Posted: 20 Jun 2018 12:18 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

ธีรวัฒน์ ขวัญใจ

การบังคับโทษประหารชีวิตที่ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปีเมื่อเย็นวานนี้ ก่อให้เกิดกระแสในสังคมออนไลน์ที่น่าสนใจและน่าหนักใจพอสมควรสำหรับนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและคนทำงานด้านสันติวิธีในประเทศไทย

ปรากฏการณ์ที่เราเห็นคือดูเหมือนผู้ใช้โซเชียลส่วนใหญ่จะเห็นคล้อยตามหรือสนับสนุนการนำโทษนี้กลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการเรียกร้องให้นำมาใช้ให้มากขึ้น พร้อมกันนั้นบางส่วนก็แซะนักสิทธิฯ ที่ออกมาวิจารณ์หรือเคลื่อนไหวเรื่องนี้ ทำนองว่าดีแต่เรียกร้องสิทธิให้อาชญากร ไม่สนใจฝ่ายที่ตกเป็นเหยื่อ หนักหน่อยก็มีสาปแช่งให้นักสิทธิฯ เหล่านั้นตกเป็นเหยื่อเสียเอง เอาเป็นว่างานนี้นักสิทธิฯ ตกเป็นผู้ร้าย (อีกแล้ว) ในขณะที่กระทรวงยุติธรรมเป็นพระเอกหล่อ ๆ มีทิ้งท้ายได้ใจคนไทยไปอีก

อันที่จริงเรื่องนี้ก็เดาได้ไม่ยากว่ากระแสสังคมไทยจะเป็นไปในทางใด และใครก็ตามที่ออกมาสวนกระแสนี้ก็คงต้องทำใจกับการถูกบูชายัญในข้อหาลิเบอรัลจนเกินขอบเขต จนบางคนก็อาจเลือกเงียบเสียดีกว่าไม่เปลืองตัว ถ้าจะพยายามวิเคราะห์ว่าปรากฏการณ์นี้เกิดจากอะไร ใคร ๆ ก็คงพอเห็นได้ว่ามันสะท้อนให้เห็นว่าคนในสังคมจำนวนมากกำลังรู้สึกอัดอั้นกับความล้มเหลวของการบังคับใช้กฎหมาย รู้สึกโกรธเกรี้ยวต่ออาชญากรรมที่ละเมิดต่อความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน (ที่อาจกระทบถึงตัวเราเข้าสักวัน) ตลอดจนความรู้สึกทางศีลธรรมที่ต้องการให้กฎแห่งกรรมทำงานอย่างทันตาเห็น ฯลฯ ความโกรธเกรี้ยวเหล่านี้ย่อมบรรเทาเบาบางลงเมื่อได้เห็นอาชญากรกำลังได้รับโทษอย่างสาสมด้วยโทษหนักที่สุด (แม้บางคนอาจเห็นว่าฉีดยาเป็นโทษที่ทรมานน้อยไปก็ตาม) หลายคนจึงช่วยไม่ได้ที่จะไม่สบอารมณ์นักสิทธิฯ ที่ออกมาคัดค้านเรื่องนี้

ผมไม่ใช่นักอาชญาวิทยาและมีความรู้ด้านนี้น้อยมาก แต่ก็พอจำได้ราง ๆ ว่านี่คือวัตถุประสงค์ที่เก่าแก่สุดของการมีการลงโทษ คือการแก้แค้นทดแทน ซึ่งมันใช้กันมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์อย่างที่กฎหมายโบราณใช้วิธีตาต่อตา ฟันต่อฟัน เมื่อได้แก้แค้นแล้วก็รู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรมกลับคืนมา (แม้ว่าการแก้แค้นนั้นจะไม่ได้มีผลทำให้ตนเองได้รับการเยียวยาความเสียหายอย่างใด ๆ เลยก็ตาม) เมื่ออาชญากรเป็นผู้ละเมิดความสงบสุขร่วมกันของสังคม การลงโทษประหารชีวิตอาชญากรก็คือการที่รัฐทำหน้าที่แก้แค้นแทนพวกเราทุกคนนั่นเอง เราจึงมีความรู้สึกพออกพอใจและรู้สึกว่าเราได้รับความยุติธรรมกลับคืนมา แม้ว่าเราจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นเลยก็ตาม พร้อมกันนั้น การลงโทษที่รุนแรงในลักษณะนี้ก็ยังเป็นการกำจัดบุคคลที่ไม่พึงประสงค์ออกจากสังคม และเป็นการป้องปรามผู้อื่นไม่ให้ดูเป็นเยี่ยงอย่างอีกด้วย ดังนั้นในสมัยโบราณการประหารชีวิตอาชญากรจึงต้องทำอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ และยิ่งเป็นโทษอุกฉกรรจ์เท่าใดวิธีการประหารก็ยิ่งทารุณขึ้นเท่านั้น

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ทฤษฎีอาชญาวิทยาในอีกกระแสหนึ่งมองว่าการลงโทษควรมีเป้าหมายเพื่อการขัดเกลาบุคคลเหล่านี้ ในฐานะเป็นสมาชิกของสังคมที่กระทำผิดพลาดไป จึงควรให้โอกาสเขาได้มีโอกาสปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และเมื่อพร้อมที่จะกลับคืนสู่สังคมก็จะกลายเป็นสมาชิกของสังคมที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาซ้ำใหม่ แนวคิดนี้อาจมีมูลเหตจูงใจจากการที่เห็นว่า การกระทำของปัจเจกหนึ่ง ๆ นั้นเกิดจากหลายปัจจัยที่สังคมต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วย เช่น การที่เด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้นจนกลายเป็นอาชญากร ก็ต้องทบทวนด้วยว่าเด็กคนนี้เติบโตมาในครอบครัวแบบไหน ในสภาพแวดล้อมแบบใด เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพหรือไม่ ฯลฯ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มิใช่เรื่องที่ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยวตัดขาดจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม และเป็นเรื่องใหญ่โตเกินกว่าที่จะชี้นิ้วหาสาเหตุกันง่าย ๆ ที่ "สันดานอาชญากร" ของบุคคลอย่างเดียว แนวคิดนี้จึงไม่เห็นด้วยกับการลงโทษประหารชีวิต เพราะนั่นคือการตัดโอกาสการกลับเนื้อกลับตัวของคนอย่างสิ้นเชิง ยังไม่นับปัญหาในเชิงปฏิบัติในเรื่องความถูกต้องแน่นอนของกระบวนการยุติธรรม ที่อาจมีความเสี่ยงที่จะมีความผิดพลาดจนมี "แพะ" เกิดขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่เงินและอิทธิพลซื้อได้ทุกอย่างเช่นประเทศไทย

ที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า แม้แต่ทฤษฎีทางอาชญาวิทยาก็ยังมีความเห็นแตกต่างกันในแนวทางของการลงโทษ ไม่นับถึงข้อถกเถียงในเชิงหลักการกฎหมาย ที่ว่า สัญญาประชาคมที่มอบอำนาจให้รัฐมีอำนาจเหนือพลเมืองนั้น รวมถึงอำนาจที่จะปลิดเอาชีวิตของพลเมืองไปหรือไม่ หรือมีความชอบธรรมอย่างไรที่รัฐจะไปกระทำตัวเยี่ยงเดียวกับอาชญากรที่ผลาญชีวิตผู้อื่น โดยการที่รัฐเป็นผู้ลงมือผลาญชีวิตเสียเอง แม้จะเป็นชีวิตของอาชญากรก็ตาม นอกจากนั้น การต้องรักษาโทษประหารชีวิตไว้เพื่อข่มขู่มิให้มีผู้คิดกระทำตามก็สะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐและสังคมนั้นในการกล่อมเกลาพลเมืองของตน จนถึงกับต้องใช้การข่มขู่ด้วยโทษประหารแทน ด้วยเหตุนี้กระมัง จึงเห็นว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้จึงมีแนวโน้มที่จะเลิกการลงโทษประหารชีวิต ไม่ว่าจะด้วยการยอมรับในกฎหมายหรือในทางปฏิบัติก็ตาม

ในกรณีของประเทศไทยนั้น ผมไม่มีความรู้มากพอที่จะบอกได้ว่า เราควรจะยกเลิกการใช้โทษประหารชีวิตได้แล้วหรือยัง (แม้โดยส่วนตัวหลายท่านก็คงเดาได้ว่าผมเห็นว่าอย่างไร) แต่ที่เห็นจากข้อถกเถียงตอบโต้ของฝั่งที่สนับสนุนโทษประหารก็จะเป็นเหตุผลหลักในการป้องปรามมิให้มีผู้เอาเยี่ยงอย่าง ถ้าด้วยเหตุผลนี้จริงก็น่าจะต้องศึกษากันอย่างเป็นระบบสักที (หากมีใครทำแล้วก็ต้องขออภัย) ถึงปัจจัยในการก่ออาชญากรรมของอาชญากร น่าจะลองไปเก็บข้อมูลดูว่าอาชญากรในขณะที่ก่อเหตนั้น ได้คิดถึงโทษที่จะได้รับหรือไม่ ถ้าหากผลออกมาเป็นว่าส่วนใหญ่ไม่ได้คิดถึงโทษที่จะได้รับเลย หรือคำนึงถึงแล้วแต่ก็ยังทำ ก็ต้องแปลว่าต่อให้กำหนดโทษให้หนักก็ไม่มีผลในการป้องปรามการกระทำผิดแต่อย่างใด กรมราชทัณฑ์น่าจะลองให้สถาบันการศึกษาทำการวิจัยเรื่องนี้กับนักโทษเด็ดขาดดูนะครับว่าเขารู้สึกอย่างไรในขณะที่ลงมือ จะได้ใช้เป็นข้อมูลตัดสินใจในเรื่องนี้ ซึ่งน่าจะดีกว่าการนั่งนึกเอาเองว่าช่วยได้หรือช่วยไม่ได้

นอกจากนี้ เคยอ่านพบจากที่ไหนสักแห่งว่า การมีโทษหนักไม่ได้มีผลในการป้องปรามการก่ออาชญากรรม ตราบใดที่กระบวนการยุติธรรมยังด้อยประสิทธิภาพในการนำตัวผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดี พูดง่าย ๆ ก็คือหากก่อเหตุแล้วมีโอกาสที่จะหลุดรอดมากกว่าถูกดำเนินคดี ผู้ก่อเหตุก็จะคิดเข้าข้างตัวเองเสมอว่าเราจะรอด นี่ยังไม่รวมความบิดเบี้ยวในกระบวนการยุติธรรมที่อาจเกิดขึ้นได้ในแต่ละขั้นตอน จนกระทั่งสุดท้ายมีความผิดจริงก็อาจไม่ต้องได้รับโทษหรือได้รับโทษน้อยกว่าที่ควรจะเป็น นี่มิใช่หรือปัญหาใหญ่ของสังคมไทยที่เราเห็นกันอยู่เสมอ ๆ การฝากความหวังไว้กับการมีโทษประหารชีวิตว่าจะช่วยทำให้อาชญากรยับยั้งชั่งใจในการก่อเหตุจึงอาจไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปของปัญหา ตราบใดที่ปัญหาใหญ่ในกระบวนการบังคับใช้กฎหมายังคงอยู่ การวุ่นวายอยู่กับเรื่องโทษประหารชีวิตอาจกลายเป็นเหมือนยันต์กันผีที่มีเอาไว้อุ่นใจคนเป็น แต่ไม่มีประโยชน์ใด ๆ ก็ได้

ท้ายที่สุด ผมคงไม่ประสงค์จะถกเถียงกับใคร ๆ ในประเด็นนี้ แต่ไหนๆ เราก็มีการประหารชีวิตกันไปแล้ว ก็น่าจะใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ในการช่วยกระทุ้งให้สังคมไทยกลับไปดูปัญหาเรื่องนี้ตรงที่รากเหง้าของกระบวนการทัณฑวิทยาของไทย ตั้งแต่การขัดเกลาเยาวชนผู้กระทำผิดของสถานพินิจ กระบวนการขัดเกลาผู้ต้องโทษในเรือนจำของราชทัณฑ์ การรอการลงโทษ การลดโทษ การอภัยโทษ การดูแลผู้กระทำผิดหลังจากพ้นโทษ ฯลฯ เพื่ออุดช่องว่างที่ทำให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ หรือป้องกันมิให้เยาวชนที่ผ่านสถานพินิจกลายมาเป็นอาชญากรเต็มตัวในอนาคต และในฐานะนักกฎหมาย ผมเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เกี่ยวข้องเฉพาะแต่นักสิทธิมนุษยชน แต่มันคือสิ่งที่นักกฎหมายควรให้ความรู้แก่สังคมและยกเป็นวาระให้สังคมร่วมกันคิดและทำเพื่อกระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปในเรื่องเหล่านี้อย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นประโยชน์กว่าการตามกระแสสังคมด้วยการเห็นดีเห็นงามกับการประหารชีวิตเสียท่าเดียว




เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Teerawat Kwanjai

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.