Posted: 26 Jun 2018 07:43 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

ตั้งแต่ท่า “อินทรีย์สองหัว” ของ 2 แข้งสวิส ถึงหน้ากาก Black Panther ของแข้งเมืองทองฯ ริบบิ้นเหลืองของกุนซือแมนซิตี้ กำปั้นของ 2 นักวิ่งสหรัฐฯ และ ท่าคุกเข่า ขณะบรรเลงเพลงชาติสหรัฐฯ ของควอเตอร์แบ็กซานฟราน

การแข่งขันฟุตบอลโลกระหว่างเซอร์เบีย และสวิตเซอร์แลนด์เมื่อ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมาเรียกเสียงฮือฮาไม่น้อย ไม่เพียงผลชนะ 2-1 ที่ส่งให้สวิตเซอร์แลนด์ขึ้นเป็นที่สองกลุ่ม E รองจากเต็งหนึ่งตลอดการอย่างบราซิล แต่รวมถึงพฤติกรรมของสองนักเตะทีมสวิตฯ กรานิต ชาก้า และ แชร์ดัน ชาคีรี่ ที่ทำมือเป็นสัญลักษณ์ “อินทรีย์สองหัว” หลังทั้งสองยิงประตูใส่ทีมชาติเซอร์เบีย ซึ่งอาจทำให้ทั้งคู่โดนโทษแบนถึง 2 นัดและปรับเป็นเงินอีกกว่าหนึ่งแสนบาท

สัญลักษณ์อินทรีย์สองหัว ใช้เป็นสัญลักษณ์ของชาวอัลเบเนีย ซึ่งนักเตะทั้งคู่ต่างก็มีเชื้อสายดังกล่าว เหตุที่เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นก็เนื่องมาจากชาวแอลเบเนีย ในโคโซโวระหว่างปี 1989 - 1999 เซอร์เบียซึ่งในขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐยูโกสลาเวียได้ส่งกองกำลังเข้าปราบปรามกองทัพปลดแอกชาวอัลเบเนียในโคโซโว ซึ่งตัวชาคีรี่เองก็เกิดในโคโซโวก่อนที่ครอบครัวจะลี้ภัยสงครามไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนพ่อแม่ของชาก้าก็มีเชื้อสายแอลเบเนีย และพ่อของเขาเคยถูกควบคุมตัวนานถึง 6 เดือนในข้อหาต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์

อีกทั้งน้องชายของเขายังเล่นให้กับทีมชาติอัลเบเนียอีกด้วย แม้ต่อมาโซโคโวจะประกาศเอกราชในปี 2008 โดยได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติแต่เซอร์เบียก็ยังไม่ยอบรับการประกาศเอกราชดังกล่าว และความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็ยังคงตึงเครียดมาจนถึงทุกวันนี้


กรานิต ชาก้า (ซ้าย) และ แชร์ดัน ชาคิรี่ (ขวา) ทำมือเป็นรูปอินทรีย์สองหัวหลังยิงประตูทีมชาติเซอร์เบีย (ภาพจาก HD Photos)

หลังจบเกม โจวาน ซูร์บาโตวิช ประธานสหพันธ์ฟุตบอลเซอร์เบีย ได้ทำหนังสือเรียกร้องให้สมาคมฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่าลงโทษสองนักเตะดังกล่าว และทางฟีฟ่าก็ได้ออกมาประกาศว่าคณะกรรมการสอบวินัยได้เริ่มพิจารณาพฤติกรรมของทั้งสองคนแล้ว โดยมาตรา 54 ในประมวลวินัยของฟีฟ่าระบุว่า “ผู้ใดที่ยั่วยุ (provoke) สาธารณชนระหว่างการแข่งขันจะถูกห้ามลงแข่งเป็นจำนวน 2 นัด และปรับอย่างต่ำ 5,000 สวิสฟรังค์” (คิดเป็นเงินประมาน 166,0000 บาท) อย่างไรก็ตามชาคีรี่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นว่าตัวเขาไม่ได้มีเจตนาจะทำสัญลักษณ์ทางการเมืองแต่อย่างใดโดยกล่าวว่า “ผมไม่อยากจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าไหร่ เวลาคุณยิงประตูเข้า อารมณ์มันจะเข้าควบคุมคุณ เพราะฉะนั้นท่าทางที่ผมทำมันจึงไม่ได้มีอะไรพิเศษ”

ล่าสุด วันนี้ (26 มิ.ย.61) กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า ฟีฟ่า ได้ออกมาแถลงว่าจะไม่มีการลงโทษแบนแข้งทั้ง 2 รายในกรณีนี้ แต่จัดการปรับเงินทั้งคู่เป็นจำนวน 7,600 ปอนด์ (ราว 325,000 บาท) แทน รวมไปถึงปรับ สเตฟาน ลิคท์สไตเนอร์ เพื่อนร่วมทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ ที่เข้าไปร่วมดีใจเป็นจำนวน 3,700 ปอนด์ (ราว 159,000 บาท) อีกด้วย

หมายเหตุประเพทไทย #121 โอลิมปิกและการแข่งขันทางการเมือง
หน้ากาก Black Panther ของแข้งเมืองทองฯ

การแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองระหว่างการแข่งกีฬาระดับโลกไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะมันคือโอกาสที่นักกีฬาจะส่งสาสน์ทางการเมืองของตนให้กับคนดูทั่วโลก อย่างน้อยหากผู้ชมซักคนเกิดสงสัยในที่มาของสัญลักษณ์ดังกล่าวและค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตพวกเขาก็จะได้รับรู้ถึงเรื่องราว หรือประวัติศาสตร์ที่นักกีฬาเหล่านั้นต้องการจะสื่อถึงโลกภายนอก ในประเทศไทยเองก็เคยมีเหตุการณ์ดังกล่าวเช่นกัน โดยในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เฮแบร์ตี้ แฟร์นานเดส กองหน้าสัญชาติบราซิลของสโมสรเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ได้เอาหน้ากาก Black Panther ขึ้นมาสวมเพื่อแสดงความดีใจหลังยิงประตูได้ ซึ่งในตอนแรกก็มีการตีความไปว่าเจ้าตัวอาจจะต้องการจะสื่อถือกรณียิงเสือดำที่ทุ่งใหญ่เนรศวร แต่เจ้าตัวก็ออกมาบอกว่า ตนชอบภาพยนต์เรื่องดังกล่าวเป็นการส่วนตัว อีกทั้งยัง ต้องการจะสื่อถึงขบวนการ Black Panther Movement ซึ่งเป็นขบวนการเรียกร้องสิทธิคนผิวสีในสหรัฐฯ


เฮแบร์ตี้สวมหน้ากาก Black Panther หลังยิงประตู (ภาพจาก MTUTD.TV OFFICIAL)

แม้จะไม่ถูกลงโทษ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยก็ได้ทำหนังสือตักเตือนส่งถึงทางสโมสร โดยพาทิศ ศุภะพงษ์ โฆษกและรองเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ชี้แจงว่าพฤติกรรมของเฮแบร์ตี้ผิดกติกา มาตรฐานสากลของฟุตบอลซึ่งไม่อนุญาตให้มีการใช้อุปกรณ์มาแสดงความดีใจในสนาม ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ใช่เกิดการใช้กีฬาเป็นเครื่องส่งสาส์นทางการเมือง

"จริงอยู่ที่ เฮแบร์ตี้ อาจจะแค่นำมาดีใจเฉยๆ แต่ในอนาคต เราก็ไม่รู้หรอกว่า จะมีผู้เล่นคนไหนทำอีกหรือเปล่า ซึ่งมันอาจจะ ลุกลามไปถึง การแสดงออกในเชิงการเมือง ศาสนา หรือ โฆษณาแฝงต่างๆ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ ฟีฟ่า ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น ผ่านทางฟุตบอล ดังนั้น เราก็ต้องปรามเอาไว้ ที่สำคัญผิดกติกาที่ระบุไว้อยู่แล้ว เช่นเดียวกับ แฟนบอล ที่ห้ามเหมือนกัน ในแง่โฆษณาแฝง" พาทิศ กล่าว
ริบบิ้นเหลืองของกุนซือแมนซิตี้

แต่ถึงจะมีกฎห้ามอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร การแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองเป็นก็สิ่งที่อยู่คู่กับวงการกีฬาฟุตบอลมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากตัวนักเตะแล้ว โค้ชเองก็มีส่วนในการรว่มแสดงสัญลักษณ์เช่นนี้ด้วยเช่นกันโดยในช่วงปลายปี 2017 เป๊ป กวาร์ดิโอล่า กุนซือของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ได้ถูกปรับเป็นเงิน 20,000 ปอนด์ เหตุติดริบบิ้นสีเหลืองที่หน้าอก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สนับสนุนเหล่านักการเมืองและนักกิจกรรมชาวคาตาลันที่เรียกร้องเอกราชให้กับแคว้นคาตาลุนญ่าจนถูกจองจำโดยรัฐบาลสเปน โดยทางสมาคมได้ตักเตือนเป๊บแล้วถึงสองครั้ง แต่เขากลับเผิกเฉยจนนำมาสู่การลงโทษดังกล่าว


กุนซือทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ติดริบบิ้นสีเหลืองเพื่อสนับสนุนผู้เรียกร้องเอกราชของคาตาลุนญ่าที่ถูกจับกุมโดยรัฐบาลสเปน (ภาพจาก @tjparfitt )
กำปั้นของ 2 นักวิ่งสหรัฐฯ

ในมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติอย่างโอลิมปิก การสัญลักษณ์ทางการเมืองก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยการในแข่งปี 1968 ที่แม็กซิโกซิตี้ ทอมมี่ สมิธ และ จอห์น คาร์ลอส สองนักวิ่งผิวสีจากประเทศสหรัฐฯ ได้คว้าเหรียญทอง และเหรียญทองแดง ในการแข่งขันวิ่ง 200 เมตร ทั้งคู่ขึ้นรับเหรียญโดยไม่ใส่รองเท้า แต่สวมเพียงถุงเท้า และถุงมือสีดำ และระหว่างที่เพลงชาติสหรัฐฯ กำลังบรรเลง ทั้งสองได้ชูกำปั้นขึ้นเป็นสัญลักษณ์ Black Power Salute ซึ่งสื่อถือการเรียกร้องสิทธิคนผิวสีในสหรัฐฯ และการถอดรองเท้าออกเหลือเพียงถุงเท้าสีดำก็เป็นการสื่อสารว่าชีวิตของคนดำในสหรัฐฯ นั้นมีความยากลำบากมากจนไม่สามารถหาซื้อรองเท้าได้ หลังจากนั้นทางคณะกรรมการโอลิมปิก็ได้แบนสมิธกับคาร์ลอสออกจากการแข่งขัน และยังสั่งให้พวกเขาออกจากหมู่บ้านนักกีฬาในทันทีอีกด้วย


ทอมมี่ สมิธ กับ จอห์น คาร์ลอส แสดงสัญลักษณ์ Black Power Salute (ภาพจาก wikimedia.org)
ท่าคุกเข่า ขณะบรรเลงเพลงชาติสหรัฐฯ ของควอเตอร์แบ็กซานฟราน


ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้นับได้ว่าเป็นช่วงปีทองของการแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ ในปี 2016 โคลิน เคเปอร์นิก นักกีฬาอเมริกันฟุตบอลของ ซาน ฟรานซิสโกฯ ได้นั่งคุกเข่าขณะที่เพลงชาติสหรัฐฯ กำลังบรรเลงเพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านแนวคิดเหยียดสีผิวในสหรัฐฯ และประท้วงการฆ่าคนอเมริกันผิวสีโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสหรัฐฯ แม้เขาจะถูกไล่ออกทันทีหลังเหตุการณ์ดังกล่าว แต่การแสดงออกของเขาก็ได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลก ทางเนชันแนลฟุตบอลลีก (NLF) ถึงขั้นออกกฎห้ามไม่ให้นักกีฬาคุกเข่าขณะที่เพลงชาติกำลังบรรเพลง

แต่ห้ามไปก็ดูเหมือนจะไม่มีใครฟัง เพราะแม้จะมีกฎใหม่ออกมา แต่การเลือกปฏิบัตต่อคนดำในสหรัฐฯ ก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และดูจะรุนแรงขึ้นหลังการขึ้นสู่ตำแหน่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในเดือนกรกฎคม 2017 ในการแข่งขันระหว่าง Baltimore Ravanes กับ Jacksonville Jaguars ผู้เล่นทั้งสองทีมซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนผิวสีต่างพร้อมใจกันคุกเข่าเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เช่นเดียวกับเคเปอร์นิก ส่วนบางทีมที่ไม่อยากจะมีปัญหาเรื่องทำผิดกฎก็ใช้วิธีการไม่ออกมายืนที่สนามตอนเพลงชาติกำลังบรรเลงเสียเลย ต่อมาในเดือนเมษายน 2018 แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลได้มอบรางวัลทูตแห่งมโนธรรมสำนึก (Ambassador of Conscience award) ให้กับเคเปอร์นิก เพื่อเป็นการเชิดชูการกระทำที่กล้าหาญของเขา

“การคุกเข่าเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ทางกายภาพ ผมต้องการท้าทายว่ายังมีการกีดกันและละทิ้งคนออกจากแนวคิดที่สนับสนุนเสรีภาพ อิสรภาพ และความยุติธรรมที่มีสำหรับทุกคน การประท้วงเช่นนี้มีรากเหง้ามาจากการหลอมรวมระหว่างความเชื่อทางศีลธรรมและความรักในเพื่อนมนุษย์ของผม” โคลิน กล่าวหลังได้รับรางวัล


โคลิน เคเปอร์นิกรับรางวัลจากแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล

แอมเนสตี้ฯ มอบ 'รางวัลทูตแห่งมโนธรรมสำนึก' ให้ 'เคเปอร์นิก' นักกีฬาอเมริกันฟุตบอล



[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.