Posted: 17 Jun 2018 07:56 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

คลิปวิดีโอที่เผยให้เห็นสภาพการทำงานเสี่ยงตายบนตึกสูงในกัวลาลัมเปอร์โดยไม่มีระบบป้องกันภัย โดยสถิติรอบ 2 เดือนที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากการทำงาน 71 ราย ในจำนวนนี้ 32 รายเสียชีวิตจากงานก่อสร้าง และดูเหมือนรัฐบาลมาเลเซียจะไม่สนใจป้องกันแก้ไข โดยเฉพาะกับสวัสดิภาพของแรงงานข้ามชาติ

17 มิ.ย. 2561 ในหน้าโซเชียลมีเดียของชาวมาเลเซียมีการเผยแพร่วิดีโอที่สะท้อนให้เห็นการทำงานภายใต้สภาพเสี่ยงอันตรายของคนงานก่อสร้าง วิดีโอดังกล่าวเผยแพร่ในเฟสบุ๊คระบุข้อความใต้วิดีโอว่า "เพื่อที่จะมีรายได้เลี้ยงชีวิต" เผยให้เห็นคนงานก่อสร้างบนนั่งร้านทำงานกับตึกที่มีความสูงเสียดฟ้า พวกเขาทำงานโดยต้องเดินไปมาบนแท่งเหล็กหลายๆ แท่งที่เอามาเรียงกันเหมือนเป็นสะพานเชื่อม ดูแล้วขาดความปลอดภัยและชวนให้หวาดเสียวเพราะถ้าหากพลาดพลั้งขึ้นมาก็จะกลายเป็นหายนะ

เว็บไซต์ France 24 ทำการสำรวจวิดีโอดังกล่าวเพื่อระบุว่าเป็นวิดีโอที่ถ่ายจากที่ไหนของมาเลเซียกันแน่ พวกเขาสังเกตเห็นว่าฉากหลังของวิดีโอมีอาคารอย่างตึกคู่ของปิโตรนาส และโรงแรมแพลตตินัมโฮเทลทำให้ลงความเห็นว่าเป็นฉากที่เกิดขึ้นในกรุงกลัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย สื่อต่างประเทศพิจารณาจากฉากหลังโดยรอบร่วมกับแผนที่แล้วลงความเห็นว่าอาจจะเป็นตึกสูงแห่งหนึ่งบนถนนอัมปังติดกับซันเดย์ทาวเวอร์

ถึงแม้ว่าจะไม่มีข้อมูลออนไลน์ระบุได้ชัดเจนว่าสภาพการทำงานเสี่ยงภัยเช่นนี้เกิดขึ้นที่ตึกใด แต่เรื่องนี้ก็สะท้อนให้เห็นเรื่องปัญหาสภาพการจ้างงานที่เกิดขึ้นทั่วไปในมาเลเซีย นักข่าวและทนายความด้านสิทธิมนุษยชนในมาเลเซียเปิดเผยว่าพวกเขามักจะเห็นไซต์ก่อสร้างที่ละเลยความปลอดภัยขั้นพื้นฐานแบบนี้อยู่บ่อยครั้ง

เอนรา มาห์ยูนี นักข่าวมาเลเซียกล่าวว่า วิดีโอนี้ไม่ได้นำเสนออะไรที่ต่างไปจากสภาพทั่วไปที่เห็นได้ในมาเลเซียสักเท่าใด การก่อสร้างในมาเลเซียมักจะขาดมาตรการด้านความปลอดภัยอยู่แล้ว มาห์ยูนีกล่าวอีกว่าคนทำงานก่อสร้างส่วนใหญ่มากจะมาจากบังกลาเทศ, อินโดนีเซีย, เวียดนาม และพม่า ปัญหานี้ไม่ได้มาจากการไม่มีกฎหมายคุ้มครองคนงาน แต่ขาดการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องนี้มากกว่า

ข้อมูลสถิติจากทางการมาเลเซียเองก็แสดงให้เห็นถึงปัญหานี้ โดยที่กรมด้านความปลอดภัยและสุขภาวะในอาชีพการทำงานของมาเลเซียระบุว่าในช่วง 2 เดือน ที่ผ่านมา มีคนงานเสียชีวิตไปแล้ว 71 ราย ในจำนวนนั้นมี 32 รายที่เป็นคนงานภาคส่วนการก่อสร้าง นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุของคนงานในมาเลเซียเพิ่มมากขึ้นในปี 2559 คือ ในจำนวนคนงาน 100,000 ราย มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 4.84 ราย เมื่อเทียบกับสถิติปี 2557 ที่มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 4.21 ราย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว สิงคโปร์มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 1.2 ราย และตัวเลขโดยเฉลี่ยของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปอยู่ที่ 1.5 ราย

ชาร์ล เฮกเตอร์ ทนายความด้านสิทธิแรงงานในมาเลเซียกล่าวว่า ปัญหานี้มาจากการที่รัฐบาลไม่ได้มองเรื่องความปลอดภัยมาเป็นอันดับแรก กระทรวงทรัพยากรมนุษย์ไม่เคยเผยแพร่สถิติเรื่องการตรวจตราความปลอดภัยในที่ทำงานเลย อีกทั้งเฮกเตอร์ยังสงสัยอีกว่าอาจจะมีการติดสินบนและทุจริตคอร์รัปชันเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ด้วย

เฮกเตอร์เปิดเผยอีกว่าในมาเลเซียมีแรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายมากกว่า 2 ล้านคน และมีแรงงานที่ยังไม่มีเอกสารอนุญาต 5 ล้านคน กลุ่มหลังจะไม่มีสิทธิอะไรเลย พวกเขาร้องเรียนอะไรก็จะถูกนายจ้างสั่งไล่ออกหรือเสี่ยงถูกจักขังคุกหรือไล่ออกจากประเทศ ระบบของรัฐเอื้อให้นายจ้างข่มเหงรังแกลูกจ้างอย่างอ้อมๆ รวมถึงทำให้นายจ้างไม่ต้องรับผิดชอบเมื่อลูกจ้างคนข้ามชาติเสียชีวิต อีกทั้งนายจ้างยังมองว่าการจ่ายค่าชดเชยราคาถูกกว่าการจ่ายเพื่อเพิ่มมาตรการความปลอดภัย

อีกเรื่องหนึ่งคือกฎหมายที่ทำให้บริษัทก่อสร้างจ้างงานจากซับคอนแทร็กหรือการจ้างเหมาช่วงซึ่งมีขึ้นตั้งแต่ปี 2549 ทำให้สถานการณ์ในเรื่องนี้แย่ลง เฮกเตอร์จึงเสนอแนะว่าถ้าจะแก้ปัญหาในเรื่องนี้ควรจะมีการยกเลิกกฎหมายที่ให้จ้างแบบซับคอนแทร็กเสียก่อนแล้วให้บริษัทจ้างคนงานโดยตรง

องค์กรสิทธิมนุษยชนแอมเนสตียังเคยเผยแพร่รายงานเรื่องสถานการณ์ที่ย่ำแย่ของคนงานข้ามชาติในมาเลเซียเมื่อปี 2553 ระบุว่าคนงานเหล่านี้ต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการถูกยึดพาสปอร์ต การถูกกดขี่ค่าแรง การใช้แรงงานเด็กที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์ การบังคับใช้แรงงาน และสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย

เรียบเรียงจาก

Chilling video reveals perils of construction work in Malaysia, France24 ,08-06-2018[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.