Posted: 21 Jun 2018 10:58 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

อนินท์ญา ขันขาว

ประเด็นสังคมที่น่าสนใจในขณะนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องการประหารชีวิต ครั้งล่าสุดกรณีนายธีรศักดิ์ หลงจิ หรือ มิก ซึ่งถือเป็นประเด็นที่สังคมยังคงถกเถียงกันว่าสมควรหรือไม่ และกระบวนการยุติธรรมไทยจะมีลักษณะการดำเนินการต่อไปอย่างไร

หลายวันที่ผ่านมานี้มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับกรณีดังกล่าวออกมาเคลื่อนไหวให้สังคมรับรู้ผ่านช่องทางต่างๆ แต่สิ่งที่น่าสนใจขณะนี้คือการที่ สังคมไทย รับความแตกต่างไม่ได้ ซึ่งแท้จริงแล้วเราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าสังคมไทยไม่ได้สอนให้คนคิด แต่เป็นสังคมที่เน้นการอุปถัมภ์ เคารพเชื่อฟังผู้อวุโส หากผู้ใดคิดแตกต่างจากคนส่วนใหญ่อย่างชัดเจนจะถูกมองว่าผิดทันที ซึ่งสิ่งที่ควรจะเป็นคือ การยอมรับรับฟัง ใช้เหตุผลที่มีน้ำหนักมาโต้แย้งกัน จะทำให้ความขัดแย้งลดน้อยลง กรณีการประหารชีวิตเช่นกัน ทุกคนก็มีสิทธิ์ที่จะคิดได้ “หากคนกลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วย ไม่ยอมรับการประหารชีวิต” จะตัดสินคนเหล่านั้นว่าผิดได้หรือไม่ หรือในทางกลับกัน คนกลุ่มหนึ่งเห็นด้วยกับการประหารชีวิต ก็ไม่ผิดทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความคิดของแต่ละคนที่แตกต่างกันแท้จริงแล้วไม่ควรมีใครผิดที่จะแสดงออกแต่อยู่ที่ว่าต้องอยู่ในขอบเขตที่สมควร

ซึ่งตามทฤษฎีความแตกต่างระหว่างบุคคล (จิตวิทยาทั่วไป อ.สุธีรา เผ่าโภคสถิตย์:2543 หน้า (28-29) ทฤษฎีความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual Differences Theory) ได้รับการพัฒนามาจากแนวความคิดเรื่องสิ่งเร้าและการตอบสนอง (Stimulus-Response) หรือทฤษฎี เอส-อาร์ (S-R theory) ของกาเย่(Gagne)และนำมาประยุกต์ใช้ (Defleur, 1966) อธิบายว่า บุคคลมีความแตกต่างกันหลายประการ เช่น บุคลิกภาพ ทัศนคติ สติปัญญา และความสนใจ แล้วทำไมสังคมไทยถึงไม่ค่อยยอมรับความแตกต่างซึ่งกันและกัน มิใช่เพียงแต่ประเด็นนี้แต่มีอีกหลายร้อยประเด็นที่เกิดการแบ่งฝั่ง พรรคพวก โจมตีกันเพื่อที่จะให้แนวคิดของพวกตนเองชนะ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการศึกษา สภาพสังคม และแน่นอนการเมือง ทุกสิ่งรอบตัวแตกต่างแน่นนอนแต่อยู่ที่ว่าจะเรียนรู้และยอมรับอย่างไรให้เกิดผลด้านดีมากที่สุด จะพยายามหาจุดตรงกลางอย่างยุติธรรมอย่างไรที่จะทำให้สังคมมีความขัดแย้งลดลง

แต่ทุกวันนี้พลังสื่อออนไลน์มีอิทธิพลสูงมากที่ทำให้คนไทยส่วนหนึ่งใช้ชีวิตติดลบ ด้วยการโจมตีเอาชนะทางสื่อออนไลน์(Cyberbullying) เพิ่มมากขึ้นในทุกประเด็น โดยไม่ใช่เหตุ-ผล แต่ต่อว่าด่าทอ หรือเหยียดหยาม ทางเพศ น่าตา ฐานะ กระทำการล่วงเกินกัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงภาพลักษณ์ด้านลบของแต่ละคน กรณีการประหารชีวิตนี้ มีทั้งกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยและเห็นด้วย แต่ออกมาแสดงออกกับสังคมผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ แต่คนจำนวนไม่น้อยที่เห็นต่างกลับต่อว่า ด่าทอ อย่างไร้เหตุผล และไม่ให้เกียรติกัน ตรงนี้ถือเป็นปัญหาสังคมไทยอีกรูปแบบหนึ่งที่สังคมหรือรัฐไทยเองควรหาแนวทางที่จะทำให้ความขัดแย้งในสังคมออนไลน์ลดน้อยลงหรือหมดไป แม้ว่ารัฐไทยจะมีการจัดทำ กฎหมาย(พรบ.คอมพิวเตอร์) หรือกฎหมายหมิ่นประมาทขึ้นมาแต่การใช้กฎหมายนั้นไม่สามารถครอบคลุมถึงผู้ที่ใช้โซเชียลมีเดียได้หมดทุกคน และแน่นอนว่าความเป็นไปได้ยากมาก แต่แนวทางอย่างไรที่จะลดความขัดแย้งของสังคมไทยผ่านช่องทางออนไลน์หรือการกลั่นแกล้ง(Cyberbullying)

ทั้งนี้ปัญหาการไม่ยอมรับความแตกต่างซึ่งกันและกันเกิดจากสังคมไทยที่ไม่ได้ปลูกฝัง ยึดติดกับสังคมแห่งการเชื่อฟัง ไม่ได้สอนให้กล้าคิด ไม่สอนให้ยอมรับ รับฟังผู้อื่น เป็นอีกสาเหตุของปัญหาทางการเมือง สีแดง-สีเหลือง ฝั่งซ้าย-ฝั่งขวา เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จนนำมาสู่การกลั่นแกล้งโจมตีให้แนวคิดตนเองถูกเสมอหรือไม่ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดปัญหาในเรื่องความสามัคคีที่ลดลงทุกระดับ

หากทุกคนเปิดใจรับฟังยอมรับมากขึ้นจะนำพาสังคมไปพบกับจุดร่วมที่ดีได้ ตัวรัฐไทยเองก็ควรที่จะแก้ปัญหา ให้ถูกจุด แก้ที่ต้นเหตุไม่ใช่ปลายเหตุกรณี ประหารชีวิตสะท้อนมุมมองแนวคิดของสังคมที่หลากหลายและสิ่งสำคัญบทสรุปต้องเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.