ศาลฎีกายืนยกฟ้อง กรณี 'กลุ่มพลเมืองโต้กลับ' ฟ้อง 'ประยุทธ์-คสช.' ข้อหาร่วมกันเป็นกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 จากการยึดอำนาจ 22 พ.ค. 2557 ชี้ต้องตีความกฎหมายให้บังคับใช้ได้รักษารัฐ-รัฐธรรมนูญปี 2557 คุ้มครองอยู่

22 เม.ย. 2561 ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.1805/2558 และคดีหมายเลขแดงที่ 1760/2558 กรณีกลุ่มพลเมืองโต้กลับเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง คสช. ในข้อหาร่วมกันเป็นกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่างยกฟ้อง โดยให้เห็นผลว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่คณะรัฐประหารร่างขึ้นใหม่มีบทบบัญญัติยกเว้นโทษการทำรัฐประหารและการใช้อำนาจต่อจากนั้นไว้แล้ว

ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานว่าศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ โดยให้เหตุผลว่าการกระทำของจำเลยทั้งห้าตามฟ้อง พ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงโดยอำนาจตามมาตรา 48 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ที่บัญญัติโดย คสช. ซึ่งมีอำนาจในเชิงข้อเท็จจริงว่า เป็นคณะบุคคลที่ใช้อำนาจบริหารและนิติบัญญัติ โดยควบคุมกลไกและหน่วยงานของรัฐได้นั้นมีสภาพเป็นกฎหมาย และตามมาตรา 279 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ถูกตราขึ้นในวันที่ 6 เม.ย. 2560

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เผยแพร่คำพิพากษายกฟ้องนี้ระบุว่าศาลฎีกาตรวจสำนวนแล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยสองส่วน ส่วนแรกตามฎีกาของโจทก์ทั้งสิบห้าว่า ที่ศาลล่างทั้งสอง พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสิบห้านั้นชอบหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสิบห้าฎีกาว่า

“……มาตรา 47 แ ละ มาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อมโนธรรมและหลักการพื้นฐานแห่งความยุติธรรมของมนุษย์อย่างชัดแจ้งอันมีผลทางให้บทบัญญัติดังกล่าวไม่สภาพเป็นกฎหมายแต่อย่างใด และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจะต้องอยู่ภายใต้หลักการพื้นฐานทั่วไปของระบบกฎหมายที่ว่า “บุคคลหาอาจถือเอาประโยชน์จากความฉ้อฉลที่ตนได้ก่อขึ้น หาอาจเรียกร้องใดบนความอยุติธรรมของตน หาได้รับยกเว้นความรับผิดจากอาชญากรรมของตัวเองได้” การกระทำของจำเลยทั้งห้า จึงไม่อาจจะพ้นจากความรับผิดตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 กำหนดไว้ได้ ….”

ในข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า

“สภาพความเป็นรัฐของรัฐใดรัฐหนึ่งนั้น จะต้องประกอบไปด้วยดินแดนอาณาเขตแน่นอนและมีประชากรอาศัยอยู่ในดินแดนนั้นโดยมีรัฐบาลปกครองและมีอธิปไตยเป็นของตนเอง ประการสำคัญการตีความกฏหมายต้องตีความในเชิงให้เกิดผลบังคับได้ แม้ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิบห้าที่อ้างว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ไม่ชอบในลักษณะที่เป็นกฏหมายก็ดี แต่การตีความกฏหมายต้องตีความในเชิงให้เกิดผลบังคับได้ตามที่กล่าวไปแล้วและต้องเป็นการตีความในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อเจตนารมณ์แห่งความธำรงอยู่ของความเป็นรัฐหรือชาติบ้านเมืองด้วย มิฉะนั้นสถานะความเป็นรัฐหรือความเป็นชาติบ้านเมืองจะถูกกระทบให้เสียหายไปเพราะไม่มีอธิปไตยอยู่ครบถ้วน ……..เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติยึดอำนาจการกครองแผ่นดินจากรัฐบาลรักษาการได้อย่างเบ็ดเส็จและประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 คณะรัฐมนตรีและวุฒิสภาสิ้นสุดลง ประเทศไทยในขณะนั้นจึงไม่มีหน่วยงานใดที่จะทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ แต่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ามาใช้อำนาจรัฎฐาธิปัตย์แทนซึ่งแม้การได้มาซึ่งอำนาจนั้จะเป็นวิธีการที่ไม่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยดังที่โจทก์ทั้งสิบห้ากล่าวอ้าง และจะมีความชอบธรรมในการได้มาซึ่งอำนาจในเชิงข้อเท็จจริงว่าเป็นคณะบุคคลที่ใช้อำนาจบริหารและนิติบัญญัติโดยควบคุมกลไกและหน่วยงานของรัฐได้ ดังนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ที่บัญญัติโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีสภาพเป็นกฏหมาย”

จากนั้นศาลฎีกาได้อ่านความในมาตรา 48 อีกครั้ง

“……มาตรา 48 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 นั้น ประกาศใช้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปัจจุบันแล้ว ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจในการไต่สวน อีกทั้งในมาตรานี้ก็ระบุไว้ชัดเจนว่า บรรดาการกระทำทั้งหลาย ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ของหัวหน้าและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวหรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือของผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันได้กระทำไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

ทั้งนี้ศาลฎีกายังได้เพิ่มเติมเรื่องบทบัญญัติมาตรา 279 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยไว้ในคำพิพากษาว่า

“มาตรา 279 ที่ได้บัญญัติรับรองประกาศ คำสั่งและการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ในก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ หรือที่จะออกใช้บังคับต่อไปตามมาตรา 265 วรรคสอง ไม่ว่าเป็นประกาศ คำสั่งหรือการกระทำที่มีผลบังคับใช้บังคับในทางรัฐธรรมนูญ ทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร หรือทางตุลาการ ให้ประกาศ คำสั่ง การกระทำ หรือการปฏิบัติ ที่ชอบด้วยกฏหมายรัฐธรรมนูญนี้และกฏหมาย และมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป….ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฏหมาย”

การวินิจฉัยส่วนที่สอง ที่โจทก์ทั้งสิบห้าฎีกาเรื่องที่ศาลยกฟ้องโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้อง ตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 116 (1) เป็นการข้ามขั้นตอนกระบวนการพิจารณา จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลเห็นว่า

“การไต่สวนมูลฟ้องหรือต้องวินิจฉัยว่าฟ้องมิมูลและประทับรับฟ้องไว้พิจารณาก่อนเสมอไป หากศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิดก็ดี การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดก็ดี คดีขาดอายุความแล้วก็ดี หรือมีเหตุตามกฏหมายที่จำเลยไม่ควรรับโทษก็ดี ให้ศาลยกฟ้องจำเลยไป ทั้งนี้ ตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ดังนี้ เมื่อศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งห้าตามฟ้องพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงดังที่วินิจฉัยแล้วข้างต้น ศาลชอบที่จะยกฟ้องได้เลย โดยไม่จำต้องไต่สวนมูลฟ้องและประทับรับฟ้องก่อน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสิบห้านั้ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสิบห้าฟังไม่ขึ้น"

(โหลดคำพิพากษาฉบับเต็ม)
ทนายอานนท์ชี้เป็นความพ่ายแพ้ร่วมกันที่นำผู้กระทำความผิดในการรัฐประหารมาลงโทษไม่ได้

ผู้สื่อข่าวประชาไทได้สัมภาษณ์ทนายอานนท์ นำภา ทนายความกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ระบุว่ายืนยันว่าจะเคลื่อนไหวต่อ โดยยังมีอีกหลายช่องทางให้เคลื่อนไหวได้เช่นการล้มล้างผลพวงของการรัฐประหารในประเด็นต่อๆ ไป และในส่วนตัวกังวลว่าคำพิพากษานี้อาจจะทำให้บรรดานายทหารใช้เป็น 'หลังพิง' เพราะต่อให้ทหารเข้ามารัฐประหารแม้จะไม่สำเร็จแต่ก็ไม่สามารถเอาผิดได้ ซึ่งเป็นข้อน่าห่วงต่อสังคมไทยเช่นเดียวกันเพราะระบบกฎหมายไทยนั้นไม่เอื้อต่อการนำเอาตัวผู้ก่อรัฐประหารมาลงโทษ

นอกจากนี้ ข่าวสดออนไลน์ ยังได้เผยแพร่ความเห็นของทนายอานนท์ ว่าศาลมีคำสั่งให้ยกฟ้องเนื่องจากเห็นว่าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ที่ทำรัฐประหารในช่วงนั้น สามารถมาบริหารประเทศได้ ซึ่งเราก็เคารพคำพิพากษาของศาล โดยเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมไทยอยู่ในเงื่อนไขแบบเดิม ที่เราต้องต่อสู่ทางการเมืองต่อไป อย่างน้อยเราก็ได้ใช้สิทธิในการฟ้องว่าการทำรัฐประหารเป็นการกระทำผิด โดยนัยยะของคำพิพากษาศาลเห็นว่า กระทำผิดแต่หลุดพ้นจากความผิดตามรัฐธรรมนูญที่ออกโดยคณะรัฐประหาร การที่เราพยายามพิสูจน์ว่าการรัฐประหารที่ผ่านมา 4 ปีแล้ว ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเมืองอย่างไร คิดว่าเราก็ได้ประจักษ์แล้ว ถือว่าเป็นความสำเร็จร่วมกัน ขณะเดียวกันก็เป็นความพ่ายแพ้ร่วมกัน ที่นำผู้กระทำความผิดในการรัฐประหารมาลงโทษไม่ได้ เราก็กังวลว่าในอนาคตหากสังคมและกระบวนการยุติธรรมยังเอื้อที่จะก่อให้เกิดรัฐประหารก็จะเป็นปมเงื่อนที่ประเทศไทยจะไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้ ทั้งนี้สำหรับในหลายประเทศที่มีการเอาผิดการรัฐประหารมาลงโทษได้นั้น ก็ต่อเมื่อประเทศและสังคมตระหนักร่วมกันว่าการรัฐประหารเป็นภัยต่อสังคม ซึ่งเรารอได้ไม่ว่าจะ 10 หรือ 20 ปี เพื่อที่จะเห็นการนำผู้กระทำความผิดต่อบ้านต่อเมืองมาลงโทษ

เมื่อถามว่าหลังจากนี้จะดำเนินการทางการเมืองอย่างไรต่อไปทนายอานนท์กล่าวว่า เบื้องต้นกลุ่มเราซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่จะเคลื่อนไหวให้มีการเลือกตั้งและสนับสนุนนักการเมืองที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตยเข้าไปยกเลิกผลพวงของการรัฐประหาร และเมื่อถามว่าคำพิพากษาของศาลในลักษณะนี้จะทำให้ยังมีโอกาสที่จะเกิดรัฐประหารในอนาคตต่อไปหรือไม่ทนายอานนท์กล่าวว่า จะทำให้เหล่านายทหารรู้สึกย่ามใจว่าทำรัฐประหารไปก็จะไม่ผิด ซึ่งในวันข้างหน้าเราก็จะได้เรียนรู้ร่วมกัน ในวันนี้เราอาจจะไม่ชนะ แต่วันข้างหน้าสังคมไทยจะต้องชนะรัฐประหาร ซึ่งลำพังกฎหมายไม่สามารถเอาผิดรัฐประหารได้อยู่แล้ว นอกจากว่าผู้คนในสังคมนั้นจะต้องตื่นตัวและตระหนักอย่างมากจึงจะสามารถเอาผิดรัฐประหารได้ ตอนนี้สังคมไทยยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่ผมคิดว่าเรากำลังขับเคลื่อนไปสู่จุดนั้นร่วมกัน ทุกฝ่ายคงเห็นแล้วว่าการรัฐประหารไม่ได้นำพาประเทศสู่ความเจริญรุ่งเรืองตามที่คาดหวัง

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.