Posted: 18 Jun 2018 03:25 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)


เดดไลน์!! 30 มิ.ย.รัฐบาลขีดเส้น แรงงานต่างด้าวพิสูจน์สัญชาติ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย ขณะนี้เหลืออีก 2 สัปดาห์ในการพิสูจน์สัญชาติ การจัดทำและปรับปรุงทะเบียนประวัติแรงงานต่างด้าว โดยตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้ จะเริ่มระดมกวาดล้างแรงงานผิดกฎหมาย

"พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบรายงานความคืบหน้าการพิสูจน์สัญชาติ การจัดทำและปรับปรุงทะเบียนประวัติแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ระยะที่ 2 ณ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จทั่วประเทศแล้ว

โดยล่าสุดแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาได้รับการพิสูจน์สัญชาติครบถ้วนแล้ว ส่วนกัมพูชายังคงเหลือที่ต้องเข้ารับการพิสูจน์สัญชาติอีก 22,770 คน และลาว 5,614 คน ส่วนการจัดทำและปรับปรุงทะเบียนประวัติแรงงานต่างด้าว ตรวจลงตราวีซ่า และขออนุญาตทำงาน ณ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ระยะที่ 2 นั้น มีแรงงานที่คงเหลือจะต้องเข้าศูนย์ฯ อีกประมาณ 59,000 คน

“นายกฯ ขอบคุณทางการเมียนมา และนายจ้างของแรงงานต่างด้าวเมียนมา ที่ได้ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติแล้วเสร็จก่อนกำหนดที่ตั้งไว้ และขอความร่วมมือส่วนที่เหลือให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งการพิสูจน์สัญชาติและขั้นตอนอื่นๆ เพราะเหลือเวลาอีกเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น เพื่อประโยชน์ของทั้งตัวแรงงานเองและการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวโดยรวม”

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า "นายกรัฐมนตรี" เน้นย้ำว่าไม่ควรรีรอจนถึงวันสุดท้าย เพราะอาจไม่ทันเวลาหรือไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร หากมีผู้ไปติดต่อจำนวนมาก และรัฐบาลจะไม่มีการผ่อนปรนหรือขยายเวลาอย่างแน่นอน

หากพ้นวันที่ 30 มิ.ย.นี้แล้วยังไม่ไปดำเนินการ แรงงานต่างด้าวจะไม่สามารถอยู่และทำงานต่อไปได้ โดยจะต้องกลับประเทศต้นทางและกลับเข้ามาใหม่ในรูปแบบการนำเข้าแรงงานตามระบบ MOU

ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 61 เจ้าหน้าที่จะระดมกวาดล้างผู้กระทำผิดกฎหมายครั้งใหญ่ หากพบแรงงานต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด จะมีโทษปรับ 5,000 – 50,000 บาท และเมื่อชำระค่าปรับแล้วจะถูกส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และห้ามขออนุญาตทำงานภายใน 2 ปี

ส่วนนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือทำงานนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด จะมีโทษปรับ 10,000 -100,000 บาทต่อแรงงานต่างด้าวที่จ้าง 1 คน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างแรงงานต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี

ที่มา: คมชัดบึก, 17/6/2561

จ๊อบไทยดอทคอมเผยสถานการณ์แรงงานในช่วงครึ่งหลังปี 2561 พร้อม 10 สายงาน ที่ต้องการแรงงานมากที่สุด

จ๊อบไทยดอทคอม เว็บไซต์หางาน คาดการณ์ภาพรวมสถานการณ์แรงงานไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ปี 2561 จากการวิเคราะห์ฐานข้อมูลเว็บไซต์ตั้งแต่ปี 2016 จนถึงปัจจุบันพบ 10 สายงานที่คาดว่า ต้องการแรงงานมากที่สุด ดังนี้ 1. พนักงานขาย จำนวน 17,000-21,000 อัตรา 2. ช่างเทคนิค จำนวน 9,000-11,500 อัตรา 3. ผลิต/ควบคุมคุณภาพ จำนวน 8,000-9,800 อัตรา 4. บริการลูกค้า จำนวน 5,800-7,000 อัตรา 5. บัญชี/การเงิน จำนวน 5,000-6,500 อัตรา 6. ธุรการ/จัดซื้อ จำนวน 4,800-5,900 อัตรา 7. วิศวกรรม จำนวน 4,600-5,700 อัตรา 8. อาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 3,900-4,700 อัตรา 9. คอมพิวเตอร์/ไอที จำนวน 3,200-3,900 อัตรา และ 10. โลจิสติกส์และซัพพลายเชน จำนวน 2,900-3,500 อัตรา

ทั้งนี้สอดคล้องกับผลสำรวจสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประจำเดือน เม.ย.2561 ที่พบว่า ความต้องการแรงงานของภาคการผลิต ขนส่งและบริการ มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้าน น.ส.แสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการ เว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม กล่าวว่าสถานการณ์แรงงานไทยจากผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ประจำเดือน เม.ย.2561 ของสำนักงานสถิติฯ พบว่าประเทศไทยมีความต้องการแรงงานกลุ่มภาคการผลิต ขนส่ง ตลอดจนบริการ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว สอดคล้องไปกับสถานการณ์ปัจจุบันของเศรษฐกิจประเทศไทยที่อยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัว สำหรับปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจไทย ยังคงเป็นภาคส่งออก ท่องเที่ยว บริโภคของเอกชน และการลงทุนภาครัฐในโครงการสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะในโครงการ EEC ที่คาดว่าจะปิดประมูลเสร็จในไตรมาส 2 จะทำให้ครึ่งปีหลังเริ่มมีนักลงทุนเข้ามามากขึ้น รวมถึงมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐในโครงการต่างๆ ก็เริ่มทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชน

ขณะที่ภาคส่งออกและบริการได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก และจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งจากในประเทศและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าครึ่งปีหลังยังมีแนวโน้มที่เป็นบวก ซึ่งการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลต่อความต้องการแรงงานไทยในอนาคต เพื่อมารองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ น.ส.แสงเดือน กล่าวต่อว่า จากฐานข้อมูลของเว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอมยังมีตำแหน่งงานจากบริษัทชั้นนำทั่วประเทศอีกมากมาย สำหรับผู้ต้องการหางาน สมัครงานสามารถใช้บริการของจ๊อบไทยดอทคอมได้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงแรงงานเปิดเผยตัวเลขผู้จบปริญญาตรีปีละประมาณ 3 แสนคน แต่กว่าครึ่งต้องออกมาเตะฝุ่น เหตุเลือกเรียนไม่ตรงความต้องการของตลาดแรงงาน เลือกตามค่านิยม ป.ตรีตกงาน1.7แสน ระบุเรียนมาไม่ตรงความต้องการตลาด

ที่มา: ไทยรัฐ, 15/6/2561

รมว.แรงงาน ตั้งเป้าพัฒนาฝีมือสูงวัย 7.7 หมื่นคน เอกชนขานรับนโยบายจ้างงานผู้สูงอายุ

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน “สานพลังประชารัฐ สร้างงาน สร้างอาชีพรองรับสังคมผู้สูงอายุ” ณ ห้องประชุมเทียนอัชกุล ชั้น 10 กรมการจัดหางาน เพื่อร่วมกันหารือถึงแนวทางในการส่งเสริมการมีงานทำแก่ผู้สูงอายุ และความต้องการของภาคเอกชนที่จะให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการส่งเสริมการมีงานทำผู้สูงอายุ โดยมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมประชุม โดย รมว.แรงงาน กล่าวว่า วันนี้เรื่องผู้สูงอายุเป็นเรื่องใหญ่ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีอยู่จำนวน 11 กว่าล้านคน ซึ่งเป็นวาระสำคัญของรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนทั้งในเรื่องของการจ้างงานผู้สูงอายุ ที่อยู่อาศัย สินเชื่อรวมทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ได้มีเป้าหมายดำเนินการส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุจำนวน 15,600 คน ทั้งการทำงานแบบมีนายจ้าง การรับงานไปทำที่บ้าน และอาชีพอิสระ รวมทั้งมีเป้าหมายในการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่ผู้สูงอายุเพื่อให้สามารถทำงานได้จำนวน 77,000 คน

พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวต่อว่า ในระยะต่อไปกระทรวงแรงงาน จะพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.การจ้างงานผู้สูงอายุ การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงของผู้สูงอายุ ขณะเดียวกันจะมีการกำหนดมาตรการทางภาษีเพื่อให้สามารถจูงใจภาคเอกชนในการจ้างงานผู้สูงอายุเพิ่ม ทั้งนี้ ในปี 2562 ระบบการจ้างงานผู้สูงอายุจะมีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งตำแหน่งงาน ประเภทของงาน ลักษณะงานที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ การพัฒนาทักษะฝีมือ การคุ้มครองและหลักประกันทางสังคม โดยกระทรวงแรงงานจะดำเนินการตามแผนปฏิบัติการพร้อมกับการแก้ไขกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องควบคู่กันไปกับภาคเอกชนในหลายสถานประกอบการที่ได้มีการจ้างงานผู้สูงอายุก่อนหน้านี้ไปบ้างแล้ว เพื่อให้การส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุมีประสิทธิภาพและเห็นผลเป็นรูปธรรม อาทิ การกำหนดอัตราค่าจ้างรายชั่วโมง ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบาย บริการจัดหางาน จ้างงานผู้สูงอายุในภาครัฐ ขยายโอกาสการมีงานทำ ส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุในอาชีพที่เหมาะสมกับวัยและประสบการณ์ ฝึกอาชีพและพัฒนาเพิ่มทักษะฝีมือแรงงานผู้สูงอายุ ส่งเสริมสิทธิสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานผู้สูงอายุ รวมทั้งสร้างหลักประกันทางสังคม เป็นต้น

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 14/6/2561

ก.แรงงานชูต้นแบบสถานประกอบกิจการที่ดี

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จัดพิธีมอบรางวัล Thailand Labour Management Excellence Award สถานประกอบกิจการที่มีระบบบริหารจัดการด้านแรงงานยอดเยี่ยมขึ้น ปีนี้เป็นปีที่ 2 โดยมุ่งยกระดับการดูแลลูกจ้างให้ได้รับสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม มีความปลอดภัยในการทำงาน มีระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีและมีสวัสดิการเหมาะสม สำหรับปี 2561 ได้กำหนดจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม 2561 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี นนทบุรี โดยได้รับเกียรติจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานพร้อมปาฐกถาพิเศษ

ทั้งนี้ กิจกรรมหลักของงานการมอบรางวัล Thailand Labour Management Excellence Award 2018 ให้แก่สถานประกอบกิจการที่มีการบริหารจัดการด้านแรงงานยอดเยี่ยมและธำรงรักษาได้ตามมาตรฐานเป็นระยะเวลานานที่สุด จำนวน 3 รางวัล ซึ่งจะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นอกจากนี้ ยังมีการมอบรางวัลสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านแรงงานและสวัสดิการแรงงาน สถานประกอบกิจการต้นแบบดีเด่นด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน สถานประกอบกิจการที่ธำรงรักษาระบบมาตรฐานแรงงานไทยและรางวัลอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น 481 รางวัล

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 14/6/2561

'อดุลย์' สั่งเร่งช่วยเหลือแรงงานไทย กลับจากภัยสงครามในลิเบีย

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน(กกจ.) เปิดเผยว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน(รมว.แรงงาน) สั่งเร่งติดตามช่วยเหลือแรงงานไทยที่เคยเดินทางไปทำงานที่ประเทศลิเบียและกลับประเทศไทยก่อนครบสัญญาจ้างเนื่องจากเกิดภัยสงคราม ให้ได้รับสิทธิประโยชน์หรือความคุ้มครองช่วยเหลือ

นายอนุรักษ์ กล่าวอีกว่า ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ กรมการจัดหางานได้แจ้งให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดเร่งติดตามรายชื่อ ที่อยู่คนงานที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือด้านค่าจ้างค้างจ่ายและสิทธิประโยชน์อื่นๆ จากนายจ้างในต่างประเทศ

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันได้เร่งรัดให้บริษัทที่จัดส่งแรงงานไทยไปลิเบียตรวจสอบการคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายให้แก่คนงานพร้อมทั้งประสานนายจ้างที่ลิเบียให้จ่ายค่าจ้างที่ค้างจ่ายและสิทธิประโยชน์ให้แก่แรงงานไทย

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวย้ำว่า อย่างไรก็ตาม แรงงานไทยที่ยื่นคำร้องทุกข์ขอค่าบริการและค่าใช้จ่ายคืนจากบริษัทที่จัดส่ง ส่วนหนึ่งได้ข้อยุติเรื่องร้องทุกข์และได้รับการช่วยเหลือเรียบร้อยแล้ว บางส่วนยังไม่ได้คืน อยู่ระหว่างฟ้องร้องธนาคารผู้ค้ำประกันให้แก่บริษัทจัดหางานผู้จัดส่ง เพื่อหักหลักประกันคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายให้กับแรงงาน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง

นายอนุรักษ์ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศโดยบริษัทจัดหางานจัดส่งจะต้องเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ สำหรับประเทศลิเบียจ่ายค่าสมาชิกฯ ในอัตรา 400 บาทต่อคน ซึ่งจ่ายเพียงครั้งเดียว แต่คุ้มครองตลอดระยะเวลาสัญญาจ้าง ซึ่งกรณีที่ต้องเดินทางกลับประเทศไทยจากการประสบปัญหาจากภัยสงคราม จะได้รับการสงเคราะห์รายละ 15,000 บาท

โดยแรงงานทุกคนที่ได้ยื่นคำร้องได้รับเงินสงเคราะห์เรียบร้อยแล้ว สำหรับการติดตามค่าจ้างค้างจ่ายจากนายจ้างที่ประเทศลิเบียนั้น เรื่องยังไม่แล้วเสร็จเนื่องจากสถานการณ์ในประเทศลิเบียยังไม่สงบ และยังไม่มีความคืบหน้าในการเปิดสถานทูตไทย

ทั้งนี้ หากสถานการณ์ในประเทศลิเบียมีความสงบแล้ว จะได้ประสานสำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานเพื่อดำเนินการต่อไป โดยแรงงานจะได้รับค่าจ้างที่ค้างจ่ายคืนตามสัดส่วนของระยะเวลาในการทำงาน อย่างไรก็ตาม หากแรงงานที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือยังไม่ได้ร้องทุกข์ สามารถยื่นคำร้องทุกข์ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 13/6/2561

สมาพันธ์ครูชายแดนใต้ วอนดูแลธุรการ ร.ร. กว่า 600 ชีวิตระส่ำหลัง 'สพฐ.' เลิกจ้าง

เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2561 ที่ห้องประชุมสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา จ.ปัตตานี นายบุญสม ทองศรีพราย ประธานสมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมประชุมกับตัวแทน ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู และธุรการของโรงเรียน ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กว่า 300 คน เพื่อหารือ แนวทางการช่วยเหลือบุคลากรปฏิบัติงานธุรการในสถานศึกษา 629 ราย กำลังถูกเลิกจ้าง เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แจ้งจัดสรรงบประมาณเป็นค่าจ้างเหมาบุคลากรปฏิบัติงานในสถานศึกษา ในเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษเฉพาะกิจชายแดนใต้ ประจำเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2561 โดยแจ้งสิ้นสุดการจ้างภายในเดือนมิถุนายน 2561 นี้

ทำให้ธุรการของโรงเรียนได้รับผลกระทบ รวมทั้งโรงเรียนได้รับผลกระทบ เนื่องจากขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเอกสาร ข้าราชการครูต้องเสียเวลาการสอนเพื่อดำเนินงานธุรการแทน ทำให้ศักยภาพด้านการสอนลดลง นักเรียนจะได้รับความรู้ไม่เต็มศักยภาพ และไม่ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังนั้น บุคลากรทางการศึกษาจึงรวมตัวกันเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าใจ เห็นใจ และให้ความเป็นธรรมต่อพนักงานธุรการสถานศึกษา ซึ่งเป็นคนในพื้นที่โดยตรง อยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบช่วยเหลือและหาทางออกที่ดี เพื่ออนาคต ความเป็นอยู่ที่มั่นคงของบุคลากรปฏิบัติงานธุรการโรงเรียน

นายบุญสม กล่าวว่าการประชุมครั้งนี้เพื่อเรียกร้องสิทธิ อยากให้กระทรวงศึกษาธิการดูแลบุคคลเหล่านี้ ได้มีอาชีพ และอนาคตที่ยั่งยืน โครงการนี้จุดประกายให้การศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ขยับขึ้นแน่นอน ธุรการโรงเรียนเป็นบุคลากรที่เข้ามาทำให้การศึกษามีคุณภาพ สมเจตนารมณ์คืนครูสู่ห้องเรียน คืนครูสู่ชั้นเรียน คืนครูสู่นักเรียน ซึ่งธุรการทำหน้าที่เพื่อพัฒนาการศึกษาในประเทศซึ่งตกต่ำมานานให้ดีขึ้น จึงมาสมัครเป็นครูธุรการได้ประมาณ 10 เดือน แต่กลับมีคำสั่งว่าไม่มีงบประมาณ เนื่องจากว่างบไม่พอ จะเลิกสัญญาจ้างเหมา 9,000 ทำให้น้องๆวิตกกังวล กลัวไม่มีความมั่นคง โดยหลายคนลาออกจากงานเดิมมา หลายคนเป็นผู้นำครอบครัว

"ฝากเรียนไปยังกระทรวงศึกษาธิการ ช่วยดูแลน้องๆเหล่านี้ให้มีงานทำต่อเนื่อง และเป็นระบบ เพียงแค่มีความหวังว่า บุคคลเหล่านี้เป็นคนในพื้นที่ คำพูดที่ว่าคนในพื้นที่สามารถช่วยชาติได้ น่าจะสมเจตนารมณ์ และเด็กตรงนี้เป็นเด็กในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งสิ้น ทั้งไทยพุทธและมุสลิม ซึ่งอยู่ภายใต้พหุวัฒนธรรม หวังว่ากระทรวงศึกษาธิการและผู้ที่เกี่ยวข้องจะช่วยเหลือน้องๆเหล่านี้ให้มีงานทำ"นายบุญสม กล่าว

นายปฏิวัติ หมานเหม ธุรการโรงเรียนบ้านควนขี้แรด อ.จะนะ จ.สงขลา กล่าวว่า หลังรู้ตัวเองว่าจะถูกเลิกจ้าง ตนรู้สึกกังวล เนื่องจากแต่ก่อนทำงานได้เงินเดือน 15,000 บาท แต่พอสอบธุรการได้เงินเดือน 9,000 จึงตัดสินใจออกจากงานเดิม เนื่องจากงานธุรการ ทำให้มีความสุขที่ได้ทำงานและอยู่กับลูกภรรยา ซึ่งเงินเดือน 9,000 บาทไม่มาก แต่อยู่ได้บนพื้นฐานของการอยู่บ้าน อยู่ในพื้นที่ ขณะที่มีคนวิตกกังวล 629 คน บางคนทุกข์มากถึงขั้นล้มป่วย ประกอบกับเงินเดือนไม่ออก ต้องไปกู้เงินนอกระบบ ทำให้ครอบครัวเกิดปัญหาขึ้น เมื่อมีหนังสือขอสพฐ.เลิกจ้าง ความกังวลยิ่งเพิ่มขึ้น

"จากการสอบถามผู้ใหญ่ในระบบราชการไทย ทราบว่า เหตุการณ์แบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เมื่อมีหนังสือจากเขตพื้นที่ออกมายืนยันว่าสิ้นสุดการจ้างเดือนมิถุนายน คือเดือนนี้ ยิ่งเพิ่มทวีความวิตกเพิ่มมากขึ้น จึงมาร่วมกันประชุม ไม่ได้ประท้วง แต่ ขอความเห็นใจให้พวกเราได้อยู่ต่อ ซึ่งการอยู่ต่อจะส่งผลให้กับโรงเรียนอย่างมาก ถ้าโรงเรียนมีธุรการ ครูได้สอนเต็มที่จริงๆเพราะธุรการทำหมดทุกอย่าง เมื่อครูไม่อยู่ ธุรการก็เป็นครูด้วย ดังนั้นมองว่าธุรการมีความสำคัญอย่างยิ่งในระบบการศึกษาบ้านเรา" นายปฏิวัติ กล่าว

ว่าที่ร.ต. ปพน มีสุข ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตาหมน อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เปิดเผยว่า ตำแหน่งธุรการมีคุณูปการต่อโรงเรียน มีความสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นคนในพื้นที่ สามารถทำงานต่างๆในพื้นที่ได้อย่างจัดเจนและเป็นรูปธรรม งานด้านธุรการโรงเรียน รับหนังสือ ตอบโต้หนังสือ ทำรายงานต่างๆ เตรียมเอกสารต่างๆตลอดจนช่วยเหลือเอกสารทางวิชาการของครู จะทำให้ครูสามารถลดภาระหน้าที่เรื่องการจัดทำเอกสารต่างๆและมีเวลาทำการเรียนการสอนและสื่อการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่

ที่มา: มติชนออนไลน์, 12/6/2561

กสร. ห่วงแฟนบอลแนะจัดเวลาเหมาะสมป้องกันอุบัติเหตุและขาดงานโดยไม่จำเป็น

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ห่วงลูกจ้างแฟนบอล แนะจัดเวลาเหมาะสมชมถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2018 พักผ่อนให้เพียงพอ ป้องกันอุบัติเหตุจากการทำงาน และขาดงานโดยไม่มีเหตุอันสมควร

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า เทศกาลฟุตบอลโลก 2018 ซึ่งได้กำหนดจัดการแข่งขันขึ้น ระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน ถึง 15 กรกฎาคม 2561เป็นช่วงที่แฟนกีฬาฟุตบอลทั่วโลกให้ความสนใจ สำหรับประเทศไทยคาดว่าจะมีแฟนกีฬาฟุตบอลติดตามชมการถ่ายทอดการแข่งขันเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันปัญหาการประสบอันตรายจากการทำงานอันเนื่องจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ รวมไปถึงการมาทำงานสายหรือขาดงานโดยไม่มีเหตุสมควรกสร.จึงขอให้ลูกจ้างจัดสรรเวลาในการรับชมการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกให้เหมาะสม มีเวลาพักผ่อนที่เพียงพอเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานโดยเฉพาะลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับเครื่องมือ เครื่องจักร หรือขับขี่ยานพาหนะ รวมทั้งการถูกลงโทษทางวินัยได้เนื่องจากมาสายหรือขาดงาน

อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวด้วยว่า ในส่วนของนายจ้าง กสร.ขอความร่วมมือในการกำกับดูแลลูกจ้างมีความพร้อมก่อนปฏิบัติเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานและขอให้กำกับดูแลลูกจ้างไม่ให้มีการเล่นพนันฟุตบอลในสถานประกอบกิจการในช่วงเทศกาลบอลโลกนี้

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 12/6/2561

กลุ่มแรงงานลิเบียนครพนมขอความเป็นธรรม

นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม มอบหมายให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครพนม รับเรื่องร้องทุกข์ร้องเรียนในการขอให้ช่วยเหลือติดตามสิทธิประโยชน์ต่างๆ และขอรายชื่อคนงานที่ได้รับความเดือดร้อนที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนครพนม เพื่อมาลงชื่อสำหรับการรับความช่วยเหลือ จากกลุ่มผู้ขายแรงงานจังหวัดนครพนม ที่เคยเดินทางไปทำงานที่สาธารณรัฐสังคมนิยมอาหรับแห่งลิเบียเมื่อปลายปี 2552 และถูกส่งตัวกลับก่อนครบสัญญาว่าจ้างด้วยเหตุความมาสงบภายในประเทศ

นายบุญนำ บุญตั้ง หนึ่งในกลุ่มผู้ขายแรงงานเปิดเผยว่า ตนเองและเพื่อนบ้านในหมู่บ้านได้เดินทางไปทำงานที่บริษัทแห่งหนึ่งในเมืองเบงกาซี ประเทศลิเบียและถูกส่งกลับเมื่อปี 2553 ทำให้ครอบครัวได้รับความเดือดร้อนมากเนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายที่เดินทางไปขายแรงงานในครั้งนั้น ขณะที่ระยะเวลาผ่านมากว่า 8 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ จึงได้ร่วมกันออกมาติดความคืบหน้าในวันนี้

ขณะที่ นายไชยวุฒิ วัชเรนทร์สุนทร แรงงานจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า หลังจากทราบเรื่องในวันนี้แล้ว ทางศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครพนม และสำนักงานแรงงานจังหวัดนครพนม ได้ให้กลุ่มผู้ขายแรงงานที่มาร้องเรียนในวันนี้ลงทะเบียนไว้ เพื่อที่จะได้นำข้อมูลไปตรวจสอบว่ามีผู้ใดที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเงินกองทุน เงินช่วยเหลือเบื้องต้น แล้วก็จะส่งเรื่องเข้าไปที่กระทรวงใหม่ ซึ่งถ้าได้ผลประการใดก็จะมีหนังสือแจ้งกลับไปยังกลุ่มผู้ขายแรงงาน โดยในเบื้องต้นเมื่อรับเรื่องแล้วสามารถตรวจสอบได้เลยคาดไม่เกิน 7 วันจะสามารถส่งเรื่องไปยังกระทรวงแรงงานได้ทั้งหมด

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 12/6/2561

เปิดบัญชีค่าจ้างแรกเข้า-ขั้นสูง ของ ‘ลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุข’

บัญชีค่าจ้างขั้นต่ำ(แรกเข้าบรรจุ) -ขั้นสูงของลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งใช้เงินนอกงบประมาณ(เงินบำรุง) แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มสายวิชาชีพ อาทิ สายงานเภสัชกร สายงานพยาบาลวิชาชีพ สายงานนักวิชาการสาธารณสุข และสายงานสหวิชาชีพ

2.กลุ่มสนับสนุน มีทั้งกรณีไม่กำหนดวุฒิ และที่มีวุฒิตั้งแต่ ปวช. ปวท. ปวส. และวุฒิปริญญาตรี โดยจะทำงานสายสนันสนุน อาทิ พนักงานขับรถ พนักงานเปล เป็นต้น

โดยบัญชีดังกล่าวอิงตามระเบียบของกระทรวงการคลัง แต่ทางลูกจ้างชั่วคราวที่ออกมาเรียกร้องมองว่า ค่าจ้างดังกล่าวได้ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำของกระทรวงแรงงาน และต้องการเรียกร้องให้เท่าค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งบัญชีดังกล่าวใช้ตั้งแต่สมัย นพ.ไพจิตร์ วราชิต เป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข จนถึงขณะนี้ ซึ่งล่าสุดผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข อยู่ระหว่างดำเนินการพิจารณาปรับปรุงบัญชีการจ้างงานดังกล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 11/6/2561

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.