือการฝึกทหารทีมีประสิทธิภาพสูงได้ ต้องเพิ่มความเข้าใจในที่มาที่ไปและจุดมุ่งหมายของการที่เราซ่อมกัน

มีการควบคุมกำกับดูแลให้อยู่ในกรอบของความถูกต้อง และนำเอาวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาใช้ จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างมาก

ในยุคสมัยนี้ที่คนเราเห็นอะไรเสียเราก็ทิ้งและเปลี่ยนใหม่ เราเห็นข้อเสียของการซ่อม (ที่ถูกนำมาใช้แบบผิดๆ ) เราก็จะคิดให้ยกเลิกหรือโยนทิ้งระบบนี้ไปเลย แต่เราลืมไปว่ามันซ่อม (ปรับปรุง) ได้ เราทำให้มันถูกต้องเข้าที่เข้าทางได้ ถ้าเราเข้าใจมัน อย่าถ่องแท้
ข้อดีมันยังมีอยู่มาก ถ้าจะประยุกต์ใช้ให้ดี ผลดีก็จะเกิดขึ้นได้แน่นอน

Posted: 27 Nov 2017 10:17 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ไหน? ครม.เพิ่งประกาศสิทธิมนุษยชนร่วมเคลื่อน Thailand 4.0 เป็นวาระแห่งชาติ กสม.ขอรัฐทบทวนการดำเนินคดี 16 แกนนำค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ขณะที่ จนท.นำตัวฝากขังต่อศาล จ.สงขลา แล้ว ‬ข้อหาขวางจราจร-เจ้าหน้าที่ และทำร้ายเจ้าพนักงาน


ภาพขณะเจ้าหน้าที่ นำตัว 16 แกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาไปฝากขังต่อ ศาล จ.สงขลา

28 พ.ย.2560 จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีกีดขวางการจราจร ขัดขวางการจับกุม และทำร้ายเจ้าพนักงาน กับ 16 แกนนำเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน หลังจากจัดกิจกรรมเดินเท้าจากพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อรณรงค์ถึงความไม่เป็นธรรมและผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และยื่นหนังสือต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อ.เมือง จ.สงขลา ในวันนี้ (28 พ.ย.60) โดยที่วานนี้เวลาประมาณบ่ายโมง เมื่อเครือข่ายฯ เดินทางถึงบริเวณแยกสำโรง อ.เมือง จ.สงขลา ตำรวจประมาณ 1 กองร้อยตั้งจุดสกัดขบวนเดินเท้าของเครือข่าย และเวลาประมาณ 16.20 น เจ้าหน้าที่ได้สลายการชุมนุม มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บและชาวบ้านจำนวนหนึ่งถูกควบคุมตัวไปที่ สภ.เมือง สงขลานั้น

ล่าสุดวันนี้ เมื่อเวลา 11.21 น.ที่ผ่านา ฐปนีย์ เอียดศรีชัย ผู้ประกาศข่าวภาคสนามรายการข่าว 3 มิติ ทางไทยทีวีสีช่อง 3 โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Thapanee Ietsrichai' ในลักษณะสาธารณะว่า เจ้าหน้าที่นำตัว 16 แกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาไปฝากขังต่อ ศาล จ.สงขลา แล้ว ‬

ขณะที่ องค์การบริหาร องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตนี (ม.อ. ปัตตานี) ประกาศคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และให้กำลังใจชาวเทพา ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวด้วย

ปะทะ - จับ 16 ค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน - ฝ่ายหนุนเข้าค่ายอิงคยุทธฯ ขอเร่งสร้าง
ประยุทธ์ สวนชาวประมง "อย่ามาส่งเสียงกับผม" หลังเข้าแจงปัญหาต่อหน้า
'องค์กรสิทธิ' ร้อง จนท. ปล่อยตัวกลุ่ม 'เดิน....เทใจให้เทพา หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน'
กสม.ขอรัฐทบทวนการดำเนินคดี-ยึดมั่นต่อหลักสิทธิมนุษยชน

วันเดียวกัน สปริงนิวส์ รายงานว่า เตือนใจ ดีเทศน์ และอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงชี้แจงกรณี ตำรวจจับกุมพร้อมแจ้งข้อหากลุ่ม “เครือข่ายประชาชนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน” หลังจากเดินเท้าขัดค้านโครงการดังกล่าวเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายดำเนินการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้อย่างสันติวิธี โดยเคารพและยึดมั่นต่อหลักสิทธิมนุษยชน

โดย กสม.เห็นว่าการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวของกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ยังอยู่ในขอบเขตของการใช้สิทธิในการแสดงความเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฎิบัติตาม

กสม.จึงขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ตำรวจทบทวนการแจ้งข้อกล่าวหาแก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และดำเนินการทางกฎหมายอย่างรอบคอบบนพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตามการคุ้มครองของรัฐธรรมนูญ และเปิดโอกาสให้เครือข่ายฯได้เข้าพบเพื่อนำเสนอข้อห่วงใยและข้อเสนอโครงการในการพัฒนาโครงการ ทั้งนี้ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานเจ้าของโครงการยึดมั่นในแนวปฎิบัติของสหประชาชาติว่าด้วย ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนภายใต้หลักการเคารพคุ้มครอง และเยียวยา รวมทั้งคำประกาศแห่งชาติสิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ภาคปชช.อีสาน ร้องปล่อยกลุ่มค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยไม่มีเงื่อนไข
ครม.ประกาศ 'สิทธิมนุษยชน' ร่วมเคลื่อน Thailand 4.0 เป็นวาระแห่งชาติ


Posted: 27 Nov 2017 10:22 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

น้องแอร์ ไม่มีชื่อสกุล

“ฉันไม่มีสัญชาติ”

ฉันเกิดและเติบโตมาในพื้นที่ชายแดนระหว่างไทย - พม่า - รัฐกะเหรี่ยง โดยมีแม่น้ำสาละวินคั่นกลางระหว่างทั้ง 3 ประเทศและรัฐนั้น

คนในหมู่บ้านของฉัน ส่วนใหญ่ไม่มีสัญชาติไทย รวมถึงครอบครัวฉันด้วย


การเป็นคนที่ไม่มีสัญชาติ หมายถึงเราถูกจำกัดเรื่องอาชีพ เราไม่มีแม้กระทั่งที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ครอบครัวฉันจึงทำได้เพียงรับจ้างเล็กๆน้อยๆในชุมชน ส่วนบ้านหลังเล็กๆที่ทำด้วยไม้ไผ่ ไม่มีความมั่นคงถาวร เบื้องหน้าเป็นหน้าผาสูง ตัวบ้านเหมือนกับวางเกยอยู่บนขอบถนน ด้านหลังหยั่งลึกลงไปในลำห้วยนับสิบเมตร ฤดูฝนเราเผชิญกับอันตรายมาก ลองนึกภาพดู คือ หลังบ้านมีห้วยลึกลงไปหลายสิบเมตร หน้าบ้านเป็นหน้าผาสูง มีต้นไม้ใหญ่ ซึ่งเราไม่รู้่เมื่อไหร่ ดินจะถล่มลงมา และไม่มั่นใจว่าบ้านจะถูกน้ำพัดไปเมื่อไหร่ หลายครั้งเราต้องหนีไปนอนบ้านญาติด้วยความหวาดกลัว

ในด้านความเชื่อ ชุมชนของฉันยังมีความเชื่อในเรื่องผิดผี มีความเชื่อว่าผู้ชายเป็นผู้นำ ส่วนหญิงเรียนสูงไปก็ไร้ประโยชน์เพราะสุดท้ายต้องแต่งงานมีครอบครัว บางครั้งฉันเองก็เกิดความกดดันกับความเชื่อเหล่านี้ เพราะฉันชอบเรียนรู้ และจริงๆแล้ว ฉันอยากเป็นนักต่อสู้ อยากเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

เมื่อฉันเรียนจบระดับประถมศึกษา ฉันจำเป็นต้องออกจากหมู่บ้าน เพื่อไปเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ฉันและเพื่อนๆไม่สามารถเดินทางไปกลับระหว่างบ้านกับโรงเรียน เพราะการเดินทางยากลำบากและห่างไกล จึงต้องพักนอนที่หอพัก ที่โรงเรียนได้จัดให้ และที่นั่นเอง ฉันได้รู้จักกับครูเจี๊ยบ (มัจฉา พรอินทร์) ผู้ก่อตั้ง โครงการสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน (Sangsan Anakot Yawachon) ซึ่งทำงานเสริมพลังอำนาจเด็กและเยาวชน ชนเผ่าพื้นเมือง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนหญิง ทั้งที่มีและไม่มีสัญชาติ

โครงการสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงชีวิตฉัน ฉันจะได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษา เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้นำเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองผู้หญิงและการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้แบบเสริมพลังอำนาจต่างๆ ซึ่งนี่เองทำให้ฉันเป็นคนเก่งขึ้น เป็นมีความเป็นผู้นำ กล้าคิด กล้าแสดงออก และผลักดันให้ฉันยืนขึ้นต่อสู้เพื่อชุมชนของตนเอง ฉันมีเรื่องมากมายที่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนให้ทุกคนมีสิทธิ มีความเท่าเทียมและไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ


การที่ไม่มีสัญชาติไทยนั้น มันส่งผลต่อชีวิตมาก เราไม่มีสิทธิในการครอบครองที่ดินทำกิน ไม่มีสิทธิในเรื่องอสังหาทรัพย์ การที่เข้าไปทำงานนอกจังหวัดลำบากอาจถูกนายจ้างเอาเปรียบในค่าจ้างเพราะเราไม่มีสัญชาติ การออกนอกจังหวัดต้องขอหนังสืออนุญาตเดินทาง ด้านการศึกษา เราถูกจำกัดสิทธิในการเดินทางตามหาความฝัน เราเข้าไม่ถึงการกู้ยืมเงินกองทุนเพื่อการศึกษา กยศ.

พ่อแม่ของฉันไม่มีสัญชาติ จึงถูกจำกัดเรื่องอาชีพ การทำงานรับจ้างไปวันๆ ไม่สามารถส่งลูกเรียนสูงๆได้ การเป็นคนไม่มีสัญชาตินั้นครอบครัวไหน สามารถส่งลูกเรียนได้ แปลว่าครอบครัวนั่นต้องหาเงินนักเป็นหลายเท่าตัวเพราะลูกไม่สามารถเข้าถึงการกู้ยืมเงินกยศ. ส่วนทุนการศึกษาสำหรับคนไร้สัญชาติก็มีน้อยมาก เพราะเหตุผลเหล่านี้ทำให้ฉันอยากเป็นนักต่อสู้ ฉันเชื่อมั่นว่าไม่มีสิ่งไหนทำไม่ได้ ถ้าเรายังไม่ลงมือทำ ฉันจึงเข้าอบรมต่างๆที่โครงการสร้างสรรค์อนาคตเยาวชนจัด หรือที่โครงการฯเชิญให้ไปอบรม กับเครือข่าย ซึ่งการอบรมในแต่ครั้งจะเป็นในเรื่องสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม ทำให้ฉันได้ฝึกฝนตัวเองให้เก่ง ฉันเรียนรู้แบบนี้มาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ม.1 จนถึงตอนนี้ฉันเรียนในระดับชั้น ปวส.1 ฉันเข้าร่วมอบรมเริ่มตั้งแต่เวทีเล็กๆ ในโรงเรียน ในหมู่บ้าน ในระดับภาคเหนือ ไปจนถึงระดับประเทศไทย และครั้งนี้ที่ฉันอยากจะเล่า คือ ฉันได้เข้าร่วมประชุมระดับอาเซียน ที่ประเทศฟิลิปปินส์

คนไม่มีสัญชาติ กับการเดินทางออกนอกประเทศ

การเดินทางไปต่างประเทศในครั้งนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ฉันอยากเล่าให้ฟัง ดังนี้

วันที่19 ตุลาคม 2560


ฉันได้ทราบข่าวจากครูเจี๊ยบ ว่าจะได้เข้าร่วมการประชุมอาเซียนที่ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งด้วยระยะเวลาที่จำกัดมาก คือ 3 อาทิตย์ ฉันทราบว่าองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชนและมูลนิธิศักยภาพชุมชน (PEF) ได้เตรียมการหลายอย่าง รวมถึงทำหนังสือและประสานงานทั้งกับ NGOs ในพื้นที่ และภาครัฐในหลายระดับ เพื่อให้ฉันสามารถทำหนังสือเดินทางออกนอกประเทศให้ทันเวลา

ฉันดีใจมากจนบอกไม่ถูกนี้เป็นสิ่งที่ฉันใฝ่ฝันฉันอยากไปเรียนรู้ต่างประเทศ เสนอประเด็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติให้เป็นประเด็นที่น่าสนใจเมื่อทราบว่าจะได้ไป สิ่งแรกที่ฉันทำคือหาข้อมูลเรื่องการขอออกนอกประเทศของคนไร้สัญชาติ

วันที่ 20 ตุลาคม 2560

ฉันขับรถไปที่อำเภอที่ฉันอยู่ไปหาเจ้าหน้าที่ที่เดินรื่องเอกสารการเดินทาง “พี่คะพอดีหนูจะไปอบรมอาเซียนในประเทศฟิลิปปินส์ค่ะ แต่หนูไม่มีสัญชาติค่ะ” พี่เจ้าหน้าที่ทำหน้า งง! และแจ้งว่าไม่เคยทำ อีกทั้งปลัดก็ไม่อยู่ ให้กลับมาใหม่

วันที่ 24 ตุลาคม 2560

ฉันเดินทางกลับไปอำเภออีกครั้ง ตั้งแต่เช้า ครั้งนี้ไปหาเจ้าหน้าที่อำเภอในการออกหนังสือให้ และเมื่อได้กระดาษมาฉันก็ดีใจมาก ฉันออกจากอำเภอและเข้าไปประสานศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชนเพื่อขอความช่วยเหลือในการประสานงานนัดหมายกับทางจังหวัดเพื่อดำเนินการเรื่องการขอนุญาตออกนอกประเทศ และทำหนังสือการเดินทางลำดับต่อไป ซึ่งด้วยระยะเวลาที่จำกัด ฉันจำเป็นต้องทำแต่ละขั้นตอนให้ผ่านเท่านั้น

วันที่ 25 ตุลาคม 2560

ฉันออกเดินทางพร้อมกับครูเจี๊ยบตั้งแต่เวลา 07:00 เพื่อไปที่ตัวจังหวัดแม่ฮ่องสอน ระยะทางเกือบ 200 กิโลเมตร การเดินทางในแต่ละครั้งเรามีความหวังกันมาก เอกสารทุกอย่างเราเตรียมมาพร้อม เราหวังว่าจะทำได้รับเอกสารเสร็จภายในหนึ่งวันนั้น

เมื่อไปถึงจังหวัด เราได้ไปเข้าไปห้องกรมการปกครอง ซึ่งเจ้าหน้าที่ดูเป็นกันเองและอัธยาศัยดี เราแนะนำตัวเป็นใครมาจากไหน มาทำอะไร นอกจากนี้เรายังได้ชี้แจงว่าเราได้ยื่นหนังสือผ่านขั้นตอนของอำเภอแล้ว โดยทางอำเภอได้ออกเอกสารให้หนึ่งฉบับ

ฉันยื่นหนังสือให้เจ้าหน้าที่ดู

พอเจ้าหน้าที่เห็นเอกสารที่ทางอำเภอออกให้ ก็แจ้งเราว่า “เอกสารที่ทางอำเภอออกให้หนูมันไม่ถูกค่ะ ต้องกลับไปให้อำเภอทำใหม่ค่ะ”

ฉันตกใจ! วินาทีนั้นเราต่างช่วยกันหาทางแก้ไข

ครูเจี๊ยบได้เข้าไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่

ในขณะเดียวกันฉันได้ประสานงานกับ ปลัดที่อำเภอเพื่อขอให้ช่วยแก้ไขเอกสาร ซึ่งทางปลัดอำเภอ ยินดีที่จะแก้ไขเอกสารให้

ในระหว่างรอการดำเนินการแก้ไขเอกสารจากทางอำเภอ ไฟก็มาดับอีก ไฟดับนานกว่าหนึ่งชั่วโมง

ระหว่างที่ไฟดับ เราไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก ส่วนเจ้าหน้าที่จังหวัดได้ช่วยกันหาเอกสารตัวอย่างสำหรับให้ทางอำเภอทำหนังสือให้ถูกต้อง เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้พิจารณาลงนาม

สำหรับคนไร้สัญชาติ มีค่อนข้างน้อยที่จะไปต่างประเทศกัน ประกอบกับขั้นตอนการขอเดินทางออกนอกประเทศ มีความซับซ้อน จึงต้องใช้เวลานับตั้งแต่ 30-90 วันโดยประมาณ คือ ต้องผ่านระดับหมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด แล้วส่งเข้ากรมฯ รวมถึงกระทรวงต่างประเทศ และบางครั้งอาจจะไม่ได้รับอนุมัติให้เดินทาง

ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ ได้หาเอกสารเจอและส่งตัวอย่างให้ทางอำเภอ ทางอำเภอก็รีบดำเนินการให้

ขณะนี้เวลาก็ล่วงเลยถึง 17:30 น.ทางอำเภอก็ยังทำหนังสือไม่เสร็จ ทางจังหวัดก็รอ ผู้ว่าก็กำลังจะกลับบ้าน เราได้แต่รออย่างมีความหวัง รอลุ้นทั้งวันว่าจะเสร็จไหม ถ้าเสร็จแล้วผู้ว่าจะเซ็นให้ไหมเพราะมันก็เริ่มดึกแล้ว (ฉันจองตั๋วรถกลับในเวลา 2 ทุ่ม)

ฉันโชคดี! ในที่สุดทางอำเภอก็ส่งเอกสารกลับมา ฉันกับเจ้าหน้าที่อำเภออีกคนก็ขับรถไปที่บ้านท่านผู้ว่าฯ เพื่อขอให้ท่านผู้ว่าฯลงนาม ฉันรู้สึกว่าผู้ว่าใจดีและช่วยเหลือคนไร้สัญชาติมาตลอด ครั้งนี้ฉันก็ได้รับการช่วยเหลือจากท่านเป็นอย่างดี ฉันรู้สึกขอบคุณจริงๆ

ในที่สุดเอกสารก็เสร็จทันในเวลา 2 ทุ่มก่อนการเดินทางกลับ

การเดินทางของเอกสาร เพื่อขออนุมัติจากปลัดกระทรวงมหาดไทย

วันที่ 26 ตุลาคม 260

ฉันก็เตรียมเอกสารทุกอย่างเพื่อส่งไปให้กับครูเจี๊ยบของฉัน เอกสารก็จะมี หนังสือจากอำเภอ จากจังหวัด เอกสารของฉันต่างๆ รวมไปถึงเอกสารมอบอำนาจ เพราะฉันไม่อาจขึ้นไปที่กรุงเทพฯได้ ครูเจี๊ยบเลยทำหน้าที่ดำเนินเรื่องการขออนุญาตที่กรมแทน เอกสารไปถึงมือครูในตอนบ่ายและครูได้เดินทางไปกรุ่งเทพฯในวันเดียวกันนั้นเอง

วันที่ 27 ตุลาคม 2560

เช้าวันนั้นเองครูเจี๊ยบ มุ่งหน้าไปกระทรวง แต่ได้รับการช่วยเหลือจากพี่หลวง ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชนซึ่งได้โทรประสารงาน กับเจ้าหน้าที่ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งแจ้งว่าให้มายื่นหลังสือที่กรมการปกครอง วังไชยาแทน เพื่อความสะดวก (หมายเหตุ ช่วงเวลานั้นมีการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และกรมการปกครอง ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงมหาดไทย ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับที่จัดพระราชพิธี)

เมื่อไปถึงเจ้าหน้าที่ของกรมการปกครองได้แจ้งว่า จำเป็นจะต้องมีหนังสือรับรองจากสถาบันการศึกษา ที่ฉันสังกัดอยู่อีกหนึ่งฉบับ และเมื่อต้องดำเนินเรื่องแข่งกับเวลา หมายความว่าฉันจำเป็นจะต้องขอให้สถาบันทำหนังสือรับรองความเป็นนักศึกษา และรับรองว่าสถาบันการศึกษาต้นสังกัดของฉัน รับทราบว่านางสาวน้องแอร์ ได้รับเชิญจากมูลนิธิศักยภาพชุมชน (PEF) เพื่อร่วมประชุมในอาเซียนภาคประชาสังคม (ASEAN Civil Society Conference/ASEAN Peoples’ Forum 2017) ฉันก็รีบขึ้นไปพบผู้อำนวยสถาบันการศึกษาของฉัน เพื่อพูดคุย ชี้แจง และขอความช่วยเหลือจากผู้อำนวยการฯ ซึ่งการทำหนังสือครั้งนี้ก็นับว่ายาก เพราะเจ้าหน้าก็ไม่เคยมีประสบการณ์ทำหนังสือแบบนี้ ฉันดีใจที่อย่างไรก็ดีสถาบันการศึกษาของฉัน พยายามให้การช่วยเหลือและในที่สุดก็สามารถทำหนังสือให้ฉันได้ทันเวลาและครูเจีี๊ยบซึ่งเป็นตัวแทนของฉัน ได้ยื่นหนังสือที่มีทั้งหมดให้กับกรมการปกครอง เป็นอันว่า ถึงตอนนี้หนังสือทั้งหมดของฉัน ก็จะเดินทางตามขั้นตอน เพื่อเสนอและรอการอนุมัติจากปลัดกระทรวงมหาดไทย

ระหว่างนั้นทุกๆวันฉันกับโครงการสร้างสรรค์ฯ ได้คุยกันตลอดเรารอลุ้นว่าจะเสร็จทันไหมเพราะเวลามันเหลือน้อยเต็มที ฉันจะต้องเดินทางไปฟิลิปปินส์ ในวันที่ 9-15 พฤศจิกายน 2560 และต้องรีบทำให้เสร็จ เพราะต้องรีบจองตั๋วเครื่องบิน รอทุกวันอย่างมีความหวัง และเราไม่คิดที่จะยอมแพ้


ฝันเป็นจริง! การทำพลาสปอร์ตครั้งแรกในชีวิต

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2560

ในที่สุดสิ่งที่รอก็มาถึงในเวลา 17:40 น. ครูเจี๊ยบโทรมาบอกว่าหนังสือได้รับการอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทยแล้ว และครูได้ประสานของความช่วยเหลือไปมูลนิธิศักยภาพชุมชน เพื่อให้ช่วยเหลือ ฉัน ซึ่งไม่คุ้นเคยกับการเดินทางในกรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการขั้นตอนสุดท้าย นั่นคือ ต้องไปทำพาสปอร์ตที่กรมการกงสุล(กรุงเทพฯ) เราแน่ว่าในขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ แต่เข้าใจว่าต้องดำเนินการให้เร็วที่สุด ฉันจึงรีบไปแม่สะเรียงไป เพื่อซื้อตั๋วทัวร์เพื่อเข้ากรุงเทพมหานครในคืนเดียวกันนั้น ฉันได้รถเที่ยว 20.00 น. ซึ่งยังมีเวลากลับไปอาบน้ำก่อนการเดินทาง (หมายเหตุ การเดินทางออกนอนพื้นที่ของคนไม่มีสัญชาติ ต้องได้รับการอนุมัติจากอำเภอ การเดินทางไปกรุงเทพมหานครครั้งนี้ได้รับอนุมัติ โดยเป็นผลสืบเนื่องมากจากการขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไทย ระหว่างวันที่ 1 - 20 ตุลาคม 2560 ฉันจึงไม่จำเป็นต้องไปขออนุญาตจากอำเภอ)

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2560

ฉันเดินทางถึงกรมการกงสุลในเวลา 08:08 น. ซึ่งที่นั่นมีพี่ตรอง เจ้าหน้าที่มูลนิธิศักยภาพชุมชน มาคอยช่วยเหลือเรื่องการทำพาสปอร์ต ในการทำพลาสปอร์ตมีขั้นตอนก็ไม่ยุ่งยาก สามารถทำวันเดียวเสร็จ แต่จะได้พาสปอร์ตใน วันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งพาสปอร์ตที่ได้จะไม่เหมือนของคนที่มีสัญชาติไทย สำหรับพาสปอร์ตที่ฉันได้จะเป็นเล่มสีเหลืองหน้าปกจะเขียนไว้ว่า “เอกสารเดินทางสำหรับคนต่างด้าว”

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2560

พาสปอร์ตของฉันถูกส่งถึงครูเจีี๊ยบ ที่เชียงใหม่ เพื่อรอให้ฉันเดินทางจากแม่สะเรียงมาขึ้นเครื่องบินเดินทางจากเชียงใหม่ ไปยังฟิลิปินส์ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560

ฉันมีความพร้อมที่จะประชุมในครั้งนี้เป็นอย่างมากในทุกๆวันฉันตื่นเต้นดีใจฉันมีความสุขมาก

การทำหนังสือเดินทางในครั้งนี้เริ่มตั้งแต่ วันที่ 24 ตุลาคม 2560 – วันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 ใช้เวลาทั้งหมด11 วันด้วยกัน

การทางไปต่างประเทศของเยาวชนไร้สัญชาติ คนแรกในเวทีประชุมอาเซียน ภาคประชาสังคม


วันที่ 8 พฤศจิกายน 2560

ฉันเดินทางเกือบ 200 กิโลเมตรจากแม่สะเรียง เพื่อมาเตรียมความพร้อมในการเริ่มต้นเดินทางจากสนามบินนานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งคืนเพราะต้องขึ้นเครื่องแต่เช้าในวันรุ่งขึ้น ในคืนนั้น พี่จุ๋ม(เจ้าหน้าที่โครงการสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน) ได้ช่วยเหลือเตรียมเอกสารและเตรียมความพร้อมสำหรับการเดินทางของฉัน

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2560

นี้เป็นการออกเดินทางที่มีความหวัง เพราะฉันไม่ได้ไปเพียงคนเดียว แต่ฉันมาพร้อมกับความหวังของพี่น้องที่ยังไร้สัญชาติที่รออยู่ข้างหลัง

ทุกๆขั้นตอน ในสนามบินตั้งแต่สนามบินเชียงใหม่ - สุวรรณภูมิ - ฟิลิปินส์ ฉันถูกตั้งคำถาม เจ้าหน้าที่ต่างสงสัยถึงการเดินทางของฉัน ดูเหมือนว่าเพื่อนๆคนไทยที่เดินทางพร้อมกันจะไม่มีปัญหา ผ่านแต่ละขั้นตอนแป๊บเดียว แต่สำหรับฉันเนื่องดูเหมือนเจ้าหน้าที่ในสนามบินไม่มีความเข้าใจ และไม่เคยเห็นเอกสารเดินทางแบบนี้ เจ้าหน้าที่เองต้องหาคนช่วยหลายคนถึงจะเข้าใจ เรียกได้ว่าพอถึงขั้นตอนสุดท้ายที่จะได้ขึ้นเครื่อง ก็ยังต้องมีลุ้น มีความกลัว ว่าจะทันเวลาไหม จะได้ขึ้นเครื่องลำดับต่อไปรึเปล่า

จริงๆการเดินทางครั้งนี้ ต้องคอยลุ้นตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด ประเทศ รวมทั้งการเดินทางที่สนามบิน พอถึงขั้นตอนสุดท้ายที่จะได้ขึ้นเครื่อง ซึ่งต้องผ่านสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของไทย เจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่มีหนังสือจากกระทรวงมหาดไทยแจ้งมาที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จุดนี้เองเลยเป็นปัญหา ซึ่งทีมของเราพยายามชี้เจง และเจ้าหน้าที่ก็พยายามหาทางออก เราใช้เวลาจุดนั้นประมาณครึ่งชั่วโมง และในที่สุดเจ้าหน้าที่ก็อนุญาตให้เราขึ้นเครื่องไปประเทศฟิลิปปินส์


ช่วงเวลาแห่งการการเรียนรู้

การเรียนใน วันที่ 10-13 พฤศจิกายน 2560 สิ่งที่ได้มามันมีมากมายเหลือเกินฉันได้เข้าใจถึงประชาคมอาเซียนอย่างแท้จริงความคิดภาครัฐกับภาคประชาสังคมมีความคิดที่แตกต่างออกไปภาคประชาสังคมมีความคิดที่ทำงานแล้วไม่หวังผลตอบแทนไม่หวังผลกำไรทำเพื่อนประชาชนทำให้มีสิทธิความเท่าเทียมไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบได้เห็นถึงปัญหาของแต่ละประเทศแต่ละประเทศจะมีปัญหาการต่อสู้เรียกร้องสิทธิที่แตกต่างกันออกไป ฉันเข้าใจว่ามาประชุมในอาเซียนครั้งนี้จะได้นำเสนอประเด็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติให้เป็นประเด็นหลักประเด็นสำคัญฉันมีความพยายามเหลือเกินที่จะนำเสนอประเด็นนี้ฉันได้นำเสนอถึงสองครั้งด้วยกัน

ในการประชุมอาเซียนในครั้งนี้จะแบ่งเป็นแต่ละห้องแต่ละห้องจะมีประเด็นเฉพาะแตกต่างกันออกไปฉันได้เลือก ห้องสิทธิมนุษยชนและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ฉันได้เห็นถึงปัญหาของแต่ละประเทศแต่ละประเทศจะมีปัญหาการต่อสู้เรียกร้องสิทธิที่แตกต่างกันออกไปฉันเข้าใจว่ามาประชุมในอาเซียนครั้งนี้จะได้นำเสนอประเด็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติให้เป็นประเด็นหลักแต่ยังก็ยังไม่เป็นประเด็นหลักสักเท่าไหร่ ทุกคนที่มาประชุมในครั้งนี้ได้เขียนข้อความร่างบทความเพื่อจะแถลงการณ์ในวันต่อไป


วันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2560 ได้พบกับ Edmund Bon Tai Soon คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือ ไอชาร์ (AICHR: ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights) ของประเทศมาเลเซีย ในระหว่างเข้าพบร่วมกับคณะเยาวชนในอาเซียน ฉันได้แนะนำตัวเป็นใครมาจากไหน ความยากลำบากที่จะได้มาประชุมอาเซียนในครั้งนี้อย่างไร รวมถึงการได้นำเสนอสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ เช่น ความยากลำบากในการใช้ชีวิต การเรียน การทำงาน การเดินทาง รวมถึงการไม่ได้รับการยอมรับในฐานะพลเมือง นอกจากนี้ฉันได้นำเสนอว่าเยาวชนแม้จะไร้สัญชาติ แต่ก็มีศักยภาพที่จะทำงานทั้งในประเทศที่ตนอาศัยอยู่ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านต่างๆในอาเซียน ดังนั้นหากไม่ถูกเลือกปฏิบัติในมิติต่างๆเยาวชนไร้สัญชาติก็จะสามารถใช้ศักยภาพที่มีอย่างเติมกำลังความสามารถและเป็นสวนหนึ่งในการพัฒนาสังคม

ฉันรู้สึกขอบคุณ AICHR Edmund Bon Tai Soon ขอบคุณประเทศเพื่อนบ้าน ขอบคุณประชาคมอาเซียน ที่รับฟังสิ่งที่ฉันนำเสนอ และยังมีข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายรวมทั้งชี้ให้เห็นกลไกสิทธิมนุษยชน ที่สามารถใช้ได้ในอาเซียน


วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560

เป็นวันที่ฉันมีความสุขที่สุดเลย เป็นวันท้าทาย การเดินรณรงค์ในประเด็นต่างๆ ที่เราอยากนำเสนอให้รัฐบาล เพื่อนำไปสู่การแก้ไข มันทำให้ฉันมีความเข้มแข็งมากขึ้นเห็นถึงพลังนักต่อสู้ไม่คิดที่จะยอมแพ้กับปัญหาที่เจอ ประเทศฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่สามารถเดินรณรงค์ในเรื่องต่างๆได้ เห็นนักเรียนนักศึกษาออกมารณรงค์ด้วยกัน ดูทุกคนมีพลังกันมาก ฉันอยากให้ประเทศของฉันทำแบบนี้ได้เหมือนกัน นี่เป็นครั้งแรกของฉันที่ฉันได้เดินรณรงค์ มันทำให้ฉันมีพลังมีความสุขและฉันเข้มแข็งขึ้นมาก


วันที่14 พฤศจิกายน 2560

ช่วงเช้ากลุ่มคนไทยได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาชุมชนแออัดแห่งหนึ่ง ชุมชนแห่งนี้ต่อสู้ในเพื่อสิทธิในที่อยู่อาศัย ชุมชนก่อตั้งมาได้ 40 กว่าปีแล้ว มี 400 กว่าครอบครัว ปัจจุบันเผชิญกับสถานการณ์ถูกขับไล่ให้ออกไปให้ไปอยู่ที่อื่น ตอนนี้เหลือแค่ 200 กว่าครอบครัวที่ยังคงยืนยันที่อยู่ที่นี้จะต่อสู้และเจรจากับรัฐบาล เพราะบริเวณนี้จะถูกใช้เพื่อสร้างเขื่อน นอกจากนี้ชุมชนยังต้องเผชิญกับน้ำท่วมทุกปี ถึงกระนั้นคนในชุมชนนี้ก็ยังสู้ แม้รัฐบาลจะมีข้อเสนอให้ย้ายชุมชนออกไปอยู่ที่อื่น แต่คนในชุมชนเห็นว่า อยู่ที่ใหม่จะให้ย้ายไปนั้นห่างไกลจากตัวเมือง ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ถ้าย้ายบ้านไปก็ต้องหาที่ทำงานใหม่ อีกทั้งที่ดินที่รัฐบาลจัดหาให้นั้น ก็ไม่ได้มาฟรี ชาวบ้านในชุมชนจะต้องผ่อนเป็นรายปี

วันที่15 พฤศจิกายน 2560

เป็นวันที่ต้องกลับมาในเมืองไทยขากลับมาก็มีปัญหาในเรื่องพาสปอร์ตตามเคยฉันไม่เคยมีความสุขในการเดินทางเลยฉันต้องคอยระแวงอยู่ตลอดเวลาทุกขั้นตอนที่ก่อนเข้าและขาออกต้องมีปัญหาตลอด ฉันหายใจไม่ทั่วท้องเลยก็ว่าได้ แต่ก็ว่านะ มันคือประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าเหลือเกินในชีวิตฉัน


ท้ายที่สุดนี้ฉันอยากจะขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ทำให้ฉันสามารถนำเรื่องราว ประสบกรณ์และชีวิตของคนที่ไร้สัญชาติ ไปพูดคุยที่เวทีระดับอาเซียน ครูเจี๊ยบและพี่จุ๋ม (โครงการสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน), ครูชลิดา ทาเจริญศักดิ์และพี่ตรอง (มูลนิธิศักยภาพชุมชน: PEF), แหล่งทุนสนับสนุนเพื่อเพิ่มศักยภาพกลุ่มผู้หญิงจากประเทศพม่า (WLB), พี่หลวงและพี่ปุ๊ (ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน)​, คุณวีนัส สีสุข (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารงานทะเบียน)
พี่มึดา, พี่ยอดปอง รวมถึงพี่ๆที่เป็นล่ามและคณะภาคประชาสังคม ประเทศไทย สถาบันการศึกษาต้นสังกัดของฉัน (วิทยาลัยการอาชีพแม่สะเรียง) และที่ขาดไม่ได้ คือ เจ้าหน้าที่ภาครัฐทั้งในระดับหมู่บ้าน อำเภอและจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน (สืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารย์) และเจ้าหน้าที่ภาครัฐในระดับประเทศ บุคคลที่กล่าวถึงทั้งหมดนี้ล้วนมีส่วนช่วยให้ฉันได้เดินทางไปประชุมเวทีนานาชาติ ระดับอาเซียน ได้มีประสบการณ์และเกิดแรงบัลดาลใจที่จะทำงานเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนของคนไร้สัญชาติ

[full-post]

Posted: 27 Nov 2017 11:52 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

สภาเมืองออกซฟอร์ดมีมติถอนรางวัลเสรีภาพแห่งเมืองออกซฟอร์ด ที่อองซานซูจีเคยได้รับเมื่อปี 2540 เหตุทำตัวเพิกเฉยวิกฤตมนุษยธรรมโรฮิงญา ขณะที่ในรอบสองเดือนมานี้อองซานซูจีถูกริบรางวัลเสรีภาพเมืองดับลิน ถูกปลดรูปและป้ายชื่อออกจากม.ออกซฟอร์ด แต่ก็ยังเหลืออีกหลายรางวัลรวมทั้งโนเบลสาขาสันติภาพปี 2534 และปริญญารัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มธ. ที่ได้รับในปี 2548


อองซานซูจี ปราศรัยกับผู้สนับสนุนที่อำเภอกอมู ฐานเสียงของเธอในภาคย่างกุ้ง ประเทศพม่า เมื่อ 22 มีนาคม 2555 ในช่วงจัดการเลือกตั้งซ่อม (ที่มา: แฟ้มภาพ/Htoo Tay Zar/Wikipedia/CC BY-SA 3.0)

ในรายงานของ เดอะการ์เดียน เมื่อวันจันทร์นี้ (27 พ.ย.) สภาเมืองออกซฟอร์ดได้มีมติถอนรางวัล เสรีภาพแห่งเมืองออกซฟอร์ด ที่อองซานซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) และที่ปรึกษาแห่งรัฐของรัฐบาลพม่า ที่เคยได้รับในปี 2540 โดยให้เหตุผลว่าไม่ต้องการให้มีการยกย่องผู้ที่ทำเป็นมองไม่เห็นต่อเหตุความรุนแรง

แมรี คลาสสัน อดีตนายกเทศมนตรีออกซฟอร์ด ผู้เสนอให้ถอดถอนกล่าวกับบีบีซีว่า ออกซฟอร์ดเป็นเมืองที่มีธรรมเนียมของความหลากหลายและมีมนุษยธรรม "ชื่อเสียงของเมืองหม่นหมองเพราะยกย่องผู้ที่ทำเป็นมองไม่เห็นต่อเหตุความรุนแรง พวกเราหวังว่าวันนี้เราจะได้ส่งเสียงเล็กๆ ของพวกเราต่อคนทั้งหลาย เรียกร้องสิทธิมนุษยธรรมและความยุติธรรมให้กับชาวโรฮิงญา"

ก่อนหน้านี้ในเดือนกันยายน ภาพวาดอองซานซูจีถูกปลดออกจากอาคารของวิทยาลัยเซนต์ฮิวก์ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ก่อนเริ่มเปิดภาคการศึกษาวันแรก และในวันที่ 19 ตุลาคม หลักสูตรปริญญาตรีของวิทยาลัยเซนต์ฮิวก์ ก็ปลดชื่ออองซานซูจี ออกจากห้องโถงกลางของวิทยาลัย

และก่อนหน้านี้เมื่อ 13 พ.ย. บ็อบ เก็ลดอฟนักแต่งเพลงชาวไอร์แลนด์ ก็ได้แจ้งถอนรางวัลเสรีภาพแห่งเมืองดับลิน ที่อองซานซูจีได้รับในปี 2542 ในระหว่างถูกกักบริเวณ "การข้องเกี่ยวของเธอกับเมืองของเรา สร้างความอับอายแก่พวกเราทุกคน และเราไม่ควรข้องเกี่ยวด้วย เราเคยยกย่องเธอ แต่ตอนนี้เธอทำให้พวกเราตกใจและสร้างความอับอาย" เก็ลดอฟกล่าวตอนหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า อองซานซูจี ได้รับปริญญารัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจำปี 2534 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยสภามหาวิทยาลัยฯ มีมติไว้ตั้งแต่ปี 2534 "ในฐานะที่เป็นแบบอย่างที่ดีในการมุ่งมั่นและมีจิตใจที่ยึดแนวทางการต่อสู้และสันติวิธี เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนให้แก่ชาวพม่า การเรียกร้องเพื่อเกียรติ ศักดิ์ศรี และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษยชาติอย่างมีศักดิ์ศรี อย่างผู้มีสิทธิที่จะกำหนดการปกครองของตนเองตามเจตนารมณ์ของปวงชน อันส่งผลให้ได้รับรางวัลระดับนานาชาติหลายรางวัล นับเป็นการประกาศให้ชาวโลกได้รับรู้ถึงสัจธรรมอันยิ่งใหญ่ของแบบอย่างแห่งการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย"

โดยเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2548 ตรงกับวันเกิดของอองซานซูจี สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานส่งมอบปริญญารัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจำปี 2534 ให้กับ ซานซาน เลขานุการสหภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งพม่า ในฐานะตัวแทนของอองซานซูจี ที่ในเวลานั้นยังถูกกักบริเวณอยู่ในบ้าน โดยการส่งมอบใบปริญญาบัตรเป็นมติเพิ่มเติมหลังการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 5/2548 เมื่อ 30 พฤษภาคม 2548 (อ่านรายงานหน้า 59-63)

อนึ่ง ศาสตราจารย์มารุต บุนนาค กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ เคยให้ความเห็นระหว่างการประชุมสภามหาวิททยาลัยครั้งที่ 5/2548 ดังกล่าวว่า "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสถาบันที่มีอิสระทางความคิด มหาวิทยาลัยยึดถือว่า ปริญญาที่จะมอบให้ใครต้องเป็นผู้มีเกียรติและสมควร กรณีที่มหาวิทยาลัยมอบให้แก่นางออง ซาน ซูจี เพราะได้พิจารณาเห็นว่า เป็นบุคคลที่สมควรอย่างที่สุดแล้ว แต่ มธ.เคยลงมติไม่มอบให้แก่นักการเมืองจากต่างประเทศที่มีประวัติไม่ดี ประมาณปี พ.ศ. 2531 ได้มีการเสนอปริญญากิตติมศักดิ์ให้อดีตประธานาธิบดีเซียอุลซัค แห่งประเทศปากีสถาน ซึ่งเป็นรัฐบาลทหาร ตนเองเป็นคนแรกที่คัดค้านในที่ประชุมว่า ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะมอบให้ เพราะเป็นบุคคลที่ไม่ดำเนินการเพื่อมนุษยธรรม ที่ประชุมก็เห็นด้วย..."

ส่วนรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ที่ได้รับในปี 2534 อองซานซูจีเดินทางไปรับที่ศาลากลางกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ เมื่อ 16 มิ.ย. 2555 ล่าสุดหลังจากเกิดวิกฤตมนุษยธรรมรอบล่าสุดที่รัฐยะไข่ ประเทศพม่า จนมีผู้อพยพชาวโรฮิงญาเข้าไปในบังกลาเทศมากกว่า 6 แสนคน มีการล่ารายชื่อใน change.org เรียกร้องให้คณะกรรมการรางวัลโนเบลถอนรางวัลโนเบลจากอองซานซูจี โดยมีผู้ลงชื่อแล้ว 4.3 แสนราย



แปลและเรียบเรียงจาก

Aung San Suu Kyi loses Freedom of Oxford over Rohingya crisis, Patrick Greenfield, The Guardian, Monday 27 November 2017

Posted: 28 Nov 2017 01:25 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ ประณามการใช้ความรุนแรงกรณีสลายชุมนุมเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ร้องปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไขในทันที ย้ำรัฐบาลเคารพต่อวาระแห่งชาติ ที่ประกาศไปด้วย

ภาพเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว 16 แกนนำ เพื่อขออำนาจศาล จ.สงขลา ฝากขัง เมื่อช่วงสายของวันที่ 28 พ.ย.60

28 พ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักวิชการจำนวน 102 คน ร่วมลงชื่อในนาม เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ ออกแถลงการณ์ เรื่อง "ขอประณามการใช้ความรุนแรงและให้ปล่อยตัวผู้บริสุทธิ์โดยไม่มีเงื่อนไขในทันที" จากกรณีเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมประชาชนเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ได้จัดกิจกรรมเดินเท้าจากพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เพื่อยื่นหนังสือต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้รับบาดเจ็บและมีการถูกจับกุมดำเนินคดีจำนวน 16 คน  
เครือข่ายนักวิชาการฯ ยังได้เรียกร้อง ให้รัฐบาลเคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชนสมดังเจตนาที่ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินนโยบาย การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาและนโยบายสาธารณะต่างๆ 
รายละเอียดแถลงการณ์และ 102 รายชื่อผู้ร่วมแถลงมีดังนี้

แถลงการณ์ เรื่อง ขอประณามการใช้ความรุนแรงและให้ปล่อยตัวผู้บริสุทธิ์โดยไม่มีเงื่อนไขในทันที

ตามที่ได้มีการสลายการชุมนุม ชาวบ้านเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ได้จัดกิจกรรมเดินเท้าจากพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เพื่อยื่นหนังสือต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ทำให้มีผู้รับบาดเจ็บและมีการถูกจับกุมดำเนินคดีจำนวน 16 คน  ดังที่ปรากฏทราบต่อสาธารณชนนั้
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ ได้ติดตามความเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เริ่มต้นกิจกรรมเดินเท้าเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นมา เห็นว่าชาวบ้านได้จัดกิจกรรมด้วยท่าทีที่อ่อนน้อมถ่อมตน สงบ สันติ และปราศจากอาวุธ ภายใต้การใช้สิทธิ เสรีภาพตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมืองที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป
การสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าว จึงไม่เพียงเป็นการละเมิดสิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ กระบวนการทางกฎหมายเท่านั้น หากยังสะท้อนวิธีคิดแบบ “อำนาจนิยม” ที่เห็นประชาชน-ชาวบ้านเป็นศัตรู ไม่มีมนุษยธรรมและความชอบธรรมใดทำให้สังคมไทยอยู่ในบรรยากาศและการกระทำที่พร้อมใช้ความรุนแรงโดยรัฐต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้จึงขอประณามการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้น  และเรียกร้องดังนี้
1.      ให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมทั้ง 16 คน โดยไม่มีเงื่อนไข ในทันที
2.      รัฐบาลต้องเคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชนสมดังเจตนาที่ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินนโยบาย การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาและนโยบายสาธารณะต่างๆ
อนึ่ง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้จะร่วมกับประชาชนและภาคประชาสังคมต่างๆ ในการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมเคลื่อนไหวเพื่อให้บรรลุข้อเรียกร้องข้างต้นโดยเร็วที่สุด
 เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้
28 พฤศจิกายน 2560
รายชื่อนักวิชาการ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้
ลำดับที่
ชื่อ-สกุล
มหาวิทยาลัย
1
รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์
ม.ทักษิณ
2
รศ.ดร.พรพันธุ์ เขมคุณาศัย
ม.ทักษิณ
3
อ.นิจนิรันดร์อวะภาค
ม.ทักษิณ
4
อ.ปิยปาน อุปถัมภ์
ม.ทักษิณ
5
อ.เสาวณีย์ แก้วจุลกาญจน์
ม.ทักษิณ
6
ดร.จันทราทิพย์ สุขุม
ม.ทักษิณ
7
อ.นฤมลฐานิสโร
ม.ทักษิณ
8
ดร.พรไทย  ศิริสาธิตกิจ
ม.ทักษิณ
9
ผศ.พรชัย  นาคสีทอง
ม.ทักษิณ
10
ผศ.มูหำหมัด สาแลบิง
ม.ทักษิณ
11
ผศ.ดร.ศุภการ สิริไพศาล
ม.ทักษิณ
12
ดร.ฐากร  สิทธิโชค
ม.ทักษิณ
13
รศ.ดร.อดิศร  ศักดิ์สูง
ม.ทักษิณ
14
ดร.อุทัย  เอกสะพัง
ม.ทักษิณ
15
ผศ.ดร.ชลลดา  แสงมณี  ศิริสาธิตกิจ
ม.ทักษิณ
16
ดร.อนินทร์ พุฒิโชติ
ม.ทักษิณ
17
นายปรเมศวร์  กาแก้ว
ม.ทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง
18
นายบัณฑิต  ทองสงฆ์
ม.ทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง
19
นายชนะ  จันทร์ฉ่ำ
ม.ทักษิณวิทยาเขตพัทลุง
20
อ.เทพรัตน์ จันทพันธ์
ม.ทักษิณวิทยาเขตพัทลุง
21
รศ.ดร.วิชัย  กาญจนสุวรรณ
ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
22
ผศ.อภิชาติ  จันทร์แดง
ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
23
อ.โชคชัย  วงษ์ตานี
ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
24
อ.ธรรมศาสตร์  โสตถิพันธุ์
ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
25
ผศ.ดร.เก็ตถวา  บุญปราการ
ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
26
นายเจตน์สฤษฏิ์สังขพันธ์
ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
ลำดับที่
ชื่อ-สกุล
มหาวิทยาลัย
27
รศ.ดร.ปัญญา เทพสิงห์
ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
28
รศ.ดร..วรรณะ หนูหมื่น
ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
29
ผศ.เอมอร เจียรมาศ
ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
30
ดร.นันทรัฐ  สุริโย
ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
31
ดร.วีระศักดิ์  คงฤทธิ์
ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี
32
ดร.อภิวัฒน์  อายุสุข
ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี
33
ดร.รพี  พงษ์พานิช
ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี
34
ดร.ณัฐยา  ยวงใย
ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี
35
ดร.สมพร ช่วยอารีย์
ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
36
ดร.เกื้อ  ฤทธิบูรณ์
ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
37
อ.สุภาพร ฝั่งชลจิตต์
ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
38
อ.สายฝน สิทธิมงคล
ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
39
อ.ศุภกาญจน์บัวทิพย์
ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
40
ดร.สุไรนี สายนุ้ย
ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
41
ดร.อรชา รักดี
ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
42
ดร.สุรวุฒน์ ช่อไม้ทอง
ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
43
ดร.ถาวรินทร รักษ์บำรุง
ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
44
ผศ.นุกูล  รัตนดากุล
ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
45
ผศ.ดร.สิทธิศักดิ์ จันทรัตน์
ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
46
ผศ.ดร.วลัยลักษณ์  จ่างกมล
ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
47
ผศ.ภีรกาญจน์ไค่นุ่นนา
ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
48
ดร.กรวิทย์  เกาะกลาง
ม.แม่โจ้  วิทยาเขตชุมพร
49
ดร..ชุมพล  แก้วสม
ม.แม่โจ้  วิทยาเขตชุมพร
50
ดร.อนิรุต  หนูปลอด
ม.แม่โจ้  วิทยาเขตชุมพร
51
ดร.เกียรติขจร  ไชยรัตน์
ม.ราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช
52
อ.สนธยา  ปานแก้ว
ม.ราชภัฏภูเก็ต
ลำดับที่
ชื่อ-สกุล
มหาวิทยาลัย
53
อ.เนานิรันดร์อวะภาค
ม.ราชภัฏภูเก็ต
54
อ.อับดุลรอซะ  วรรณอาลี
ม.ราชภัฏยะลา
55
ผศ.วัชระ  ศิลปเสวตร์
ม.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ชุมพร
56
ดร.กฤษณะ  ทองแก้ว
ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี
57
อ.ณัฐกานต์  แน่พิมาย
ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี
58
อ.ธวัช  บุญนวล
ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี
59
ดร.พลกฤต  แสงอาวุธ
ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี
60
อ.กิตติพิชญ์  โสภา
ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี
61
ดร.สมปราชญ์  วุฒิจันทร์
ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี
62
ผศ.ดร.บูฆอรี  ยีหมะ
ม.ราชภัฎสงขลา
63
อ.ชาญวิทย์  จันทร์อินทร์
ม.ราชภัฎสงขลา
64
ดร.ไชยา  เกษารัตน์
ม.ราชภัฎสงขลา
65
อ.กรีฑา  แก้วคงธรรม
ม.ราชภัฎนครศรีธรรมราช
66
ผศ.จัตุรัส  กีรติวุฒิพงศ์
ม.ราชภัฎนครศรีธรรมราช
67
ผศ.ปริทรรศหุตางกูร
ม.ราชภัฎนครศรีธรรมราช
68
อ.บุญยิ่ง  ประทุม
ม.ราชภัฎนครศรีธรรมราช
69
ผศ.ดร.สืบพล  จินดาพล
ม.ราชภัฎนครศรีธรรมราช
70
ผศ.นฤมล  ขุนวีช่วย
ม.ราชภัฎนครศรีธรรมราช
71
อ.มานะ  ขุนวีช่วย
ม.ราชภัฎนครศรีธรรมราช
72
อ.เชษฐา  มุหะหมัด
ม.ราชภัฎนครศรีธรรมราช
73
อ.วิชิต  จรุงสุจริตกุล
ม.ราชภัฎนครศรีธรรมราช
74
อ.ส.ศิริชัย นาคอุดม
ราชภัฎนครศรีธรรมราช
75
อ.ทยา  เตชะเสน์
ม.ราชภัฎนครศรีธรรมราช
76
อ.มลิมาศ  จริยพงศ์
ม.ราชภัฎนครศรีธรรมราช
77
ผศ.ดร.ฐิรวุฒิ เสนาคำ
ม.วลัยลักษณ์
78
อ.ฟารีดา หมัดเหล็ม
ม.วลัยลักษณ์
ลำดับที่
ชื่อ-สกุล
มหาวิทยาลัย
79
อ.วิทยา  อาภรณ์
ม.วลัยลักษณ์
80
อ.ปิยชาติ  สึงตี
ม.วลัยลักษณ์
81
อ.จิตประพัฒน์  สายโสภา
ม.วลัยลักษณ์
82
อ.ธนิต  สมพงศ์
ม.วลัยลักษณ์
83
อ.พรเพ็ญ ประกอบกิจ
ม.วิทยาลัยชุมชนสงขลา
84
อ.ภาวดี ฉัตรจินดา
ม.วิทยาลัยชุมชนสงขลา
85
อ.อทิมาพร ทองอ่อน
วิทยาลัยชุมชนสงขลา
86
นายบุญเลิศ จันทระ
สถาบันทักษิณคดีศึกษา
87
นายธีระ จันทิปะ
สถาบันทักษิณคดีศึกษา
88
อ.กามารุดดีนอิสายะ
ม.ทักษิณ
89
ดร.ศันสนีย์ จันทร์อานุภาพ
ม.ทักษิณ
90
ผศ.ดร.ประภาศ  ปานเจี้ยง
นักวิชาการอิสระ
91
อ.เพ็ญประไพ  ภู่ทอง
นักวิชาการอิสระ
92
อ.กอแก้ว  วงษ์พันธุ์
นักวิชาการอิสระ
93
อ.ณัฐวุฒิ  โชติการ
นักวิชาการอิสระ
94
อ.จิราภรณ์  เรืองยิ่ง
นักวิชาการอิสระ
95
อ.จรูญ หยูทอง
นักวิชาการอิสระ
96
อ.ปารพ์พิรัชย์ จันเทศ
ม.ราชภัฏสงขลา
97
อ.เดโช แขน้ำแก้ว
ม.ราชภัฏนครศรีธรรมราช
98
อ.สิริรัตนา ชูวัจนะ
ม.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ชุมพร
99
อ.สุดาภรณ์ ปัจฉิมเพชร
ม.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ชุมพร
100
อ.เพชรไพลิน ทองนิล
ม.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ชุมพร
101
อ.ธีรยุทธ ปักษา
ม.ทักษิณ
102
นายบุญรัตน์ บุญรัศมี
นักวิชาการอิสระ

[full-post]

Posted: 28 Nov 2017 01:32 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

พล.อ.อ.ชวรัตน์ มารุ่งเรือง ประธานกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีการเสียชีวิตของนักเรียนเตรียมทหาร ภคพงศ์ ระบุยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะทำงานเสร็จเมื่อใด พร้อมฟังข้อมูลจากทุกฝ่าย และให้ความเป็นธรรมกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง

พล.อ.อ.ชวรัตน์ มารุ่งเรือง ที่มาภาพจากสำนักข่าวไทย

28 พย. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.อ.ชวรัตน์ มารุ่งเรือง รองเสนาธิการทหารและประธานกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการเสียชีวิตของนักเรียนเตรียมทหารภคพงศ์ ตัญกาญจน์ ชั้นปีที่ 1 กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างลงพื้นที่โรงเรียนเตรียมทหาร จ.นครนายก เพื่อตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ หลักฐานภาพจากกล้องวงจรปิด ประกอบการสอบสวน ตั้งแต่เริ่มต้นเหตุการณ์และรวบรวมข้อมูลผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้เห็นเหตุการณ์ ทั้งบุคลากรของโรงเรียนและนักเรียนเตรียมทหาร ยืนยันว่าไม่กักตัวนักเรียนเพื่อเรียกมาสอบสวน เพราะไม่ต้องการให้กระทบการเรียน

พล.อ.อ.ชวรัตน์ กล่าวว่า ยังไม่สามารถกำหนดเวลาการสอบสวนได้ว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อใด และผู้บัญชาการทหารสูงสุดไม่ได้กำหนดกรอบเวลา แต่ให้เร่งดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบ ซึ่งคณะกรรมการฯ มีข้อสงสัยหลายประเด็นและต้องการทราบความจริงเช่นกัน จึงต้องสอบสวนอย่างรอบด้านเพื่อให้ความจริงปรากฎ ไม่เบี่ยงเบนในทุกกรณี โดยจะนำผลการตรวจสอบทางการแพทย์มาประกอบการสอบสวนด้วย ขณะนี้ยังไม่ให้น้ำหนักประเด็นใดเป็นพิเศษ สำหรับกรอบของคณะกรรมการฯ ตรวจสอบเรื่องความผิดทางวินัย หากพบใครทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการทหารหรือนักเรียนเตรียมทหารต้องถูกลงโทษตามขั้นตอน ส่วนการสอบสวนของตำรวจเป็นเรื่องทางคดีตามกฎหมาย

“ยืนยันว่าเราไม่กดดันต่อกระแสสังคมที่ต้องการให้เรื่องนี้ชัดเจนโดยเร็ว เพราะความจริงกับความถูกใจต้องแยกกัน หากให้ถูกใจแต่ไม่ตรงกับความจริงก็ไม่ถูกต้อง แนวทางการสอบสวนของคณะกรรมการฯ ไม่ได้อ้างอิงข้อมูลของฝ่ายใด แต่ลงพื้นที่ตรวจสอบเองทั้งหมด เพื่อไม่ให้เกิดการชี้นำจากใคร และต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง ไม่อยากให้แบ่งฝ่าย เพราะขณะนี้ทั้งโรงเรียน และผู้ปกครองถือเป็นฝ่ายเดียวกันคือผู้สูญเสีย ไม่ต้องการให้โยงประเด็นอื่น ๆ โดยไร้หลักฐาน” พล.อ.อ.ชวรัตน์ กล่าว

ทั้งนี้คณะกรรมการฯ มีทั้งหมด 11 คน ประกอบด้วย
พล.อ.อ.ชวรัตน์ มารุ่งเรือง รองเสนาธิการทหาร เป็นประธานกรรมการฯ
พล.อ.ท.วีรพงษ์ นิลจินดา เจ้ากรมกำลังพลทหาร เป็น รองประธานกรรมการ
พล.ท.นเรนทร์ สิริภูบาล เสนาธิการสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ เป็นรองประธานกรรมการ
พล.ท.ณตฐพล บุญงาม เจ้ากรมข่าวทหาร เป็นกรรมการ
พล.ท.ศิราวุฒิ วงศ์ขันตี เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหาร เป็นกรรมการ
พล.ท.ชนินทร์ โตเลี้ยง จเรทหาร เป็นกรรมการ
พล.ท.พีรพงษ์ เมืองบุญชู ที่ปรึกษากองบัญชาการกองทัพไทย เป็นกรรมการ
พล.ต.พรพิศ รัตนานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหาร เป็นกรรมการ
พล.ต.ชนะ ลิมิตเลาหพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานแพทย์ทหาร กรมยุทธบริการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย
พ.อ.ที่รัก สร้อยนาค ผู้อำนวยการกองการปกครอง กรมกำลังพลทหาร เป็นกรรมการและเลขานุการ
น.อ.เลิศชัย ภัทรมุทธา รองผู้อำนวยการกองการปกครอง กรมกำลังพลทหาร เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

Posted: 28 Nov 2017 02:01 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

เอกชัย หงส์กังวาน ถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.10 ขอนายกพระราชทาน เสนอปลดประยุทธ์เหตุบริหารประเทศไม่บรรลุผลตามเป้าหมาย ขอให้ทรงแต่งตั้งบุคคลใหม่ที่มีความรู้-ความสามารถที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งนี้แทน


28 พฤศจิกายน 2560 เวลา 10.00 น.เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมทางการเมือง ได้เดินทางยังสำนักราชเลขาธิการ เพื่อถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.10 ขอให้ปรับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร คสช.และนายกรัฐมนตรี ให้ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

โดยในเนื้อหาของฎีกาได้ระบุถึงข้อเสียของ พลเอกประยุทธ์และในช่วงท้ายของฎีกาได้ชี้แจงถึงความจำเป็นที่ต้องยื่นฎีกาฉบับนี้ว่าเนื่องมาจากประชาชนถูกจำกัดสิทธิในการเรียกร้อง องค์กรอิสระ เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ถูกแทรกแซงจนไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของ คสช.ได้และประชาชนที่ร้องเรียนถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ จึงทำให้ไม่สามารถตรวจสอบอำนาจรัฐการทำงานได้อย่างเต็มที่ จึงเป็นเหตุให้ขอให้มีการปรับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและขอให้ทรงแต่งตั้งบุคคลใหม่ที่มีความรู้-ความสามารถที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งนี้แทน

เจ้าหน้าที่จากจุดคัดกรองได้นำตัวเอกชัยไปยัง ทบ.สอบสวน บช.น. ซึ่งเป็นเต๊นท์ที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามประตูวิเศษไชยศรี เอกชัยได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่บริเวณจุดคัดกรองว่า ต้องการเข้าไปยื่นฎีกานี้ที่สำนักราชเลขาธิการ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งกับเอกชัยว่า ตามขั้นตอนผมต้องยื่นที่จุดนี้ก่อน พร้อมทั้งได้ถ่ายสำเนาฎีกา และสอบปากคำ


เอกชัยเล่าว่า เจ้าหน้าที่ถามเอกชัยด้วยคำถามแปลกๆ เช่น มีความสามารุถพูดภาษาอะไรได้บ้าง ? มีเพื่อนสนิทชื่ออะไร ?

หลังการสอบประวัติ เจ้าหน้าที่ได้นำตัวเอกชัยไปยังทำเนียบองคมนตรี โดยแจ้งว่าต้องเปลี่ยนมายื่นถวายฎีกาที่นี่ ไม่ใช่ที่สำนักราชเลขาธิการ เอกชัยจึงได้เข้าไปยื่นเอกสารให้เจ้าหน้าที่ที่ทำเนียบองคมนตรีสอบถามบันทึกข้อมูลเพิ่มเติมอีกครั้งแล้วจึงเดินทางกลับที่พัก


เอกชัยเล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปเฝ้าที่หน้าบ้านพักของเขาอีกแล้ว และการเดินทางมาถวายฎีกาในครั้งนี้ ไม่ได้มีการสกัดกั้นขัดขวางจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารแต่อย่างใด

[full-post]

Posted: 28 Nov 2017 04:38 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ปี 2560 มีจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานทั้งเอกชนและรัฐวิสาหกิจรวม 619,792 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงเรื่อย ๆ จากปี 2559 ที่ 622,031 คน และ 2558 ที่ 634,778 คน ตามลำดับ


28 พ.ย. 2560 ข้อมูลจากสำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ระบุว่า จำนวนสหภาพแรงงาน จำแนกตามประเภทของการจดทะเบียน ณ วันที่ 31 ต.ค. 2560 มีจำนวนสหภาพแรงงานทั้งหมด 1,379 แห่ง (ใน กทม. 340 แห่ง ในต่างจังหวัด 1,039 แห่ง) เป็นสหภาพแรงงานนายจ้างคนเดียว (House Union) 543 แห่ง และสหภาพแรงงานกิจการประเภทเดียวกัน [หรือสหภาพแรงงานอุตสาหกรรม (Industrial Union)] 836 แห่ง และเมื่อจำแนกตามระดับของลูกจ้างที่ขอจดทะเบียน พบว่าเป็นสหภาพแรงงานระดับผู้บังคับบัญชา (Sub - Management Level) 96 แห่ง และสหภาพแรงงานระดับพนักงาน (Personnel Level) 1,283 แห่ง

(คลิ๊กดูภาพขนาดใหญ่)

ทั้งนี้ จำนวนองค์กรแรงงานและสมาชิกในปี 2560 แบ่งเป็น สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ (Public Enterprise Association ) 47 แห่ง มีจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ 174,933 คน สหภาพแรงงานในกิจการเอกชน (Private Enterprise Labour Union) 1,379 แห่ง มีจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานในกิจการเอกชน 444,859 คน รวมมีจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานในไทย 619,792 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงเรื่อย ๆ จากปี 2559 ที่ 622,031 คน [1] และปี 2558 ที่ 634,778 คน [2]

[full-post]


Posted: 28 Nov 2017 05:57 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

คดี ‘รุ่งศิลา’ ม.112 สืบพยานโจทก์ คนที่ 2 หลังเลื่อนมาจากกลางเดือน ยังเหลือพยานโจทก์อีก 10 ปาก นัดต่อไป มี.ค.ปีหน้า ลูกสาวยื่นประกัน 5 แสน แต่ศาลปฏิเสธ ทนายเผยติดคุกระหว่างพิจารณาคดีมากว่า 3 ปีแล้ว ชี้กระบวนการเหมือนบีบให้รับสารภาพ

28 พ.ย.2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ ศาลทหารกรุงเทพ นัดสืบพยานโจทก์ ในคดีที่ สิรภพ (สงวนนามสกุล) หรือ รุ่งศิลา (นามปากกา) ตกเป็นจำเลย จากการถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือหมิ่นประมาทกษัตริย์ เหตุเขียนบทกวีและเผยแพร่บทความในเว็บไซต์

สำหรับวันนี้เป็นการสืบพยานโจทก์ปากที่ 2 ซึ่งเลื่อนมาจากนัดหมายเดิมวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา โดย อานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งรับผิดชอบในดคีนี้ ให้สัมภาษณ์ประชาไท ว่า พยานเป็นประชาชน เบิกความเกี่ยวกับประเด็นการตีความภาพและคำว่าประมุขที่ สิรภพ โพสต์เฟซบุ๊ก

สำหรับการยื่นประกันตัว สิรภพ ในวันนี้ อานนท์ กล่าวว่า เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งลูกสาว สิรภพ เป็นผู้ยื่นด้วยหลักทรัพย์ 500,000 บาท แต่ศาลไม่ได้อนุญาตให้สิทธิการปล่อยตัวชั่วคราว

จำคุก 8 เดือนรอลงโทษ 2 ปี รุ่งศิลานักเขียนผู้ปฏิเสธรัฏฐาธิปัตย์ คสช. ไม่รายงานตัว
“เรียกรายงานตัวอีกครั้งก็ยังจะอารยะขัดขืน” คำเบิกความ 'รุ่งศิลา' กวีหลังกรงขัง
ศาลทหาร-ศาลอาญา เห็นไม่ตรงกัน คดี 112 ‘รุ่งศิลา’ขึ้นศาลไหน รอชี้ขาด
1 ทศวรรษคดี 112 ตอนที่ 1: สถิติและความเป็น ‘การเมือง’ ของคดีหมิ่นฯ

อานนท์ กล่าวด้วยว่า คดีนี้จำเลยติดคุกมาแล้ว 3 ปีกว่า มาถึงวันนี้เพิ่งสืบพยานไปเพียง 2 คน ขณะที่พยานเฉพาะฝ่ายโจทก์มีถึง 10 คน และนัดต่อไปสืบ 2 มี.ค.61 ส่งผลให้จำเลยเสียเปรียบและโดยสภาพเหมือนของกระบวนการขังในระหว่างการพิจารณาคดี 3 ปีกว่านี้ เหมือนกับบีบบังคับทั้งร่างกายและจิตใจให้จำเลยรับสารภาพ และไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะศาลทหารใช้วิธีการนัดยาว และยังนัดครั้งต่อครั้งด้วย อย่างกรณีนี้นัดใหม่คือ 2 มี.ค.61 และก็ไม่แน่ใจว่าจะสืบเสร็จหรือเปล่า ปากนั้นอาจจะอีก 2-3 เดือน ในการสืบพยาน สรุปแล้วหากคดีนี้ถ้าเราจะสู้คดีก็มีโอกาสที่จะติดคุกฟรีๆ 3-4 ปี อย่างต่ำ
ขับเคลื่อนโดย Blogger.