Posted: 21 Jun 2018 12:55 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

สหภาพแรงงาน กฟภ. ค้าน 'บริษัท RPS' สุดตัว ด้านผู้คร่ำหวอดวงการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจชี้รัฐฟื้น “การแปรรูป” หากสำเร็จผู้ใช้ไฟกว่า 500,000 คน ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ต้องถูกโอนไปอยู่กับบริษัทฯ นี้ มีสิทธิ์ใช้ทรัพย์สินทั้งหมดของ กฟภ. แม้ท้ายสุดอาจจะหนีรูปแบบบริษัทไม่ได้ แต่เสนอให้การไฟฟ้าในเขตนั้นๆ ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 50%


สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่าได้มีการส่งต่อหนังสือสั่งการและข้อความต่างๆ ในไลน์กลุ่มของเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จ.ยะลา จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส) โดยหนังสือดังกล่าวลงนามโดยนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หนังสือเลขที่ กฟผ.910000/45142 ลงวันที่ 8 พ.ค. 2561 เรื่อง ขอหารือเรื่องการบริหารจัดการกิจการด้านพลังงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถึงผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยมีเนื้อหาว่า

สืบเนื่องจากการประชุมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2561 นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำเสนอรายงานสถานการณ์ความมั่นคงทางพลังงาน และการบริหารจัดการกิจการด้านพลังงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อที่ประชุม ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมมีมติรับทราบการนำเสนอรายงานสถานการณ์ความมั่นคงทางพลังงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และข้อเสนอแนวทางการบริหารจัดการใหม่และเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกระทรวงพลังงานสนับสนุนผ่านกองทุนอนุรักษ์พลังงาน และนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ดำเนินการให้เร็ว เกิดผลเป็นรูปธรรมภายในระยะเวลาการบริหารงานของรัฐบาลนี้ให้ได้โดยมีรายละเอียดปรากฏตามที่ส่งมาด้วย ในการนี้เพื่อสนองนโยบายรัฐบาล และเกิดการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม กฟผ. จึงใคร่ขอเรียนหารือในเรื่องดังกล่าวอย่างเร่งด่วน โดยจะมอบหมายให้ รองผู้ว่าการนโยบายและแผน (คุณพัฒนา แสงศรีวิโรจน์) เป็นผู้ประสานในรายละเอียดและกำหนดการนัดหมายจะขอบคุณยิ่ง

ซึ่งภายหลังได้มีการส่งต่อหนังสือฉบับดังกล่าวไปอย่างกว้างขวาง สร้างความไม่สบายใจให้กับเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีแนวโน้มว่าจะถูกแปรรูปเป็นบริษัทในอนาคตอันใกล้นี้ และได้มีการส่งต่อข้อความของสหภาพแรงงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคภาคใต้ เขต 3 (สร.กฟภ.ต.3)

สหภาพแรงงาน กฟภ. ค้านสุดตัว


ทั้งนี้ในเรื่องดังกล่าวทางสหภาพแรงงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่เตรียมออกมาคัดค้านแล้ว โดยเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2561 มติชนออนไลน์ รายงานว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ส่งหนังสือชี้แจ้งข้อเท็จจริงแนวทางการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้โดยระบุว่า

ตามที่มีการนำเสนอข่าวแนวทางการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) สร้างความไม่สบายใจให้เจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่ดังกล่าวด้วยเข้าใจว่าจะถูกแปรรูปเป็นบริษัทในอนาคตนั้นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ขอเรียนชี้แจงว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคยินดีสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนในการผลิตกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) และพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีความมั่นคงและทันสมัย (Smart Grid) เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าและรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ สำหรับการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ดังกล่าวการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีโครงสร้างพื้นฐานระบบไฟฟ้าและระบบการให้บริการที่ได้มาตรฐานอยู่แล้ว

ต่อมาในวันที่ 4 มิ.ย. 2561 Nation TV รายงานว่าที่สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จ.ยะลา บรรดาผู้บริหาร พนักงาน และเจ้าหน้าที่จำนวน 150 คน ได้แต่งกายชุดสีดำถือป้ายคัดค้านนโยบายการแปรรูป การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็น “บริษัท RPS” (Regional Power System Company) โดยมีนายสมชาย อักษรภักดิ์ ประธานสหภาพแรงงาน กฟภ.ภาคใต้ เขต 3 อ่านแถลงการณ์คัดค้าน โดยมีข้อความว่า

ตามที่มีกระแสข่าวเรื่องการจัดตั้งบริษัท RPS หรือ Regional Power System Company เพื่อบริหารจัดการด้านพลังงานไฟฟ้า โดยอ้างความต้องการพลังงานไฟฟ้าและความมั่นคงต่อระบบจำหน่ายกระแสไฟฟ้า โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยถือหุ้นในอัตรา 24.5% และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคถือหุ้นในอัตรา 24% และกลุ่มทุนในนามของวิสาหกิจชุมชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถือหุ้นในอัตรา 51% นั้น

เราชาวพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคขอแสดงเจตนารมณ์คัดค้านการกระทำดังกล่าว เนื่องจากเป็นการกระทำการโดยเร่งรีบรวบรัด ไม่โปร่งใส ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ หรือให้โอกาสให้พนักงานหรือส่วนเกี่ยวข้องของการไฟฟ้า ส่วนภูมิภาครวมทั้งภาคประชาชนได้มีโอกาสได้ชี้แจง แสดงเหตุผล หรือรับทราบปัญหา ข้อดีข้อเสีย ของโครงการดังกล่าวแต่อย่างไร

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ปัจจุบันสังกัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งหน้าที่ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชนให้แก่ประกอบกิจการตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ.2503 โดยมิได้แสวงหาผลกำไรหรือประโยชน์แต่เพียงอย่างเดียว แต่ยัง วัตถุประสงค์ที่จะต้องบริการประชาชน ในด้านสาธารณูปโภค อำนวยความสะดวกให้ประชาชน มีกระแสไฟฟ้าในการดำรงชีวิตในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การบริหารจัดการด้านพลังงานไฟฟ้าเป็นอีกพื้นที่ หนึ่งที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไม่ได้มีผลกำไรจากการประกอบกิจการ แต่ยังคงเต็มใจที่ดำเนิน กิจการต่อไป

เนื่องจากพลังงานไฟฟ้าสาธารณูปโภคหลัก ที่ต้องบริการให้ ความสะดวกแก่ ประชาชนผู้ใช้ไฟอย่างทั่วถึงและถึงแม้ไม่มีกำไรในพื้นที่นี้ แต่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก็ยังคง บริหารจัดการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟในพื้นที่ได้ตามปกติ หากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกกำหนดให้อยู่ในรูปแบบของบริษัท ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องคำนึงถึงผลกำไรเป็นหลัก เมื่อไม่มีผลกำไร การขึ้นค่ากระแสไฟย่อมเกิดขึ้นได้ ประชาชนได้รับความเดือดร้อน รัฐบาลอาจให้ การอุดหนุนในช่วงต้นของการดำเนินการ แต่ภายหน้าเมื่อต้องการผลกำไร การขึ้นค่ากระแสไฟฟ้าย่อมเกิดขึ้น ความเดือดร้อน จึงไปตกอยู่กับประชาชน

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ต้องสูญเสียหรือเสียหายอย่างไรบ้างกับการกระทำครั้งนี้ คือผู้ใช้ไฟฟ้าจำนวนประมาณ 500,000 ราย ต้องโอนให้กับบริษัท RPS บริษัท RPS ชุบมือเปิบจากรายได้ ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ได้ รับผู้ใช้ไฟ และนำรายได้ไปบริหารจัดการอย่างไร จะส่งต่อให้รัฐหรือนำไปบริหารกิจการสร้างกำไรให้ตนเอง ซึ่งเรายังไม่รู้ว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ 51% ของบริษัท RPS เป็นใคร และทำผลประโยชน์เพื่อชุมชนจริงหรือไม่ หรือจะทำกำไรเข้ากระเป๋าตนเองและหากบริหารขาดทุนจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ระบบจำหน่าย สายส่ง สถานีไฟฟ้า อาคารสำนักงาน และทรัพย์สินทุกอย่าง จะต้องให้บริษัท RPS ใช้ประโยชน์ ซึ่งเบื้องต้นทราบเพียงว่าจะจ่ายผลตอบแทนเป็นค่าเช่าในการดำเนินการให้ แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคซึ่งไม่รู้ว่าจะดำเนินการไปได้แค่ไหน คุ้มทุนที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ลงทุนไปอย่างไร

ประชาชนได้อะไรหรือสูญเสียหรือเสียหายอย่างไร คือ ผลกระทบค่าไฟฟ้าที่อาจต้องขึ้นค่ากระแสไฟฟ้า หากการบริหารจัดการของหาบริษัท RPS ไม่มีผลกำไร แต่หากยังคงเป็นการบริหารจัดการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ถึงอย่างไรก็ยังคงต้องบริการประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างเต็มที่ต่อไป หากมีการจัดตั้งบริษัท จะมีการจัดตั้งโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ที่คาดล่วงหน้าได้ว่าวัตถุดิบหลักในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ไม้ ยางพารา ซึ่งไม่นานคงจะต้องหมดไป ดังนั้นวัตถุดิบที่จะนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าอาจเป็นอื่นที่มีอันตรายต่อสุขภาพ ประชาชน มลภาวะ มลพิษที่จะเกิดต่อชุมชนติดตามมา

พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เกิดผลกระทบอย่างไร คือพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัยจากเหตุการณ์ความไม่สงบอยู่แล้ว ต้องการขวัญกำลังใจ ความมั่นคงในการปฏิบัติงานจะถูกควบคุม ลิดรอนสิทธิสวัสดิการใดๆ หรือไม่ ณ ปัจจุบันนี้ ยังมีคำตอบจากผู้บริหารหรือจากผู้คิดโครงการนี้ขึ้นมา พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจึงขอคัดค้านโครงการอัปยศ ที่จะสร้างความเดือดร้อน วุ่นวาย ให้กับประชาชนและพนักงาการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างสุดความสามารถและจะคัดค้านการจัดตั้งบริษัท RPS อย่างเป็นรูปธรรมและทุกภาคส่วนต่อไป

นายสมชาย อักษรภักดิ์ ประธานสหภาพแรงงาน กฟภ.ภาคใต้ เขต 3 ยังระบุกับ Nation TV ไว้ว่าวัตถุประสงค์ของกิจกรรมในครั้งนี้เพื่อต้องการให้รัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นของประชาชน อยู่ต่อกับประชาชนต่อไปหลังจากมีข่าวจะแปรรูปเป็นบริษัท ในส่วนของพนักงานเองก็มีความรู้สึก เพราะรัฐวิสาหกิจนั้นจะมีนายจ้างคือรัฐบาล และประชาชนคือเจ้าของทรัพย์สินทั้งหมด พวกเราในนามของพนักงานได้ถูกคัดเลือกโดยประชาชนมาบริหาร ดำเนินการทั้งหมด

เพราะฉะนั้นทุกวันนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ก็เป็นของประชาชนอยู่แล้ว ไม่จำเป็นที่จะโอนไปในรูปของบริษัท ที่ผ่านมาเราจะเห็นการแปรรูปเป็นบริษัทน้ำมัน ซึ่งทุกวันนี้เมื่อไปอยู่ในรูปของบริษัทเอกชน อำนาจการต่อรองก็ยาก ต้องรอรับผลกรรมอย่างเดียว ไฟฟ้าก็เช่นกันต้องอยู่ต่อกับประชาชน เพราะเราไม่ได้แสวงหาผลประโยชน์กับประชาชน แต่ถ้าเมื่อไหร่ถ้าการไฟฟ้าไปอยู่ในมือของเอกชน ก็ต้องแบกรับภาระกำไรขาดทุน หากมีต้นทุนสูงขึ้นก็จะต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้นแน่นอน ซึ่งยังไม่ทราบแน่นอนว่าบริษัท RPS ที่จะตั้งขึ้นมาจะรับผิดชอบหรือเปล่า ในฐานะสหภาพแรงงาน และผู้บริหารทั้งหมดเป็นห่วง เพราะจะให้ไฟฟ้า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปลายด้ามขวานไปอยู่เป็นบริษัท แต่ในอีก 70 กว่าจังหวัดยังอยู่กับการไฟฟ้า จึงเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้

"ผลเสียที่เราจะพบแน่หากมีการแปรรูปเป็นบริษัทคือ ปัจจุบันผลการประกอบการในพื้นที่ขาดทุน ไฟฟ้าจะต้องแบกรับภาระ เอาผลเฉลี่ยจากที่อื่นที่มีกำไรมาช่วย 3 จังหวัดใต้ การขยายเขตไฟฟ้าในพื้นที่ไกลๆ ค่าตัดต้นไม้ก็ไม่คุ้มกับค่าไฟที่ได้รับ หากวันไหนแปรรูปเป็นบริษัท เชื่อได้เลยว่าการลงทุนแบบนี้ไม่มีอย่างแน่นอน เพราะบริษัทต้องลดต้นทุน และต้องขึ้นค่าไฟแน่นอน ส่วนกำไรที่ได้จะนำเข้ารัฐอย่างไร แต่อย่างไรก็ตามตนเองได้รับทราบว่า ท่านนายกรัฐมนตรีรับทราบเรื่องนี้แล้ว และได้สั่งให้ชะลอ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี หลังจากวันนี้ไปการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานนั้น ทางสหภาพแรงงาน ก็จะขอดูทิศทางของรัฐบาล จะออกไปในทิศทางใดอีกครั้ง" นายสมชาย กล่าว
สหภาพแรงงาน กฟผ. รอดูท่าที

และเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา MGR Online รายงานว่านายสมชาย อักษรภักดิ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (สร.กฟภ.) ภาคใต้ เขต 3 กล่าวว่าทาง สร.กฟภ.ภาคใต้ จะติดตามการหารือและแนวทางจากรัฐโดยเฉพาะประเด็นการโอนย้ายชื่อผู้ใช้ไฟในพื้นที่ทั้งหมด 500,000 ราย ที่ปัจจุบันเป็นลูกค้า กฟภ.ไปสังกัดบริษัท RPS หากดำเนินการจริงจะมีการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่เพื่อคัดค้านนโยบายดังกล่าวแน่นอนเพราะผู้ใช้ไฟเหล่านี้จะมีความเสี่ยงในอนาคต

"เรายังคัดค้านประเด็นนี้โดยพนักงานในพื้นที่จะแต่งชุดดำจนถึงสิ้นเดือนนี้และเตรียมแผนคู่ขนานไว้แล้วด้วยการล่ารายชื่อคนร่วมค้านใน 6 จังหวัดภาคใต้เพื่อเตรียมไว้ระหว่างรอความชัดเจนจากนโยบายรัฐบาลหากยังเดินหน้าต่อเราจะเคลื่อนไหวใหญ่ ซึ่งปัญหาของพนักงาน กฟภ. 3 จังหวัดใต้ที่มีประมาณกว่า 7 หมื่นคนเราเองมองว่าไม่ใช่ปัญหาแต่เราห่วงว่าผู้ใช้ไฟจะเสี่ยงมากกว่า" นายสมชายกล่าว

ส่วนนายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) กล่าวว่าทางฝ่ายบริหารได้ชี้แจงเบื้องต้นกับ สร.กฟผ. ถึงนโยบายการจัดตั้งบริษัท RPS มาจากนโยบายรัฐบาลเพื่อสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าแต่รายละเอียดและขั้นตอนต่างๆ ที่ชัดเจนนั้นยังต้องรอดูการดำเนินงานซึ่งทาง สร.กฟผ.เองก็ติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเช่นกัน
ผู้คร่ำหวอดในวงการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าระบุรัฐบาลรื้อฟื้นการแปรรูปกิจการด้านไฟฟ้าขึ้นมาอีกครั้ง

ด้านไพบูลย์ แก้วเพทาย แห่งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวง ได้ระบุไว้ในข่าวลูกจ้างสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ประจำเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2561 ว่ารัฐบาลที่ผ่านมาทุกยุคทุกสมัย ไม่เคยหยุดนิ่งต่อแผนและนโยบาย “การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ" โดยเฉพาะกิจการด้านไฟฟ้าเพียงจะนำเสนอออกมาในรูปแบบใด เพื่อหลีกเลี่ยงการต่อต้านคัดค้าน โดยนับตั้งแต่ปี 2546 ที่มีการจัดตั้งบริษัทขึ้นเพื่อผลิตกระแสไฟป้อนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ชื่อ บริษัทผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จํากัด (District Cooling System and Power Plant Co.,Ltd. หรือ DCAP) โดยเป็นการร่วมทุนระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) โดยมีสัดส่วน 35:35:30 ซึ่งบริษัทนี้ทำหน้าที่ในการผลิตไฟฟ้าและจำหน่ายไฟฟ้า รวมถึงจำหน่ายน้ำเป็นสำหรับระบบปรับ อากาศให้แก่อาคารต่างๆ ในบริเวณการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ต่อมารัฐบาลพยายามแปรรูปด้วยวิธีการแบ่งพื้นที่เขตจำหน่ายไฟฟ้าออกเป็นหลายๆ บริษัท ทั้งนี้การไฟฟ้านครหลวงจะแปรรูปจากการไฟฟ้านครหลวงเขตเป็นบริษัทจำหน่ายไฟฟ้า เซตละหนึ่งบริษัท ส่วนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ก็จะแปรรูปการไฟฟ้าระดับจังหวัดเป็นบริษัทจำหน่ายไฟฟ้า จังหวัดละหนึ่งบริษัท ทั้ง กฟน. และ กฟภ. ก็จะเหลือเพียงการบริหารเสาสาย หรือ ระบบสายส่งและสายจำหน่าย แต่ถูกต่อต้านคัดค้านอย่างหนักโครงการนี้จึงถูกยกเลิกไป

แผนและนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้านกิจการไฟฟ้าถูกพับเก็บไประยะหนึ่ง แต่แนวคิดแปรรูปไม่เคยเปลี่ยน ขณะนี้รัฐบาลได้พยายามรื้อฟื้นการแปรรูปหรือแปรสภาพกิจการด้านไฟฟ้าขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการแอบอ้างว่าปฏิรูปพลังงานให้สอดคล้องกับการปฏิรูปประเทศ แผนงานและกิจกรรมที่รัฐบาลพยายามดำเนินการอยู่ในขณะนี้ มีดังนี้ ข้อ 1. การรวบกิจการด้านไฟฟ้าเข้ามาอยู่ในกระทรวงเดียวกัน ด้วยการให้ กฟน.และ กฟภ. มารวมอยู่ในกระทรวงพลังงาน เช่นเดียวกับ กฟผ. ปตท. และอื่นๆ เพื่อรวมกิจการที่มีภารกิจเดียวกันมาอยู่ในที่เดียวกัน โดยอ้างเหตุว่าอยู่หลายหน่วยงานทำให้ล่าช้า ไม่บูรณาการด้านข้อมูลการผลิตและการรับซื้อไฟฟ้าจากรายเล็ก การรวมกันทําให้มีการประสานกรณีปัญหาไฟฟ้ากับหรือเหตุฉุกเฉินและไม่ซ้ำซ้อนในการลงทุน รวมทั้งอ้างเหตุผลว่า ทุกวันนี้ก็อยู่ภายใต้การกำกับ(regulator) ในเรื่องอัตราค่าบริการและมาตรฐานการบริการอยู่แล้ว การรวบเอา 3 การไฟฟ้ามาอยู่ภายใต้การกำกับเดียวกันในกระทรวงพลังงานนั้น ถือเป็นแผนเบื้องต้นเพื่อการแปรรูปกิจการด้านไฟฟ้าอย่างเป็นระบบและเป็นขั้นตอน เหตุผลต่างๆ เป็นเพียงข้ออ้าง เพราะกระบวนการผลิตไฟฟ้ากับการจำหน่าย (ขายไฟฟ้า) ก็เป็นคนละลักษณะงานอยู่แล้ว แต่ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับระบบการผลิตก็คือ ด้านเทคนิคของระบบส่ง (สายส่ง) และระบบจำหน่าย (สายจำหน่าย) เท่านั้น

ดังนั้นจึงไม่จำเป็นใดๆ ที่ต้องรวบมาอยู่ด้วยกัน เพราะที่ผ่านมากิจการจำหน่ายไฟฟ้าของ กฟน. และ กฟภ. ก็บริหารได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว กิจการจำหน่ายไฟฟ้าเป็นกิจการซึ่งเกี่ยวข้องกับการบริการประชาชน เป็น ภารกิจในการบ้าบัดทุกข์บำรุงสุข การสังกัดอยู่กับกระทรวงมหาดไทยจึงสามารถบูรณาการในเชิงพื้นที่และการอำนวยความสะดวกกรณีฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าอยู่กับกระทรวงพลังงานอย่างแน่นอน เพราะภารกิจหลักของกระทรวงพลังงานนั้นไม่มีหน้าที่หลักด้าน “การบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน" ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการที่นั่งอยู่บนหอคอยงาช้าง ไม่มีจิตวิญญาณด้านบริการประชาชน จึงมักไม่ใส่ใจดูแลทุกข์สุขของประชาชน อย่างเช่น ราคาน้ำมันแพงก็ไม่ใส่ใจ เป็นต้น เรียกว่าไม่เคยเห็นหัวประชาชน
อาจจะหนีรูปแบบบริษัทไม่ได้ เสนอให้การไฟฟ้าในเขตนั้นๆ ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 50%

ข้อ 2. แผนการก่อตั้งบริษัท RPS นี่คือ “แผน” เบื้องต้นที่สอดคล้องกับการปฏิรูปกิจการพลังงานโดยรวมกิจการ ไฟฟ้าให้มารวมอยู่ในกระทรวงพลังงาน บริษัท RPS (Regional Power System Company) จึงถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อ บริหารจัดการด้านพลังงานไฟฟ้าในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จ.ยะลา จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส โดยการร่วมทุน 3 ฝ่าย คือ กฟผ., กฟภ. และกระทรวงพลังงาน ตามแนวทางประชารัฐซึ่งเป็นแผน PDP ฉบับใหม่ที่ จัดทําโดย กฟผ. และกระทรวงพลังงาน ผลจากแผนดังกล่าวทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าจำนวน 500,000 คน ของ กฟภ.ต้องถูกโอนไปอยู่กับบริษัททันที และมีสิทธิ์ใช้ทรัพย์สินทั้งหมดของ กฟภ.โดยจ่ายค่าบริการ ส่วนพนักงาน กฟภ.ยังไม่มีแผนชัดเจนในการบริหารจัดการบุคลากรซึ่งอาจต้องถูกโอนย้ายไปอยู่บริษัท เรื่องนี้สมาชิกสหภาพแรงงาน กฟภ.ร่วมกับผู้บริหารทุกเขตพื้นที่ร่วมเคลื่อนไหวคัดค้านและขอให้ชะลอแผนการดังกล่าวไว้ก่อนจนกว่าจะเกิดความชัดเจน

และข้อ 3. แผนก่อตั้งบริษัทผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในโครงการศูนย์คมนาคมพหลโยธิน (สถานีกลางบางซื่อ) โดยขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการโครงการศูนย์คมนาคมแห่งใหม่ ซึ่งจะกลายเป็นศูนย์กลางคมนาคมระบบรางของอาเซียนในอนาคต การจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของโครงการนี้จะมีการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ เหมือนสนามบินสุวรรณภูมิและพื้นที่สาม จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามแนวทางประชารัฐซึ่งเป็นแผน PDP ฉบับใหม่ที่จัดทำโดย กฟผ. และกระทรวงพลังงาน จากแผนงานและนโยบายของรัฐบาล กระทรวงพลังงานพยายามอย่างยิ่งที่จะแปรรูปและแปรสภาพกิจการไฟฟ้า โดยการวางแผนปฏิรูปพลังงาน และก่อตั้งบริษัทผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าขึ้นมา ด้วยการแตกย่อยพื้นที่ที่ละจุด เพื่อลดบทบาทและลดขนาดของกิจการ (Downsizings) กฟน.และ กฟภ ลง ซึ่งตามแผนการปฏิรูประบุไว้ชัดเจนว่า “ปัจจุบันนโยบายภาครัฐในหลายประเทศ มุ่งที่จะเพิ่มบทบาทของภาคเอกชน และส่งเสริมให้มีการแข่งขัน กันมากยิ่งขึ้นในระบบไฟฟ้า โดยในขั้นแรกกำหนดให้มีการเพิ่มบทบาทเอกชนในการผลิตไฟฟ้า เพื่อลดภาระการลงทุนของรัฐ และเพิ่มการแข่งขัน และต่อไปในระยะยาว กำหนดให้การไฟฟ้าให้สิทธิ์บุคคลอื่น (Third Party Access) ผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าอิสระหรือผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไปเข้ามาใช้ประโยชน์จากระบบส่งและระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ได้”

ไพบูลย์ยังระบุไว้ว่าเราคงต้องยอมรับว่าโลกเปลี่ยนแปลงทุกวันด้วยผลกระทบจากเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงโลก หรือ Disruptive Technologies รวมถึงนวัตกรรม (Innovation) ในรูปแบบใหม่ๆ กิจการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งก็คงต้องเปลี่ยน แปลงไปด้วย มิเช่นนั้นก็คงถูกโลกที่เปลี่ยนแปลงนั้นมาท้าลายเราในอนาคตเหมือนกับหลายธุรกิจขณะนี้ แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นเราต้องเป็นคนกำหนดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและไม่ก่อให้เป็นผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิทธิผลประโยชน์ของ องค์กรและพนักงานรวมถึงคำนึงถึงผลประโยชน์ของสังคมโดยส่วนรวม การก่อตั้งบริษัทเพื่อผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าขึ้นในพื้นที่เขตจำหน่ายของ กฟน. และ กฟภ. ก็คือการแปรรูปกิจการแบบหนึ่ง โดยค่อยๆ ตัดตอนพื้นที่เขตจำหน่ายออกไปเรื่อยๆ เป็นการลดขนาดลดบทบาทต่อไปก็ จะมีบริษัทเกิดขึ้นนับสิบนับร้อยแห่งเหมือนแผนนโยบายในอดีต จนสุดท้ายกิจการก็จะเหลือเพียง "การบริหารจัดการระบบ สายส่งและระบบสายจำหน่ายของการไฟฟ้าทั้งสองแห่ง" ที่มีรายได้จากค่าบริการสายส่ง (Wheeling Charge)

ไพบูลย์สรุปว่าเพื่อให้สอดคล้องกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป เราอาจต้องยอมรับรูปแบบการก่อตั้งบริษัท ซึ่งเป็นการดำเนินการทั้งการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ดังนั้นถ้าบริษัทอยู่ในพื้นที่เขตจำหน่ายของการไฟฟ้าใด ก็ให้การไฟฟ้านั้น ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 50% และมีกิจการไฟฟ้าอีกสองแห่งเข้าร่วมทุน แต่ต้องดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป มิใช่ดำเนินการแบบยกทั้งสามจังหวัด ซึ่งมีผลกระทบค่อนข้างรุนแรงต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ส่วนการรวมกิจการสามไฟฟ้าไปไว้ในกระทรวงพลังงานทั้งหมดเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น และทางสหภาพแรงงานทั้งสามแห่งจะต้องทำการคัดค้านอย่างถึงที่สุดเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการบริการประชาชนและสังคมโดยส่วนรวม

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.