Posted: 23 Jun 2018 04:51 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

เสวนา “พินิจ (รัฐ) ธรรมนูญ 2475 พิจารณารัฐธรรมนูญ 2560 เราเดินถอยหลังมาไกลแค่ไหนแล้ว?” 'โภคิน' ระบุ รธน. 2560 เปลี่ยนระบอบเป็นเผด็จการ ชี้เอาคนปกป้องเผด็จการมาสร้างประชาธิปไตยไม่ได้

23 มิ.ย. 2561 เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานว่าที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พรรคใต้เตียง มธ. และคณะประชาชนเพื่อเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) จัดเสวนาเรื่อง “พินิจ (รัฐ) ธรรมนูญ2475 พิจารณารัฐธรรมนูญ 2560 เราเดินถอยหลังมาไกลแค่ไหนแล้ว?” โดยนายโภคิน พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย และอดีตประธานรัฐสภา กล่าวตอนหนึ่งว่า 24 มิ.ย. 2475 เป็นการเปลี่ยนแปลงจากระบอบราชาธิปไตย มาเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หัวใจสำคัญคือ การเขียนรัฐธรรมนูญให้อำนาจเป็นของราษฎรเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นแม้คณะรัฐประหาร ก็ไม่กล้าบอกว่าอำนาจสูงสุดไม่ใช่ของประชาชนตลอด 86 ปี ไม่มีใครเอาอำนาจไปจากราษฎรได้ แต่นี่เป็นวาทะกรรม สุดท้ายเขาก็เอาอำนาจไปหมด แต่อย่างน้อยวาทกรรมนี้คือความจริง ในมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญเขียนว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจผ่านทางฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ แล้วเวลาฉีกรัฐธรรมนูญ คุณฉีกอำนาจใคร ในรัฐธรรมนูญ 2517 จึงเขียนว่า การล้มล้างรัฐธรรมนูญ ล้มอำนาจพระมหากษัตริย์จะทำไม่ได้

นายโภคิน กล่าวว่า ในบทเฉพาะการของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มาตรา 265 กำหนดให้ใช้ ม.44 ได้เหมือนเดิม จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ ถ้าไม่เล่นการเมืองไม่เป็นไร แต่ถ้าจะเล่นการเมืองแล้วมี ม.44 ก็จะต้องไม่ใช้ประโยชน์นี้เพื่อการสืบทอดอำนาจ ซึ่งมาตรา 44 ก็มีเงื่อนไขในการใช้ เพื่อการปรองดอง ปฏิรูป และภัยคุกคาม แต่การใช้ย้าย ขรก.ท้องถิ่นเป็นพันๆคน ส่วนที่ศาลฎีกาบอกยึดอำนาจสำเร็จเป็นรัฎฐาธิปัตย์ แต่ไม่ได้บอกว่า จะกลับมาเป็นกบฎสักวันหนึ่ง ในสมัยสฤษดิ์ เคยมีการฟ้องมาตรา 17 ศาลบอกจะเข้าเงื่อนไขหรือไม่ ขึ้นกับ ครม.จะพิจารณา กลายเป็นว่า ศาลรับรองความสมบูรณ์แบบการใช้อำนาจเผด็จการแบบสุดๆ ให้เป็นอย่างไรก็ได้ ทั้งนี้บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญจะต้องนำไปสู่ประชาธิปไตย ไม่ใช่อำมาตยาประชาธิปไตย มาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 และมาตรา 279 ในรัฐธรรมนูญ 2560 กลับใหญ่กว่าบทจริง ทำให้มาตราก่อนหน้านั้นไม่มีความหมายกลายเป็นเปลี่ยนจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไปสู่เผด็จการ

นายโภคิน กล่าวอีกว่า มาตรา 265 โดยอาศัยมาตรา 279 คุ้มกัน ไม่ได้หมายความว่า มาตราอื่นไม่มีความหมาย สมมติใช้ ม.44 แบ่งแยกประเทศไทย ม.279 คุ้มครองให้ชอบด้วยกฎหมาย เรารับมันได้หรือไม่ มันสุดยอดของอำนาจ รัฎฐาธิปัตย์หนือรัฏฐาธิปัตย์ ทั้งที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ตุลาการภิวัฒน์ ที่มานั่งตกลงกันทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ศาล โดยอ้างความสงบเรียบร้อย ซึ่งการเอาคนที่ปกป้องเผด็จการ ยืนหยัดกับเผด็จการ ถามว่าจะสร้างประชาธิปไตยได้หรือไม่ วงจรอุบาทว์ยึดอำนาจเลือกตั้งยึดอำนาจเลือกตั้ง ยังไม่จบใน 86 ปี คนมีส่วนสำคัญคือ ศาล ถ้าศาลกล้ายืนหยัดในหลักนิติธรรม ประชาธิปไตย ตนเชื่อว่า ไม่มีใครกล้ายึดอำนาจ เพราะไม่รู้ว่า ยึดอำนาจแล้วจะเป็นอย่างไร

“ส่วนกลไกให้ ส.ว. 250 คน คสช.แต่งตั้งหมด ก็ย้อนอดีต การตั้งนายกรัฐมนตรีเดิมต้องทำในสภาผู้แทนราษฎร แต่ครั้งนี้ให้ทำในรัฐสภา ต้องได้ 376 เสียง ไม่ง่าย นอกจากประชาชนจะเทให้พรรคใดพรรคหนึ่งอย่างถล่มทลาย บางพรรคพูดไม่เอาทหาร แต่พอถึงเวลาต้องดูกัน นักการเมืองต้องซื่อสัตย์ ไม่ได้เกลียดทหาร แต่ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งต้องสง่างาม ไม่อย่างนั้นน่ารังเกียจ มีทั้งตั้ง ส.ว. ดูดนักการเมืองกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ แล้วด่านักการเมืองเลวทรามสารพัด บอกว่าจะปฏิรูปการเมือง แต่ก็มาทำแบบนี้ก็เท่ากับดูหมิ่นมาตรา 4 เรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คุณดูหมิ่นเหยียดหยามประชาชนเป็นบ่าว แต่แท้จริงแล้วเขาเป็นประชาชนเจ้าของอำนาจ จึงขอให้ประชาชนช่วยกันทำให้การเหยียดหยามนี้พ่ายแพ้" นายโภคินกล่าว

ส่วนนายชำนาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่าในแง่การกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 จะถอยหลังหรือไม่ ลองคิดดูเพราะจากเดิมรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 กำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่คราวนี้กำหนดให้มาจากการเลือกตั้งหรือการเห็นชอบจากสภาท้องถิ่นก็ได้ สิทธิเดิมที่เคยมีตามรัฐธรรมนูญเดิม ที่ให้ภาคประชาชนเสนอกฎหมายภาคประชาชน เช่น ร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร ปรากฎว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชามติปลอมๆ นี้ ก็ทำให้การเสนอกฎหมายจังหวัดปกครองตนเองโดยประชาชนทำไม่ได้

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.