Posted: 21 Jun 2018 09:44 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

มูลนิธิบูรณะนิเวศ รวมกับประชาชน 7 จังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง สมุทรสาคร เพชรบุรี ราชบุรี และสระบุรี ที่ได้รับผลกระทบจากนำเข้าขยะพิษ แถลงข่าวแฉปัญหาและผลกระทบ หวังกระตุ้นความรับผิดชอบของทุกฝ่าย เรียกร้องรัฐแก้ไข

21 มิ.ย.2561 ห้องประชุม 701 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา(อาคารจามจุรี 10) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลนิธิบูรณะนิเวศนำโดย เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ร่วมกับตัวแทนประชาชนที่เดือดร้อนจาก 7 จังหวัด จัดงานแถลงข่าวเปิดปูมกรณี “นำเข้าขยะพิษ” ร่วมเสนอปัญหาและข้อเรียกร้องจากชาวบ้านพร้อมทั้งร่วมกันยื่นหนังสือข้อเรียกร้องเพื่อแก้ปัญหาแก่รัฐบาล

เพ็ญโฉม กล่าวว่า มูลนิธิบูรณะนิเวศได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการนำเข้าขยะ อีกทั้งยังได้มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้พอสมควร เนื่องจากหน่วยงานหลายหน่วยงานที่กำลังแก้ปัญหาหรือดำเนินการในเรื่องนี้อาจจะเป็นแรงกดดันที่ทำให้ทางมูลนิธิออกมาแถลงข่าว อีกทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นกับบ้านเราวันนี้ถือว่ามีความเสียหายสูงมาก และเหตุผลที่จัดแถลงข่าวก็เพื่อกระตุ้นความรับผิดชอบของทุกฝ่าย ทั้งยังชวนให้นักวิชาการได้เข้าดำเนินการ ให้ชาวบ้านร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อไม่ให้ปัญหาที่เกิดขึ้นถูกเมินเฉยและเงียบไป ในงานแถลงข่าวครั้งนี้มีรายละเอียดเกี่ยวกับกรณีนำเข้าขยะพิษอยู่ทั้งหมด 5 ประเด็นหลักดังนี้

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นโยบาย-กฎหมายที่สนับสนุน

ประเด็นที่ 1 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นโยบายและกฎหมายที่สนับสนุน หน่วยงานที่พูดถึงในหัวข้อนี้คือกรมโรงงานอุตสาหกรรมและมีหน้าที่อะไรบ้าง อย่างแรกคือการอนุญาตให้มีการนำเข้าหรือส่งออก คือมีหน้าที่พิจารณาคำขออนุญาตและควบคุมการนำเข้า-ส่งออกของเสียอันตรายตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ต่อมาคือการอนุญาตให้ตั้งโรงงาน คือการกำหนดหลักเกณฑ์ในการขอรับใบอนุญาตเพื่อประกอบกิจการหรือเลิกประกอบกิจการ หน้าที่ประการที่สามคือการกำกับดูแลโรงงาน คือการควบคุม ดูแล การประกอบกิจการรวมถึงการกำกับดูแลการปล่อยของเสีย เพื่อให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด หน้าที่อีกอย่างคือการออกกฎหมายเพื่อควบคุมการจัดการของเสียอุตสาหกรรมตามพ.ร.บ. โรงงาน หรือ พ.ร.บ. วัตถุอันตรายและสุดท้ายคือมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคำขออนุญาตนำเข้า-ส่งออกหรือนำผ่านแดนของเสียอันตรายตามอนุสัญญาบาเซล (อนุสัญญาบาเซลเป็นสัญญาฉบับเดียวที่มีข้อห้ามนำเข้าหรือส่งออกขยะอันตรายผ่านแดน)

เมื่อกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีอำนาจเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งหมด ด้านหนึ่งคือมีอำนาจหน้าที่บทบาทส่งเสริมการส่งออกหรือนำเข้าวัตถุดิบ อีกด้านคือมีหน้าที่กำกับการจัดการสิ่งแวดล้อมและมลพิษโรงงาน ในด้านแรกก็ประกอบไปด้วยการอำนวยความสะดวกในการจัดตั้งโรงงานคือ ออกใบอนุญาตเร็วขึ้นลดการกลั่นกรองลดเวลาเหลือ 30 วัน ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับโรงงานที่นำของเสียมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่ปี 2553 ต่อมาคืออนุญาตให้ฝังกลบภายในพื้นที่โรงงานคือการฝังกลบสิ่งที่ไม่ได้ใช้ในพื้นที่โรงงานได้ทุกประเภทโดยไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 105 อีกบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2545 นัยยะสำคัญคือเราจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าการฝังกลบนั้นเขาทำอย่างถูกต้องหรือไม่เพราะไม่มีการประเมินหรือรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุดท้ายคือการปลดล็อคมาตรการควบคุมตามพ.ร.บ.วัตถุอันตราย ยกเว้นการใช้พ.ร.บ.วัตถุอันตรายพ.ศ. 2535 และพ.ศ. 2551 คือไม่ต้องขออนุญาตและไม่ต้องยื่นขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย

นอกเหนือจากการออกกฎหมายที่เอื้อต่อการจัดตั้งโรงงงานแล้วยังเอื้อต่อการนำเข้า-ส่งออกและครอบครองขยะหรือสินค้าอันตรายเหล่านี้ยังคงมีปัจจัยที่หนุนเสริมอีกมากมาย จะเห็นว่าข้อตกลงระดับโลกคือ ข้อตกลงการค้าเสรี ที่รัฐบาลไทยได้ไปลงนามไว้กับหลายประเทศ หรือกลุ่มของอาเซียน ข้อตกลงเหล่านี้ในนิยามที่ว่าด้วยเรื่องสินค้าหรือวัตถุดิบใดๆที่มาสามารถใช้การต่อไปได้ก็นำไปกำจัดทิ้ง ถ้าแปลความจากนิยามเหล่านี้ก็คือขยะ ด้านขององค์กรการค้าโลกนั้นมีนโยบายให้เพิ่มความรวดเร็วในด่านศุลกากรด้วยการลดการตรวจสอบตู้สินค้าลงทั้งขาเข้าและขาออก เพราะฉะนั้นมีโอกาสน้อยมากที่จะรู้ว่าสินค้าอันตรายนั้นหลั่งไหลเข้ามาเท่าไหร่ส่วนของธนาคารโลกก็กดดันรัฐบาลไทยว่าต้องรีบออกกฎหมายให้อนุญาต จึงจะเห็นปัจจัยหรือแรงสนับสนุนอุตสาหกรรมแปลรูปขยะ จัดการขยะหรือนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์เยอะมาก

อีกประเด็นหนึ่งที่สนับสนุนปัจจัยที่ก่อให้เกิดการจัดโรงงานประเภทนี้ขึ้นมามากคือ คำสั่งของ คสช. 4/2559 คำสั่งนี้ได้มีการยกเว้นผังเมือง เพราะฉะนั้นพื้นที่ที่เคยได้รับการคุ้มครองผังเมืองก็สามารถให้โรงงานเหล่านี้เข้าไปตั้งได้ และพ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการปี 2558 ซึ่งผู้ประกอบการใช้พ.ร.บ.นี้เข้ากดดันราชการให้รีบออกใบอนุญาตให้ และนอกเหนือจากนี้ธนาคารโลกยังกดดันมาที่ไทยทำให้มีคำสั่ง คสช. 21/2560 ว่าด้วยเรื่องการอำนวยความสะดวกการประกอบธุรกิจ แต่ทั้งหมดนี้อำนาจหรือดุลยพินิจว่าจะให้หรือไม่ให้ จะควบคุมหรือไม่ขึ้นอยู่กับกรมอุตสาหกรรมทั้งหมด

มาตรการแก้ปัญหาของภาครัฐ

ประเด็นที่ 2 มาตรการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานภาครัฐ เมื่อมีการกดดันหรือผลัดดันในเรื่องนี้สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการแก้ปัญหา การแก้ปัญหาของกรมโรงงานอุตสาหกรรมคือได้พักใช้ใบอนุญาตนำเข้านำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ 5 รายและถ้าตรวจพบกระทำความผิดงดการนำเข้า 1 ปี และมีการส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบตู้สอนค้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง ทบทวนข้อบังคับตามอนุสัญญาบาเซล และส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์คืนบริษัทที่ได้อนุญาตนำเข้ากว่า 14,000 ตัน ภายในเวลา 30 วัน ประเด็นคือว่าประกาศที่ว่าให้มีการยกเว้น ไม่ต้องขออนุญาตถ้าประกาศนี้มันผล การผลักดัน การตรวจจับที่กล่าวมานั้นจะเป็นผลจริงหรือ?

ด้านกรมศุลกากรคือมีการยกเลิกใบอนุญาตนำเข้าหากบริษัทนั้นกระทำความผิดจริง และพิจารณามาตรการอุดช่องโหว่การนำเข้าเพิ่มโทษ อีกทั้งยังติดตามตรวจสอบสินค้าที่โรงงานปลายทางหลังจากผ่านด่านศุลกากรไปแล้ว และยังใช้ระบบเอกซเรย์ตรวจสอบตู้สินค้าทุกตู้ แต่ประเด็นคือว่าระบบเอกซเรย์นี้แม้ในตู้ของเยอะๆแล้วมีแอปเปิ้ลลูกหนึ่งระบบก็สามารถตรวจจับได้ แต่ถ้ามีการตรวจสอบจริงจะไม่รู้เกี่ยวกับการนำเข้าขยะอันตรายได้อย่างไร เพราะฉะนั้นผลจากการลดการตรวจสอบมันจึงทำให้ตู้สินค้าเหล่านี้กระจายไปทั่วประเทศ ล่าสุดเมื่อวานคณะกรรมการการขับเคลื่อนและปฏิรูปราชการซึ่งนำโดยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้จัดตั้งคณะกรรมการชุดบูรนาการเพื่อพิจารณาห้ามนำเข้าขยะสารพิษและเพิ่มความเข้มงวดการพิจารณาอนุญาตนำเข้า มันจึงไปขัดกับคำสั่ง คสช.ที่ 21/2560 ว่าด้วยเรื่องการอำนวยความสะดวกการประกอบธุรกิจ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การฟ้องร้องในภายหลังได้ มันเปรียบเสมือนว่าคุณได้ออกกฎหมายอนุญาตเขาไปแล้วแต่มามีคำสั่งจะจับเขา มันเป็นเรื่องที่ยากมาก 
 
ไทยเปิดเสรี ? นำเข้าของเสียทุกประเภท

ประเด็นที่ 3 ไทยเปิดเสรีนำเข้าของเสียทุกประเภท สิ่งที่นำมาพูดถึงในวันนี้โดยส่วนใหญ่คือขยะประเภทอิเลคทรอนิกส์ รองลงมาเป็นพวกพลาสติก แต่ตอนนี้ในประเทศไทยมีการเปิดเสรีการนำเข้าขยะทุกประเภท ไม่ว่าจะอันตรายหรือไม่ กฎหมายเอื้ออำนวยและเปิดช่องให้แล้ว เราต้องย้อนกลับมาถามว่าทุกคนจะรับได้ไหม ที่ประเทศไทยจะเปิดเสรีให้กับการนำเข้าของเสียทุกประเภท อันนี้เป็นข้อตกลงเสรีที่รัฐบาลไทยได้ลงนามเอาไว้กับหลายๆประเทศ ประเทศที่ไทยได้ความตกลงการค้าเสรี/หุ้นส่วนเศรษฐกิจ (FTA/EPA) มีทั้งหมด 14 ประเทศ

ตัวอย่างสินค้าของเสียเคมีวัตถุ คือ เถ้าโลหะมีค่า พวกทอง เงิน ทองคำขาว พาลาเดียม ที่ได้จากการเผาแผงวงจนอิเล็กทรอนิกส์ ของเสียจากการรักษาพยาบาล ตัวอย่างสินค้าพวกอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว คือเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว เช่น ตู้เย็น โทรทัศน์ วิทยุ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า เครื่องถ่ายเอกสาร โดยมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประกอบอยู่ซึ่งสามารถนำมาใช้ซ้ำได้ หรือทำการดัดแปลง ซ่อมแซม ปรับปรุง คัดแยก เพื่อนำกลับมาใช้งานได้อีกภายหลังผ่านกระบวนการดังกล่าวหรือเพื่อที่จะนำไปทำลาย เศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ ที่เป็นพลาสติกที่ไทยนำเข้ามาตั้งแต่ปี 2557-2560 มีจำนวนเพิ่มขึ้นในทุกๆปี โดยจำนวนมาที่สุดคือนำเข้าจากออสเตรเลียเป็นอันดับ 1 ในปี 2557-2558 อีก 2 ปีต่อมาคือประเทศญี่ปุ่น มีจำนวนมากที่สุด คือ 152,737.452 ตันต่อปี ส่วนในด้านขยะอิเล็กทรอนิกส์ ปริมาณการนำเข้ามากเป็นอันดับ 1 ตลอด 4 ปีคือประเทศจีนล่าสุดปี 2560 มีจำนวน 2,824.255 ตันแต่ละปีมีตัวเลขเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อจีนห้ามนำเข้าขยะ ไทยจึงเป็นเป้าหมายแห่งใหม่ ซึ่งหลายสิบปีก่อนจีนเป็นจุดหมายปลายทางหลักของขยะหมุนเวียนหรือ recycle waste จากประเทศต่างๆ แต่จีนมีการปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่เพื่อควบคุมปัญหามลภาวะภายในประเทศ เนื่องจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมของจีนพบว่าสารอันตรายถูกนำเข้าปะปนกับขยะมูลฝอยและก่อให้เกิดผลเสียต่อสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรง

เปิดเสรีการค้าขยะใครเดือนร้อน ?

ประเด็นที่ 4 ประเทศไทยได้เปิดเสรีการค้ากับต่างประเทศแต่ปัญหาที่เกิดคือใครเป็นคนที่เดือนร้อนจากการกระทำนี้ กล่าวได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็มากระทบกับประชาชนในประเทศโดยตรง คือชาวบ้านคนที่อยู่ในพื้นที่ ในบริเวณต.เขาหินซ้อน ต.หนองแหน จ.ฉะเชิงเทรา ชาวบ้านได้รับปัญหาจากการลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมอย่างรุนแรงตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีการขยายตัวของโรงงานรับกำจัดของเสียจำนวนมาก ทำให้เกิดผลกระทบทั้งกลิ่น น้ำเสียและความเสี่ยงต่อแหล่งน้ำใต้ดิน บริษัทไมด้า วัน จำกัด ตั้งอยู่ที่ อ.บางปะกง ประกอบกิจการรับบำบัดกากอุตสาหกรรม ปล่อยน้ำเสียส่งกลิ่นเหม็นลงสู่คลองพานทอง จ.ชลบุรี แต่ในปี 2560 บริษัทได้ปิดตัวลงที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคารซึ่งปัจจุบันยังไม่มีแนวทางการจัดการของเสียในโรงงาน

ด้านจังหวัดอื่นๆ คือ จ.ระยอง ชาวบ้าน ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย ก็ได้ผลกระทบจากบริษัท วินโพรเสส จำกัด ซึ่งมีการลักลอบนำของเสียไปทิ้งไว้ที่นาชาวบ้านบริเวณเหนือโรงงานทำให้ดินเสื่อมโทรม แหล่งน้ำปนเปื้อน ต่อมาใน จ.สมุทรสาคร ชาวบ้าน ต.บางโทรัด อ.เมือง ชาวบ้านได้คัดค้าน บริษัท สมุทรสาคร เนเชอรัลคลีน เอ็นเนอร์จี จำกัด และบริษัท สมุทรสาคร คลีน เอ็นเนอนร์ยี่ จำกัด ที่ได้ขออนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าขยะ เมื่อปี 2558 ในการคัดค้านชาวบ้านให้เหตุผลว่าโรงงานตั้งอยู่ใกล้ชุมชนและกังวลเรื่องมลพิษ,กลิ่นเหม็นและสุขอนามัย ปัจจุบันบริษัทได้รับแจ้งใบอนุญาตขนขยะจากองค์การบริหารส่วนตำบล และนอกเหนือจากนี้ยังมีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากจังหวัดอื่นๆอีกเช่น จ.สระบุรี จ.ราชบุรี หรือ จ.เพชรบุรี เป็นต้น

ข้อเสนอ – แนวทางแก้ปัญหา

ประเด็นสุดท้ายนี้คือข้อเสนอแนะและแนวทางแก้ปัญหาที่เป็นข้อเรียกร้องอยากให้รัฐบาลทบทวนและดำเนินการ ในส่วนแรกคือมาตรการเฉพาะหน้า 1.) ต้องการให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท 2.) เร่งออกประกาศห้ามนำเข้าสินค้าประเภทขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะมูลฝอยหรือวัสดุใช้แล้ว 4 ประเภท อย่างแรกคือขยะพลาสติก สองคือตะกรันวาเนเลียม สามคือขยะกระดาษ และสุดท้ายคือขยะจำพวกสิ่งทอบางชนิด 3.) สอบสวนความถูกต้อง-เหมาะสมของใบอนุญาตนำเข้าและใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 105,106 และโรงงานเกี่ยวกับการกำจัดและรีไซเคิลของเสีย

ส่วนที่สองคือมาตรการระยะยาว 1.) ทบทวน แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายบางฉบับ เช่น ประกาศฉบับต่างๆของกรอ. ที่ให้ปฏิบัติตามพ.ร.บ. วัตถุอันตรายสำหรับโรงงาน 105,106 และแยกประเภทกิจการบางอย่างออกจากกันสิ่งที่สำคัญคือต้องจัดทำรายงาน ETA/EHIA ตามประกาศกระทรวงทรัพย์ฯ 2.) ยกเลิกร่างพระราชบัญญํติโรงงานพ.ศ. .... ฉบับปัจจุบัน คือแยกอำนาจกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมและมลพิษในโรงงานจากกรอ. (+กนอ) และให้เป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานกระทรวงทรัพย์ฯ พร้อมทั้งปรับปรุงและเพิ่มเติมมาตรการเพื่อนำไปสู่การป้องกันการกระทำผิดของโรงงาน รวมถึงเพิ่มโทษทางแพ่งและอาญาตามระดับความรุนแรงของความผิดและความเสียหาย 3.) ทบทวนและดำเนินการเพื่อให้มีการปรับปรุงแก้ไขความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจบางประเด็น เพื่อห้ามการนำเข้าขยะอันตรายบางรายการ


นโยบายรัฐ อุตสาหกรรมไทย ทำร้ายคนไทย

ภารดร ชนะกร กล่าวว่า จังหวัดระยองมีปัญหาของชาวบ้านที่เดือดร้อนและแก้ไขไม่ได้ทั้งโดยตรงและโดยแฝง เมื่อวานก็มีการประชุมภาคี ชาวบ้านร้องเรียกเดือดร้อน ต่อสู้ 4-5 ปี ร้องเรียนไปยังหน่วยงานราชการต่างๆ ศูนย์ดำรงธรรม อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม DSI จนไปถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ก็ไม่มีหน่วยงานใดที่สามารถแก้ไขได้ ผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่ดู ตั้งแต่เดือน มกราคมจนตอนนี้ก็ยังเหมือนเดิมสาเหตุเกิดจากโรงงานรีไซเคิล ที่เอาน้ำมันเครื่องจากที่ต่างๆและขยะมาคัดแยกโดยนำน้ำมันมาเทลงถัง แล้วใช้สารเคมีมาทำให้เกิดการตกตะกอนและย่อยสลาย เอาน้ำมันดีๆไปขายแต่เอาน้ำมันที่ตกตะกอนไปปล่อยลงคลอง น้ำกลายเป็นสีทอง นักเรียนกว่า 600 ชีวิตต้องปิดจมูกเรียน ทาง DSI สั่งปิดโรงงาน แต่ทางนั้นบอกว่าสั่งปิดไม่ได้เพราะโรงงานยังไม่ได้เปิดใช้งาน เนื่องจากว่าโรงงานไม่มีใบอนุญาติอะไรเลย แต่ทำงาน 3-4 ปี เมื่อทาง สมท.เข้ามาตรวจก็พบว่ามันเป็นสารเคมีรุนแรง โดยเฉพาะที่เป็นสารสังกะสีแคสเมียม 600 กว่าเท่า

สมชาย กุลนิตร ประชาชนจากพื้นที่จังหวัดสระบุรี กล่าวว่า มีปัญหาที่ตำบลสับวางใบไม้ขาวโพลนในตอนเช้า ชาวบ้านก็มีโรคภัยไข้เจ็บ ไอ จาม มีโรคมะเร็งเพิ่มมากขึ้น ปัญหาเกิดจากโรงงานปูนซีเมนต์ตอนประมาน 3-4 ทุ่มจะนำขยะหรือยางรถยนต์มาเป็นเชื้อเพลิง จึงทำให้เกิดมลพิษที่กระจายไปทั่ว สังเกตุได้จากใบไม้ที่ขาวโพลน ชาวบ้านก็หายใจไม่ค่อยออก ฝุ่นละอองมันเกินมาตรฐาน ตลอดทั้งปี แนวทางแก้ไขปัญหามันต้องจบอยู่ในระดับจังหวัด ไม่ใช่ระดับประเทศที่อภิบดีกระทรวงอุตสาหกรรมที่ควบคุมกำกับดูแลต้องลงพื้นที่ ควรให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในทุกมิติชองการทำงาน

ด้านประชาชนจาก ต.หนองแหน จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า มีการฝังกลบขยะอุตสาหกรรม บ่อกลบขยะจาก กทม. บริษัทรับกำจัดขยะ โรงงานรับรีไซเคิลซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัญหา เป็นปัญหาที่มีมานานแล้ว ในการต่อสู้หรือการจัดการ ชุมชนเองเลือกที่จะใช้สิทธิ์ในพระราชบัญญัติในการเรียกร้องขอให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาจัดการ ที่ผ่านมาการแก้ไขโดยการเรียกร้องมักไม่ถูกแก้ไข ถูกรับเรื่องแต่ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ดังนั้นควรจะกระจายอำนาจไปตามจังหวัดต่างๆดีกว่ารวมศูนย์ไว้ที่เดียว หรือเพิ่มหน่วยงานให้มาตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้ทำหน้าที่อย่างจริงจัง

ประชาชนจาก ต.หนองชุมพลเหนือ จ.เพชรบุรี กล่าวว่า ชาวบ้านอาจจะได้รับความเดือดร้อน เพราะพื้นที่ของเรามีการไปขอใบอนุญาตของโรงงานอุตสาหกรรม ทางเราก็ยืนหนังสือคัดค้านทุกที่ของจังหวัด ที่กระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีและปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พื้นที่ของเราเป็นต้นน้ำจึงต้องได้รับผลกระทบแน่นอน มีหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านแค่หน่วยงานเดียว คือมูลนิธิบูรณนิเวศ

พัชรพล สุกสว่าง ต.หนองชมพล จ.เพชรบุรี กล่าวว่า ทางโรงงานหลอมทองแดงต้องการที่จะเปิดให้ได้ การจะหลอมทองแดงต้องใช้เตาที่มีความร้อนกว่า1000 องศา ซึ่งกระบวนการผลิตก่อให้เกิดมลพิษ กระบวนการจะทำให้แผ่นอิเล็กทรอนิกส์แตกละเอียด ซึ่งทำให้เกิดน้ำที่เป็นมลพิษไหลไปในที่ต่างๆ ในวันหนึ่งจะหลอมทองแดงได้ 4 ตัน 4000 กิโลกรัม กิโลละ 100 บาท วันหนึ่งจะได้เงิน 500,000 บาท ได้กำไร 1 ปีประมาน 140 ล้านบาท ใช้เวลา 4 ปี จึงจะได้กำไรคืนจึงมีความต้องการที่จะตั้งโรงงานให้ได้ ตอนที่หลอมจะมีละอองของแมสเมียมและนิเกิลที่มองไม่เห็นลอยเข้าไปในกระแสเลือดทำให้เกิดโรคประสาท

สุณิสา โชติถเสถียร ประชาชนจากพื้นที่ ต.บางโทรัด จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า ที่ตำบลบางโทรัดได้รับความเดือดร้อนจากผู้ประกอบการ แต่การที่ผู้ประกอบการจะดำเนินงานได้ต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ เมื่อรู้ว่าจะมีการก่อตั้งโรงไฟฟ้าขยะ ชาวบ้านในพื้นที่คัดค้านเพราะพื้นที่ไม่เหมาะสม อยู่กลางชุมชน แต่สุดท้ายโรงงานก็ถูกอนุญาตให้ก่อตั้งโดย อบต.บางโทรัดและไม่มีการทำประชาคม มีมารับรองเพียง 126 คน และยังมีการทำรายงานการประชุมปลอมขึ้นมาให้ผู้ประกอบการเอาไปเสนอกับ อบต.ใช้เป็นเอกสารประกอบใบอนุญาตก่อตั้งอาคาร ซึ่งไม่มีความโปร่งใสมาตั้งแต่ต้น ต่อมาได้มีการลักลอบขนขยะสดเข้ามาคัดแยก ชาวบ้านเข้าแจ้งต่อ อบต. และผู้ใหญ่บ้านไปก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ สุดท้ายเปิดโรงงานคัดแยกขยะโดยไม่มีการฟังเสียงประชาชน

ประชาชนจากพื้นที่ ต.บางโทรัด จ.สมุทรสาคร กล่าวต่อว่า หลังจากที่โรงงานคัดแยกขยะเปิดมาได้ 1 ปี โรงงานเริ่มส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว เต็มไปด้วยแมลงวัน แมลงหวี่ดำก็กลายเป็นแมลงหวี่แดงที่เกิดจากการหมักหมมของจุลินทรีย์ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากบริษัทสมุทรสาคร เนเชอรัล คลีนที่บางโทรัดส่งไปถึงชาวเพชรบุรี การออกใบอนุญาตจากอบต.บางโทรัดไม่มีการตรวจสอบ โรงงานแจ้งว่าขยะที่คัดแยกแล้วจะเอาไปทิ้งอีกบริษัท แต่พอตรวจสอบกลับพบว่าบริษัทนั้นยังอยู่ในขั้นตอนของการก่อสร้างแต่กลับมีใบอนุญาตออกมาแล้ว จึงตามเรื่องต่อจนรู้ว่าทางโรงงานให้รถบรรทุกสิบล้อขนขยะไปทิ้งที่บ่อฝังกลบที่เพชรบุรี

“การที่หน่วยงานรัฐเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตนไม่ใช้ธรรมาภิบาลในการปกครองดูแลประชาชนในพื้นที่ ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ไม่เป็นไปตามขั้นตอนอย่างเสมอภาค หลังการเปิดกิจการไม่มีการตรวจสอบ ประชาชนมีเรื่องร้องเรียนก็ไม่มีการตรวจสอบที่ได้มาตรฐาน ณ เวลานี้ คนบางโทรัดต้องช่วยเหลือตัวเองทุกวิถีทาง ประชาชนที่หากินตามวิถีดั้งเดิมจะต้องเดือดร้อนกับนโยบายคำสั่ง 4/2559 ของ คสช.ไปอีกนานแค่ไหน” สุณิสา กล่าวทิ้งท้าย


รายงานข่าวโดย ทัศมา ประทุมวัน และอัจฉริยา บุญไชย เป็นนักศึกษาฝึกงานกับประชาไท ประจำปีการศึกษา 1/2561 จากคณะศิลปศาสตร์ สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.