Posted: 22 Jun 2018 07:01 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
ฐิตินันท์ เต็งอำนวย
ตอนนี้เรื่องโทษประหารเป็นประเด็นการถกเถียงที่ฮ็อตฮิตมาก ซึ่งเอาจริง มันเป็นประเด็นที่ไม่รู้จบ ไม่มีใครบอกได้ว่าคำตอบที่ถูกหรือผิดคืออะไร เพราะต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลของตัวเอง
นี่ตอนแรกก็ว่าจะไม่เขียนอะไรเรื่องนี้ เพราะชีวิต ป.เอกก็ยังกระดึ๊บๆ อยู่ ไม่ควรหาเรื่องงานงอกตอนนี้ 5555 มั่นใจว่าเดี๋ยวอีกไม่นาน น่าจะมีบทความวิชาการจากคณาจารย์ที่ศึกษาวิจัยเรื่องนี้ออกมาให้ได้ยลโฉมกันแน่นอน
ที่เขียนโพสต์นี้ ไม่ใช่จะแสดงความคิดว่าว่าควรมีโทษประหารหรือไม่นะคะ (อ้าว เดี๋ยวๆ อ่านก่อน อย่าเพิ่งหยุดตรงนี้) เพียงแต่เห็นว่า สำหรับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับโทษประหาร จะมีการยกเหตุผลเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิในการมีชีวิต ซึ่งเป็นเหตุผลทางวิชาการ มีทฤษฎีรองรับ
ส่วนฝ่ายที่เห็นด้วยกับโทษประหาร จำนวนนึงจะบอกว่าเฮ้ย ลองญาติคุณโดนฆ่าสิ หยุดโลกสวยได้แล้ว ฟีลลิ่งมันบอกอะ ว่าต้องมีโทษประหาร คนชั่วต้องได้รับผลกรรมดิ เดี๋ยวต่อไปอาชญากรก็เต็มบ้านเมืองถ้ายกเลิกโทษประหาร (ทุกวันนี้มีโทษประหาร อาชญากรรมยังเต็มไปหมดเลย 555) ซึ่งพอพูดแบบนี้ไป ก็จะโดนต่อว่ากลับว่าเถียงโดยใช้อารมณ์อี๊ก จริงๆ มันมีเหตุผลและทฤษฎีอยู่เบื้องหลังนะเออ
เพราะงั้น มาค่ะ!! เพื่อไม่ให้เถียงกันด้วยอารมณ์ เรามาจับทฤษฎีประกอบแหมะเข้าไปในการให้แสดงความคิดเห็นกันค่ะ บรรยากาศจะได้ไม่รุนแรงแล้วเกลียดชังกัน
ในวิชาอาญาหลักทั่วไป เราได้สอนเกี่ยวกับเรื่องโทษ และวัตถุประสงค์ของการลงโทษ มั่นใจว่านิสิตที่อ่านโพสต์นี้คงจำได้เนอะ (กรุณาตอบทีว่ายังจำมันได้อยู่)
วัตถุประสงค์ของการลงโทษมีหลายประการมากค่ะ ไม่ว่าจะเพื่อแก้ไขฟื้นฟูให้เขากลับมาเป็นคนดีของสังคม (rehabilitation) หรือเพื่อยับยั้งป้องปรามไม่ให้เกิดการกระทำความผิด (deterence) แต่หนึ่งในวัตถุประสงค์ที่เก่าแก่มีมาแต่ดั้งเดิมโบราณกาล คือการลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทน (retribution/retaliation/revenge)
"แก้แค้น" คำมันดูน่าตกใจ ดูโหดร้าย ฟีลลิ่งตาต่อตาฟันต่อฟันมาก นี่มันยุค 4.0 แล้ว จิตใจเราควรสูงส่งขึ้น ไม่แก้แค้นกันแล้วสิ!!
ทฤษฎีการลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทนนี้ปรับปรุงพัฒนาตามยุคสมัยแล้วค่ะ มันไม่ใช่ตาต่อตา ฟันต่อฟันละค่ะ แต่เป็นการลงโทษให้ได้สัดส่วนกับความผิดที่กระทำลงไป พวกตาต่อตา ฟันต่อฟันอะ เค้าเรียกว่า lex talionis บุร่ำบุราณมาก ปัจจุบัน modern retributivist จะใช้หลัก Just desert (ไม่ใช่แปลว่าแค่ทะเลทรายนะ เดี๋ยวก่อน) เป็นหลักที่ว่าต้องลงโทษให้ได้สัดส่วนกับความผิดที่กระทำลงไป (seeking proportionality) ไม่ใช่ exact vengeance แล้ว
ทำไมเราต้องแก้แค้นทดแทน?
เหตุผลประการหนึ่งเลยคือ เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคมค่ะ
กฎหมายมีขึ้นเพื่อให้สังคมเกิดความสงบเรียบร้อย ยังจำข่าวคดีข่มขืนกันได้ไหมคะ ที่สังคมออกมาเรียกร้องให้ ข่มขืน = ประหาร (ซึ่งอันนี้มันมีประเด็นของมันเองอีก ขอไม่พูดตรงนี้ เดี๋ยวจะยาว) หรือที่เกิดเหตุแก๊งวัยรุ่นรุมทำร้ายชายขายขนมปังจนเสียชีวิต
ตอนนั้นสังคมโกรธแค้นและประณามผู้กระทำความผิดอย่างรุนแรง เรียกร้องให้มีการประหาร เรียกร้องให้มีการลงโทษให้สาสม เนี่ยแหละค่ะคือสาเหตุที่ทฤษฎีการลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทน ยังคงมีอยู่ในทุกยุคสมัย ไม่ว่าจะ 4.0 หรือยุคเทียมเกวียน
ก็เพราะว่า หากกฎหมายไม่เข้ามาจัดการลงโทษให้ได้สัดส่วนกับความร้ายแรงในการกระทำของคนร้ายแล้ว คนอื่นในสังคมก็อาจรู้สึกได้ว่า อะไรฟระ!! โลกช่างไม่ยุติธรรม!! ทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว!!
และเมื่อกระบวนการทางกฎหมายไม่อาจเป็นที่พึ่งให้ได้ ไม่สามารถทำให้เหยื่อหรือคนในสังคมรู้สึกถึงความเป็นธรรมได้ เมื่อนั้นคนเหล่านั้นจะลุกขึ้นมาทำตนเป็นศาลเตี้ย ไม่ต้องรอกฎหมายจัดการมันแล้ว ไม่ต้องแจ้งตำรวจ ไม่ต้องฟ้องศาลหรอก ฆ่ามันเองซะเลย (ฟีลลิ่งละครเรื่องล่าจะมา) และสังคมก็จะไม่มีขื่อมีแป เละเทะไปหมด เพราะเหตุนี้ ระบบกฎหมายจึงต้องเข้ามาจัดการแก้แค้นทดแทนให้ ก็เพื่อให้เกิดความสงบสุขเนี่ยแหละค่ะ เพื่อไม่ให้คนดี กลับกลายเป็นคนทำผิดเสียเอง และเพื่อไม่ให้ประชาชนสูญสิ้นศรัทธาในการทำดี ละเว้นความชั่ว
ใช่ค่ะ มันก็จะมีเหตุผลแย้งได้ว่า คนร้ายฆ่าคน เป็นสิ่งไม่ดี แต่เราไปฆ่าเพื่อแก้แค้น เราก็เลวไม่ต่างจากเค้า ความคิดเช่นนี้ก็ไม่ใช่ไม่จริงนะคะ แต่ทุกท่านคงเห็นแล้ว ว่าตอนนี้บรรยากาศเวลาถกเถียงเรื่องนี้เป็นยังไง มันจะมีถ้อยคำที่ว่า "ลองเป็นครอบครัวคุณโดนฆ่าสิ" คำเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ปฏิกิริยาตอบสนองของมนุษย์ไม่เหมือนกัน ตัวเราอาจให้อภัยคนร้ายได้ แต่คนจำนวนหนึ่งก็รู้สึกไม่เป็นธรรม ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้คนเหล่านั้นลุกขึ้นมาจัดการเป็นศาลเตี้ยจนสังคมวุ่นวาย กฎหมายจึงยังคงไว้ซึ่งการลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทน และนั่นคือสาเหตุที่โทษประหารยังคงมีอยู่ (แม้จะไม่ค่อยได้บังคับใช้นักก็ตาม)
เหตุผลอีกประการหนึ่งของการลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทนคือ เพื่อให้เกิดจุดสมดุลทางสังคม (social equilibrium)
เรื่องของเรื่องคือ เราทุกคนในสังคม ยอมสละสิทธิเสรีภาพบางส่วนให้แก่รัฐ ยอมเคารพกฎเกณฑ์ที่รัฐกำหนดขึ้น เพื่อให้สังคมเป็นระเบียบเรียบร้อย คนที่ไม่เคารพกฎเกณฑ์เหล่านั้น หากไม่ได้รับการลงโทษอย่างได้สัดส่วนกับการกระทำชั่วแล้ว นั่นแปลว่าคนที่เคารพกฎหมายขาดทุน คนทำชั่วได้กำไร (ขอพูดง่ายๆ แบบนี้เนอะ) เพราะงั้น ต้องมีการลงโทษให้ได้สัดส่วน เพื่อดึงให้เกิดสมดุลทางสังคมขึ้น
นี่เป็นเหตุผลหลักบางประการค่ะ ที่ทำให้ไม่ว่าประเทศจะพัฒนาไปแค่ไหน ไม่ว่าเราจะมีมาตรการบำบัดฟื้นฟูผู้กระทำความผิดเพิ่มขึ้นมา เพื่อสร้างคนดีคืนสู่สังคม แต่การลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทนก็ยังคงมีอยู่ เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคมนั่นเอง
ทีนี้จะแก้แค้นทดแทนแค่ไหน จุดไหนคือได้สัดส่วน ต้องถึงขั้นประหารชีวิตไหม ก็ต้องนำมาชั่งน้ำหนักกับเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิในการมีชีวิตอีก มีอะไรอีกมากมายให้เราเถียงกันเพื่อเสริมสร้างปัญญาไปเรื่อยๆ
สรุป ที่เขียนโพสต์นี้ เพราะอยากเสริมให้เราเอาหลักการและเหตุผลของการแก้แค้นทดแทนมาพิเคราะห์กันด้วยค่ะ ต่อไปถ้าจะเถียง เราจะได้ไม่ใส่อารมณ์กัน เราใส่ทฤษฎีและเหตุผลกันไปค่ะ ฉลาดสวยดูดีมีคุณค่า เรื่องนี้เคยให้เอามาถกเถียงเล่นๆ ในคาบกฎหมายอาญาภาคภาษาอังกฤษกับรุ่น 57 แล้ว สนุกสนานเมามันนะ ขอบอก
จบโพสต์ที่ยาวมาก และเป็นการอู้งานปอเอกโดยหลอกตัวเองเบาๆ ว่านี่เป็นการเล่นเฟสบุ๊คมีสาระทางวิชาการ 555555
ที่มา: Facebook Thitinant Tina Tengaumnuay
แสดงความคิดเห็น