Posted: 20 Jun 2018 05:33 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

Worapong Keddit

ขอพูดถึงข่าวเรื่องการประหารนักโทษคนล่าสุดสักเล็กน้อย(ขอสเตตัสนี้สเตตัสเดียว) ในฐานะที่ทั้งนักโทษผู้ถูกประหาร และเหยื่อผู้ถูกกระทำล้วนเป็นคนบ้านเดียวกับผม คือต่างก็เป็นชาวจังหวัดตรังครับ

เท่าที่ตามอ่านๆ ดูข้อถกเถียงทั้งฝ่ายที่สนับสนุนให้คงโทษประหารไว้ กับฝ่ายที่สนับสนุนให้ยกเลิกโทษประหาร มีประเด็นที่น่าสนใจบางอย่างที่ควรจะต้องนำมาขบคิดกันจริงจังครับ

"โทษประหารชีวิต" เป็นสิ่งที่มีในระบบกฎหมายและการปกครองรัฐต่างๆในโลกมาตั้งแต่บุพกาล นับพันนับหมื่นปีมาแล้ว อย่างน้อยที่สุด เอาเฉพาะกรณีของจีน ก็มีมาไม่ต่ำกว่ายุคราชวงศ์เซี่ยซึ่งเป็นราชวงศ์แรกของจีน เมื่อราวๆสามพันกว่าปีที่แล้ว

แล้วไอ้โทษประหารแบบจีนโบราณ มีวิธีการทำให้ตายสารพัดแบบมาก อ้างเฉพาะจากกฎหมายสมัยราชวงศ์ฮั่นเนี่ย มีตั้งแต่แบบตายเบาๆ เช่นการให้ดื่มยาพิษ หรือใช้ผ้ารัดคอ ไปยันกระทั่งห้าม้าแยกร่าง หรือฟันคอ สับเนื้อเป็นชิ้นๆ แล่เนื้อถลกหนัง ฟันกี่ดาบว่าไปตามระดับความหนักเบาของความผิดตามกฎหมาย สูงสุดคือฟัน 3600 ดาบ (หมายถึงลงดาบฟันผู้ถูกประหาร 3600 ครั้ง)

แต่คำถามคือ การประหารชีวิตที่มีมากมายหลายรูปแบบขนาดนี้ ทำให้สังคมจีนสงบสุข ไม่มีโจรผู้ร้าย ไม่มีการฆ่ากันตาย ไม่มีใครกล้าก่อความวุ่นวายจริงหรือ?

คำตอบคือไม่ครับ

ท้ายสุด เมื่อถึงคราวที่ข้าวยากหมากแพง คนไม่มีจะกิน ก็ต้องไปเป็นโจรปล้นชิง เมื่อคนคนหนึ่งถูกคนข่มเหงรังแกมากเข้า โดยที่ไม่มีใครช่วยเหลือให้ความเป็นธรรมแก่เขาได้ เขาก็จำต้องลุกขึ้นมาฆ่าผู้นั้นเพื่อปกป้องตนเอง เมื่อใดที่เหล่าชาวนาผู้ทุกข์ยากทนการกดขี่ของราชสำนักไม่ไหว ก็พากันจับจอบเสียมลุกฮือขึ้นก่อกบฎ

นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในวงจรวัฎจักรประวัติศาสตร์จีนนับพันปี

แสดงว่าลำพังการมีโทษประหารชีวิต ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้สังคมสงบสุข ทำให้ทุกคนไม่มีใครกล้ากระทำผิดกฎหมาย

นี่ยังไม่พูดถึงกรณีจับแพะ จับคนผิด แต่ถูกข่มขู่บังคับ หรือหลอกล่อให้ยอมรับสารภาพ ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นในละครเปาบุ้นจิ้นมากมายหลายตอน เพราะเค้าโครงของเรื่องก็มาจากนิยายที่เขียนขึ้นในยุคราชวงศ์ชิง ซึ่งก็มีคดีที่ไม่เป็นธรรมแบบนี้มากมาย

เท่ากับว่าโทษประหารไม่เพียงไม่ได้ช่วยให้อาชญากรรมหมดไป แต่ยังทำให้ผู้บริสุทธิ์อีกไม่น้อยต้องตายไปฟรีๆ

นี่ยกตัวอย่างแค่ของจีนนะครับ ยังไม่ได้พูดถึงประเทศอื่นอีกกว่าสองร้อยประเทศทั่วโลก

ก่วนจ้ง (管仲) รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ในยุคชุนชิวกล่าวว่า "ก่อนจะสอนให้คนรู้จักจารีตและความละอาย ควรให้เขาได้กินอิ่มนุ่งอุ่นเสียก่อน (仓廪实而知礼节,衣食足而知荣辱)

สวินจื่อ (荀子) นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ในยุคจ้านกั๋วกล่าวว่า "หากไม่ปีนเขา ย่อมไม่อาจหยั่งรู้ความสูงของฟ้า หากไม่ดำลงไปในน้ำ ย่อมไม่อาจหยั่งรู้ความลึกของแผ่นดิน" (不登高山,不知天之高也;不臨深溪,不知地之厚也。)

ในท้ายที่สุดแล้ว ปราชญ์โบราณของจีนจึงมองว่า วิธีการแก้ปัญหาอาชญากรรม ให้สังคมสงบสุขได้จริงๆ อยู่ที่ต้องแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ ให้ชาวบ้านทุกคนอยู่ดีกินดีก่อน แล้วจึงกล่อมเกลาด้วยการศึกษา ให้รู้จักคุณธรรมจริยธรรมเสียก่อน ถ้าพูดแบบโบราณ แต่ถ้าพูดแบบปัจจุบันก็คือ ใช้การศึกษาทำให้ชาวบ้านรู้จักในสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของตน และรู้จักที่จะเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น เมื่อคนมีกินมีใช้ไม่ขาดแคลน ได้รับการศึกษาขัดเกลามาอย่างดี รู้จักสิทธิเสรีภาพหน้าที่ของตน และรู้จักเคารพสิทธิเสรีภาพไม่ไปละเมิดผู้อื่น แล้วจะไปทำร้ายเข่นฆ่าผู้อื่นเพื่อปล้นชิงทำไมอีกเล่า

เมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเที่ยงธรรมไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะเป็นใคร ดุจเดียวกับที่ไห่รุ่ยซึ่งเป็นนายอำเภอกล้าสั่งโบยคุณชายลูกชายผู้ว่ามณฑลซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของตนที่มาก่อเรื่องกระทำผิดกฎหมายในเขตอำเภอของตน แล้วไยราษฎรจะคับแค้นใจจนจับอาวุธฆ่าคนที่มาข่มเหงรังแกตนอีกเล่า

เมื่อบ้านเมืองมีการปกครองที่ดี ประชาชนไม่ถูกกดขี่ข่มเหงจากเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วไยราษฎรจะจับจอมเสียมลุกฮือขึ้นก่อการกบฎอีกเล่า

สรุปก็คือ ลำพังแต่การมีกฎหมายอาชญาทัณฑ์รุนแรง ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอาชญากรรมจริงๆ แต่การปกครองที่ดี เศรษฐกิจที่ดี การศึกษาที่ดี และกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่ดีต่างหาก ที่จะช่วยแก้ปัญหาอาชญากรรม ทำให้สังคมสงบสุขจริงๆ

นี่เป็นข้อที่พึงพิจารณาให้จงหนักครับ


ภาพประกอบ: การประหารชีวิตนักโทษในคดีกบฎอี้เหอถวน หรือกบฎนักมวยในช่วงปลายราชวงศ์ชิง ซึ่งท้ายสุดก็ไม่อาจดับกระแสการต่อต้านราชวงศ์ชิงให้หมดไปได้ แต่กลับยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น จนในที่สุดราชวงศ์ชิงก็ถูกโค่นล้มในเวลาต่อมา


เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Worapong Keddit

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.