Posted: 22 Jun 2018 07:54 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

ชาญณรงค์ บุญหนุน

หากพิจารณาจากบริบทของพุทธศาสนา โลกของวัตถุและทรัพย์สินในโลกของฆราวาสมีความสำคัญในระดับพื้นฐานในฐานะองค์ประกอบสำคัญที่จะอำนวยให้ดำรงชีวิตอย่างมีความสุข มนุษย์เกิดขึ้นมาท่ามกลางธรรมชาติหลากหลายแต่ความต้องการของมนุษย์กลับหลากหลายและมากยิ่งกว่าจำนวนธรรมชาติที่มีอยู่ และภายใต้ศักยภาพของมนุษย์ที่แตกต่างกัน การแย่งชิงประโยชน์จากทรัพยากรระหว่างมนุษย์เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้เนื่องจากมนุษย์มีความโลภอยู่ในเรือนใจ การแบ่งปันทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตเพื่อกันและกันจึงเป็นอุดมคติที่พุทธศาสนาบรรจุไว้ในคำสอนเรื่องบุญกิริยาวัตถุ 3 ประการ ได้แก่ บุญที่สำเร็จด้วย “ทาน ศีล ภาวนา” แต่การจะให้การแบ่งปันเกิดขึ้นอย่างถ้วนทั่วระหว่างมนุษย์ด้วยกันในความเป็นจริงนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยการพัฒนาคุณลักษณะส่วนตัวในปัจเจกบุคคลเพียงอย่างเดียว

ผู้นำรัฐจึงมีบทบาทสำคัญที่จะส่งเสริมให้พลเมืองมีหลักประกันว่า “ทุกคนจะมีวัตถุปัจจัยเลี้ยงชีวิตอย่างเพียงพอและเท่าเทียม” โดยผู้นำรัฐมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนให้พลเมืองภายในรัฐสามารถประกอบอาชีพตามความถนัดอันจะช่วยให้มีโภคทรัพย์พอหล่อเลี้ยงชีวิตของตนและผู้อื่นที่เกี่ยวข้องได้โดยไม่ละเมิดบรรทัดฐานของสังคม ภายใต้หลักความเที่ยงธรรมแห่งรัฐและมีผู้นำที่ดี ครอบครัวอันเป็นหน่วยพื้นฐานของสังคมก็จะมั่นคงและมีความสุข พุทธศาสนายังเชื่อว่า เมื่อสังคมปลอดภัย ความสุขในครอบครัวจึงอาจเป็นไปได้ ผู้นำระดับครอบครัวเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้สังคมโดยรวมธำรงรักษาระเบียบระบบของสังคมที่ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนแต่ยังเป็นประโยชน์สำหรับตัว “คหปติ” เองด้วยเพราะภายใต้ความสงบสุขของสังคมโดยรวมและมีความเที่ยงธรรม เขาจึงอาจปฏิบัติความสัมพันธ์กับคนภายในครอบครัวและนอกครอบครัวได้อย่างปกติ สม่ำเสมอและถ้วนทั่ว

ทั้งนี้พุทธศาสนาเชื่อว่า รูปแบบการใช้ชีวิตเหมาะสม การแสวงหาทรัพย์สินและได้มาในทางที่ชอบธรรม การใช้จ่ายทรัพย์ในทางที่ถูกต้อง มีความเที่ยงธรรมในการปฏิบัติความสัมพันธ์เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้เขาดำเนินบทบาทการเป็นผู้นำครอบครัวที่ดีงามได้ ภายใต้บริบทดังกล่าวนี้เองที่เขาจะสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางศาสนาที่ตนนับถือหรือที่เป็นค่านิยมในสังคมที่เขาเป็นสมาชิกด้วยการบริจาคทรัพย์หรือบำเพ็ญกุศลที่เป็นคุณประโยชน์แก่ผู้บำเพ็ญตนเพื่อเป้าหมายสูงสุดทางศาสนา

จุดเชื่อมโยงระหว่างโลกฆราวาสกับพระสงฆ์ก็คือ พุทธศาสนายอมรับคติแบบอินเดียโบราณที่สมณะและพราหมณ์เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในเรื่องการแสวงหาความรู้ การขัดเกลาตนเองเพื่อบรรลุธรรมสูงสุดและการชี้นำสั่งสอนจริยธรรมหรือการให้การศึกษาแก่พลเมือง ในบริบทของอินเดีย ผู้นำในเชิงจิตวิญญาณไม่เพียงแต่แสดงออกด้วยการมีจิตใจอันบริสุทธิ์ มีเมตตาและความสามารถในการให้การศึกษาอบรม ชี้นำหนทางแห่งอนาคต แต่ยังต้องมีรูปแบบวิถีชีวิตที่แตกต่างจากฆราวาสทั่วไป ชีวิตที่ยากจนหรือครอบครองความเรียบง่าย มีอิสระในการดำเนินชีวิต ปราศจากข้อผูกพันในบ้านเรือน ทรัพย์สินและกามารมณ์จึงเป็นแบบอย่างที่เกื้อกูลต่อทั้งต่อตนเองและคนอื่นในฐานะผู้ที่จะนำตนเองสู่เป้าหมายทางศาสนาและนำทางผู้อื่นสู่หนทางอันดีงาม ดังนั้น พระสงฆ์จึงต้องมีทรัพย์สินเท่าที่จำเป็นต่อการยังอัตภาพให้เป็นไปได้ด้วยดีเท่านั้น บาตรและจีวรเป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะทำให้บรรพชิตหรือพระสงฆ์มีชีวิตอยู่ได้โดยปกติสุข ที่อยู่อาศัยหรือเสนาสนะที่เป็นถาวรวัตถุนั้นจำเป็นเฉพาะช่วงเวลาที่ต้องพักจำพรรษาตลอด 3 เดือน ชีวิตแบบสมณะที่ต้องสัญจรแสวงหาความรู้และความหลุดพ้นไม่ต้องการทรัพยากรใหญ่โตและสิ้นเปลือง ทรัพยากรที่จะได้รับก็จึงต้องอาศัยฆราวาสผู้เลื่อมใสศรัทธา

การที่พระพุทธเจ้าทรงประสงค์ให้ภิกษุมีชีวิตที่สัปปายะพอที่จะบำเพ็ญสมณธรรมได้สะดวกและเพื่อตอบสนองต่อศรัทธาที่ของฆราวาสผู้ปรารถนา “สวรรค์” พระพุทธเจ้ายอมให้ภิกษุรับวัตถุปัจจัยจากฆราวาสผู้แสวงบุญในศาสนาได้ แต่วัตถุสิ่งของหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการทำบุญที่เกินจากบาตรและจีวรนั้นตกเป็น “สมบัติส่วนรวม” ที่ชุมชนสงฆ์ใช้ร่วมกัน นี่คือจุดที่อาจเรียกว่าเป็นทางสายกลางระหว่างชีวิตที่แสวงหาความหลุดพ้น ชีวิตที่ปราศจากความยึดมั่น และบริสุทธิ์กับการถือครองทรัพย์สินอันอาจทำลายเป้าหมายการดำเนินชีวิตของสมณะ ด้วยทรงหวังว่าจารีตดังกล่าวนั้นจะยังช่วยให้พระสงฆ์ดำรงความเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ เป็นนาบุญของฆราวาสผู้มุ่งแสวงบุญในศาสนาและดำเนินวิถีชีวิตเป็นอาจเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ปรารถนาจะก้าวออกจากพันธะทางสังคมและครอบครัว

ในขุททกขันธกะ มีกรณีที่น่าสนใจเกิดขึ้นและน่าจะสะท้อนแนวคิดสำคัญของพุทธศาสนาเกี่ยวกับสิ่งของหรือวัตถุใช้สอยที่เป็นทรัพย์สินที่มีค่ามีราคาที่เหมาะสมแก่พระสงฆ์

มีเรื่องเล่าว่า เศรษฐีได้ปุ่มไม้แก่นจันทร์ที่มีค่ามากมา จึงให้กลึงเป็นบาตรเพื่อถวายแก่นักบวช ส่วนผงไม้จันทร์เก็บไว้ใช้เป็นยา เมื่อกลึงไม้แก่นจันทร์เป็นบาตรเสร็จแล้วจึงใส่สาแหรกแขวนไว้ที่ปลายไม้ไผ่ซึ่งผูกต่อกันสูงขึ้นไปเหนือปราสาทของตน ประกาศว่า สมณะหรือพราหมณ์รูปใดเป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์จงเหาะขึ้นไปปลดบาตรนั้นแล้วนำไปใช้เถิด หลายวันผ่านไปไม่มีท่าทีว่าจะมีพระอรหันต์ที่มีฤทธิ์ใดเหาะขึ้นไปนำบาตรลงมา วันหนึ่งพระโมคคัลลานะและพระปิณโฑลภารทวาชะไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์พระปิณโฑลภารทวาชะกล่าวแก่พระโมคคัลลานะว่าบาตรนั้นเหมาะจะเป็นของพระโมคคัลลานะเพราะเป็นพระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์ แต่พระโมคคัลลานะไม่ต้องการจึงบอกว่าควรจะเป็นของพระปิณโฑลทวาชะเพราะเป็นพระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์เช่นกัน พระปิณโฑละจึงเหาะขึ้นไปปลดบาตรนั้นลงมาโดยเหาะเวียนรอบกรุงราชคฤห์ถึงสามรอบก่อนจะเข้าไปรับบิณฑบาตในบ้านเศรษฐีคนดังกล่าวแล้วเดินทางกลับไปยังอาราม เมื่อผู้คนเห็นเช่นนั้นจึงติดตามท่านไป เสียงอื้ออึงทำให้พระพุทธเจ้าทรงสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น

เมื่อพระอานนท์กราบทูลที่มาของเสียงอื้ออึงดังกล่าวทราบแล้ว พระองค์จึงตรัสเรียกพระปิณโฑละมาเข้าเฝ้าทรงตำหนิว่า ท่านได้กระทำในสิ่งที่ไม่สมควร ไม่เหมาะสม ไม่คล้อยตาม ไม่ใช่กิจของสมณะ “ภารทวาชะ ไฉนเธอจึงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเป็นอุตริมนุสสธรรมแก่คนทั้งหลายเพราะเหตุแห่งบาตรไม้ไม่มีค่าเล่า การที่เธอแสดงปาฏิหาริย์เพราะเหตุแห่งบาตรไม้ที่ไม่มีค่านี้ เปรียบเหมือนกับมาตุคามแสดงของที่ควรปกปิดเพราะเห็นแก่เงินเล็กน้อยฉะนั้น ภารทวาชะ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำให้คนที่ยังไม่เลื่อมใสเกิดความเลื่อมใส แต่ประการใด” พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามไม่ให้ภิกษุใช้บาตรไม้ ส่วนบาตรไม้แก่นจันทร์ที่พระปิณโฑละได้มาจากเศรษฐีนั้น ทรงให้ทำลายเสีย บดให้ละเอียดแล้วใช้เป็นยาหยอดตาของภิกษุทั้งหลาย

“ไม้แก่นจันทร์” เป็นของมีคุณค่ามากในวิถีความคิดของชุมชนอินเดียโบราณทั้งนี้เพราะใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคตาได้ แต่พอนำมาทำเป็น “บาตร” พระพุทธเจ้ากลับทรงเห็นว่าเป็นสิ่งไร้ค่าที่ภิกษุควรจะแลกด้วยการเปิดเผยอุตริมนุสสธรรม(ในที่นี้หมายถึง ความสามารถในการแสดงปาฏิหาริย์อันเป็นคุณสมบัติส่วนตัวของพระอรหันต์) เป็นไปได้ว่า “คุณค่า” ที่มนุษย์ทั่วไปมอบให้แก่วัตถุนั้นเป็นค่าสมมติที่จะก่อให้เกิดการยึดมั่น ความลุ่มหลงและความทุกข์ บาตรไม้แก่นจันทร์สำหรับเศรษฐีหรือชาวบ้านทั่วไปนั้นมีสูงค่าเกินกว่าจะถวายเป็นสมบัติของสมณะและพราหมณ์ที่ไร้คุณวิเศษใดๆ เพราะเป็นของหายาก พระพุทธเจ้ากลับตรัสว่าไม่มีค่าที่จะแลกมาด้วยการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ เหมือนสตรีเลือกเผยกายตนเพื่อแลกเศษเงินเล็กๆ น้อยๆ

อาจตีความได้ว่า พระพุทธเจ้าไม่ต้องการให้พระสงฆ์ยึดติดกับคุณค่าที่คนทั่วไปยึดถือ โดยเฉพาะในกรณีที่คุณค่านั้นเป็นสิ่งสมมติ นอกจากไม่ได้มีคุณค่าอย่างแท้จริงแล้วยังเป็นปฏิปักษ์ต่อวิถีของสมณะอีกด้วย คุณค่าของความเป็นสมณะนั้นอยู่ที่ความเรียบง่าย สันโดษ เบาสบาย ปราศจากการยึดมั่นถือมั่นในวัตถุสิ่งของ การมีวัตถุมีค่าเป็นเครื่องใช้สอยติดตัว ไม่เพียงแต่จะทำให้ชีวิตของพระตกอยู่ในอันตรายเพราะถูกปล้น แต่ยังทำให้พระสงฆ์ติดยึดกับกิเลสตัณหา และนำไปสู่ความทุกข์อีกด้วย การบัญญัติสิกขาบทกรณีที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของมีค่าดูเหมือนจะเข้าลักษณะ “การบังคับให้ปล่อยวาง”เหมาะสมและสอดคล้องกับ “ความเป็นสมณะ” เป็นไปตามวิถีแห่งอริยะ (วินัย) ที่มุ่งสร้างสรรค์วัฒนธรรมชุมชนที่มีความเจริญงอกงาม โดยอาศัยกรอบคิดนี้ เราจะเข้าใจแนวคิดและแบบแผนการดำรงชีพของสมณะอันเกี่ยวเนื่องกับวัตถุสิ่งของที่มีค่ามีราคาตามแนวคำสอนของพุทธศาสนาได้ชัดเจนและง่ายขึ้น

บาตรและจีวรเท่านั้นที่เป็นสมบัติที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตพระสงฆ์ที่จะนำติดตัวเสมอ จีวรเป็นเครื่องนุ่งห่มที่จำเป็นสำหรับปิดบังร่างกายและให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายในฤดูหนาว บาตรใช้เป็นภาชนะสำหรับขออาหาร ใน “อรรถกถาธรรมบท” มีเรื่องเล่าหลายเรื่องที่แสดงถึงความสำคัญของสมบัติ 2 ชนิดนี้ ตัวอย่างเช่น เมื่อพระทาหิยทารุจิริยะฟังธรรมของพระพุทธเจ้าขณะที่เสด็จไปบิณฑบาตแล้วบรรลุอรหันต์ด้วยพุทธพจน์เพียงประโยคเดียว แล้วประสงค์จะบวชเป็นภิกษุ พระพุทธเจ้าตรัสให้ท่านไปแสวงหาบาตรและจีวร ขณะที่กำลังแสวงหาบาตรและจีวรอยู่นั่นเองท่านก็ถูกวัวบ้าขวิดตาย บาตรและจีวรจึงสมบัติที่ขาดไม่ได้สำหรับนักบวช

อย่างไรก็ตาม พระวินัยมีข้อห้ามไม่ให้ใช้บาตรที่ทำด้วยวัตถุมีค่าต่างๆ เช่น บาตรทองคำ บาตรเงิน บาตรแก้วมณี บาตรแก้วไพฑูรย์ บาตรแก้วผลึก บาตรสัมฤทธิ์ บาตรกระจก บาตรดีบุก บาตรตะกั่วและบาตรทองแดง ทรงอนุญาตให้ใช้บาตรสองชนิดเท่านั้นคือ บาตรเหล็กและบาตรดิน พระวินัยไม่ได้บอกเหตุผลของการห้ามบาตรชนิดต่างๆ แต่สาเหตุที่ทรงห้ามนั้นก็เนื่องจากชาวบ้านมองว่า ถ้าสมณะมีเครื่องใช้เป็นวัตถุมีค่ามีราคาชีวิตสมณะก็ไม่ต่างอะไรจากคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ในพระไตรปิฎก มีสิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ หลายข้อบัญญัติขึ้นเพราะชาวบ้านมองว่าไม่เหมาะสมควรแก่สมณะ สมณสารูปที่คาดหวังในสังคมอินเดียโบราณนั้นคือการมีอาจาระ(มรรยาท)ที่แตกต่างจากคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม นอกจากเครื่องนุ่งห่ม กิริยามารยาท อิริยาบถที่น่าเลื่อมใสงดงามตามครรลองของสมณะ สิ่งที่จะทำให้ชีวิตของสมณะมีความหมายน่านับถือก็คือ การไม่ครอบครองวัตถุที่มีค่า ไม่ว่าจะเป็นเงินทองหรือสิ่งที่ใช้แทนเงินหรือทอง ซึ่งมีมูลค่าแลกเปลี่ยนได้

พระวินัยปรับอาบัติในความผิดมีโทษสถานเบา (นิสสัคคีย์ปาจิตตีย์, ปาจิตตีย์, ทุกกฎ แล้วแต่กรณี) กรณีที่มีการละเมิดวินัยข้อเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ พระพุทธเจ้าต้องการให้ภิกษุผู้ทำผิดวินัยมีความสำนึกผิด (มีความละอายใจ) และแสดงความรับผิดต่อหน้าภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง สัญญาว่าจะแก้ไขปรับปรุงตนโดยจะไม่กระทำเช่นนั้นอีก กรณีที่มีวัตถุที่ต้องสละ เช่น เงินหรือทองที่รับมาเป็นต้น จะต้องสละวัตถุสิ่งของนั้นแก่สงฆ์ แก่คณะ หรือแก่บุคคลก่อนจึงแสดงอาบัติต่อหน้าสงฆ์หรือบุคคล เพียงเท่านี้ก็ฟื้นคืนความบริสุทธิ์แห่งศีลของตนได้ แม้กระนั้นก็มีนัยน่าสนใจเกี่ยวกับเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาว่าภิกษุสงฆ์ควรมีอาจารหรือแนวปฏิบัติอย่างไรต่อวัตถุสิ่งของที่มีค่า และควรปรับอาบัติภิกษุหรือภิกษุณีในกรณีๆ เล็กน้อยๆ เหล่านี้หรือไม่อย่างไร

เกณฑ์ที่ใช้ตัดสินในกรณีเหล่านี้คือ “พระสงฆ์ไม่ควรประพฤติเยี่ยงคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม” เกณฑ์นี้จะเรียกว่า หลัก “มาตรฐานเรื่องความแตกต่าง” ก็ได้ อะไรบ้างคือสิ่งที่ทำให้ภิกษุเหมือนกับคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ในขุททกขันธกะ ระบุถึงการมีหรือการใช้วัตถุสิ่งของที่ทำด้วยของมีค่าต่างๆ เช่น ปลอกนิ้วมือชนิดต่างๆ ที่ทำด้วยเงิน ด้วยทอง หรือการมีไม้แคะหูที่ทำด้วยเงินด้วยทอง การสะสมโลหะหรือทองสัมฤทธิ์ เป็นต้น น่าสังเกตว่า ของมีค่าที่สามารถใช้แลกเปลี่ยนซื้อขายได้ เช่น เงิน และ ทอง ถูกเอ่ยถึงบ่อยในฐานะสิ่งที่ถูกห้ามมีไว้ใช้สอยหรือเก็บเป็นสมบัติส่วนตัวของภิกษุ

ในสามัญญผลสูตร (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค) กล่าวถึงรูปแบบชีวิตสมณะต้องเว้นขาดจากพฤติกรรมหลายประการ เช่น การไม่ประพฤติอกุศลกรรมบถ 10 การละความประพฤติที่เป็นของชาวบ้านทั่วไป เช่น การขับร้อง ประโคมดนตรี การตกแต่งร่างกายด้วยของหอมเครื่องประทินผิว การไม่นอนบนที่นอนอันสูงใหญ่ การรับอาหารที่ยังไม่ได้ปรุงให้สุก การมีทาสหญิงชาย มีสัตว์เลี้ยงชนิดต่างๆ เรือกสวนไร่นาและที่ดิน เว้นจากการชื้อขาย การโกงด้วยตาชั่ง การรับสินบน การล่อลวงหรือการตลบตะแลง การทำร้ายร่างกายผู้อื่น การทรมาน การฆ่า การจองจำ การวิ่งราว การปล้นและการขู่กรรโชก ในที่นี้เราจะพบว่า ประเด็นเงินกับพระสงฆ์นั้นแฝงอยู่ใน “การห้ามการซื้อขาย” ในนิสสัคคียปาจิตตีย์ โสกิยวรรค พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติห้ามภิกษุแลกเปลี่ยนกันด้วยรูปิยะชนิดต่างๆ ในสิกขาบทนี้ พระพุทธเจ้าทรงห้ามภิกษุรับหรือใช้ให้ผู้อื่นรับเงินและทอง ไม่เพียงแต่เท่านั้นยังห้าม “ยินดี” ในเงินและทองที่เขาเก็บไว้เพื่อตนอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อให้พระมีพฤติกรรมแตกต่างจากคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม แต่พฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้ละเมิดทรัพย์สินของผู้อื่น จึงมีโทษสถานเบา

แม้กระนั้น เมื่อต้องทำผิดก็ไม่อาจจะปลงอาบัติหรือฟื้นความบริสุทธิ์ได้โดยง่ายนัก พระพุทธเจ้าแสดงวิธีปรับโทษภิกษุรูปที่มีความผิดว่า ให้ห่มผ้าเฉวียงบ่า เข้าไปหาสงฆ์ กราบเท้าภิกษุผู้มีพรรษาแก่กว่า นั่งกระโย่งประนมมือ แล้วกราบเรียนว่า “ท่านผู้เจริญ กระผมรับรูปิยะไว้ รูปิยะนี้ของกระผมเป็นนิสสัคคีย์ (สิ่งที่พึงสละ) กระผมขอสละรูปิยะนี้แก่สงฆ์” จากนั้นจึงแสดงอาบัติ (กล่าวคำพูดที่แสดงถึงการรู้สำนึกและสัญญาว่าจะมีการปรับแก้ไขตนเอง) พระวินัยกล่าวต่อไปว่า เมื่อภิกษุนั้นกล่าวสละรูปิยะท่ามกลางสงฆ์แล้ว ถ้ามีคนงานวัดหรืออุบาสกเดินผ่านมา ภิกษุผู้ฉลาด (ที่เป็นประธานในพิธีสละรูปิยะ) พึงบอกเขาให้เขานำรูปิยะไปใช้เพื่อสงฆ์ ถ้าเขาถามว่าจะให้แลกสิ่งใดมา พระสงฆ์ไม่ควรบอกว่าให้นำไปแลกของชนิดนั้นชนิดนี้มา แต่อาจให้ข้อมูลว่ามีของอะไรบ้างที่ควรแก่พระสงฆ์ (กัปปิยะ) เมื่ออุบาสกหรือคนงานวัดนำรูปิยะนั้นไปแลกของที่ควรถวายสงฆ์มาแล้ว ทุกรูปฉัน (รับประทาน) ได้ ยกเว้นภิกษุที่เป็นเจ้าของรูปิยะ พระพุทธเจ้าตรัสว่าถ้าทำได้อย่างนี้เป็นการดี ถ้าเขาทำไม่ได้ ให้บอกคนงานหรืออุบาสกนำรูปิยะนั้นไปทิ้ง แต่ถ้าเขาไม่ยอม ก็ให้สงฆ์แต่งตั้งภิกษุผู้เที่ยงธรรมและรู้งานเป็นผู้ทิ้งรูปิยะนั้น ภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นเมื่อทิ้งรูปิยะต้องไม่หันไปมองดูว่ารูปิยะนั้นตกที่ตรงไหน ถ้ารู้ว่ารูปิยะนั้นตกตรงไหน ปรับอาบัติภิกษุนั้นเป็นทุกกฎ

พระวินัยไม่เพียงแต่ห้ามแลกเปลี่ยนรูปิยะเท่านั้นยังห้ามการแลกเปลี่ยนกันด้วยสิ่งของด้วย แม้แลกเปลี่ยนด้วยสิ่งของประเภทเดียวกัน เช่น ผ้านุ่งห่ม หากเข้าข่ายการแลกเปลี่ยนการซื้อขายก็ทรงห้ามด้วยเช่นกัน “เมื่อสิ่งของของตนตกไปอยู่ในมือของคนอื่น และสิ่งของของคนอื่นตกมาอยู่ในมือของตน จัดเป็นการซื้อขายกัน” ของที่ตกมาอยู่ในมือตนนั้นเป็นสิ่งที่ต้องสละแก่สงฆ์ แก่คณะหรือแก่บุคคล วิธีที่สละของที่เป็นรูปิยะกับบาตรหรือจีวรที่ได้มาด้วยการแลกเปลี่ยนนั้นอาจแตกต่างกันอยู่บ้าง กล่าวคือ กรณีจีวรหรือผ้านุ่งห่ม เจ้าของเดิมที่ได้สิ่งของมาเพราะการแลกเปลี่ยน ถ้าเจ้าของมีเจตนาจะสละสิ่งของนั้นแก่สงฆ์ก็ต้องประชุมสงฆ์และประกาศให้ทราบทั่วกัน สงฆ์จะต้องดำเนินการต่อโดยมอบผ้าที่แลกเปลี่ยนซื้อขายมาแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง การสละแก่คณะ (ภิกษุมากกว่า 1 รูป แต่ไม่ถึง 4 รูป เรียกว่า คณะ) ก็เช่นกัน พระในคณะนั้นอาจมอบผ้าดังกล่าวนั้นแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง แต่ถ้าสละแก่บุคคล ภิกษุผู้รับผ้าที่สละนั้นเมื่อรับทราบความผิดของภิกษุผู้ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนได้จีวรดังกล่าวมาแล้ว ก็จะต้องคืนของให้ภิกษุรูปนั้นไป

มีข้อสังเกตว่า การจัดการเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนตัวของภิกษุ พระวินัยอนุญาตให้ต้องกระทำโดยสงฆ์ ทั้งในแง่การได้มา การแจกจ่ายทรัพย์สินเพื่อให้เกิดประโยชน์ใช้สอยแก่ชุมชนสงฆ์ และการลงโทษผู้ละเมิดพระวินัยหรือการฟื้นคืนความบริสุทธิ์ของภิกษุที่ละเมิดวินัย เมื่อพิจารณาที่ตัวรายละเอียดของกระบวนการที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ในพระวินัย จะพบเสมอว่า ผู้ที่จะได้รับหน้าที่ให้จัดการเรื่องต่างๆ ต้องได้รับการยอมรับจากสงฆ์ทั้งหมดและมีคุณสมบัติสำคัญคือดำเนินการต่างๆ ได้อย่างเที่ยงธรรม (ไม่มีอคติ) และเข้าใจเรื่องนั้นๆ เป็นอย่างดี ความยุติธรรมหรือความเที่ยงธรรมจึงเป็นคุณธรรมสำคัญ

ในแง่การปฏิบัติ พระพุทธเจ้าไม่ได้มอบภาระให้พระรูปใดรูปหนึ่งเป็นผู้นำแต่ทรงอนุญาตให้สงฆ์เป็นผู้นำ และทรงคาดหวังว่าสงฆ์จะเลือกบุคคลที่เหมาะสมที่สุดดำเนินการในฐานะตัวแทนสงฆ์ โดยข้อเรียกร้องขั้นพื้นฐานที่สุดสำหรับผู้จะทำหน้าที่แทนสงฆ์คือ ต้องเป็นบุคคลที่มี “ความเที่ยงธรรม”และ“ความรู้”

เฉพาะกรณีการจัดการทรัพย์สินในแง่มุมของพุทธศาสนา วัตถุเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ชีวิตพื้นฐานดำเนินไปด้วยดี แต่ก็อาจนำชีวิตไปสู่ความทุกข์ทั้งในแง่จิตใจ ร่างกายและสังคมโดยรวมได้ เพื่อชีวิตที่ดี สังคมต้องสร้างระบบวัฒนธรรมสัมพันธ์อันเกี่ยวเนื่องกับวัตถุอย่างเหมาะสมเพื่อจะให้ทุกคนได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมและเที่ยงธรรม รัฐจัดระบบโครงสร้างของรัฐเพื่อรับประกันความเที่ยงธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรสำหรับทุกคน

ในระดับครอบครัว ความสัมพันธ์ที่ดีงามภายในครอบครัวและกับสมาชิกสังคมอื่นๆ นอกครอบครัวเป็นตัวตั้งในฐานะที่การปฏิบัติความสัมพันธ์อย่างเหมาะสมจะช่วยธำรงระบบระเบียบของสังคมโดยรวม ทรัพย์สินหรือวัตถุเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ดังกล่าวให้เป็นไปด้วยดี การให้หรือการแบ่งปันวัตถุ ทรัพยากร หรือทรัพย์สินความมั่งคั่งจึงเป็นวิธีที่คนจะสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน จึงต้องมี “วัฒนธรรม” อันเกี่ยวเนื่องกับวัตถุต่างๆ ที่สัมพันธ์กับการดำรงอยู่ของมนุษย์โดยเฉพาะวัตถุทางวัฒนธรรม (ทรัพย์สิน เงิน ทอง ความมั่งคั่ง) พุทธศาสนาเชื่อว่า เมื่อวัตถุทางวัฒนธรรมได้รับการจัดการอย่างดีแล้ว ชีวิตทางวัฒนธรรมของมนุษย์ เช่น สัมพันธภาพระหว่างมนุษย์ด้วยกัน เป็นต้นก็จะได้รับการพัฒนาในแนวทางที่ส่งเสริมให้ชีวิตคฤหัสถ์หรือฆราวาสมีความสุข มีความปลอดภัย และใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย

การจัดระเบียบ “วัฒนธรรม” อันเกี่ยวเนื่องกับวัตถุและทรัพย์สินยังจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับชีวิตของสงฆ์ เพราะการดำรงชีวิตแบบสมณะมีเป้าหมายอยู่ที่การหลุดพ้นจากทุกข์ การมีทรัพย์สินวัตถุปัจจัยในครอบครองส่วนตัวย่อมขัดแย้งกับชีวิตสมณะที่ต้องได้รับการขัดเกลาจิตใจให้เป็นอิสระจากการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ วัตถุปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการดำรงอยู่ของสงฆ์จึงต้องได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม คือให้มีทรัพย์สินส่วนตัวเท่าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตสมณะ สิ่งของต่างๆ ที่เพิ่มพูนขึ้นโดยศรัทธาของฆราวาสผู้ใคร่ในการทำบุญจึงถูกกำหนดให้ตกเป็นของสงฆ์

ทางหนึ่งเพื่อป้องกันการสะสมวัตถุสิ่งของไว้เป็นของส่วนตัวและขาดอิสระในการแสวงหาสัจธรรม ความรู้ ความดีและความงาม ทางหนึ่งเพื่อให้สมาชิกของชุมชนทุกคน (สงฆ์) ได้รับประโยชน์จากการอนุเคราะห์ของฆราวาส การใช้ทรัพยากรที่ได้มาจากศรัทธาเป็นไปอย่างคุ้มค่าและเอื้อคุณประโยชน์ทั้งต่อการปฏิบัติธรรม การสั่งสอนธรรมและการบรรลุนิพพาน และเพื่อประกันว่าทุกอย่างจะดำเนินไปด้วยดี พระวินัยได้วางบทบัญญัติเบื้องต้นไว้เพื่อพระสงฆ์จะได้ไม่ละเมิดบรรทัดฐานที่สำคัญ ฆราวาสจะได้รับทราบแนวปฏิบัติที่เหมาะสมในการแสวงบุญในศาสนา ทั้งหมดนั้นก็เพื่อจะให้ทุกชีวิตได้บรรลุความสุขตามวิถีแห่งธรรมวินัยนั่นเอง



เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Channrong Boonnoon

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความวิจัย “ความมั่งคั่ง วินัย นิพพาน” ในหนังสือรวมบทความวิจัยเรื่อง “เศรษฐศิลป์ ผู้นำกับโลกแห่งวัตถุ ในปรัชญาตะวันออก” โครงการผู้นำแห่งอนาคต ของสสส. https://www.leadershipforfuture.com[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.