Posted: 26 Jun 2018 02:58 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

ชำนาญ จันทร์เรือง

คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองซึ่งนับได้ว่าเป็นองค์ประกอบหรือองคาพยพหนึ่งที่สำคัญที่พรรคการเมืองทุกพรรคจะต้องมี แน่นอนว่าเมื่อเป็นตำแหน่งที่สำคัญหากเกิดการผิดพลาดหรือมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น กรรมการบริหารพรรคฯ ก็ย่อมจะต้องมีความรับผิดที่สำคัญด้วยเช่นกัน ซึ่งผมจะนำความผิดที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการบริหารพรรคฯ ที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ได้กำหนดข้อห้ามและบทลงโทษไว้ มาเสนอในส่วนที่สำคัญ ๆ ดังนี้


1. ถูก กกต.ห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง 20 ปี หากเพิกเฉยเมื่อรู้ว่าสมาชิกพรรคฯ กระทำผิดในการเลือกตั้งส.ส.หรือการเลือกส.ว.

เมื่อความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่าคณะกรรมบริหารไม่มีมติหรือสั่งการให้สมาชิกฯ ยุติการกระทำอันอาจมีลักษณะที่อาจทําให้การเลือกตั้ง (ส.ส.) หรือการเลือก (ส.ว.) มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรืออาจเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใดซึ่งสมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อพิจารณามีคำสั่งให้คณะกรรมการพรรคการเมืองนั้นพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ คำสั่งดังกล่าวให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และห้ามมิให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองซึ่งพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุดังกล่าวดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองจนกว่าจะพ้นเวลา 20 ปี นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง (มาตรา 22 วรรคสี่)

และหากกรรมการบริหารฯ ที่พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวกระทำการอันมีลักษณะเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองนั้น เว้นแต่จะเป็นการดำเนินการตามสิทธิและหน้าที่ของสมาชิกตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ และหากไปมีส่วนร่วมในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือตำแหน่งอื่นหรือการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางเมืองจะต้องถูกระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 7 ปี ถึง 15 ปี หรือปรับตั้งแต่ 140,000 บาท ถึง 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 22วรรคหกและมาตรา 105)

2.สรรหาผู้สมัคร ส.ส.,ส.ว.ไม่เป็นไปตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ


หากหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารฯ ไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรา 50 (ว่าด้วยวิธีการดำเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง) และมาตรา 51 (ว่าด้วยวิธีการดำเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ) จะต้องถูกระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6เดือนและปรับไม่เกิน 10,000 บาทและถูกศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี (มาตรา 52 และมาตรา 117)

3.ยักยอกเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับบริจาค

หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง กรรมการสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หรือสมาชิกผู้ใดได้รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยผู้บริจาคประสงค์จะบริจาคให้เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง ต้องแจ้งให้พรรคการเมืองทราบภายในระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับ และให้พรรคการเมืองออกใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานการรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด เป็นหนังสือให้แก่ผู้บริจาคเป็นหลักฐาน ทั้งนี้ ตามแบบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด กิจกรรมที่ว่านี้หมายความรวมถึงการดำเนินงานทางการเมืองของพรรคการเมือง สาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด สมาชิก หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วย ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามที่กล่าวมานี้ (พูดง่าย ๆ ว่าอุ๊บอิ๊บเอาไปเป็นของตนเองว่างั้นเถอะ) ต้องถูกระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และปรับอีกวันละ 1,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง (มาตรา 67 และมาตรา 122)

4.ให้เงินหรือทรัพย์สินแก่ ส.ส.ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ฯ ที่นายทะเบียนพรรคการเมืองกำหนด

ในกรณีที่พรรคการเมือง ผู้บริหารพรรคการเมืองหรือบุคคลใดให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่สมาชิกซึ่งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม และไม่ว่าจะให้เป็นประจำหรือเป็นครั้งคราว ถ้าการให้หรือรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดนั้น ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 144 (ผู้ใดให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่) หรือมาตรา 149 (ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่) ให้พรรคการเมืองหรือบุคคลนั้นแล้วแต่กรณี แจ้งให้นายทะเบียนทราบถึงการให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดนั้นตามหลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาที่นายทะเบียนพรรคการเมืองกำหนด และให้ประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปด้วย ผู้ฝ่าฝืนจะต้องถูกระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและ ถูกศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น (เข้าใจง่าย ๆ ว่าห้ามแอบให้เงิน (เป็นเดือน/เป็นก้อน) หรือทรัพย์สินแก่ ส.ส.นั่นเอง) (มาตรา 88 วรรคหนึ่งและมาตรา 134)

5.นำเงินหรือทรัพย์สินของพรรคฯ ไปใช้นอกจากที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย

ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารฯ ที่จะต้องตรวจสอบและควบคุมมิให้มีการนำเงินหรือทรัพย์สินของพรรคการเมืองไปใช้จ่ายเพื่อการอื่นใดนอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา 84 (เงินที่ได้รับการจัดสรรจากกองทุนพัฒนาการเมือง) มาตรา 87 (ค่าใช้จ่ายเพื่อดําเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมือง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งของพรรคการเมืองและสมาชิกและค่าใช้จ่ายในการบริหารพรรคการเมือง) พรรคการเมืองต้องเปิดเผยค่าใช้จ่ายในการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์การดําเนินกิจกรรม) และมาตรา 88 (ตามข้อ 4) ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามต้องถูกระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 89 และ มาตรา 136)

6.ถูกยุบพรรคแล้วยังไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคฯ ใหม่หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคฯ ขึ้นใหม่อีก

ห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งโดยศาลรัฐธรรมนูญ ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ทั้งนี้ ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นถูกยุบ ผู้ที่ฝ่าฝืนจะต้องถูกระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 7 ปี ถึง 15 ปี หรือปรับตั้งแต่ 140,000 บาท ถึง 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 94 วรรคสองและมาตรา 105)

เอาเฉพาะที่สำคัญ ๆ เท่านี้ก่อนนะครับ แค่นี้กรรมการบริหารพรรคฯ และว่าที่กรรมการบริหารพรรคฯ คงหนาว ๆ ร้อน ๆ ไปตาม ๆ กันนะครับ นี่ยังไม่รวมที่จะต้องอยู่ชำระชำระบัญชีหรือผู้ที่รู้ว่าตนไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นกรรมการบริหารและตำแหน่งแต่ยังยินยอมรับการแต่งตั้งฯ อีกด้วยน่ะครับ

ตำแหน่งก็ต้องมาพร้อมกับความรับผิดครับ


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.