Posted: 20 Jun 2018 08:29 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

เหล่าสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ รวมถึงเมลาเนีย ทรัมป์ ภริยาของประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ต่อต้านรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ กรณีพรากเด็กจากผู้ปกครองด้วยนโยบายกีดกันผู้อพยพโดยอ้างเรื่องการเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย นักวิชาการระบุ พูดเสียงเดียวกันแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ

20 มิ.ย. 2561 สื่อ NPR รายงานว่าสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งในสหรัฐฯ หลายคนประสานเสียงพร้อมกันในเรื่องนโยบายกีดกันผู้อพยพที่พรากลูกจากผู้ปกครอง โดยไม่เกี่ยงว่าจะมาจากฝ่ายพรรครีพับลิกันหรือพรรคเดโมแครต รวมถึงเมลาเนีย ทรัมป์ ภริยาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เองก็ออกมาเรียกร้องในประเด็นการพรากลูกด้วย

สเตฟานี กริสแฮม โฆษกของเมลาเนียแถลงว่าสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งผู้นี้ไม่ชอบที่จะเห็นเด็กถูกแยกจากครอบครัวของพวกเขา และเรียกร้องให้สหรัฐฯ ปกครองประเทศด้วยหัวใจ นอกจากนี้ยังแสดงความคาดหวังให้มีการปฏิรูปประเด็นผู้อพยพเข้าเมืองโดยอาศัยความร่วมมือจากทั้งสองฝ่าย ก่อนหน้านี้เมลาเนีย ทรัมป์ เคยมีการริเริ่มนโยบายที่ชื่อ "บีเบสต์" ซึ่งเน้นเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีของเด็ก

นอกจากเมลาเนียแล้ว อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งจากพรรครีพับลิกัน ลอรา บุช ก็เคยแสดงความคิดเห็นในสื่อวอชิงตันโพสต์และในทวิตเตอร์ระบุว่ าการพรากเด็กจากพ่อแม่ของพวกเขานั้นเป็นเรื่องโหดร้ายและไร้ศีลธรรม

ทางด้านอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งจากเดโมแครตก็กล่าววิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลทรัมป์อย่างรวดเร็วและทรงพลังยิ่งกว่าเหล่าสามีของพวกเธอ โดยที่มิเชลล์ โอบามา ภริยาของอดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา รีทวิตข้อความของเบตต์พร้อมระบุว่า "บางครั้ง ความจริงก็ก้าวข้ามพรรคการเมือง"

ฮิลลารี คลินตัน อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งและผู้สมัครลงเลือกตั้งประธานาธิบดีตัวแทนพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งปี 2559 เป็นหนึ่งในคนที่ต่อต้านนโยบายผู้อพยพแบบของทรัมป์เสมอมา เธอระบุวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นนี้หลายครั้งในช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ รวมถึงส่งเสริมให้ผู้สนับสนุนเธอบริจาคให้กับองค์กรด้านสิทธิผู้อพยพ

จากการวิพากษ์วิจารณ์ของพวกเธอทำให้สามีของพวกเธอออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายนี้ตาม เช่น อดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน ทวีตว่า "เด็กเหล่านี้ไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือต่อรอง" ในการถกเถียงเรื่องผู้อพยพ ขณะที่บารัก โอบามารีทวีตข้อความของมิเชลล์

โรซาลินน์ คาร์เตอร์ ภริยาของอดีตประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ก็ร่วมพูดถึงเรื่องนี้ในวันจันทร์ที่ผ่านมา (19 มิ.ย. 2561) ระบุว่านโยบายกีดกันผู้อพยพของรัฐบาลทรัมป์ "ช่างอัปยศและน่าละอายสำหรับประเทศพวกเรา"

มีคนตั้งข้อสังเกตว่านานๆ ครั้งถึงจะเห็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งออกมาพูดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งพร้อมๆ กัน ไปในทิศทางเดียวกัน ผู้ตั้งข้อสังเกตคือ ปีเตอร์ สเลวิน ศาตราจารย์ด้านวารสารศาสตร์และผู้เขียนหนังสือชีวประวัติของมิเชลล์ โอบามา ให้สัมภาษณ์ต่อ NPR ว่าสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งเหล่านี้มักจะใช้ความเสียงดังของตัวเองในการพูดเรื่องต่างกันออกไป หรือบางคนไม่ได้ใช้มันเลย มันจึงเป็นเรื่องพิเศษมากที่พวกเขาร่วมกันกล่าวโจมตีนโยบายของทรัมป์ สเลวินตั้งข้อสังเกตอีกว่าเมื่อเมลาเนียออกมาเรียกร้องให้เหล่าผู้นำภายใต้รัฐบาลของสามีตัวเองปกครองประเทศ "ด้วยหัวใจ" มากขึ้นมันก็แสดงให้เห็นว่าเมลาเนียมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งคนอื่นๆ มากกว่า

แต่ก็มีคำถามว่าการเรียกร้องจากพวกเธอจะได้ผลหรือไม่ จานน์ เอบรามส์ นักประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ บอกว่า สุภาพสตรีเหล่านี้มักจะมีบทบาทเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิดต่อสามีของพวกเธอและมักจะก้าวล้ำกว่าสามีของพวกเธอหนึ่งก้าวในประเด็นทางสังคม เช่น กรณีของอบีเกล อดัมส์ เคยเขียนจดหมายถึงสามีเธอ ประธานาธิบดีจอห์น อดัม ในเรื่องการเรียกร้องสิทธิสตรี และกรณีของ เอเลเนอร์ รูสเวลต์ ภริยาของธีโอดอร์ รูสเวลต์ ก็เคยเป็นผู้รณรงค์เรื่องสิทธิพลเมืองจนทำให้สามีของเธอรับประเด็นสิทธิพลเมืองเอาไว้ด้วย

ขณะเดียวกัน เอบรามส์ก็เตือนว่าขณะที่สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งคนอื่นๆ อาจจะค่อยๆ เปลี่ยนใจสามีของพวกเธอได้อย่างช้าๆ แต่กรณีของโดนัลด์ ทรัมป์ นั้นดูมีความดื้อด้านมากกว่าอดีตประธานาธิบดีคนอื่น

เรียบเรียงจาก

First Ladies Unite Against Separating Children At Border, NPR, Jun. 19, 2018

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.