Posted: 25 Jun 2018 05:27 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
สมาพันธ์สหภาพแรงงานสากลเผยผลสำรวจ ‘ITUC Global Rights Index 2018' ระบุ 10 ประเทศยอดแย่สำหรับคนทำงานได้แก่ แอลจีเรีย, บังกลาเทศ, กัมพูชา, โคลัมเบีย, อียิปต์, กัวเตมาลา, คาซัคสถาน, ฟิลิปปินส์, ซาอุดิอาระเบีย และตุรกี ส่วน ‘ไทย’ ยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเป็นระบบ เหมือน 3 ปีก่อน
25 มิ.ย. 2561 ในรายงาน 2018 ITUC Global Rights Index ของสมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (International Trade Union Confederation หรือ ITUC) ที่เผยแพร่เมื่อกลางเดือน มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา ระบุว่าจากการประเมินประเทศทั้งหมด 142 ประเทศ พบว่ามีการลดพื้นที่ทางประชาธิปไตยซึ่งทำให้เกิดการจำกัดการเคลื่อนไหวของแรงงานโดยตรง รวมทั้งการเอาเปรียบแรงงานของภาคกรธุรกิจที่มักจะไม่ได้รับการตรวจสอบมีเพิ่มมากขึ้นในปี 2561 โดยในรายงานฉบับนี้ได้ประเมิน 10 ประเทศยอดแย่สำหรับคนทำงานไว้ คือ แอลจีเรีย, บังกลาเทศ, กัมพูชา, โคลัมเบีย, อียิปต์, กัวเตมาลา, คาซัคสถาน, ฟิลิปปินส์, ซาอุดิอาระเบีย และตุรกี
จากประเทศทั้งหมด 142 ประเทศที่ ITUC ได้ทำการประเมินนั้น มีประเทศที่มีการจับกุมและคุมขังแรงงานโดยพลการเพิ่มขึ้นเป็น 59 ประเทศ (จาก 44 ประเทศ ในปี 2560) ส่วนการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นนั้นมีถึง 54 ประเทศ นอกจากนี้มี 65% ที่ตัดเรื่องการรวมตัวกันของคนทำงานออกจากกฎหมายแรงงาน อีก 87% มีการละเมิดสิทธิในการหยุดงานประท้วงของคนทำงาน และมีถึง 81% ที่ปฏิเสธการเจรจาต่อรอง (บางส่วนหรือทั้งหมด) กับคนทำงาน
ส่วนจำนวนประเทศที่มีความรุนแรงทางร่างกายและภัยคุกคามต่อคนทำงานเพิ่มขึ้น 10% ซึ่งรวมถึงประเทศบาห์เรน, ฮอนดูรัส, อิตาลี และปากีสถาน ส่วนประเทศที่มีการฆาตกรรมสมาชิกสหภาพแรงงานมี 9 ประเทศ คือ บราซิล, จีน, โคลัมเบีย, กัวเตมาลา, กินี, เม็กซิโก, ไนเจอร์, ไนจีเรีย และแทนซาเนีย
เมื่อพิจารณารายภูมิภาค พบว่าภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือเป็นภูมิภาคที่เลวร้ายที่สุดสำหรับคนคนงาน ระบบค้ำประกันโดยผู้อุปถัมภ์ (Kafala) ทำให้คนทำงานในภูมิภาคนี้เปรียบเสมือนทาสยุคใหม่นับล้านคน การปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานของคนทำงานยังคงอยู่ในซาอุดีอาระเบีย ส่วนความขัดแย้งในลิเบีย, ปาเลสไตน์, ซีเรีย และเยเมน ได้นำไปสู่การล่มสลายของหลักนิติธรรม การเลือกทำงานที่มีคุณค่าเป็นเรื่องที่ยากลำบาก การประท้วงอย่างสันติได้รับการโต้ตอบอย่างรุนแรงโดยรัฐ และความพยายามในการจัดตั้งขบวนการแรงงานที่เป็นอิสระก็ถูกบั่นทอนอย่างเป็นระบบโดยรัฐในประเทศแอลจีเรียและอียิปต์
ส่วนในเอเชียแปซิฟิก ความรุนแรงต่อคนทำงานก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สิทธิในการนัดหยุดงานถูกบั่นทอน มีการจับกุมคุมขังนักกิจกรรมแรงงานและผู้นำสหภาพแรงงานเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ทั้ง 22 ประเทศในภูมิภาคนี้ได้ละเมิดการเจรจาต่อรองและสิทธิในการประท้วงของคนทำงาน การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมยังคงมีให้เห็น เช่นในอินโดนีเซียมีการปลดพนักงานถึง 4,200 คน ที่บริษัทเหมืองแร่ PT Freeport ส่วนที่กัมพูชาโดยมีพนักงาน 558 คน ถูกไล่ออกหลังจากการประท้วงที่โรงงานเพียงแห่งเดียว เป็นต้น
ในแอฟริกาแรงงานมีความรุนแรงทางกายภาพถึง 65% ของประเทศในภูมิภาค การประท้วงในประเทศไนจีเรียถูกกองทัพปราบปรามอย่างรุนแรงและคนงานคนหนึ่งถูกสังหารโดยมือปืนปริศนาระหว่างการประท้วง
ทวีปอเมริกายังคงคุกรุ่นไปด้วยความรุนแรงในการปราบปรามคนทำงานและสมาชิกสหภาพแรงงาน ในโคลอมเบียเพียงประเทศเดียว มีนักสหภาพแรงงาน 19 คน ถูกฆาตกรรมเมื่อปีที่ผ่านมา
ส่วนประเทศในยุโรป 58% มีการละเมิดสิทธิการเจรจาต่อรอง และ 3 ใน 4 ของประเทศทั้งหมดมีการละเมิดสิทธิในการประท้วงของคนทำงาน
อนึ่งดัชนีนี้ ITUC ได้จัดอันดับความรุนแรงของการละเมิดสิทธิแรงงานจากมากไปหาน้อ
แสดงความคิดเห็น