Posted: 16 Jun 2018 01:58 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นับเป็นคณะรัฐประหารที่เข้ายึดและอยู่ในอำนาจนานเป็นอันดับที่ 2 ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย รองจากระบอบเผด็จการจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร (พ.ศ.2501-2516)
นับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนครบ 4 ปีในปัจจุบัน เท่ากับช่วงเวลาที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งจะหมดวาระลง และต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นอีกครั้ง ทว่า คสช. ก็ยังคงไม่ลงจากอำนาจ
4 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่สังคมไทยสูญเสียหลายประการ โดยเฉพาะสูญเสียเวลาพัฒนาระบอบประชาธิปไตยและสถาปนานิติรัฐในสังคม รายงานขององค์กรระหว่างประเทศระบุว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยตกต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะเดียวกัน 4 ปีที่ผ่านมา คณะรัฐประหารได้สร้างระบบระเบียบทางการเมืองและกฎหมายหลายประการ ที่จะเป็นผลพวงเผด็จการตกค้างอยู่ในสังคมไทยอีกหลายปี แม้ คสช. จะหมดอำนาจไปก็ตาม
คำถามสำคัญสำหรับสังคมไทยในระยะต่อไป คือ เราจะจัดการกับความสูญเสียและผลพวงปัญหาที่ถูกสร้างทิ้งไว้โดยคณะรัฐประหารชุดนี้อย่างไร
ในปีที่ 4 ภายใต้ระบอบ คสช. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ติดตามข้อมูลสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน และช่วยเหลือคดีแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภาพการแสดงออกที่เกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหาร จำนวน 151 คดี 303 ราย นำมาสู่รายงานซึ่งมุ่งเน้นอธิบายลักษณะสำคัญทางการเมืองและกฎหมายของระบอบ คสช. รวมถึงผลพวงที่คงดำรงอยู่ แม้มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ พร้อมนำเสนอแนวทางจัดการปัญหาทางการเมืองและกฎหมายต่างๆ ที่เป็นผลพวงของคณะรัฐประหาร รายงานประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่หนึ่งลักษณะสำคัญทางการเมืองและกฎหมายในยุค คสช. ส่วนที่สองสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ส่วนที่สามข้อเสนอของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในการจัดการผลพวงอำนาจเผด็จการของ คสช.
บทที่ 1 คสช. สร้างอะไรไว้ในระบอบการเมืองและกฎหมาย?
ลักษณะสำคัญที่ระบอบ คสช. สร้างขึ้นเพื่อรักษาอำนาจจากการรัฐประหารและจะตกค้างในสังคม 3 ประการ ได้แก่ การจัดการและควบคุมพลเรือนโดยวิธีคิดและปฏิบัติการทางทหาร (Militarization), การสถาปนาอำนาจเบ็ดเสร็จในรัฐธรรมนูญ (Constitutionalization of Absolutism) และการปกครองโดยอำเภอใจในนาม “กฎหมาย” (Rule by Law)
การจัดการและควบคุมพลเรือนโดยวิธีคิดและปฏิบัติการทางทหาร
เมื่อประเทศไทยกลายเป็น “ค่ายทหาร” ลักษณะสำคัญของการรัฐประหารปี 2557 ไม่เพียงเป็นการยึดอำนาจการปกครองโดยกองทัพ และทหารเข้ามามีบทบาททางการเมือง แต่ยังมีกระบวนการผลักดันให้ประเทศมีลักษณะทางทหารขยายตัวในมิติต่างๆ
กระบวนการทำให้มีลักษณะทางทหาร (Militarization มีนักวิชาการไทยเสนอคำแปลว่า “ยุทธาภิวัฒน์”) หมายถึงกระบวนการที่สังคมหรือบุคคลทั่วไปค่อยๆ ถูกกำกับควบคุมโดยกองทัพ หรือถูกทำให้ขึ้นอยู่กับวิธีคิดแบบทหาร ภายใต้กระบวนการนี้ ความจำเป็นทางทหารไม่เพียงเป็นคุณค่าที่ครอบงำ แต่ยังเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคม จึงเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปรความเชื่อและคุณค่าของสังคมทั่วไป เพื่อให้ความชอบธรรมแก่การใช้กำลังหรือการใช้อำนาจในลักษณะบีบบังคับมากขึ้น
กระบวนการนี้ไม่เพียงเป็นเรื่องของกองทัพเข้ายึดอำนาจและแสดงบทบาททางการเมือง แต่คือการทำให้กรอบคิดแบบทหารและความมั่นคงขยายขอบเขต ส่งอิทธิพลต่อวิธีคิดและปฏิบัติการต่างๆ ของ
เจ้าหน้าที่พลเรือน ตลอดจนองค์กรอื่นในสังคม ทำให้เจ้าหน้าที่เหล่านั้นกลายเป็นผู้ดำเนินการภายใต้กรอบคิดแบบทหาร ขณะที่ประชาชนตกอยู่ในสังคมที่น้อมยอมรับการใช้อำนาจดังกล่าวตามอำเภอใจ
เมื่อพลเรือนกลายเป็น “เป้าหมาย” ทางการทหาร
การรัฐประหาร 2557 คสช. ใช้วิธีคิดหรือปฏิบัติการแบบทหารเข้ามาจัดการปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง โดยกองทัพอ้างตัวเป็น “คนกลาง” ที่เข้ามายึดอำนาจเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวและสร้างความสงบเรียบร้อยในสังคม การจัดวางสถานะตัวเองในลักษณะนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความชอบธรรมในการรัฐประหาร ขณะเดียวกัน บทบาทของกองทัพที่ปกติเคยทำหน้าที่ป้องกันประเทศจาก “ภัยคุกคามภายนอก” ถูกขยายรวมถึงการป้องกัน “ภัยคุกคามจากภายใน”, การสร้างความปรองดอง, การจัดการความขัดแย้งทางการเมือง และการจัดระเบียบสังคม เป็นต้น
ภายใต้กรอบคิดเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ คสช. ทำให้การชุมนุมและการแสดงออกทางการเมืองโดยสงบสันติ ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระบอบปกติ กลายเป็นเรื่อง “ความมั่นคงของรัฐ” การแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจและการชุมนุมทางการเมือง ถูกทำให้เป็น “ความไม่สงบเรียบร้อย-ความวุ่นวาย” หรือ “การยุยงปลุกปั่น-ปลุกระดม” ข้อกล่าวอ้างของเจ้าหน้าที่ว่าการจัดกิจกรรม หรือการนำเสนอข้อมูลข่าวสารทางการเมืองกระทบต่อความมั่นคง ทำให้ต้องปิดกั้นหรือขอความร่วมมืองดเผยแพร่ เกิดขึ้นจนเป็นปกติในยุค คสช.
มุมมองที่เห็นการแสดงออกทางการเมืองเป็นเรื่องกระทบต่อ “ความมั่นคงของรัฐ” เปิดโอกาสให้หน่วยงานความมั่นคงเข้าควบคุมจัดการปัญหาทางการเมือง นอกจากหน่วยงานที่มีอยู่เดิม คสช. ยังจัดตั้งกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) โดยใช้โครงสร้างของกองทัพแต่ละภาคดำเนินงาน มีผู้บัญชาการกองทัพบก (ผบ.ทบ.) เป็น ผบ.กกล.รส. แม่ทัพภาค-ผู้บัญชาการมณฑลทหารต่างๆ เป็นผู้บัญชาการ กกล.รส. ของแต่ละพื้นที่ การแต่งตั้งกำลังทหารในแต่ละพื้นที่เป็นเจ้าหน้าที่ กกล.รส. ทางโครงสร้าง กกล.รส. จึงเป็นส่วนราชการที่ขึ้นตรงต่อ คสช. ในฐานะส่วนงานระดับปฏิบัติการ โดยมี คสช. ควบคุมในระดับนโยบาย
กกล.รส. แปรสภาพเป็นกองกำลังที่เข้ามามีบทบาทและใช้อำนาจรัฐภายใต้ คสช. ติดตามตัวบุคคล เรียกตัวบุคคลมาพูดคุย จับตากิจกรรมสาธารณะ แจ้งความดำเนินคดีผู้แสดงออกทางการเมือง จัดทำรายชื่อและรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล ติดตามความเคลื่อนไหวในพื้นที่ ขับเคลื่อนกระบวนการปรองดอง รวมทั้งประสานหน่วยราชการต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและสร้างการเคารพต่อกฎหมายตามที่ คสช. นิยาม
วิธีคิดสำคัญประการหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ทหารนำมาควบคุมและจัดการทางการเมือง คือ การจัดบุคคลเป็น “กลุ่มเป้าหมาย” ประเภทต่างๆ และกำหนดให้แต่ละคน เป็น “บุคคลเป้าหมาย” ของปฏิบัติการทางทหาร ผู้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเรียกตัวหรือติดตามตัวหลายคนพบว่า เจ้าหน้าที่เรียกพวกเขาหรือเธอว่าเป็น “เป้าหมาย” ตามคำสั่งที่ให้มาติดตามตัว และเป็นบุคคลในรายชื่อเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่
กลุ่มเป้าหมายและบุคคลเป้าหมายดังกล่าวมาจากการจัดทำบัญชีรายชื่อของเจ้าหน้าที่ แต่ละบัญชีรายชื่อประกอบด้วยข้อมูลส่วนตัว เช่น ประวัติครอบครัว ที่อยู่ ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ประวัติการเดินทาง ข้อความที่โพสต์ในสื่อออนไลน์ บทบาททางการเมือง ภาพถ่ายการไปร่วมกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น แต่ชุดข้อมูลดังกล่าวมีแนวโน้มไม่เกี่ยวกับปัญหา “ความมั่นคงของรัฐ” ตามความเข้าใจในสังคมปกติแต่อย่างใด ทั้งยังล่วงล้ำและละเมิดสิทธิส่วนตัวของบุคคล
จากกรอบคิดและปฏิบัติการข้างต้น ไม่ว่าใครก็อาจตกเป็น “เป้าหมาย” หากแสดงออกในเชิงคัดค้าน คสช. บุคคลเป้าหมายหลายรายถูกจับตาสอดส่อง ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ หากเคลื่อนไหวหรือแสดงความคิดเห็นทางการเมือง มักถูกเจ้าหน้าที่ทหารติดตามตัวหรือเรียกไปพูดคุย อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีตัวเลขแน่ชัดว่า คสช. และกองทัพ รวบรวมประวัติของบุคคลจำนวนทั้งหมดเท่าไร มีข้อมูลลักษณะใด และถูกใช้ดำเนินการอย่างไรบ้าง
การติดตามบุคคลเป้าหมายอย่างสม่ำเสมอกลายเป็น “ภารกิจ” ของเจ้าหน้าที่ทหาร และถูกกำหนดเป็น “ภารกิจพบปะผู้เห็นต่างทางการเมือง” ดำเนินการโดย กกล.รส. ในแต่ละพื้นที่ ปฏิบัติการลักษณะนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นวิธีคิดของเจ้าหน้าที่ทหารที่แบ่งแยกผู้มีความเชื่อทางการเมืองไม่เหมือนตน เป็น “ผู้เห็นต่างทางการเมือง”
นอกจากการกำหนดกลุ่มเป้าหมายและบุคคลเป้าหมายแล้ว ยังมีการนำปฏิบัติการทางทหารอย่างปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (Information Operations: IO) และปฏิบัติการจิตวิทยา (Psychological Operations หรือ “ปจว.”) มาใช้เพื่อดำเนินการทางการเมืองด้วย เช่น การนำเสนอข่าวสารต่อสาธารณะในลักษณะมุ่งทำลายภาพลักษณ์ของผู้แสดงออกทางการเมือง การทำสงครามข่าวสารในโลกออนไลน์ หรือการข่มขวัญทางการเมืองผ่านการดำเนินคดีบางบุคคล เป็นต้น
การมองพลเรือนในฐานะ “เป้าหมาย” และดำเนินปฏิบัติการจิตวิทยา ก่อนยกระดับไปสู่การดำเนินคดีต่อกลุ่มเป้าหมาย เพื่อป้องปราม-ข่มขวัญ “ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง” ทำให้เกิดความหวั่นกลัว ในการแสดงออกวิพากษ์วิจารณ์ คสช. เช่น คดี “รินดา” ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวและกล่าวหาฐานยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จากกรณีโพสต์ข่าวลือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โอนเงินหมื่นล้านไปยังประเทศสิงคโปร์ เจ้าหน้าที่ทหารระบุในเอกสารคดีฝ่ายโจทก์ว่า “การดำเนินการต่อเป้าหมายนี้ จึงเป็นการป้องปรามบุคคลที่มีแนวคิดต่อต้าน คสช. และ ฯพณฯ นรม. โดยตรง เพื่อลดระดับแนวร่วมให้ลดลง และน่าจะส่งผลให้เกิดความเกรงกลัวในการเผยแพร่ข้อความที่ไม่เหมาะสม…”
รินดา ผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหายุยงปลุกปั่นจากการโพสต์ข่าวลือเรื่องพล.อ.ประยุทธ์ โอนเงินหมื่นล้านบาทไปฝากที่ธนาคารในสิงคโปร์ ที่มา Banrsdr Photo
ทั้งนี้ ปฏิบัติการติดตามบุคคลดังกล่าว ยังคงอยู่ใต้ระบบบังคับบัญชาของทหาร เจ้าหน้าที่ระดับต่างๆ ต้องปฏิบัติตามคำสั่งแบบรวมศูนย์ และไม่อาจโต้แย้งผู้บังคับบัญชาได้ ผู้ถูกติดตามตัวหลายคนพบว่าเจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจที่มาพบที่บ้านระบุเพียง “นายสั่งมา” กิจกรรมต่างๆ ถูกห้ามเพียงเพราะ “นายไม่สบายใจ” โดยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการในหลายกรณีไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจนว่าการแสดงออกหรือกิจกรรมนั้น เหตุใดจึงเป็นปัญหา หรือกระทบต่อความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อยอย่างไร เพียงแต่อ้าง “นาย” ขึ้นมาลอยๆ
“ที่ไหนๆ ก็มีทหาร” : เมื่อกองทัพขยายเขตแดนอำนาจเข้าไปในปริมณฑลต่างๆ
อีกมิติหนึ่งของกระบวนการทำให้ลักษณะทางทหารเกิดขึ้นในยุค คสช. คือการขยายบทบาทและอำนาจของกองทัพในโครงสร้างทางการเมืองอย่างกว้างขวาง ผ่านบุคลากรของกองทัพที่เข้าไปใช้อำนาจรัฐในงานของพลเรือน ส่งผลให้ทหารมีอำนาจในการบริหารประเทศ และกรอบคิดแบบทหารมีอิทธิพลต่อหน่วยงานของรัฐ อิทธิพลเหล่านี้มีแนวโน้มจะดำรงอยู่ต่อไป แม้ผ่านยุค คสช. ไปแล้วก็ตาม
ทหารเข้าไปใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร
ปัจจุบัน คสช. มีสมาชิกทั้งหมด 15 คน ประกอบด้วยทหาร 12 คน ตำรวจ 2 คน มีเพียงนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นพลเรือนเพียงคนเดียว ส่วนผู้ปฏิบัติงานใน คสช. แทบทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร เช่น ตำแหน่งรองเลขาธิการและที่ปรึกษาประจำผู้ดำรงตำแหน่งใน คสช. ทั้งหมด 34 คน มีทหารทั้งหมด 27 คน และตำรวจอีก 4 คน
นอกจากนี้ คสช. ยังจัดให้เจ้าหน้าที่ของตนเข้าไปมีส่วนกำกับดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในกระทรวงต่างๆ ทั้่งใน ฝ่ายความมั่นคง, ฝ่ายสังคมและจิตวิทยา, ฝ่ายเศรษฐกิจ, ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม, ฝ่ายกิจการพิเศษ, สำนักงานเลขาธิการ คสช. และในกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ทำให้เกิดการใช้อำนาจซ้อนกับเจ้าหน้าที่พลเรือนในระบบราชการปกติ
ส่วนคณะรัฐมนตรีซึ่งแยกไม่ออกจาก คสช. พบว่า นับแต่เริ่มตั้งรัฐบาลทหารจนถึงปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ ปรับคณะรัฐมนตรีมาแล้ว 5 ครั้ง มีทหารเคยดำรงตำแหน่งและยังอยู่ในคณะรัฐมนตรี 15 คน นอกจากตำแหน่งนายกฯ และรองนายกฯ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ อยู่ในตำแหน่งโดยตลอดแล้ว บุคลากรของกองทัพยังเข้าไปกำกับดูแลงานในกระทรวงสำคัญ ทั้งกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงยุติธรรม ทำให้ทั้ง คสช. และรัฐบาลทหารข้างต้น เป็นผู้ใช้อำนาจบริหารประเทศการตัดสินใจดำเนินงานภายใต้นโยบายทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรือแม้แต่การต่างประเทศ ที่นำโดยกองทัพและทหาร จะส่งผลผูกพันประเทศไทยต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ เพื่ออ้างความชอบด้วยกฎหมายในการกระทำดังกล่าว พบว่า คสช. ออกคำสั่งแล้ว 208 ฉบับ ประกาศ คสช. 128 ฉบับ ส่วนหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. แล้ว
กว่า 188 ฉบับ ประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารเหล่านี้ถูกทำให้มีผลบังคับใช้อยู่ แม้ คสช. จะพ้นจากอำนาจไปและมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้วก็ตาม หากไม่มีกระบวนการยกเลิกกฎหมายเหล่านี้เกิดขึ้น
ทหารเข้าไปใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ
หลังการรัฐประหาร คสช. ยกเลิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาและแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่หัวหน้า คสช. เป็นผู้เลือกสมาชิกทั้งหมด
สนช. กลายเป็นผู้ใช้อำนาจ “นิติบัญญัติ” แทนสภาในระบบปกติ ทั้งการออกกฎหมาย พิจารณาสนธิสัญญาที่เกี่ยวพันกับต่างประเทศ และให้ความเห็นชอบต่อการดำรงตำแหน่งของบุคคลบางตำแหน่ง โดยไม่มีฝ่ายค้านคอยตรวจสอบตลอด 4 ปีที่ผ่านมา
สนช. มีสมาชิกทั้งหมด 250 คน ประกอบด้วย ทหารจากทุกเหล่าทัพรวม 145 คน หรือร้อยละ 58 หากรวมสมาชิกที่เคยเป็นข้าราชการ หรือทำงานในหน่วยงานราชการ หรือรัฐวิสาหกิจทุกประเภทจะมีจำนวนถึง 223 คน หรือร้อยละ 89 ของสมาชิกทั้งหมด ถึงปัจจุบัน สนช. ผ่านร่างกฎหมายมาแล้วกว่า 300 ฉบับ กฎหมายเหล่านี้ถูกตราเป็นพระราชบัญญัติจากการพิจารณาจากสภาเดียว โดยผู้พิจารณากฎหมายที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน และแทบไม่มีส่วนร่วมจากประชาชน แต่กลับมีผลเช่นเดียวกับกฎหมายที่มาจากสภาปกติ และยังมีผลบังคับใช้ต่อไป แม้ คสช. ลงจากอำนาจ
นอกจากนี้ การทำหน้าที่ของ สนช. ซึ่งมิได้มีพื้นฐานมาจากความเห็นชอบของประชาชน ยังทำให้กระบวนการร่างกฎหมายเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าแทรกแซง หรือได้ประโยชน์จากการทำหน้าที่ เช่น กรณี สนช. กำลังพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเทียบตำแหน่งข้าราชการทหารกับข้าราชการพลเรือน พ.ศ…. เพื่อกำหนดให้ข้าราชการทหารที่รับราชการหรือเคยรับราชการ มีอำนาจและหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินระดับหัวหน้าราชการในสังกัดกระทรวงกลาโหมชั้นยศพลตรี พลเรือตรี พลอากาศตรี เทียบเท่ากับข้าราชการพลเรือนที่รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งอธิบดี ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่กำหนดให้กรรมการขององค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต้องมีคุณสมบัติรับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีกรมหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี การกำหนดให้ยศพลตรีเทียบเท่าอธิบดีจึงเป็นการเปิดช่องให้ทหารเข้ารับตำแหน่งในองค์กรอิสระได้เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ 4 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ คสช. แต่งตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการ “ปฏิรูป” และ “ปรองดอง” ล้วนมีทหารจำนวนมากอยู่ในตำแหน่ง เช่น สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจากทั้งหมด 250 คน มีทหารจำนวน 32 คน และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จากทั้งหมด 200 คน มีทหารทั้งหมด 65 คน หากนับบุคคลที่มียศตำรวจด้วยจะมีทั้งหมด 78 คน คิดเป็นร้อยละ 39 ของสภา ทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช. ยังไม่รวมถึงกลุ่มข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่พลเรือนอื่น ที่มีแนวคิดทางการเมืองในทางสนับสนุนการรัฐประหารและการใช้อำนาจของกองทัพอีกด้วย
ส่วนคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ และกำกับดูแลการปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากการแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารรวม 29 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 12 คน สามารถดำรงตำแหน่งต่อได้อีก 5 ปี ขณะที่คณะกรรมการโดยตำแหน่งแม้จะมีการหมุนเวียนกันไป แต่บางส่วนถูกกำหนดไว้แล้วซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ทหาร ทั้งปลัดกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสด ผู้นำเหล่าทัพ และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งยุทธศาสตร์นี้มีวาระการดำเนินงานถึง 20 ปีและกำกับควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีกต่อไป
อีกทั้ง รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ในบทเฉพาะกาล มาตรา 269 ยังเปิดช่องให้ คสช. แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ ทั้งหมด 250 คน จากการเสนอชื่อโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งและคณะกรรมการสรรหา ทั้งยังกำหนดให้สมาชิกส่วนหนึ่งเป็นทหารโดยตำแหน่ง เช่น ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทั้งสามเหล่าทัพ ทำให้กองทัพและทหารจะยังอยู่ในตำแหน่งและมีความชอบธรรมในการใช้อำนาจนิติบัญญัติผ่านทางวุฒิสภาในอนาคต
ทหารเข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม
หลังรัฐประหาร ทหารยังเข้าไปเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมแทบทุกขั้นตอน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเคยนำเสนอรายงาน “กระบวนการยุติธรรมที่ชี้นำโดยทหาร” โดยสรุป ช่วงแรกหลังรัฐประหาร คสช. มีบทบาทเข้าไปควบคุมวงจรของกระบวนการยุติธรรมตลอดกระบวนการ โดยเฉพาะในคดีที่เป็นการใช้สิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง ตั้งแต่การกำหนดให้การกระทำใดการกระทำหนึ่งเป็นความผิด ผ่านการออกคำสั่งคณะรัฐประหาร การจับกุมและควบคุมผู้ต้องสงสัยโดยทหาร การเอาข้อมูลจากบุคคลโดยใช้อำนาจโดยมิชอบระหว่างถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร ก่อนนำตัวส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในชั้นสอบสวน ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารสามารถร่วมสอบสวนได้ จนถึงพนักงานอัยการทหารที่ทำความเห็นว่าจะดำเนินคดีกับพลเรือนหรือไม่ภายใต้ระบบบังคับบัญชาของมณฑลทหารบกต่างๆ โดยมีศาลและตุลาการทหารเป็นผู้วินิจฉัยและตัดสินคดี
แม้หลังคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 55/2559 ลงวันที่ 12 ก.ย. 2559 จะออกมาเพื่อยกเลิกการพิจารณาคดีบางประเภทในศาลทหาร แต่คดีที่เกิดเหตุในระยะก่อนหน้าก็ยังถูกพิจารณาโดยศาลทหาร และทหารยังสามารถเข้าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมในชั้นตำรวจและชั้นพนักงานอัยการ อย่างน้อยในแง่โครงสร้างที่ คสช. กำหนดให้หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของ คสช. มีหน้าที่กำกับดูแลสำนักงานอัยการสูงสุด ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติถูกกำกับดูแลโดยตรงจากนโยบายที่สั่งโดย คสช.
26 มิ.ย.2560 รังสิมันต์ โรม ขณะถูกนำตัวขึ้นศาลทหารเพื่อส่งฟ้องในคดีแจกใบปลิวประชามติที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ 24 มิ.ย.59 ที่มา ประชาไท
คสช. ยังแทรกแซงโครงสร้างกิจการและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา หรือเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามวิธีพิจารณาความอาญา ตามคำสั่งและประกาศ คสช. มากกว่า 10 ฉบับ ซึ่งกระทบต่อความเป็นอิสระของงานตำรวจและพนักงานสอบสวน โดยเฉพาะกรณีเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมืองในยุค คสช.
ทหารเข้าไปมีอิทธิพลในงานของฝ่ายปกครอง และส่วนราชการต่างๆ
หลังการรัฐประหาร ปี 2557 หัวหน้า คสช. อ้างอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 51/2560 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 โดยจัดระบบโครงสร้างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญด้านความมั่นคงที่กองทัพควบคุมดูแล ด้วยการขยายคำนิยาม “การรักษาความมั่นคงภายใน” ให้หมายรวมถึงการป้องกันสาธารณภัย การเพิ่มข้อกำหนดให้จัดสรรงบประมาณตามแผนและแนวทางของ กอ.รมน. การกำหนดโครงสร้างของ “กอ.รมน.ภาค” และ “กอ.รมน.จังหวัด” ให้ชัดเจนขึ้น โดยระดับภาคให้แม่ทัพภาคเป็น ผอ.รมน.ภาค และกำหนดให้หน่วยงานต่างๆ ระดับพื้นที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการ ทั้งอธิบดีอัยการภาค แม่ทัพน้อย ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น ส่วนในระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น ผอ.รมน. ก็กำหนดให้มีคณะกรรมการ ทั้งอัยการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้อำนวยการฝ่ายทหาร ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด หัวหน้าสำนักงานจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ผู้แทนจากส่วนราชการระดับจังหวัดต่างๆ รวมทั้งผู้แทนมณฑลทหารบก เป็นองค์ประกอบหนึ่งของคณะกรรมการด้วย
กอ.รมน.สระแก้ว ประชุมคณะกรรมการเตรียมความพร้อมปฏิบัติการ 19 ก.พ.61 การประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นตามคำสั่งหัวหน้า คสช. 51/60 ที่มา สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
คำสั่งดังกล่าวทำให้ กอ.รมน. กลายเป็น “ผู้ควบคุมงานด้านความมั่นคง” และ “แม่ข่าย” ของการปฏิบัติการด้านความมั่นคงและการป้องกันบรรเทาสาธารณภัย โดยรวมทั้งหน่วยงานทางปกครอง หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม หน่วยราชการในพื้นที่ เข้ามาอยู่ภายใต้องค์ประกอบของ กอ.รมน. และทำให้ทหารซึ่งปกติอยู่ภายใต้กระทรวงกลาโหม มีอำนาจในการสั่งการหรือประชุมข้ามกระทรวงในระดับพื้นที่
นอกจากนี้ นักวิชาการที่ศึกษาบทบาทของ กอ.รมน. ชี้ให้เห็นว่า กอ.รมน. ยังเข้าไปมีบทบาทการจัดตั้งมวลชนในท้องถิ่น โดยอาศัยกลไกของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งกระทรวงศึกษาธิการ ผ่านการฝึกอบรมครูในโรงเรียน การจัดนักพูดเข้าไปโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือการตั้งกลุ่มแม่บ้านเพื่อพัฒนางานด้านต่างๆ ทั้งยังสร้างเครือข่ายจับตาสอดส่องความเคลื่อนไหวของประชาชนในพื้นที่และการแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ด้วย
บทบาทของ กอ.รมน. หลังรัฐประหารครั้งนี้ ยังขยายตัวผ่านการถูกตั้งเป็น “แกนกลาง” ในการดำเนินงานประเด็นต่างๆ เช่น คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามทำลายป่าไม้ และแผนแม่บทป่าไม้ฯ ซึ่งให้ กอ.รมน. มีอำนาจเต็มในการสั่งการ ควบคุม และรายงานผลการปฏิบัติงาน โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาป่าไม้ ต้องรายงานผลต่อ กอ.รมน. นอกจากนี้ กอ.รมน. ยังแสดงบทบาทในลักษณะเข้าไปสนับสนุนโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในพื้นที่ต่างๆ ที่ประชาชนยังคัดค้านโครงการอยู่ เช่น กรณีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา จังหวัดสงขลา หรือกรณีการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่หมู่บ้านนามูล-ดูนสาด จังหวัดขอนแก่น
จะเห็นได้ว่า ทหารเข้าไปมีบทบาทในโครงสร้างทางการเมืองต่างๆ และยังขยายอำนาจเข้าไปจัดการหรือดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจสังคมจำนวนมาก ซึ่งทหารไม่ได้มีบทบาทโดยตรงมาก่อน หรือเคยมีบทบาทแต่ก็ไม่ได้มากนัก บทบาททั้งของกอ.รมน.และเจ้าหน้าที่ทหารในหลายมิติเหล่านี้จะดำรงอยู่ต่อไป แม้จะไม่มี คสช. แล้วก็ตาม จนอาจกล่าวได้ว่า ไม่ว่า คสช. จะได้สืบทอดอำนาจต่อไปหรือไม่ แต่กองทัพได้ดำเนินการขยายและสืบทอดอำนาจในระบอบการเมืองในอนาคตในหลายมิติต่อไปแล้ว
ที่มา: http://www.tlhr2014.com/th/?p=7773
แสดงความคิดเห็น