Posted: 18 Jun 2018 09:12 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
จับตา 21 มิ.ย. เลขาฯ ป.ป.ช.เผยจะมีการแถลง ป.ป.ช.รื้อคดีฟ้องอภิสิทธิ์-สุเทพ ผิด ม.157 สลายการชุมนุม นปช.ปี 53 ที่ป.ป.ช.ปัดตกไปแล้วอีกรอบหรือไม่ / การฟ้อง “ผู้สั่งการ” สลายการชุมนุมนั้นมีเส้นทางอันสลับซับซ้อนและยาวนานจนคนอาจลืมเลือน รายงานนี้จะไล่เรียงลำดับเส้นทางของกรณีพันธมิตรฯ ปี 51 และเส้นทางอันคดเคี้ยวเลี้ยวลดชนิดไม่เห็นฝั่งของ นปช.ปี 53
18 มิ.ย.2561 นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณาคำร้องการสลายการชุมนุมของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ว่า ทาง ป.ป.ช.ก็จะนำคำอุทธรณ์และข้อมูลที่มีการยื่นมาใหม่นั้นมาเปรียบเทียบกับสำนวนเดิมที่ ป.ป.ช.เคยมีมติยกคำร้องไปแล้วเพื่อดูว่าเป็นข้อมูลเดิมหรือข้อมูลใหม่เพิ่มเติม รวมทั้งมีการนำไปเปรียบเทียบกับสำนวนการพิจารณาคดีสลายการชุมนุมพันธมิตรฯ เมื่อปี 2551 ด้วยซึ่งในส่วนนี้ทางสำนักงานได้สรุปข้อมูลเรียบร้อยแล้ว และจะเสนอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาในวันที่ 21 มิ.ย.นี้ รวมทั้งแถลงผลให้สื่อทราบในวันเดียวกัน ส่วนกรณีความคืบหน้าการตรวจสอบเรื่องนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ นั้น วรวิทย์กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า อย่าเพิ่งถามเรื่องนี้ รอให้มีการแถลงทีเดียว
ก่อนหน้านี้ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้แต่งตัวเป็นผู้ไร้ที่พึ่งเดินทางมาประท้วง ป.ป.ช. เพราะ 8 ปีคดีคนเสื้อแดงไม่คืบหน้า ที่ผ่านมาได้ยื่นข้อมูลหลักฐานเพิ่มเติมขอให้รื้อฟื้นการไต่สวนใหม่นั่นคือ กรณีที่ป.ป.ช.ส่งเรื่องการสลายการชุมนุมของพันธมิตรฯ โดยการสั่งการภายใต้รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ไปให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจนกระทั่งศาลสั่งยกฟ้อง และป.ป.ช.ก็ยื่นอุทธรณ์อีก
เรียกว่าเป็นการเปิดประเด็นตั้งคำถามเปรียบเทียบถึงความ active ที่แตกต่างกันของ ป.ป.ช. ในคดีเหลือง-แดง
หากไล่เรียงดูรายละเอียดเปรียบเทียบการทำงานของสองคดีนี้ของ ป.ป.ช. จะพบว่า นี่เป็นคดีที่ฟ้องผู้นำทางการเมืองและผู้รับผิดชอบในการสลายการชุมนุมเหมือนกัน อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่วนช่องทางการเอาผิดนั้น เริ่มจากผู้ร้องยื่นเรื่องที่ป.ป.ช.จากนั้น ป.ป.ช.จะมีการชี้มูลความผิดเพื่อส่งต่อให้อัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องต่อไปยัง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อรับคำพิพากษาในท้ายที่สุด
เส้นทางฟ้องผู้สั่งการคดีสลายการชุมนุมพันธมิตรฯ 51
กรณีการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ในปี 2551 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 2 รายและบาดเจ็บกว่า 400 ราย หลังจากมีผู้ร้องและ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุดพิจารณาอยู่สักพักก่อนจะทำความเห็นว่าสำนวนยังมีข้อไม่สมบูรณ์ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่าง อัยการ และ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณา ซึ่งสุดท้ายได้ข้อสรุปว่าคดีนี้ยังมีข้อไม่สมบูรณ์ อัยการจึงสั่งไม่ฟ้อง จากนั้น ป.ป.ช.ยื่นฟ้องต่อศาลเอง มีจำเลย 4 รายคือ สมชาย วงศ์สวัสิด์ นายกฯ, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ก่อนที่สุดท้ายศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งนักการเมืองจะพิพากษายกฟ้อง (อ่านที่นี่) ต่อมา ป.ป.ช.มีมติยื่นอุทธรณ์ โดยอุทธรณ์ในส่วนของ พล.ต.ต.สุชาติ ผู้บังคับบัญชาหน่วยปฏิบัติการเพียงรายเดียว จากนั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตั้งองค์คณะมาพิจารณา เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณา
เส้นทางฟ้องผู้สั่งการสลายการชุมนุม นปช.53
กรณีการสลายการชุมนุมของ นปช.ปี 2553 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่า 90 ราย บาดเจ็บกว่า 2,000 คน การฟ้องคดีแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก และคำอธิบายก็ออกจะยาวเสียหน่อยเพราะมีความสลับซับซ้อนกว่า
ส่วนแรกคือ การฟ้องผู้ออกคำสั่งสลายการชุมนุม คือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งขณะนั้นธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นอดิบดีได้ยื่นฟ้องต่ออัยการสูงสุดและอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องทั้งสองคนในข้อหาร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ต่อมาศาลอาญายกฟ้องโดยระบุว่า เรื่องดังกล่าวเป็นความผิดตามอำนาจหน้าที่ราชการ ไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลอาญา พูดง่ายๆ ว่าต้องไปฟ้องตาม มาตรา 157 ละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กับป.ป.ช. อย่างไรก็ตาม คดีนี้น่าสนใจมากตรงที่ นายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้มีความเห็นแย้งไว้ในสำนวน โดยระบุว่าคดีนี้ไม่ใช่เรื่องการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นคดีในเขตอำนาจของศาลอาญา
“แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องในตอนแรกว่าจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าพนักงาน แต่ก็เป็นเพียงคำบรรยายเพื่อให้ปรากฏที่มาของการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดเท่านั้น การที่เจ้าพนักงานใช้อาวุธสงครามยิงผู้ตายย่อมเป็นการกระทำนอกเหนือตำแหน่งหน้าที่ราชการของจำเลยทั้งสอง โดยคำฟ้องระบุว่าจำเลยที่ 2 มีคำสั่งอนุมัติใช้อาวุธและกระสุนจริงรวมทั้งพลแม่นปืนปฏิบัติหน้าที่ จำเลยทั้งสองมีเจตนาเล็งเห็นผลว่าเจ้าพนักงานจะใช้อาวุธสงครามยิงประชาชนได้ จึงเป็นเรื่องการกระทำนอกเหนือตำแหน่งราชการ เป็นการก่อหรือใช้ให้เจ้าพนักงานกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ส่วนพยานหลักฐานจะรับฟังได้หรือไม่เพียงใดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” ตอนหนึ่งของความเห็นแย้งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาระบุ (อ่านความเห็นแย้งทั้งหมดที่นี่)
จากนั้นทนายและญาติผู้เสียชีวิตปี 2553 ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ผู้เสียยื่นฎีกา ศาลฎีกาก็พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ว่าไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการ จากนั้นเรื่องจึงไปที่ ป.ป.ช. โดยมีการกล่าวหา อภิสิทธิ์ สุเทพ และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ว่ามีความผิดตาม ม.157 สุดท้าย ป.ป.ช.ชี้มูลว่าคนสั่งการทั้งสามไม่มีความผิด ส่วนเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในพื้นที่ให้ดีเอสไอดำเนินการต่อเพื่อให้มีการพิสูจน์กันในคดีอาญาต่อไปว่ากระทำเกินกว่าเหตุหรือไม่
นั่นเป็นเพียงเส้นทางคดีอันคดเคี้ยวเลี้ยวลดของ “ผู้สั่งการ” และท้ายที่สุดดูเหมือนจะไม่มีโอกาสได้เข้าสู่การพิจารณาของศาล แม้แต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังเช่นกรณีการชุมนุมของพันธมิตรฯ ในปี 2551
ในส่วนของ “ผู้ปฏิบัติการ” ก่อนหน้านี้ศาลได้มีคำสั่งชันสูตรพลิกศพ หรือเรียกง่ายๆ ว่า ไต่สวนการตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 มีหลายรายที่ศาลมีคำสั่งชัดเจนว่า กระสุนมาจากฝั่งทหาร แต่การไต่สวนการตายนั้นไม่ใช่การพิจารณาคดีชี้ตัวผู้กระทำผิด เป็นเพียงการสืบเสาะเบื้องต้นว่าผู้ตายเป็นใคร ตายอย่างไร การฟ้องคดีเป็นหน้าที่ของทางดีเอสไอที่ต้องไปรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อระบุตัวผู้กระทำผิดแล้วส่งฟ้องต่ออัยการ (อ่านสรุปคำสั่งไต่สวนการตายที่นี่) ที่ผ่านมาญาติและทนายความไปทวงถามความคืบหน้ากับอัยการหลายครั้ง ล่าสุดคือเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความที่ติดตามเรื่องนี้พร้อมกับญาติผู้เสียชีวิตมาโดยตลอด ได้ความว่า เรื่องยังคงไม่มีความคืบหน้าใด แต่ทราบมาว่าทางดีเอสไอส่งสำนวนบางส่วนมายังอัยการแล้วว่าไม่ทราบว่าผู้กระทำผิดเป็นผู้ใด ไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้ ซึ่งทางญาติและทีมทนายจะติดตามเพื่อให้หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบชี้แจงในเรื่องนี้ให้ชัดเจนต่อไป อย่างไรก็ตาม หากอัยการไม่มีการยื่นฟ้องดำเนินคดีใดๆ กับผู้กระทำผิด ผู้เสียหายซึ่งคือญาติผู้เสียชีวิตก็สามารถยื่นฟ้องเองได้ เพราะในคำสั่งไต่สวนการตายนั้นมีการระบุชื่อผู้บังคับบัญชาในระดับพื้นที่ชัดเจนหลายกรณีที่ศาลชี้ว่ากระสุนมาจากฝั่งทหาร เช่น กรณีของ 6 ศพวัดปทุม
ที่มาบางส่วน มติชนออนไลน์[full-post]
แสดงความคิดเห็น