ที่มาภาพ: Tombow Co.

Posted: 22 Jun 2018 03:14 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

โรงเรียนหลายแห่งของญี่ปุ่นเริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายเครื่องแบบนักเรียนให้เอื้อต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) มากขึ้น เช่น อนุญาตให้ผู้มีเพศกำเนิดหญิงสวมกางเกงขายาวแทนกระโปรงได้ หรือให้ผู้มีเพศกำเนิดชายที่เป็นหญิงข้ามเพศสวมกระโปรงได้ แม้กระทั่งนักเรียนที่ไม่ใช้ LGBT ก็ได้รับประโยชน์ในเรื่องนี้เช่นกัน ในแง่ที่สามารถเลือกได้ว่าจะสวมเครื่องแบบๆ ใดที่เหมาะสมกับการใช้งานและความสะดวกของตัวเอง

22 มิ.ย. 2561 สื่อเกียวโดนิวส์ของญี่ปุ่นรายงานว่ามีโรงเรียนในญี่ปุ่นที่ปรับเปลี่ยนกฎเครื่องแบบนักเรียนให้เป็นแบบไม่จำกัดเพศเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่ก็เปลี่ยนกฎให้ยืดหยุ่นในเรื่องเครื่องแบบมากขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนนักเรียนผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT)

เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนกล่าวว่าพวกเขาหวังว่าการเปลี่ยนแปลงกฎเช่นนี้จะทำให้นักเรียนไม่ต้องเป็นทุกข์กับการถูกบังคับให้สวมเครื่องแบบที่มีเพศซึ่งอาจจะไม่ตรงตามเพศสภาพของพวกเขาในแบบที่พวกเขาอยากเป็น

หนึ่งในโรงเรียนที่มีนโยบายเครื่องแบบเช่นนี้คือ โรงเรียนมัธยมต้นคาชิวาโนวะ ในจังหวัดจิบะที่อยู่ติดกับโตเกียว โรงเรียนแห่งนี้เพิ่งเปิดให้มีการเรียนการสอนเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โรงเรียนคาชิวาโนวะอนุญาตให้นักเรียนสามารถเลือกแต่งกายได้ว่าจะสวมกระโปรงหรือจะสวมกางเกงสแล็ก จะติดริบบินหรือไม่ติด หรือจะสวมเสื้อแจ็กเก็ตแบบเบลเซอร์ก็ได้โดยไม่เกี่ยงว่าจะเป็นเพศใด

เดิมทีโรงเรียนคาชิวาโนวะไม่ได้คิดจะใช้นโยบายเครื่องแบบเช่นนี้ แต่เนื่องจากมีการสำรวจผู้ปกครองและนักเรียนพบว่าร้อยละ 90 ต้องการให้มีนโยบายเครื่องแบบไม่จำกัดเพศจึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยที่กลุ่มผู้ปกครอง ครู นักเรียนที่กำลังจะเข้าศึกษาและสมาชิกกรรมการบอร์ดการศึกษา ร่วมประชุมหารือกันว่าจะจัดให้มีเครื่องแบบๆ ใด มีสมาชิกบางส่วนในที่ประชุมเสนอว่าควรจะมีการพิจารณาโดยคำนึงถึงผู้มีความหลากลายทางเพศด้วย นอกจากนี้ยังควรอนุญาตให้เด็กผู้หญิงสวมกางเกงขายาวได้เพราะมันสะดวกกว่าและอุ่นกว่าในฤดูหนาว

โคชิน ทากิ รองอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนคาชิวาโนวะกล่าวว่ามันเป็นเรื่องดีกว่าที่จะให้นักเรียนใส่อะไรที่รู้สึกสะดวกกับตัวเอง ทำให้นักเรียนรู้สึกอยากมาโรงเรียน แค่แต่งกายโดยใช้สีสุภาพที่ไม่ฉูดฉาดเกินไปก็พอ

นอกจากโรงเรียนในจิบะแล้ว ยังมีโรงเรียนในที่อื่นๆ มีนโยบายคล้ายๆ กันอย่างโรงเรียนมัธยมต้นแห่งหนึ่งในจังหวัดฟุกุโอกะที่ยกเลิกเครื่องแบบๆ เดิมเปลี่ยนมาเป็นเบลเซอร์และให้นักเรียนเลือกสวมกระโปรงหรือกางเกงได้ตามต้องการ โดยจะเริ่มต้นใช้เครื่องแบบนี้ช่วงต้นปีการศึกษาหน้า นอกจากนี้กรรมการบอร์ดการศึกษาแขวงเซตางายะในกรุงโตเกียวซึ่งเป็นแขวงที่ขึ้นชื่อเรื่องการยอมรับ LGBT ก็วางแผนจะทำแบบเดียวกันในปีการศึกษาหน้า ขณะที่โอซากาและฟุกุโอกะก็จะเริ่มพิจารณาว่าเครื่องแบบๆ ใดที่ทำให้นักเรียน LGBT ยอมรับได้

อันริ อิชิซากิ ประธานองค์กร FRENS ซึ่งเป็นองค์กรสนับสนุนส่งเสริมกลุ่ม LGBT กล่าวว่าการบังคับให้สวมใส่ชุดเครื่องแบบที่จำกัดเพศตามเพศกำเนิดจะกลายเป็นภาระสำหรับคนข้ามเพศที่ยังไม่อยากเปิดเผยเพศสภาพของตัวเอง นักเรียนบางคนจะรู้สึกอายที่ต้องอยู่ในเครื่องแบบที่ตัวเองไม่ชอบจนไม่มีสมาธิเรียน บางคนก็อาจจะถึงขั้นไม่ไปโรงเรียนเลย การให้นักเรียนมีทางเลือกสวมเครื่องแบบจะทำให้นักเรียนข้ามเพศรู้สึกผ่อนคลายกว่า

จากข้อมูลการสำรวจของกระทรวงศึกษาธิการฯ ของญี่ปุ่นในปี 2557 ระบุว่ามีนักเรียนจากทุกระดับชั้นตั้งแต่ประถมถึงมัธยมศึกษาขอรับคำปรึกษาในเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองรวม 606 กรณี ปีถัดจากนั้นทางกระทรวงก็ได้ประกาศส่งเสริมให้โรงเรียนเพิ่มการสนับสนุนนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศและให้คำนึงถึงประเด็นเรื่องเสื้อผ้า ทรงผม การใช้ห้องน้ำ การใช้สระว่ายน้ำ รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ของพวกเขา

บริษัทผลิตชุดเครื่องแบบทอมโบว์ที่ไดรับเลือกผลิตชุดให้โรงเรียนคาชิวาโนฮะเริ่มผลิตชุดเครื่องแบบที่เป็นกลางทางเพศเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่มีคำประกาศเรื่องความหลากหลายทางเพศของรัฐบาลในปี 2558

อายุมิ โอคุโนะ ดีไซเนอร์ผลิตภัณฑ์โรงเรียนของทอมโบว์กล่าวว่าเธอเคยสัมภาษณ์นักเรียน LGBT หลายคน พวกเขาบอกว่าไม่อยากสวมชุดที่ดูแบ่งแยกชายหญิงชัดเจน ทำให้เธอพยายามออกแบบชุดในลักษณะที่ไม่ขับเน้นให้ดูเป็นหญิงมากเกินไป อย่างไรก็ตามเธอก็มีทางเลือกชุดนักเรียนอื่นๆ ให้กับนักเรียนเหล่านี้ ให้พวกเขาเลือกได้ว่าแบบไหนที่เหมาะที่สุดสำหรับตัวเอง

จากเครื่องแบบทั้งหมดที่ทอมโบว์ผลิตให้กับโรงเรียนญี่ปุ่นมี จนถึงตอนนี้ร้อยละ 50 แล้วที่ปรับให้ชุดนักเรียนหญิงเปลี่ยนเป็นกางเกงแสล็ก มีสองโรงเรียนที่อนุญาตให้เลือกสวมกระโปรงได้สำหรับนักเรียนที่เป็นหญิงข้ามเพศ แต่โอคุโนะก็แสดงความกังวลว่าถึงแม้นักเรียนและโรงเรียนจะยอมรับในเรื่องนี้ สังคมอาจจะยังไม่ยอมรับง่ายๆ ทั้งนี้ก็มีบางคนตั้งคำถามว่าการปรับเปลี่ยนเครื่องแบบอาจจะกลายเป็นการเปิดเผยเพศสภาพหรือทำให้คนเพศหลากหลายกลายเป็นจุดสนใจแม้เจ้าตัวไม่ต้องการหรือไม่ จากการสำรวจเรื่องที่มีนักเรียนขอคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาเพศสภาพ 606 กรณีนั้น มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่เปิดเผยตัวตนทางเพศของตนเองให้เพื่อนในโรงเรียนรู้

อย่างไรก็ตามสำหรับรองอาจารย์ใหญ่ทากิแห่งโรงเรียนคาชิวาโนวะ เรื่องแบบนี้ไม่ใช่ปัญหา เขาบอกว่าจะมีการคอยตรวจสอบปฏิกิริยาของนักเรียนหลังจากได้สวมเครื่องแบบชนิดใหม่เหล่านี้อย่างเอาใจใส่ รวมถึงย้ำว่าไม่เพียงคนข้ามเพศเท่านั้นที่สวมเครื่องแบบยืดหยุ่นได้ แต่คนอื่นๆ ก็สามารถสวมเครื่องแบบเหล่านี้ได้ด้วยเหตุผลในด้านการใช้งานเช่นกัน

"ผมหวังว่ามันจะช่วยให้นักเรียนเลือกสิ่งที่พวกเขาต้องการจะสวมใส่ได้โดยไม่จำเป็นว่าจะเปิดเผยตัวตนทางเพศของตัวเอง" ทากิกล่าว


เรียบเรียงจาก

Japanese schools introduce LGBT-friendly uniforms, Kyodo News, 19-06-2018
https://english.kyodonews.net/news/2018/06/c568e9157f4a-feature-japanese-schools-introduce-lgbt-friendly-uniforms.html

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.