Posted: 22 Jun 2018 03:55 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

ศรายุทธ ฤทธิพิณ

ทุกชีวิตในหมู่บ้านแม่ส้าน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง กำลังตั้งอยู่บนความเสี่ยง ด้วยความที่ทางภาครัฐมีพยายามที่จะดำเนินการเตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท จึงเป็นที่กังวลของชาวบ้านในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและในเขตป่าชุมชนที่ร่วมกันจัดการดูแลสืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น





ราวห้าทุ่มคืนวันที่ 18 มิ.ย. 2561 ผู้เขียนขับเคลื่อนโตโยต้าโคลูน่ารุ่นหยดน้ำ พร้อมกับพี่ชายอีกคนที่ร่วมเดินทางฝ่าความมืดและสายฝนมาตลอดทางจาก อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ถึงยามฟ้าสางแวะจิบกาแฟที่ตัวเมืองลำปาง บรรยากาศอบอวลไปด้วยสายหมอกและละอองฝน ผู้เขียนกวาดสายสายตาพร้อมกับบังคับพวงมาลัยไปทางซ้ายที ขวาทีเพื่อเดินทางต่อ ขณะเดียวกันเท้าก็เหยียบคันเร่งและถอนความเร็วกับค่อยๆเตะเบรคไปตามจังหวะบนขอบผิวบนเส้นทางลาดยางที่คดเคี้ยวลาดชันรวมทั้งแวดล้อมไปด้วยความสมบูรณ์ของผืนป่าธรรมชาติที่ทรงคุณค่าแห่งขุนเขากับผาหินและหมอกขาวที่เผยโฉมให้ชมความงดงามมาตลอดทาง

เมื่อถึงจุดหมายที่บ้านจำปุย อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ผู้เขียนพักพาหนะคู่ใจให้อยู่ในความสงบนิ่งในโบสถ์แห่งหนึ่งเป็นเวลา 2 คืนกับอีก 1 วัน เนื่องจากประเมินแล้วว่าการสุ่มเสี่ยงจะเกิดความเพลี่ยงพล้ำบนทางข้างหน้าระหว่างหุบเขากับผาชันประกอบกับช่วงนี้ฝนตกชุก จึงยังไม่ควรที่รถเก๋งจะเลาะเลียบปีนป่ายขึ้นยอดภูนั้น และ “กำธร” ซึ่งเป็นเยาวชนของบ้านแม่ส้าน ได้ขับรถปิคอัพมารับตามนัดหมายในเวลา 08.00 น. เพื่อนำไปร่วมสมัชชาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.)ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 -21 มิ.ย. 2561 ซึ่งทาง สกน.ได้เชิญตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) คือผู้เขียนและพี่ชายอีกคน (ปราโมทย์ ผลภิญโญ) และมีตัวแทนองค์กรอื่นๆ ที่เป็นเครือข่ายร่วมกันขับเคลื่อนในเรื่องสิทธิที่ดินทำกิน ในครั้งนี้ด้วย

ระยะทางกว่า 30 กิโลเมตร คงยังฟุ้งไปด้วยสายหมอกและละลองฝน แม้บางช่วงจะเป็นถนนคอนกรีตสลับถนนดินแดง แต่ทว่าต้องใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมงครึ่ง เป็นความสุดยอดอีกระดับดังคำขานที่กล่าวว่าเป็นทางกิโลดอย บนเส้นทางอันคดเคี้ยวเลี้ยวลดต้องลัดเลาะไต่ระดับความสูงขอบเขา จากจุดเริ่มออกตัวที่บ้านจำปุย หนทางหาได้เป็นอุปสรรคต่อความชำนาญของหนุ่มกำธร ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ชาติพันธุ์แห่งนี้ ได้นำผู้เขียนและพี่ชายที่ร่วมทาง ขึ้นสู่สถานที่จัดงานสมัชชา สกน.ที่บ้านแม่ส้าน ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ด้วยความปลอดภัย และบนดอยสูงสุดเส้นทางสายนี้ ผมพบชาวเขากลุ่มหนึ่งเป็นชาวพื้นเมืองกะเหรี่ยง (ปกาเกอญอ) ที่มีวิถีการผสานชีวิตตนเองเข้ากับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน

จากการบอกเล่าของก้อง (เยาวชนบ้านแม่ส้าน) และพ่อเฒ่า (พ่อของก้อง) บรรพบุรุษของเขาเป็นชาวกะเหรี่ยงโปว์ (ยาแดง) มาตั้งถิ่นฐานว่าตรงนี้นานกว่า 300 ปี เริ่มแรกจะนับถือผี แต่มาถึงปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่ร้อยละ 85 จะนับถือศาสนาพุทธ ส่วนที่เหลือจะนับถือศาสนาคริสต์ ชาวบ้านจะประกอบอาชีพทำการผลิตแบบไร่หมุนเวียน และปลูกเครื่องเทศพื้นบ้านที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของคนภาคเหนือ นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากแหล่งทรัพยากรในพื้นที่ป่า ได้แก่ หน่อไม้ น้ำผึ้งป่า เป็นต้น และวิถีการผลิตอีกอย่างที่สืบเนื่องมาหลายชั่วอายุคน ได้แก่การทำนา ปลูกกาแฟ และปลูกพืชสมุนไพร เช่น มะแหลบ มะแขว่น ทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้เส้นทางศึกษาธรรมชาติที่สำคัญในท้องถิ่น

ก้อง บอกด้วยว่า หมู่บ้านของพวกเขาที่ตั้งอยู่กลางยอดภูดอยมีทั้งสิ้น 135 ครัวเรือน มีโรงเรียนบ้านแม่ส้าน ที่ชาวบ้านร่วมก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2520 อีก 1 แห่ง ปัจจุบันมีการสอนกันตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมีวัดกับโบสถ์คริสต์อย่างละ 1 แห่ง

“แต่ว่าทุกชีวิตในหมู่บ้านแห่งนี้กำลังตั้งอยู่บนความเสี่ยงด้วยความที่ทางภาครัฐมีพยายามที่จะดำเนินการเตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท จึงเป็นที่กังวลของชาวบ้านในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและในเขตป่าชุมชนที่ร่วมกันจัดการดูแลสืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น บนเนื้อที่ประมาณ 18,000 ไร่ จะนำมาสู่การละเมิดสิทธิ ในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ชาวบ้านจึงร่วมกันต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของชุมชนและเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ เพื่อผลักดันการต่อสู้ให้มีแนวทางแก้ไขปัญหาในระดับนโยบายกับภาครัฐ และล่าสุดเมื่อวันที่ 2 – 12 พ.ค. 2561 พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งที่เข้าร่วมปักหลักชุมชนในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ)เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหากับรัฐบาล” เยาวชนบ้านแม่ส้าน บอกทิ้งท้าย

เรื่องเล่าระหว่างการเดินทางที่ถือเป็นการเคลื่อนไหวในด้านการเรียนรู้ด้วยความคาดหวังว่าจะทำให้มองเห็นความเป็นไปของโลกและชีวิตได้จากในอีกแง่มุมหนึ่ง การได้มาเรียนรู้กระบวนการต่อสู้ของชาวบ้านแม่ส้าน ซึ่งมีแบบแผนการผลิตและการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนโดยชุมชน ด้วยการสร้างความสมดุลของระบบนิเวศน์ ทั้งความเป็นมิตรที่ดีของชาวบ้านที่มอบความรัก ความอบอุ่นใจ และดูแลมาด้วยดีตลอด 2 คืน กับอีก 1 วัน อบอุ่นไมตรีจากคนอยู่ป่า ประเพณีวัฒนธรรมอันสวยงาม ด้วยใจยึดมั่นต่อการขึ้นสู่ดอยมาเยือนอีกสักครั้งคงยังไม่พอ

แต่ในขณะเดียวกันที่เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่คนอยู่กับป่าควบคู่ไปกับการปกป้องดูแลป่านั้น หากรัฐให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่า อย่างที่ชาวบ้านทำกันอยู่ในขณะนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าความขัดแย้งจะเกิดขึ้นน้อยมาก แต่การจัดการป่าโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการเตรียมการประกาศเป็นอุทยานทับซ้อนสิทธิ์ที่ดินชาวบ้าน เพื่อเบียดขับพวกเขาลงจากดอยไปอยู่ที่อื่น แน่นอนว่าความสุ่มเสี่ยงนี้หากเกิดขึ้นคราใด ย่อมสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการทำมาหากินของชาวบ้านอย่างมากมาย ความเดือดร้อนที่จะได้รับ นอกจากแหล่งที่เพาะปลูกทำกินแล้ว ไออุ่นจากผืนดินนี้ รวมทั้งวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่สืบทอดมาแต่ครั้นบรรพบุรุษ จะพลันสูญสลายตามไปด้วย

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.