Posted: 21 Jun 2018 10:41 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
มติ ป.ป.ช.ไม่รื้อคดีสลายการชุมนุม นปช.ปี 2553 เหตุไม่มีข้อเท็จจริง-พยานหลักฐานใหม่ 'ณัฐวุฒิ' ระบุเตรียมรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ต่ำกว่า 20,000 คน ยื่นประธานสภาฯ เพื่อพิจารณายื่นศาลฎีกาตั้งไต่สวนกรรมการ ป.ป.ช.
22 มิ.ย. 2561 นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช.กล่าวต่อสื่อมวลชนว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติยกคำร้องกรณีที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ กับพวก ขอให้หยิบยกสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง เรื่องกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับพวก ร่วมกันสั่งการในเหตุการณ์สลายการชุมนุม นปช.ขึ้นพิจารณาใหม่ เหตุไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใหม่
สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2558 มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับพวก มีพฤติการณ์ว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกรณีสั่งการในเหตุการณ์สลายการชุมนุม นปช.เมื่อวันที่ 10 เม.ย.-19 พ.ค. 2553 แล้วมีมติว่า ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป แต่ให้ส่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ดำเนินการตามหน้าที่กรณีมีผู้เสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่ ต่อมานายจตุพร พรหมพันธุ์, นายณัฐวุฒิ ใสเกื้อ และนายวรัญชัย โชคชนะ มีหนังสือร้องขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทบทวนมติที่ให้ข้อกล่าวหาตกไปดังกล่าว ดังนี้
ประเด็นที่ 1 การตัดสินใจทางนโยบายกรณีใช้อาวุธสงครามกระสุนจริงและยุทธวิธีการซุ่มยิงถูกต้องหรือไม่
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า ในประเด็นนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.เคยพิจารณาและวินิจฉัยไว้แล้วว่า การสั่งใช้กำลังทหารพร้อมอาวุธปืนติดตัวเข้าขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุม นปช.ในระหว่างวันที่ 10 เม.ย.-19 พ.ค. 2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บนั้นปรากฏข้อเท็จจริงตามคำสั่งของศาลว่าเป็นช่วงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งการชุมนุมของกลุ่ม นปช.มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และมีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม นปช.จึงมีเหตุจำเป็นที่ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ต้องใช้มาตรการขอพื้นที่คืนเพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง โดยมีคำสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่นำอาวุธติดตัว หากมีความจำเป็นสามารถนำมาใช้เพื่อระงับยับยั้งได้ไปตามสถานการณ์ หรือเหตุการณ์เฉพาะหน้า หรือป้องกันตนเองได้ อันเป็นไปตามหลักสากล ตามนัยคำสั่งของศาลแพ่งในคดีหมายเลขดำที่ 1433/2553 วันที่ 22 เม.ย. 2553 และวันที่ 14 พ.ค. 2553 อีกทั้งเจ้าหน้าที่ผู้รับคำสั่งจาก ศอฉ. จะต้องไปปฏิบัติโดยกำหนดวิธีการและหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมเป็นลำดับชั้นต่อไปจนถึงหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ซึ่งมีผู้ควบคุมคือ ผู้บังคับกองพันในการปฏิบัติการจริงในพื้นที่นั้น การตัดสินใจในการใช้อาวุธจะเป็นอำนาจโดยสายการบังคับบัญชาในการสั่งการของผู้บัญชาการกองพล หากภายหลังสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการใช้อาวุธปืนโดยไม่สุจริต เลือกปฏิบัติ และเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีจำเป็น จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติต้องรับผิดในการกระทำดังกล่าวฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือฐานฆ่าผู้อื่น อันเป็นการกระทำเฉพาะตัว ซึ่งกรณีนี้ที่ประชุมได้มีมติให้ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ DSI ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป ตามมาตรา 89/2 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ประเด็นที่ 2 ไม่ยกเลิกการปฏิบัติในทันทีเมื่อรับทราบการเสียชีวิตของประชาชน และกรณีกล่าวอ้างว่ามีการปรับยุทธวิธีเป็นการตั้งด่านตรวจและมีจุดสกัดปิดล้อมเพื่อให้ชุมนุมเลิกไปเองนั้น แต่ตามวารสารกองทัพบก (เสนาธิปัตย์) อธิบายว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการปฏิบัติทางทหารเต็มรูปแบบ มิใช่การปรับยุทธวิธีเป็นการตั้งด่านตรวจตามที่อ้าง
คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า ในประเด็นนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.เคยพิจารณาและวินิจฉัยไว้แล้วว่าภายหลังจากเกิดเหตุการณ์การขอคืนพื้นที่ชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บแล้ว ศอฉ.ได้ทบทวนปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยไม่ใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าผลักดันผู้ชุมนุมอีกต่อไป แต่ใช้มาตรการตั้งด่านตรวจ หรือจุดสกัดปิดล้อมวงนอกไว้โดยรอบ เพื่อให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมไปเอง และได้มีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ในวันที่ 14 และ 19 พ.ค.2553 ปรากฏข้อเท็จจริงว่าไม่มีการใช้กำลังทหารเข้าผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุม เหมือนการปฏิบัติการในวันที่ 10 เม.ย.2553 แต่เป็นการตั้งด่านอยู่กับที่ทุกแห่ง
ประเด็นที่ 3 การอ้างว่ามีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนในกลุ่มผู้ชุมนุม เป็นการอ้างโดยมิได้มีหลักฐานใดๆ รองรับ เป็นการอ้างไม่ตรงกับคำพิพากษาศาลแพ่ง เนื่องจากคำพิพากษาระบุว่าการเสียชีวิตเบื้องต้นในวันที่ 10 เม.ย.2553 ยังไม่ทราบว่าเป็นการกระทำของฝ่ายใด และศาลแพ่งได้เตือนจำเลยคือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับพวก ในการสลายการชุมนุมหรือขอคืนพื้นที่ให้ดำเนินการเท่าที่จำเป็นตามความเหมาะสม และคำสั่งศาลอาญาในเรื่องการตายจำนวน 19 ศพ ก็ยืนยันว่าผู้ตายตายจากกระสุนความเร็วสูง จากอาวุธสงครามของเจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง ศอฉ.และไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีอาวุธปืนหรือยิงต่อสู้
คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า ในประเด็นนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เคยพิจารณาและวินิจฉัยไว้แล้วว่า ตามคำสั่งศาลในช่วงระยะเวลาต่างๆ ได้แก่ คำสั่งศาลแพ่งในคดีหมายเลขดำที่ ร.2/2553 วันที่ 5 เม.ย.2553, คำสั่งศาลแพ่งในคดีหมายเลขดำที่ 1433/2553 วันที่ 22 เม.ย.2553, คำสั่งศาลแพ่งในคดีหมายเลขดำที่ 1433/2553 วันที่ 14 พ.ค.53, คำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลอาญากรุงเทพใต้ กรณีนายบุญมี เริ่มสุข ในคดีหมายเลขดำที่ ช.7/2555 คดีหมายเลขแดงที่ ช.1/2556 วันที่ 16 ม.ค.2556, คำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลอาญา กรณีนายมานะ อาจราญ ในคดีหมายเลขดำที่ อช.8/2555 คดีหมายเลขแดงที่ อช.3/2556 วันที่ 21 ก.พ.2556 สรุปข้อเท็จจริงได้ว่าการชุมนุมของกลุ่ม นปช.มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และมีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม นปช.จึงจำเป็นที่เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการสลายการชุมนุมเพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง โดยมีอาวุธติดตัว หากมีความจำเป็นสามารถนำมาใช้เพื่อระงับยับยั้งได้ไปตามสถานการณ์หรือเหตุการณ์เฉพาะหน้า หรือป้องกันตนเองได้ อันเป็นไปตามหลักสากล
ประเด็นที่ 4 กระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่รอบคอบ ไม่ถูกต้อง ไม่น่าเชื่อถือและ 2 มาตรฐาน ดังนี้
1.เหตุการณ์วันที่ 7 ต.ค.2551 (การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ) เกิดขึ้นและยุติลงภายในวันเดียวแต่คำฟ้องของ ป.ป.ช. แบ่งเหตุการณ์ออกเป็นสามช่วงเวลา กล่าวถึงผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บรายสำคัญโดยละเอียด ขณะที่เหตุการณ์ ปี 2553 (การชุมนุมของกลุ่ม นปช.) เกิดขึ้นต่อเนื่องกันกว่าหนึ่งเดือน ต่างกรรมต่างวาระต่างสถานที่ แต่กลับพิจารณาแบบองค์รวม นอกจากนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังมีดุลยพินิจ ที่แตกต่างจากอัยการและศาล ดังนั้นหากในกรณีสลายการชุมชุม นปช.ในปี 2553 ได้มีการนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล อัยการและศาลอาจมีข้อวินิจฉัยที่แตกต่างจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็เป็นได้
2.ในกรณีกลุ่มพันธมิตรฯ ระบุว่านายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มีอำนาจตามหน้าที่ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มีอำนาจสั่งการแทนนายกรัฐมนตรี จึงไม่อาจปฏิเสธความผิด ต่อกรณีมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ แต่กรณีกลุ่ม นปช.นั้น ป.ป.ช.กลับมีมติว่าหากเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนโดยไม่สุจริต เลือกปฏิบัติ และเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีจำเป็นจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บให้ถือเป็นความผิดเฉพาะตัว
3.กรณีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ในปี 2551 มีผู้เสียชีวิต 2 ราย 1 ในนั้น คือ พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี หรือสารวัตรจ๊าบ แกนนำการ์ดกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งผลการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่าขับรถบรรทุกวัตถุระเบิดที่มีอานุภาพการทำลายล้างสูงเข้ามาในพื้นที่ และเกิดเหตุระเบิดจนเสียชีวิตกลับไม่ถูกกล่าวถึงแต่อย่างใด ทั้งที่เป็นข้อเท็จจริงสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าการชุมนุมดังกล่าวมิได้ปราศจากอาวุธ เช่นเดียวกับการชุมนุมของกลุ่ม นปช.
4.กรณีนายสมชายฯ และคณะเจ้าหน้าที่ใช้เพียงแก๊สน้ำตา มีความผิด กรณีของนายอภิสิทธิ์ฯ ซึ่งใช้อาวุธสงครามสารพัดชนิด กลับไม่มีความผิด
คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า ในประเด็นนี้ ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ของเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่ม นปช.มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ เหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ปรากฏข้อเท็จจริงว่าในคืนวันที่ 6 ต.ค.2551 เวลาประมาณ 23.00 น.ได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษที่ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว) นายสมชายฯ ร่วมกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มีคำสั่งให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ดำเนินการเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุมเพื่อแถลงนโยบายในวันที่ 7 ต.ค.2551 ให้ได้ โดยไม่ปรากฏแนวทางการปฏิบัติที่เป็นไปตามขั้นตอนและหลักการสากล มีการใช้แก๊สน้ำตาชนิดยิงและขว้างเพื่อผลักดันประชาชนกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ปิดทางเข้ารัฐสภา 3 ครั้ง ครั้งแรกเวลา 06.00 น. มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก บางคนขาขาด นิ้วขาด และน่องเป็นแผลฉกรรจ์ ครั้งที่สอง เวลาประมาณ 16.00-17.00 น. เมื่อนายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ครั้งสุดท้ายเวลาประมาณ 19.00 น. บริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลโดยใช้แก๊สน้ำตาอีกครั้งหนึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 1 ราย คือ นางสาวอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ นอกจากนี้ยังมีผู้บาดเจ็บสาหัสมือขาด ขาขาด เท้าขาด รวมทั้งสิ้น 471 ราย (สำหรับราย พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี ขณะเสียชีวิตยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเสียชีวิตจากระเบิดแสวงเครื่องที่เกิดระเบิดภายในรถของตนเองขณะเข้าร่วมชุมนุม) โดยสื่อมวลชนได้เสนอข่าวการสลายการชุมนุมด้วยการใช้แก๊สน้ำตาซึ่งมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บดังกล่าวตลอดทั้งวัน นายสมชายฯ ในฐานะนายกรัฐมนตรี กับพวก ก็ไม่ได้สั่งระงับหรือยับยั้งการปฏิบัติการดังกล่าว
ส่วนเหตุการณ์สลายการชุมนุมของ นปช. นายอภิสิทธิ์ฯ ในฐานะนายกรัฐมนตรี กับพวก ได้มีการสั่งการโดยมีแนวทางการปฏิบัติ และเน้นย้ำการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทุกระดับตามขั้นตอน กฎและหลักการสากลในการสลายการชุมนุม และปรากฏข้อเท็จจริงจากการไต่สวนและตามคำสั่งของศาลดังกล่าวข้างต้นว่าการชุมนุมของกลุ่ม นปช.มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และมีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม นปช.จึงมีเหตุจำเป็นที่ ศอฉ.ต้องใช้มาตรการขอคืนพื้นที่ เพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง โดยเจ้าหน้าที่ผู้รับคำสั่งจะต้องนำไปปฏิบัติโดยกำหนดวิธีการและหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติเป็นลำดับชั้นต่อไป จนถึงหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ ซึ่งมีผู้ควบคุมคือ ผู้บังคับกองพันในการปฏิบัติการจริงในพื้นที่นั้น การตัดสินใจในการใช้อาวุธจะเป็นอำนาจโดยสายการบังคับบัญชาในการสั่งการของผู้บัญชาการกองพลว่าจะให้ทหารผู้ปฏิบัตินำอาวุธปืนพร้อมกระสุนจริงติดตัวจำนวนกี่กระบอกต่อกองร้อย โดยบางกองพลก็จะให้นำอาวุธปืนและกระสุนเก็บไว้ในรถไม่ได้นำติดตัว แต่หากมีการนำอาวุธติดตัวไปปฏิบัติการผู้ที่มีอำนาจในการสั่งใช้อาวุธคือ ผู้บังคับกองพันในพื้นที่รับผิดชอบเหตุการณ์ดังกล่าว
ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ของเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่ม นปช.มีความแตกต่างกัน คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงพิจารณาวินิจฉัยคดีไปตามข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันดังกล่าว แม้ต่อมาอัยการสูงสุดจะไม่รับดำเนินคดี และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะพิพากษายกฟ้องนายสมชายฯ กับพวก ก็เป็นเรื่องการใช้ดุลยพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของแต่ละองค์กรซึ่งสามารถแตกต่างกันได้ตามหลักของการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ คำกล่าวอ้างในประเด็นนี้จึงมีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน และผู้ร้องไม่ได้กล่าวอ้างพยานหลักฐานใหม่อันเป็นสาระสำคัญแก่การไต่สวน สำหรับพยานหลักฐานที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ได้แก่ 1.วารสารเสนาธิปัตย์ 2.คำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลอาญา กรณีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 3.แผ่นบันทึกภาพและเสียง(CD) "รุมยิงนกในกรง" และ 4.แผ่นบันทึกภาพและเสียง (CD) "ยุทธการขอคืนพื้นที่เมษา 2553" คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า วารสารเสนาธิปัตย์ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างนั้นไม่ใช่พยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริง เป็นแต่เพียงบทความทางวิชาการทหารเท่านั้น สำหรับคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพ และแผ่นบันทึกภาพและเสียงเหตุการณ์การสลายการชุมนุมตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างก็เป็นข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในสำนวนการไต่สวนและคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้นำพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงดังกล่าวมาประกอบการวินิจฉัยด้วยแล้ว จึงไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่เช่นกัน กรณีจึงต้องห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยกขึ้นพิจารณาใหม่ ตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติไม่ยกสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับพวก กรณีร่วมกันสั่งการในเหตุการณ์สลายการชุมนุม นปช.เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ถึงวันที่ 19 พ.ค.2553 ขึ้นพิจารณาใหม่ เหตุหนังสือคำร้องทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวมีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานใหม่อันเป็นสาระสำคัญแก่การไต่สวน ต้องห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยกขึ้นพิจารณาใหม่ ตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ทั้งนี้ หากปรากฏพยานหลักฐานใหม่อันเป็นสาระสำคัญที่จะทำให้ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เปลี่ยนแปลงไป คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจหยิบยกสำนวนการไต่สวนดังกล่าว ขึ้นพิจารณาใหม่ได้ทุกเมื่อภายในอายุความ
สำหรับกรณี DSI ส่งสำนวนคดีอาญากรณีการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง, เด็กชายคุณากร ศรีสุวรรณ, นายชาติชาย ซาเหลา, นายสุวัน ศรีรักษา, นายอัฐชัย ชุมจันทร์, นางมงคล เข็มทอง, นายรพ สุขสิตย์, นางสาวกมนเกด อัคฮาด, นายอัครเดช ขันแก้ว และการบาดเจ็บสาหัสของนายณรงค์ศักดิ์ สิงห์แม, นายกิตติชัย แข็งขัน, นายบัวศรี ทุมมา, นายแอนดรู บันคอมพ์, นายเพิ่มสุข ใจเย็น, นายสมร ใหมทอง จากการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับกรณีกล่าวหานายอภิสิทธิ์ฯ กับพวก ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้วินิจฉัยและมีมติไว้แล้วว่า กรณีการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ทหาร และนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ใช้กำลังบังคับและใช้อาวุธปืน จนเป็นเหตุให้เกิดการบาดเจ็บ และเสียชีวิตของประชาชนในเหตุการณ์สลายการชุมนุมนั้น ให้ส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไปตามมาตรา 89/2 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
สำหรับเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งให้ DSI เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ตามนัยมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.ข้างต้นนั้น สำนักงาน ป.ป.ช.จะประสานและติดตามผลการดำเนินคดีของ DSI เพื่อความเป็นธรรมแก่ญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
นปช.เตรียมล่า 2 หมื่นชื่อ ไต่สวน ป.ป.ช.
22 มิ.ย. 2561 ด้าน มติชนออนไลน์ รายงานว่าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช.แถลงมติที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. ยื่นหลักฐานใหม่ ต่อ ป.ป.ช.เพื่อให้รื้อฟื้นคดีสลายการชุมนุม นปช. ปี 2553 ที่ป.ป.ช.เคยยกคำร้องข้อกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ.ไม่มีความผิดในการสั่งสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. โดยที่ประชุมมีมติยืนยันไม่รื้อฟื้นคดีสลาย กลุ่ม นปช.ขึ้นมาพิจารณาใหม่ โดยเห็นว่ามติเดิมที่ ป.ป.ช.วินิจฉัยไปมีความถูกต้องแล้ว เพราะการชุมนุมดังกล่าวไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลในขณะนั้น มีขั้นตอนการปฏิบัติตามหลักสากล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายณัฐวุฒิ ได้เข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าวดังกล่าวด้วย ในตอนท้ายได้สอบถามทั้งที่น้ำตาคลอ ถึงการเรียกร้องความเป็นธรรมที่มีผู้เสียชีวิต 99 ศพ เพราะเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและประกาศชัดว่ายอมรับมติ ป.ป.ช. ไม่ได้ และเตรียมรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ต่ำกว่า 20,000 คน ยื่นประธานสภาฯเพื่อพิจารณายื่นศาลฎีกาตั้งไต่สวนกรรมการป.ป.ช.ต่อไป พร้อมขู่ด้วยว่าในอนาคตต้องเจอกันแน่
แสดงความคิดเห็น