Posted: 19 Jun 2018 09:48 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
ธนภาษ เดชพาวุฒิกุล
ความท้าทายของ “แผนที่สร้างชาติ”
แผนที่สร้างชาติ: รัฐประชาชาติกับการทำแผนที่หมู่บ้านไทยในยุคสงครามเย็น (2561) คืองานศึกษาเรื่องไทยเล่มล่าสุดของ ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ที่เป็นผลรวมจากงานวิจัย 2 โครงการ คือ งานศึกษาการสร้างความรู้เรื่องหมู่บ้านโดยนักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน และ การสำรวจและจัดทำแผนที่ประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีทางอากาศในยุคสงครามเย็น หนังสือเล่มนี้เป็นเสมือนข้อสรุปของเก่งกิจที่มีต่อปัญหาเรื่องการเปลี่ยนรูปการณ์ของรัฐ (transformation of Thai state) และจุดกำเนิดรัฐประชาชาติ (nation-state) ไทยด้วยการปฏิเสธชุดคำอธิบายสำคัญที่วงวิชาการไทยกระแสรองยึดถือกันโดยทั่วไปมาตลอดเกือบ 4 ทศวรรษ ซึ่งในความเห็นของผู้เขียนประกอบด้วย 3 ปฏิเสธคือ
ปฏิเสธแรก รัฐไทยไม่ได้เปลี่ยนผ่านสู่รัฐประชาชาติตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ทัศนะดังกล่าวเป็นแนวการอธิบายที่ถูกผลิตและนิยมในหมู่นักวิชาการรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ซึ่งให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่บทบาทของชนชั้นกลางในการสร้างระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย ดังเช่นงานศึกษาของ Benedict Anderson, นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นอาทิ เก่งกิจเห็นว่า รัฐประชาชาติไทยเกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านกระบวนการสร้างชาติ (nation-building) ผ่านนโยบายการพัฒนาและความมั่นคงที่สนับสนุนโดยจักรวรรดินิยมอเมริกันและการเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมโลก จุดยืนเช่นนี้ทำให้กล่าวในอีกทางหนึ่งได้ว่า แท้จริงแล้วรัฐประชาชาติไทย (และรวมถึง “ความเป็นชาติ” ตามความเห็นของเก่งกิจ) เกิดขึ้นภายใต้บริบทการฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์, ยุคสมัยแห่งการพัฒนา และบทบาทนำของเผด็จการทหารภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่การปฏิวัติทางการเมืองของชนชั้นกลางข้าราชการ หรือการสร้างชาติใหม่โดยรัฐบาลคณะราษฎร
ปฏิเสธที่สอง ความเป็นชาติไทยไม่ได้ถูกสร้างผ่านการปะทะของความรู้แผนที่อันนำไปสู่การกำเนิดภูมิกายาของชาติไทยในปลายศตวรรษที่ 19 กระทั่งกลายเป็นหัวใจสำคัญของลัทธิประวัติศาสตร์ที่เรียกว่าราชาชาตินิยมตามข้อเสนอของธงชัย วินิจจะกูล เนื่องด้วยเก่งกิจเห็นว่าในช่วงเวลาดังกล่าวการจัดทำแผนที่ยังมีข้อจำกัดทางเทคโนโลยี และรัฐไทยขาดความสนใจที่จะสำรวจผู้คนในพื้นที่ปกครองอย่างจริงจัง ทำให้แผนที่ที่ถูกสร้างในเวลานั้นขึ้นไม่สามารถระบุตำแหน่งแห่งที่ของหมู่บ้านและลักษณะทางภูมิศาสตร์อย่างละเอียด แต่ชาติที่อิงอยู่กับแผนที่เพิ่งปรากฏขึ้นผ่านการสำรวจหมู่บ้านและจัดทำแผนที่ด้วยเทคโนโลยีภาพถ่ายทางอากาศระหว่างทศวรรษ 1950 ถึง 1960 และกลายมาเป็นรูปธรรมแท้จริงในทศวรรษ 1970 ทั้งหมดอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทุนสนับสนุน และบทบาทของนักมานุษยวิทยาอเมริกัน
สังคมไทยไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘หมู่บ้าน’ ในความหมายของ village
ปฏิเสธที่สาม สังคมไทยไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘หมู่บ้าน’ ในความหมายของ village ดังที่นักมานุษยวิทยา-สังคมวิทยาชาวไทยส่วนใหญ่และนักไทยศึกษาชาวตะวันตกบางคนเข้าใจ ในทางตรงข้าม หมู่บ้านซึ่งเป็นหัวใจสำคัญขององค์ความรู้ไทยศึกษาและความเป็นไทยกลับเป็นองค์ภาวะที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นในยุคสงครามเย็นเช่นเดียวกัน และถูกรัฐ “จับอยู่หมัด” ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ในความเห็นของเขา ภาพของหมู่บ้านในฐานะชุมชนทางวัฒนธรรมที่ถูกตรึงอยู่กับพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ไร้ความเคลื่อนไหว สงบนิ่งดังที่นักมานุษยวิทยา สังคมวิทยาไทยยึดถือ เข้าใจ และมุ่งเข้าไปศึกษานั้นล้วนถูกประดิษฐ์ขึ้นเมื่อไม่นานนี้แต่ถูกทำให้เชื่อว่าเป็นหน่วยพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรมไทย ขณะเดียวกันหมู่บ้านก็ไม่ได้ปรากฏในฐานะหน่วยการปกครองที่เล็กที่สุดในกระบวนการสถาปนาอำนาจเหนือพื้นที่ผ่านการลากเส้นพื้นที่ปกครอง (territorialization) อันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ตามทัศนะของ Peter Vandergeest และ Jeremy Kemp เก่งกิจกล่าวอย่างหนักแน่นว่า “...ในทางปฏิบัติแล้วรัฐไม่เคยเข้าถึง/รู้จัก/สร้างความรู้เกี่ยวกับหมู่บ้านมาก่อน” หมู่บ้านเป็นเพียง “การลอกเลียนแบบจากการปกครองอาณานิคมอังกฤษซึ่งพัฒนาหน่วยการปกครองเล็กที่สุดที่เรียกว่า hamlet ขึ้นมา” (เก่งกิจ 2561, 99-100)
โดยสรุป เก่งกิจได้ทำการวิพากษ์สิ่งที่เขามองว่าคือรากฐานความรู้มานุษยวิทยา รัฐศาสตร์ และประวัติศาสตร์ไทย ผ่านกรณีศึกษาประวัติศาสตร์การสร้างความรู้แผนที่และหมู่บ้านยุคสงครามเย็น หรือพูดอีกอย่างคือ เก่งกิจได้นำเอาประเด็นวิวาทะใหญ่ 3 เรื่องซึ่งเดิมทีไม่ได้มีบทสนทนาต่อกันโดยตัวเองมารวมเข้าไว้และตอบปัญหาในคราวเดียวนั่นเอง อาจกล่าวได้ว่า “3 ปฏิเสธ” ใน แผนที่สร้างชาติ มีหัวใจอยู่ที่การพิสูจน์การดำรงอยู่และการสร้างความรู้เรื่องหมู่บ้านบนฐานของการสำรวจและจัดทำแผนที่ภายในรัฐไทยนั่นเอง ในทางเดียวกัน การที่ข้อเสนอของหนังสือจะมีน้ำหนักหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับการพิสูจน์และให้คำอธิบายต่อปัญหาดังกล่าวด้วย’
ข้อวิจารณ์
ในความเห็นของผู้เขียนมีประเด็นปัญหาในแง่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และการตีความอย่างน้อย 3 เรื่องใหญ่ซึ่งชวนให้เราตั้งคาถามต่อข้อเสนอหลักใน แผนที่สร้างชาติ ประกอบด้วย
ประเด็นที่ 1) ในแง่ประวัติศาสตร์ความคิด หมู่บ้านในภาษาไทยไม่มีความหมายเท่ากับคำและมโนทัศน์ village ที่ใช้อยู่ในเอกสารไทยและตะวันตกจริงหรือ? นักปกครองอาณานิคมรวมถึงปราชญ์ชาวอังกฤษใช้คำว่า hamlet สำหรับเรียกชื่อหน่วยการปกครองที่เล็กที่สุดในการปกครองอาณานิคม ไม่ใช่ village ทั้งต่ออาณานิคมของอังกฤษและพื้นที่อื่นๆ ที่ชาวอังกฤษได้เดินทางไปสัมผัสดังเช่นที่ แผนที่สร้างชาติ อ้างจริงหรือ? ชนชั้นนำและปัญญาชนทั้งที่เป็นคนพื้นเมืองและชาวตะวันตกซึ่งปฏิบัติงานอยู่สังคมไทยก่อนการเข้ามาของนักมานุษยวิทยาไม่เคยสนใจ ‘หมู่บ้าน’ ในมิติเชิงวัฒนธรรมจริงหรือ? และที่ชวนสงสัยยิ่งขึ้นคือไม่เคยมีกระบวนการถ่ายโอนมโนทัศน์ ‘village’ ในภาษาอังกฤษเพื่อเทียบกับ ‘หมู่บ้าน’ ในภาษาไทยกระทั่งกองทัพนักมานุษยวิทยาอเมริกันยาตราเข้ามาศึกษาสังคมไทยเมื่อเริ่มสงครามเย็นจริงหรือ? การแปลหมู่บ้านให้เท่ากับ village เป็นการแปลอย่างขาดความเข้าใจไปเองโดยฝ่ายรัฐและชนชั้นนาไทยซึ่งควรนับเป็นการแปลผิดดังที่เก่งกิจเสนอใช่หรือไม่?
ประเด็นที่ 2) ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างวาทกรรมสงครามเย็นกับการการสร้างความรู้เรื่องไทย ซึ่งนำไปสู่ปัญหาว่าเราสามารถใช้เอกสารวิชาการและ/หรือเอกสารราชการที่ถูกผลิตโดยตัวแสดงฝ่ายสหรัฐอเมริกาในฐานะหลักฐานประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของการศึกษาเรื่องไทยที่ให้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ได้ในระดับใด?
ประเด็นที่ 3) ในแง่ของการศึกษากระบวนการผลิตความรู้ยุคสงครามเย็นซึ่งมีจักรวรรดินิยมอเมริกาเป็นผู้นำนั้น การสร้างความรู้เรื่องไทยภายใต้กรอบคิดว่าด้วย nation-building ที่นักวิชาการอเมริกันใช้อยู่นั้น สามารถเป็นสปริงบอร์ดไปสู่ข้อเสนอที่ว่า รัฐประชาชาติไทยและความเป็นไทยเพิ่งก่อตัวขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในลักษณะที่เทียบเคียงกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเคยตกเป็นอาณานิคมอังกฤษ ฝรั่งเศส และแห่งอื่นได้หรือไม่เพียงใด?
คำว่า “หมู่บ้าน” ในภาษาไทยรวมถึงคำอื่นที่เกี่ยวข้องเช่น บ้าน บาง คาม นิคม ได้ถูกแปลและถ่ายทอดนิยามความหมายให้เท่ากับคำว่า village มิใช่ hamlet โดยชาวตะวันตกมาอย่างน้อยที่สุดตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19
เก่งกิจได้ตั้งข้อสังเกตที่ถูกต้องและมีนัยสำคัญต่อการศึกษารัฐไทยไว้ในหนังสือของเขาว่า ปัญหาเรื่องการแปลคำว่าหมู่บ้านให้เท่ากับ village เป็นประเด็นสำคัญต่อการทำความใจความเปลี่ยนแปลงเรื่องรัฐไทย อย่างไรก็ตาม – โดยขัดแย้งต่อข้อเสนอของเก่งกิจ – จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับปัญหาเรื่องหมู่บ้าน ทั้งหลักฐานไทยและต่างชาติ ตลอดจนงานวิชาการที่ศึกษาประเด็นเรื่องหมู่บ้านในบริบทประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคมของอังกฤษ อาจสรุปได้ว่า village คือหนึ่งในมโนทัศน์ใจกลางในการปกครองอาณานิคมอังกฤษอีกทั้งมีอิทธิพลต่อพื้นที่ทางภูมิปัญญาของของอังกฤษอย่างยิ่งยวด อิทธิพลมโนทัศน์หมู่บ้านในดินแดนตะวันออก โดยเฉพาะอินเดีย ของปราชญ์ชาวอังกฤษเช่น Sir Henry Maine ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาแนวคิดวิถีการผลิตเอเชีย (Asiatic mode of production) ของ Karl Marx ขณะที่คำว่า “หมู่บ้าน” ในภาษาไทยรวมถึงคำอื่นที่เกี่ยวข้องเช่น บ้าน บาง คาม นิคม ได้ถูกแปลและถ่ายทอดนิยามความหมายให้เท่ากับคำว่า village มิใช่ hamlet โดยชาวตะวันตกมาอย่างน้อยที่สุดตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 หลักฐานร่วมสมัยที่จัดทำโดยชาวอเมริกัน ฝรั่งเศส และชาวอังกฤษในสยามได้ใช้มโนทัศน์ village เพื่ออธิบายชุมชนท้องถิ่นในรัฐสยามอย่างแจ้งชัด อีกทั้งในบางเอกสารยังเลือกใช้คำว่า village และ hamlet ในบริบทที่แตกต่างกัน ด้านหลักฐานฝ่ายไทยเองก็แสดงให้เห็นถึงความพยายามแสวงหาความรู้เกี่ยวกับหมู่บ้านและวัฒนธรรมของคนในหมู่บ้านอย่างมีนัยยะสำคัญ มโนทัศน์หมู่บ้านแบบไทยซึ่งถูกแปลให้เท่ากับ village นี้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างผู้ปกครองไทยและความรับรู้เกี่ยวกับท้องถิ่น ทั้งโดยผ่านข้อมูลที่จัดหาโดยคนท้องถิ่นและที่ได้รับจากประสบการณ์ตรงของการเดินทางเข้าไปยังหมู่บ้าน ประเด็นการอพยพเคลื่อนย้ายของผู้คนและสภาวะเกิดขึ้นและสลายตัวได้ง่ายของหมู่บ้านในบางพื้นที่ก็เป็นเรื่องที่รัฐไทยตระหนักอย่างดีก่อนที่โครงการสำรวจหมู่บ้านยุคสงครามเย็นจะเริ่มขึ้น
การที่ แผนที่สร้างชาติ วางข้อเสนอหลักของหนังสืออยู่บนการใช้ข้อมูลจากเอกสารวิชาการที่ผลิตขึ้นโดยนักมานุษยวิทยายุคสงครามเย็น และปฏิบัติต่อความเห็นของนักมานุษยวิทยาเหล่านั้นในฐานะข้อเท็จจริงของงานภาคสนามโดยไม่ผ่านการวิพากษ์อย่างเพียงพอนั้นเป็นเรื่องอันตรายไม่น้อยในแง่วิธีการศึกษา ทั้งนี้ หากเราพิจารณาในแง่วิธีการประเมินคุณค่าหลักฐานเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์แล้ว บันทึกของนักมานุษยวิทยาอเมริกันและแผนที่จากเทคโนโลยีภาพถ่ายทางอากาศซึ่งถูกใช้เป็นหลักฐานชั้นต้นในหนังสือ แผนที่สร้างชาติช่วยสะท้อนมุมมองของสหรัฐอเมริกา นักวิชาการอเมริกัน และตัวแสดงฝ่ายรัฐไทย มากกว่าจะเป็นมุมมองจากคนระดับล่างในท้องถิ่น นอกจากนั้น เรายังไม่เห็นกระบวนการปะทะของความและนิยามความเป็นหมู่บ้านที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยมาแต่เดิม (หรือนิยามของกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตที่สูงเอง) กับนิยามใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นโดยสหรัฐอเมริกาภายในหนังสือ แผนที่สร้างชาติ ว่าได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมเช่นไรทั้งต่อรัฐไทย ข้าราชการท้องถิ่น และชาวบ้านในพื้นที่ที่ถูกสำรวจจนกระทั่งปรากฏสำนึกความเป็นไทยอย่างใหม่ที่มุ่งเน้นความเสมอภาคระหว่างประชาชนต่างชาติพันธุ์ นอกจากการกล่าวย้ำว่ารัฐประชาชาติและความเป็นชาติได้เกิดขึ้นในยุคนี้จากการทำแผนที่และสำรวจหมู่บ้านชาวเขา
เป็นความจริงว่าแม้การจัดทำแผนที่สมัยใหม่และการสำรวจหมู่บ้านจะได้ปรากฏขึ้นอย่างสำคัญในระยะทศวรรษ 1950-1970 กระนั้น ดังที่เก่งกิจยอมรับว่าข้อมูลในแผนที่ที่ถูกผลิตขึ้นในระยะดังกล่าวยังมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อน ต้องรอจนกระทั่งทศวรรษ 1990 แล้วนั่นเองที่แผนที่จะมีความสมบูรณ์ ยิ่งกว่านั้น แม้รัฐไทยจะได้กำหนดพิกัดตำแหน่งแห่งที่ของหมู่บ้านลงบนแผนที่แล้ว โดยเฉพาะหมู่บ้านชาวเขาในเขตที่สูงทางภาคเหนือ กระนั้นความเคลื่อนไหวของผู้คนและการเกิด-สลายของหมู่บ้านชาวเขาก็ยังคงดำเนินต่อไป เหตุเพราะสภาพการณ์ธำรงชาติพันธุ์ของผู้คนที่ชายขอบรัฐไทยไม่ได้ขึ้นต่อสถานการณ์และอำนาจปกครองภายในประเทศไทยฝ่ายเดียว หากแต่เกี่ยวพันอย่างลึกซึ่งกับสถานการณ์การต่อสู้ของกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยและปัญหาเศรษฐกิจในประเทศพม่าด้วย โดยไม่พักต้องกล่าวถึงผู้คนในพื้นที่อื่นๆ นอกเขตที่สูงทางภาคเหนือของไทยซึ่งยังไม่ถูกรวมเข้ามาวิเคราะห์ใน แผนที่สร้างชาติ
การสร้างรัฐประชาชาติที่ยังไม่เสร็จสิ้น
แม้ แผนที่สร้างชาติ จะมุ่งเป้าไปที่การวิพากษ์การประกอบสร้างความรู้ไทยศึกษายุคสงครามเย็น ทว่าการยึดความเห็นของนักมานุษยวิทยาอเมริกันเพื่อวิจารณ์งานศึกษาหมู่บ้านรุ่นต่อมา โดยไม่ได้ย้อนกลับไปพิจารณาสภาพการดำรงอยู่ของสิ่งที่เรียกว่าหมู่บ้านในสังคมไทยอย่างเพียงพอ ขณะที่ในทางกลับกันก็ไม่ได้อภิปรายปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างความรู้แผนที่และการกำหนดพิกัดตำแหน่งหมู่บ้าน-ประชากรชาวเขา กับอำนาจควบคุมเหนือพื้นที่ของรัฐไทยว่าได้นำไปสู่กำเนิดรัฐประชาชาติและความเป็นชาติใหม่ของไทยอย่างไร ทั้งหมดส่งผลให้ แผนที่สร้างชาติ เสี่ยงที่จะตกอยู่ในวาทกรรมสงครามเย็นที่ผลักนักสังคมศาสตร์อเมริกันให้มุ่งตีความปรากฏการณ์เพื่อตอบปัญหาเรื่อง ความมั่นคงแห่งชาติ (national security) ผลประโยชน์แห่งชาติ (national interest) การปิดล้อมเพื่อสกัดกั้นการขยายตัว (containment) ผลคือกรณีศึกษาหมู่บ้านบางชัน และคำอธิบายหมู่บ้านชาวเขาในเขตที่สูงในลักษณะสังคมหลวม ครอบครัวเล็ก ผู้คนกระจัดกระจาย เคลื่อนย้ายตลอดเวลา ไม่มีหมู่บ้านที่ปักหลักอย่างเป็นทางการยาวนาน ได้กลายเป็นคำอธิบายสภาพทั่วไปของหมู่บ้านในสังคมไทยทั้งหมด ความแตกต่างของหมู่บ้านพื้นที่ราบ-พื้นที่สูง และระหว่างภูมิภาคต่างๆ ในรัฐไทยได้ถูกลดทอนให้กลายสภาพเป็นหมู่บ้านชาวเขาในกรอบคำอธิบายของ แผนที่สร้างชาติ
อย่างไรก็ตาม ควรกล่าวด้วยว่าความสัมพันธ์ระหว่างการได้รู้จักหมู่บ้านทั่วรัฐไทยโดยนักสังคมวิทยา-มานุษยวิทยาอเมริกัน (ซึ่งเป็นประเด็นที่ตั้งคำถามได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ได้รู้และรัฐและคนท้องถิ่นได้นำสิ่งที่รู้นั้นไปใช้มากน้อยเพียงใด) และการจัดทำแผนที่ทางอากาศซึ่งทำให้พื้นที่ภายในรัฐสามารถกำหนดขอบเขตได้ชัดเจน จนนำไปสู่กำเนิดรัฐประชาชาติและสำนึกความเป็นชาติยังเป็นปัญหาสำคัญที่สามารถถกเถียงต่อได้อีกมาก และควรได้รับการศึกษาอย่างลงลึกยิ่งขึ้น ในการนี้ แผนที่สร้างชาติ ได้ช่วยดึงเราให้กลับมาทบทวนปัญหาสำคัญนี้อีกครั้ง กระตุกเราให้ตั้งคำถามต่อชุดคำอธิบายทางวิชาการที่นิยมในหมู่นักวิชาการทวนกระแส
หมายเหตุ: รายละเอียดข้อวิพากษ์และการอภิปรายหลักฐานประวัติศาสตร์โปรดติดตามอ่านบทความฉบับเต็มที่จะตีพิมพ์ในวารสาร ฟ้าเดียวกัน ในอันดับต่อไป)
เกี่ยวกับผู้เขียน: ธนภาษ เดชพาวุฒิกุล Graduate School of Asia-Pacific Studies, Waseda University[full-post]
แสดงความคิดเห็น