Posted: 15 Jun 2018 12:22 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)


ยูนิเซฟเรียกร้องให้เกิดนโยบายที่เอื้อให้ครอบครัวมีความพร้อมในการพัฒนาเด็กปฐมวัย ได้แก่ สิทธิการหยุดพักระหว่างวันในที่ทำงานเพื่อบีบเก็บน้ำนม สิทธิลาคลอดและเลี้ยงลูกโดยเฉพาะบทบาทของพ่อซึ่งมีงานศึกษารองรับว่าส่งผลต่อจิตวิทยาเด็กระยะยาว ยูนิเซฟประเดิมให้พ่อลาเลี้ยงลูกได้นานถึง 16 สัปดาห์ จากเดิม 4 สัปดาห์ อินเดียก็กำลังผลักดันกฎหมายเอื้อพ่อลาเลี้ยงลูกนาน 3 เดือน

14 มิ.ย.2561 บทวิเคราะห์ล่าสุดของยูนิเซฟระบุว่าเกือบ 2 ใน 3 ของเด็กวัยต่ำกว่า 1 ปีทั่วโลกหรือเกือบ 90 ล้านคน อาศัยอยู่ในประเทศที่กฎหมายไม่ให้สิทธิพ่อในการหยุดงานเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดโดยได้รับค่าจ้างแม้แต่วันเดียว

ทั่วโลกมี 92 ประเทศที่ไม่มีนโยบายระดับประเทศที่ให้สิทธิพ่อมือใหม่ในการลาหยุดงานแบบได้รับค่าจ้างเพื่อเลี้ยงลูกแรกคลอด โดยในจำนวนนี้มีประเทศอินเดียและไนจีเรียซึ่งมีประชากรทารกแรกเกิดสูงรวมอยู่ด้วย ขณะที่ประเทศที่มีจำนวนทารกแรกเกิดสูงเช่นเดียวกัน เช่น บราซิลและสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกต่างก็มีนโยบายลาคลอดแบบจ่ายค่าจ้างให้แก่พ่อที่ลาหยุดเพื่อเลี้ยงลูกเป็นนโยบายระดับประเทศทั้งสิ้น แม้จะเป็นเพียงระยะสั้นก็ตาม

“ปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับแม่และพ่อในช่วงเริ่มแรกของชีวิต จะช่วยเสริมสร้างการเติบโตของสมองและพัฒนาการของเด็ก เด็กจะแข็งแรงขึ้น มีความสุขยิ่งขึ้น และเรียนรู้ได้ดีขึ้น ซึ่งนี่เป็นความรับผิดชอบของเราที่จะช่วยให้พวกเขาบรรลุสิ่งเหล่านี้ได้” นางเฮนเรียตตา เอช โฟร์ ผู้อำนวยการบริหารของยูนิเซฟกล่าว

มีหลักฐานแสดงว่าเมื่อพ่อผูกพันกับทารกตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นชีวิต พ่อจะมีบทบาทมากขึ้นต่อการกระตุ้นพัฒนาการของลูก นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าเด็กที่มีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับพ่อจะมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น มีความเคารพตนเองและความพึงพอใจในชีวิตในระยะยาว

ยูนิเซฟกำลังผลักดันให้รัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก ดำเนินนโยบายในระดับประเทศเพื่อสนับสนุนครอบครัวในการส่งเสริมการพัฒนาของเด็กปฐมวัยซึ่งรวมถึงนโยบายลาหยุดงานของพ่อเพื่อเลี้ยงลูกที่เพิ่งคลอดโดยยังคงได้รับค่าจ้าง ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ผู้ปกครองมีเวลาและทรัพยากรที่จำเป็นต้องใช้ในการเลี้ยงดูลูก

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ยูนิเซฟเองได้ปรับเปลี่ยนข้อกำหนดในนโยบายลาคลอดในองค์กร โดยขยายสิทธิการลาหยุดงานของพ่อเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดเป็นเวลานานสูงสุดถึง 16 สัปดาห์ในสำนักงานยูนิเซฟทุกแห่งทั่วโลก ทั้งนี้ ยูนิเซฟเป็นหน่วยงานแรกขององค์การสหประชาชาติที่มีการขยายสิทธิดังกล่าวเกินกว่า 4 สัปดาห์มาตรฐาน

“เราจะเป็นองค์การ 'เพื่อเด็กทุกคน' ได้อย่างไรหากเราไม่ทำ 'เพื่อพ่อแม่ทุกคน' ด้วย เราต้องการขอความร่วมมือจากรัฐบาลและนายจ้างมากขึ้น เพื่อให้พ่อแม่มีเวลาและทรัพยากรที่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูลูกเล็กของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงขวบปีแรก ๆ ของชีวิตเด็ก” นางโฟร์กล่าว

นโยบายสนับสนุนครอบครัวเหล่านี้กำลังดำเนินไปในทิศทางที่ดีทั่วโลก ตัวอย่างเช่นในอินเดียที่มีการเสนอ Paternity Benefit Bill (ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยเรื่องเงินช่วยเหลือบิดา) เพื่อพิจารณาในวาระถัดไปของรัฐสภาซึ่งจะอนุญาตให้พ่อสามารถลาหยุดงานโดยได้รับค่าจ้างเพื่อเลี้ยงดูลูกที่เพิ่งคลอดได้นานสูงสุดถึง 3 เดือน

อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก โดยเฉพาะเมื่อ 8 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งสหรัฐอเมริกาซึ่งมีเด็กทารกมากถึงเกือบ 4 ล้านคนยังคงไม่มีนโยบายลาคลอดที่จ่ายค่าจ้างให้แก่พ่อและแม่ งานวิเคราะห์ชิ้นใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ “ยอดคุณพ่อ หรือ Super Dads” ของยูนิเซฟซึ่งขณะนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 โดยเป็นแคมเปญที่ตั้งเป้าในการทำลายอุปสรรคขัดขวางบทบาทของพ่อที่มีต่อการพัฒนาของลูก แคมเปญ Super Dads ร่วมเฉลิมฉลองวันพ่อที่จัดขึ้นในกว่า 80 ประเทศในเดือนมิถุนายนนี้ พร้อมย้ำเน้นถึงความสำคัญของโภชนาการที่ดี การเล่น และความรัก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กเล็ก

ความก้าวหน้าด้านประสาทวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า เมื่อเด็กใช้เวลาช่วงขวบปีแรก ๆ โดยเฉพาะ 1,000 วันแรกตั้งแต่ปฏิสนธิไปจนถึง 2 ปี ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและมีการกระตุ้นพัฒนาการ เส้นประสาทใหม่ ๆ จะเชื่อมต่อกันด้วยความเร็วสูงสุด การเชื่อมต่อเหล่านี้จะมีส่วนกำหนดความสามารถในการรู้คิดของเด็ก ตลอดจนสมรรถนะการเรียนรู้ การคิดอ่าน และการจัดการกับความเครียด ซึ่งอาจส่งผลถึงความสามารถในการสร้างรายได้เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่

บทความชุด “Advancing Early Childhood Development: from Science to Scale” ที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ เดอะแลนเซ็ต (The Lancet) เดือนตุลาคม 2559 เผยว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีจำนวนเกือบ 250 ล้านคนกำลังเสี่ยงต่อการขาดพัฒนาการที่ดีอันเนื่องมาจากภาวะแคระแกร็นและความยากจนข้นแค้น บทความชุดนี้ยังระบุด้วยว่าโครงการที่ส่งเสริมการดูแลใส่ใจเด็กเล็ก ทั้งด้านสุขภาพ โภชนาการ การเลี้ยงดู ความมั่นคงปลอดภัย และการศึกษาปฐมวัย มีค่าใช้จ่ายน้อยนิดเพียง 50 เซนต์ต่อหัวต่อปี เมื่อดำเนินการร่วมกับบริการสุขภาพต่าง ๆ ที่มีอยู่

สำหรับประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้ ยูนิเซฟได้จับมือกับบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด จัดทำแคมเปญ #EatPlayLove กินให้เป็น เล่นให้สุด ไม่หยุดรัก เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาสมองของเด็กในช่วงปฐมวัย วิธีการเลี้ยงลูกและการกระตุ้นพัฒนาการง่ายๆ ผ่านกิจกรรมโรดโชว์ในรูปแบบของงานเอ็กซ์โปสัญจรไปยังศูนย์การค้าเซ็นทรัลทั่วประเทศตลอดปี 2561 ตั้งแต่เดือน มีนาคม – พฤศจิกายน 2561

หมายเหตุ

ยูนิเซฟได้รับข้อมูลรายชื่อประเทศที่มีและไม่มีนโยบายให้สิทธิพ่อลาหยุดงาน (ได้รับค่าจ้าง) เพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดจาก WORLD Policy Analysis Center มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย นครลอสแอนเจลิส และข้อมูลจำนวนประชากรอ้างอิงจาก UNPD 2560 ดูรายชื่อประเทศที่ไม่มีนโยบายวันลาหยุดงานดังกล่าวได้ ที่นี่

ประเทศที่มีนโยบายให้สิทธิพ่อลาหยุดงานยาวนานขึ้น (ได้รับค่าจ้าง) หรือไม่ก็มีนโยบายให้แรงจูงใจทางการเงินเพื่อให้พ่อลาหยุดงานยาวนานขึ้น เพื่อส่งเสริมให้พ่อมีส่วนร่วมในการพัฒนาของลูกในระยะยาว ได้แก่ เยอรมนี ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สาธารณรัฐเกาหลี และสวีเดน

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.