Posted: 25 Jun 2018 11:57 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

ยาสมิน ซัตตาร์

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2018 นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับการเมืองตุรกี สำหรับคนที่ติดตามการเมืองตุรกีในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีความพยายามในการนำเสนอเรื่องการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองประเทศสู่ระบอบประธานาธิบดีมาช่วงเวลาหนึ่งแล้ว สังคมตุรกีมีการถกเถียงถึงประเด็นนี้อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเหมาะสม รูปแบบ หรือความพร้อมของประชาชนต่อรูปแบบการปกครองในครั้งนี้ กระทั่งเกิดการทำประชามติขึ้นในปี 2017 เพื่อปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญที่รวมไปถึงการเปลี่ยนการปกครองสู่รูปแบบประธานาธิบดี ซึ่งมีชาวตุรกี 51.41 เปอร์เซ็นต์ ตอบรับการปรับเปลี่ยนในครั้งนี้ แน่นอนว่ายังเป็นเรื่องราวที่ถูกถกเถียงนับต่อจากนั้นเรื่อยมา เนื่องจากผลคะแนนที่ชนะในครั้งนั้นมีความใกล้เคียงกันมาก แสดงให้เห็นว่ายังมีชาวตุรกีไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วย

การปรับเปลี่ยนแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนั้นระบุว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะมีขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2019 แต่ด้วยกับเหตุผลด้านความมั่นคง โดยเฉพาะภัยคุกคามจากประเด็นซีเรีย ตลอดจนประเด็นความขัดแย้งและปฏิบัติการต่อกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดในซีเรียและในอิรัก ทำให้เกิดข้อเสนอในการเลือกตั้งให้เร็วขึ้นมา เพื่อให้ประธานาธิบดีมีอำนาจสั่งการเพียงพอในการรับมือต่อประเด็นนี้ โดยข้อเสนอนี้ถูกนำเสนอโดยหัวหน้าพรรค MHP พรรคสายชาตินิยมที่ร่วมเป็นพันธมิตรกับพรรครัฐบาลปัจจุบัน จากนั้นประธานาธิบดีเรเจบ ตอยยิบ แอรโดก์อาน ก็ขานรับข้อเสนอนี้และเสนอสภาให้มีการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ซึ่งเร็วกว่าที่กำหนดไว้ถึง 1 ปี 4 เดือน อย่างไรก็ดีมีหลายบทวิเคราะห์มองว่าการเสนอให้เลือกตั้งเร็วขึ้นเป็นเพราะว่าสภาพเศรษฐกิจกำลังอยู่ในขาลง หากปล่อยไว้นานไปอาจทำให้ประชาชนไม่พอใจมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยหลักที่ทำให้พรรคอัครักษาอำนาจได้ยาวนานปัจจัยหนึ่งคือ เรื่องเศรษฐกิจ รวมไปถึงประเด็นความมั่นคงจากประเทศในภูมิภาคที่นับได้ว่าตุรกีเองก็มีภาวะคุกคามไม่น้อย นอกจากนั้น บางการวิเคราะห์ก็มองว่าแอรโดก์อานต้องการให้อย่างน้อยตนเองอยู่ในตำแหน่งในปี 2023 ซึ่งนับเป็นปีที่จะครบรอบ 100 ปีของสาธารณรัฐตุรกี และช่วงเวลาที่ระบบคิลาฟะห์ในออตโตมานเดิมสูญสลาย แน่นอนว่าการครบวาระในปีดังกล่าวก็อาจทำให้มีปัจจัยเอื้อต่อการหาเสียงได้ต่อไปอีก

สำหรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองในครั้งนี้ สาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลง คือ การให้ประธานาธิบดีที่เดิมมีอำนาจในลักษณะที่เป็นพียงสัญลักษณ์ของประเทศ เปลี่ยนสู่การให้อำนาจทั้งในฝ่ายบริหารและตุลาการ ประธานาธิบดีจะมีอำนาจในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีซึ่งรวมถึงรองประธานาธิบดี ออกกฎหมายที่ไม่ขัดกับกฎหมายเดิมหรือรัฐธรรมนูญ ประธานาธิบดีมีสิทธิออกเสียงคัดค้านมติสภาขณะเดียวกันสภามีสิทธิยับยั้งการตัดสินใจของประธานาธิบดีด้วยเสียงเอกฉันท์ ขณะเดียวกันผู้พิพากษาในศาลรัฐธรรมนูญก็จะได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี 12 คน และอีก 3 คนจากสภา ประธานาธิบดียังมีอำนาจในการประกาศภาวะฉุกเฉินซึ่งต้องไม่เกิน 6 เดือน งบประมาณแผ่นดินจะถูกร่างผ่านประธานาธิบดีเข้าสู่สภา กรรมการบริหารระดับสูงขององค์กรรัฐ รวมถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัย จะถูกแต่งตั้งจากประธานาธิบดี เป็นต้น โดยการเพิ่มอำนาจให้กับประธานาธิบดีลักษณะนี้ถูกนำเสนอมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี Demirel และ Özal หากแต่เริ่มชัดขึ้นในปี 2005 ที่เริ่มมีการถกเถียงในสังคมตุรกีมากขึ้น และเพิ่งมาชัดเจนหลังการเกิดความพยายามรัฐประหารในปี 2016 การเปลี่ยนรูปแบบนี้ถูกอธิบายว่าเป็นแนวทางในการรับมือกับประเด็นความมั่นคงภายในทั้งจากกองทัพ กลุ่มเฟโต้และกลุ่มติดอาวุธ PKK รวมถึงความมั่นคงภายนอกจากภัยคุกคามต่างๆ รอบๆ บ้าน ซึ่งระบบนี้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มฝ่ายค้านและตะวันตกว่าเป็นความพยายามในการทำให้ตุรกีกลายเป็นประเทศเผด็จการหรืออเสรีนิยมประชาธิปไตย เพราะระบบเช่นนี้สามารถปูทางให้แอรโดก์อานมีอำนาจไปอีกหลายปี และยังให้อำนาจเต็มรูปแบบแก่แอรโดก์อาน ในการบริหารปกครองประเทศ

ในส่วนของรูปแบบการเลือกตั้งทั้งประธานาธิบดีและผู้แทนในสภาจำนวน 600 ที่นั่ง จะถูกเลือกในวันเดียวกัน ทุกๆ 5 ปี โดยผู้สมัครสมาชิกผู้แทนสามารถมีอายุอย่างน้อย 18 ปี และไม่จำเป็นต้องผ่านการเกณฑ์ทหารมาก่อน โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะใช้ระบบสองรอบ คือ หากไม่มีผู้ชนะเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ จะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ โดยให้ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดสองคนมาแข่งขันกัน

การเลือกตั้งในครั้งนี้มีสิ่งที่น่าสนใจคือ มีการร่วมมือกันระหว่างพรรคการเมืองเพื่อเข้าสู่สนามแข่งขันที่มีอำนาจของประเทศเป็นเดิมพัน ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือระหว่างพรรคอัค ซึ่งเป็นพรรคของแอรโดก์อาน พรรค MHP ซึ่งเป็นพรรคสายชาตินิยมเติร์ก รวมถึงพรรค BBP ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็มีการรวมเป็นพันธมิตรของ พรรค CHP ซึ่งมีแนวคิดฝ่ายซ้ายและเคมาลิสต์ พรรค IYI ซึ่งเป็นพรรคเกิดใหม่ที่แยกออกมาจากพรรค CHP เดิม รวมไปถึงพรรค SAADET ที่เป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยแอรบาคาน ซึ่งเป็นที่รับรู้โดยทั่วกันว่าเป็นพรรคสายนิยมอิสลาม ซึ่งส่งผลให้เกิดข้อกังขาไม่น้อยกับท่าทีของพรรค SAADET โดยที่นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่าเป็นผลมาจากตัวผู้นำพรรคที่เปลี่ยนไป และได้รับเสียงไม่มากเท่าที่เคยเป็นในยุคแอรบาคานเพราะสายนิยมอิสลามในประเทศหันไปลงคะแนนเสียงให้พรรคอัค ทำให้พรรค SAADET ต้องหาที่ทางและทางเลือกใหม่ให้มีตัวตนขึ้นมา ขณะเดียวกันพรรค HDP ของชาวเคิร์ด ก็ยืนยันไม่ร่วมกับกลุ่มใดและลงสมัครเอง

ผลการเลือกตั้งปี 2018: ชัยชนะอีกครั้งของพรรคอัค

ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ แอรโดก์อานยังคงได้รับชัยชนะเช่นเคยด้วยคะแนนเสียง 52.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นคะแนนที่เฉียดฉิวสำหรับการต้องเลือกตั้งใหม่ไม่น้อย แต่ก็ยังคงผ่านเกณฑ์ที่ 50เปอร์เซ็นต์ ทำให้แอรโดก์อานได้รับชัยชนะในครั้งนี้โดยทันที นายอินเจ่ตัวแทนของพรรค CHP ได้รับเสียงไป 30.7 เปอร์เซ็นต์ และนายเดมิรทาช หัวหน้าพรรค HDP ของชาวเคิร์ดซึ่งอยู่ในคุก ได้รับเสียงไป 8.4 เปอร์เซ็นต์ ส่วนนางอัคซีแนร หัวหน้าพรรค IYI ซึ่งเป็นผู้สมัครผู้หญิงคนเดียวและเริ่มลงเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นครั้งแรกก็ได้รับเสียงไป 7.3% ขณะที่ผู้สมัครอีกสองคนได้รับเสียงไปเพียง0.9 และ 0.2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

สำหรับผลการเลือกประธานาธิบดีในครั้งนี้จะเห็นว่าฐานเสียงเดิมในแต่ละเมืองก็ยังคงเป็นไปในทิศทางเดิม แต่ที่น่าสนใจสำหรับเมืองใหญ่อย่างอิสตันบูลและอังการ่า พรรคอัคก็ได้รับเสียงอีกครั้ง สำหรับพื้นที่ของชาวเคิร์ดนั้นยังคงเลือกพรรคของตน แม้ว่าจะมีบางพื้นที่ที่พรรคอัคยังคงได้รับชัยชนะ ส่วนอีกเขตที่เหนือความคาดหมายคือเขต Yalova ที่เป็นบ้านเกิดของนายอินเจ่ ซึ่งพรรคอัคสามาระเอาชนะในเขตนี้ได้ จนนำไปสู่ข้อสงสัยในการโกงการเลือกตั้ง และการไม่ยอมรับผลของฝ่ายค้าน ขณะที่ผลที่ออกมาก็ตรงกับโพลที่มีก่อนหน้าการเลือกตั้งมาแล้ว จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจสำหรับหลายฝ่ายในตุรกีเอง

ที่มา: www.trtworld.com/elections/


สำหรับการเลือกตั้งผู้แทนจำนวน 600 ที่นั่ง ที่เกิดพร้อมกัน พรรคร่วม People’s Alliance ระหว่างพรรค AK MHP และ BBP ได้รับเสียงรวมกัน 53.6 เปอร์เซ็นต์ สามารถเอาชนะและผ่านเกณฑ์ 50 เปอร์เซ็นต์มาได้เช่นกัน คณะที่ Nation’s Alliance ได้รับคะแนนไป 34 เปอร์เซ็นต์ และอีก 12.3 เปอร์เซ็นต์จากพรรคอื่นและผู้ลงสมัครอิสระ


สิ่งที่น่าสังเกตจากการเลือกตั้งในครั้งนี้
การเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่น่าสนใจ เพราะนับได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนของการปกครองที่สำคัญของตุรกีเอง ในช่วงก่อน ระหว่างและหลังการเลือกตั้ง สามารถเห็นข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ

1. การร่วมมือระหว่างพรรคการเมืองในรูปแบบพันธมิตร

การเลือกตั้งในครั้งนี้นับได้ว่าเป็นเดิมพันที่สำคัญสำหรับหลายๆ พรรค แม้แต่พรรคอัคเอง แต่ละพรรค แม้กระทั่งพรรคใหญ่ไม่มั่นใจว่าตนจะได้รับสียงเพียงพอที่จะได้รับชัยชนะ จึงเกิดความร่วมมือระหว่างพรรคขึ้น การร่วมมือนี้ บ่งชี้ให้เห็นถึงขั้วทางการเมืองในประเทศตุรกีที่มีอยู่อย่างน่าสนใจ สำหรับ People’s Alliance ซึ่งเป็นการรวมตัวของพรรคอัค พรรคMHP สายชาตินิยมเติร์กที่มาเข้าร่วมจากท่าทีของพรรคอัคที่แข็งข้อต่อชาวเคิร์ด ตลอดจนความต้องการในการเป็นพรรครัฐบาล และข้อตกลงที่มีระหว่างหัวหน้าพรรคเอง นับได้ว่าเป็นการรวมตัวที่เข้มแข็งทีเดียว บวกกับพรรคเล็กอย่าง BBP ที่เข้ามาด้วย ทำให้ฐานเสียงแข็งแรงไม่น้อย ฝ่ายค้านจึงต้องรวมตัวกันภายใต้ Nation’s Alliance ที่รวมเอาพรรคที่มีความเห็นทั้งฝ่ายซ้าย เสรีนิยม และอิสลามิค เข้าด้วยกัน เพื่อให้เห็นความหลากหลาย แต่พรรคที่ถูกเชิญให้เข้าร่วมพันธมิตรอย่าง HDP ซึ่งเป็นพรรคชาวเคิร์ดที่มีฐานเสียงสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงได้ ก็ไม่เข้าร่วมในพันธมิตรใด แม้ว่านักวิเคราะห์หลายคนมองว่ากลุ่มพันธมิตรทั้งสองก็ไม่ได้มีท่าทีจริงจังนักสำหรับการดึงพรรคนี้มาร่วมเพราะจะทำให้ฐานเสียงส่วนใหญ่จากชาวเติร์กหายไปได้

2. ท่าทีของสื่อและการหาเสียงเลือกตั้งในประเทศ

การหาเสียงเลือกตั้งเป็นไปอย่างคึกคักและน่าสนใจ แต่ประเด็นที่เป็นข้อกังขา คือการปิดกั้นเสรีภาพทางสื่อของพรรครัฐบาลที่เป็นประเด็นวิพากษ์มานานแล้ว ทำให้ในพื้นที่สื่อจะเห็นการปรากฏตัวของแอรโดก์อานมากกว่าผู้สมัครคนอื่น ขณะที่หัวหน้าพรรคชาวเคิร์ด ก็ต้องหาเสียงผ่านวิดีโอที่ให้ทนายอัด ขณะที่อยู่ในคุก แม้ว่าสำหรับผู้สมัครท่านอื่นจะไม่มีปัญหาใดๆ ในการปราศรัย ก็ตามที

อีกสิ่งที่น่าสนใจคือการเริ่มต้นปราศรัย ของแอรโดก์อานซึ่งเริ่มที่เมืองอิซมีรที่เป็นฐานเสียงหลักของพรรคฝ่ายค้าน แต่ก็ยังคงไม่สามารถเอาชนะได้ในพื้นที่นี้ และการปราศรัยใหญ่ของพรรคฝ่ายค้านที่เมืองอิซมีรก็มีคนเข้าร่วมจำนวนมากซึ่งสร้างความหวังให้กับฝ่ายค้านมากทีเดียว ขณะเดียวกัน พรรคฝ่ายค้านเองก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับฐานเสียงสายนิยมอิสลามที่เป็นผู้ชี้วัดสำคัญ และดึงเอาพรรค SAADET มาร่วม แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จในการดึงเสียงของคนกลุ่มนี้มา

อย่างไรก็ตาม ผลที่ออกมาก็ไม่ค่อยต่างจากโพลจากหลากหลายสถาบันซึ่งเห็นว่าแอรโดก์อานจะได้รับชัยชนะในครั้งนี้

3. ท่าทีของสื่อต่างประเทศ

ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมากในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะท่าทีของสื่อต่างประเทศในประเทศต่างๆ ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด จะเห็นได้ว่าสื่อตะวันตกและยุโรปจะออกมาสนับสนุนฝ่ายค้านและกล่าวถึงความเป็นเผด็จการของแอรโดก์อาน เสรีภาพที่ถูกปิดกั้นและความอึดอัดของสังคมตุรกีในกลุ่มเสรีนิยมที่ไม่อิงศาสนา ออกมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มีโพลที่ชี้ให้เห็นว่าแอรโดก์อานไม่น่าจะเอาชนะได้เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ และเน้นย้ำถึงการกลายเป็นเผด็จการของสังคมตุรกี

ขณะที่สื่อในกลุ่มประเทศมุสลิมโดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับความช่วยเหลือจากตุรกีที่ผ่านมา ก็ให้การสนับสนุนอย่างเห็นได้ชัด ชี้ให้เห็นถึงโพลที่มีโอกาสชนะสูง ขณะเดียวกันยังมีข่าวคราวการจัดกิจกรรมขอพรให้แอรโดก์อานได้รับชัยชนะ โดยกลุ่มนี้ก็มีความกังวลว่าหากแอรโดก์อานไม่ได้รับชัยชนะแล้ว จะไม่มีผู้ที่เป็นปากเสียงให้ประเทศมุสลิมและมุสลิมกลุ่มน้อยที่ถูดกดขี่อีกต่อไป

การปะทะกันของข้อมูลเช่นนี้ จึงเป็นที่น่าสนใจไม่น้อย เมื่อความกังวล มุมมองและทัศนคติ รวมถึงค่านิยมในการเมืองมีความต่างกัน จึงส่งผลให้เกิดผลสะท้อนของข้อมูลที่ต่างกันไป

4. การเมืองของชาวเคิร์ด

ในทุกๆ ครั้งของการเลือกตั้ง เสียงของชาวเคิร์ดเป็นเสียงที่สำคัญไม่น้อยสำหรับผลการเลือกตั้ง ครั้งนี้เองก็เป็นที่น่าสนใจ แม้ว่าหัวหน้าพรรคจะถูกคุมขังในคุกและมีข้อจำกัดในการกาเสียง แต่กลับยังได้รับเสียงเลือกตั้งในหลายเมือง และผู้แทน 67 คนที่ได้รับเลือกตั้ง ในครั้งนี้เองยังเห็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของกลุ่มพื้นที่ชาวเคิร์ดส่วนใหญ่ ที่แม้พรรคอัคจะเรียกคะแนนกลับมาได้ในบางพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงยึดมั่นกับพรรคของชาติพันธุ์ตนเอง

ถึงที่สุดแล้วสิ่งที่น่าสนใจของตุรกีเอง แม้ว่าระบบของประเทศจะไปในทิศทางใด แม้ว่าจะมีการปิดกั้น แต่ยังคงใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือสำคัญในการตัดสินอนาคตและสร้างความชอบธรรมกับอำนาจที่มี และควรเลือกตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดแม้ว่าจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดก็ตามที

ข้อท้าทายสำคัญสำหรับตุรกีภายใต้การนำของแอรโดก์อาน
แน่นอนว่าชัยชนะครั้งนี้มาพร้อมกับข้อท้าทายอันหนักอึ้งสำหรับรัฐบาลชุดปัจจุบัน นับตั้งแต่เรื่องเศรษฐกิจ ที่เป็นความคาดหวังหลักของประชาชนซึ่งต้องการเห็นปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาวะเงินเฟ้อและค่าเงินที่ตกลง ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น รัฐบาลจึงต้องพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นอีกครั้งเช่นช่วงที่พรรคอัคได้รับเลือกตั้งเข้ามาในช่วงแรกว่าจะพัฒนาตุรกีให้ก้าวต่อไปได้ถึงจุดไหน หรือจะทำให้ยิ่งถอยลงมา

ขณะเดียวกัน สิ่งที่น่าจับตามอง คือ การบริหารจัดการองค์กรต่างๆ ภายในประเทศ ทั้งองค์กรที่เดิมอยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรีอย่าง TIKA ซึ่งเป็นองค์กรในการดูแลเรื่องการให้ความช่วยเหลือต่างประเทศ และ YTB ผู้ดูแลเรื่องการให้ทุนการศึกษา เป็นต้น องค์กรเหล่านี้จะอยู่ภายใต้กำกับดูแลของหน่วยงานใด นอกจากนั้น อธิการบดีในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่จะถูกแต่งตั้งจากประธานาธิบดีจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร ประเด็นนี้เป็นอีกข้อท้าทายสำคัญว่าแอรโดก์อานจะจัดวางองค์กรต่างๆ รวมถึงสถาบันการศึกษาให้ไปในทิศทางใด

นอกเหนือจากนั้นความมั่นคงภายในประเทศยังเป็นประเด็นที่สำคัญสำหรับภาวการณ์ของตุรกีเวลานี้ อีกทั้งเหตุผลหลักในการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองก็เพราะเรื่องนี้ จึงน่าสนใจว่าแอรโดก์อานจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร สิ่งที่น่ากังวลสำหรับหลายๆฝ่าย คือ การเพิ่มบทบาททางทหารอาจทำให้ภาพลักษณ์เดิมของตุรกีสูญเสียไป ในขณะที่หลายฝ่ายก็เห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็น เพราะไม่ว่าจะดำเนินการในทางไหน ตุรกีก็มักถูกวิพากษ์ในเชิงลบจากตะวันตกเสมอ ตุรกีจึงควรตัดสินใจทิศทางอนาคตของตัวเอง ในแบบที่เหมาะสมกับตุรกีเอง

การเปลี่ยนจาก Soft Power ไปสู่การใช้ Hard Power มากขึ้น หรือ ที่ถูกให้คำจำกัดความว่าการใช้รูปแบบของ Moral Realism ในการเมืองระหว่างประเทศ เป็นเรื่องที่กำลังถูกพูดถึงมากว่าจะกระทบต่อผลสะท้อนต่อทัศนคติของประเทศที่เคยสนับสนุนตุรกีอย่างไร

และสิ่งที่ท้าทายที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องของท่าทีในการใช้อำนาจของแอรโดก์อานเอง ในเวลานี้ฝ่ายที่วิพากษ์ก็เห็นว่าแอรโดก์อานจะใช้อำนาจที่ได้มาแบบเบ็ดเสร็จ และส่งผลต่อเสรีภาพที่จะยิ่งถูกปิดกั้นมากขึ้น ในขณะที่อีกฝ่ายก็มองว่าอำนาจที่ได้มาจะเป็นความหวังที่เห็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากขึ้น การคาดการณ์ในแต่ละแบบจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญที่แอรโดก์อานจำเป็นต้องรับมือ และระบบเช่นนี้จะทำให้ตุรกีเข้มแข็งหรืออ่อนแอลง ก็ยังคงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองต่อไป

ทิศทางของตุรกีต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับทิศทางของความสัมพันธ์ระหว่างสองภูมิภาค คือ ระหว่างมาเลเซีย ซึ่งนายมะหาเดร์ และนายอันวาร์ อิบรอฮีม เพิ่งได้รับการชัยชนะจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา มีอุดมการณ์ทางการเมืองและการเคลื่อนไหวที่ใกล้เคียงกับแอรโดก์อาน ขณะเดียวกันก่อนหน้าการเลือกตั้งไม่กี่วัน นายอันวาร์ ยังถูกเชิญไปเยือนตุรกีและได้ให้สัมภาษณ์รวมถึงกล่าวปาฐกถาในเชิงสนับสนุนแอรโดก์อานด้วยเช่นกัน ฉะนั้นแล้วแน่นอนว่าทิศทางระหว่างตุรกีและมาเลเซียเป็นอะไรที่น่าจับตามองไม่น้อย และมีแนวโน้มจะเป็นไปในเชิงบวก เพราะตุรกีเองก็จำเป็นต้องหาพันธมิตรนอกภูมิภาคมากขึ้น เนื่องจากสภาวะที่มีความสัมพันธ์ไม่สู้ดีกับประเทศอาหรับบางประเทศ โดยเฉพาะหลังการแสดงจุดยืนชัดเจนในการสนับสนุนกาต้าร์ที่ผ่านมา
นอกจากนั้นแล้วอินโดนีเซียยังเป็นอีกประเทศที่น่าสนใจ เพราะนับได้ว่าอาเจะห์เป็นพื้นที่แรกที่ความช่วยเหลือของตุรกีเข้ามาถึงในภูมิภาค และความช่วยเหลือยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นเป็นไปได้ที่จะเห็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นไม่ต่างจากมาเลเซีย อีกประเทศที่น่าจับตาคือ ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับพม่า ที่เป็นไปในลักษณะของทั้งเป็นคู่ค้าทางเศรษฐกิจที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นประเทศที่วิพากษ์ถึงกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงญาอย่างต่อเนื่องและชัดเจน จึงน่าสนใจว่าทิศทางต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร สำหรับประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยเองก็ยังไม่เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากนัก เนื่องด้วยการรับรู้ของในกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมต่อตุรกีไม่ได้เห็นถึงท่าทีที่ชัดเจนเท่าไหร่นัก แม้ว่าความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่ก็อาจจะดำเนินต่อไป แบบที่เป็นไป

อย่างไรก็ดี แน่นอนว่าจะเห็นการให้ความช่วยเหลือต่อพื้นที่ขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง แต่หากตุรกีติดกับดักการทำสงครามกับเพื่อนบ้านที่มากเกินไป ก็อาจส่งผลกระทบต่อท่าทีการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมไม่น้อย แต่อย่างไรก็ตามความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมนี้จำเป็นต้องมีต่อไป เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่สร้างความชอบธรรมในการสร้างวาทกรรมการเป็น ประเทศผู้ให้ หรือสุลต่านแห่งโลกมุสลิม ให้ยังคงอยู่ต่อไปได้



เผยแพร่ครั้งแรกใน: https://turkeyanalysis.blogspot.com/2018/06/2018.html?m=1

ที่มา: www.pataniforum.com/single.php?id=753

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.