ที่มาภาพ  https://www.bbc.com/news/44537372

Posted: 20 Jun 2018 09:00 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

ผู้แทนสหรัฐฯ จากรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าจะถอนตัวออกจากสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยอ้างว่าคณะมนตรีฯ มีอคติต่อประเทศอิสราเอลในประเด็นการวางมาตรการด้านสิทธิมนุษยชน ขณะที่ประเทศพันธมิตรประเทศอื่นๆ ระบุว่าสหรัฐฯ ควรจะอยู่ต่อเพื่อแก้ปัญหาแทนที่จะถอนตัวออกไป

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2561 นิกกี เฮลีย์ ทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ประกาศจะออกจากการเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยอ้างว่าเป็น "แหล่งเสื่อมโทรมของอคติทางการเมือง" เฮลีย์ยังวิจารณ์อีกว่าคณะมนตรีฯ เป็นองค์การที่ "มือถือสากปากถือศีล" และเป็นเสมือน "สิ่งเย้ยหยันของสิทธิมนุษยชน"

ทั้งเฮลีย์และไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ต่างก็กล่าวหาว่าคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นเป็นคนที่คอยปกป้องพวกละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งบีบีซีระบุว่าเป็นข้อกล่าวหาที่องค์การนี้เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก่อนหน้านี้ แต่ในคราวนี้เฮลีย์แสดงความไม่พอใจโดยพูดถึงกรณีการดำเนินการของยูเอ็นในเรื่องความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ เธอกล่าวหาว่ายูเอ็น "มือถือสากปากถือศีล" ในเรื่องที่ "มีความเป็นปฏิปักษ์ต่ออิสราเอลไม่มีที่สิ้นสุด"

อย่างไรก็ตามนักกิจกรรมบอกว่าการออกจากสมาชิกภาพคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหรัฐฯ อาจจะส่งผลต่อเรื่องการตรวจสอบและการชี้ให้เห็นปัญหาของการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลก

เลขาธิการยูเอ็น อันโตนิโอ กูเตอร์เรส โต้ตอบการตัดสินใจออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหรัฐฯ ว่าพวกเขาจะยินดีมากกว่าถ้าสหรัฐฯ ยังคงเป็นสมาชิกต่อไป ทางด้านเซอิด ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งยูเอ็นกล่าวว่าการที่สหรัฐฯ ออกจากการเป็นสมาชิกภาพถือเป็นเรื่องน่าผิดหวัง แต่ทางการอิสราเอลกลับกล่าวชื่นชมการตัดสินใจนี้ของสหรัฐฯ

สื่อบีบีซีตั้งข้อสังเกตว่าสหรัฐฯ เคยปฏิเสธจะเป็นสมาขิกคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนมาก่อนในช่วงที่มีการก่อตั้งปี 2549 แต่ต่อมาถึงเข้าเป็นสมาชิกในสมัยบารัก โอบามา เป็นประธานาธิบดีในปี 2552 ถึงแม้ว่าจะเคยมีการวิจารณ์เรื่องที่ให้ประเทศอย่าง จีน, รัสเซีย, ซาอุดิอาระเบีย, แอลจีเรีย และเวียดนาม เข้าร่วมเป็นสมาชิก ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่อิสราเอลประกาศไม่ยอมรับการรายงานของคณะมนตรีฯ ที่ตำหนิอิสราเอล

ประเด็นการถอนตัวในคราวนี้ก็ดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับอิสราเลออีกครั้ง เมื่อเฮลีย์ กล่าวว่ามันเป็นเรื่องยอมรับได้ยากที่มีการออกมติโต้ตอบกรณีอิสราเอลแต่ไม่มีการออกมติใดๆ กับเวเนซุเอลาที่มีผู้ประท้วงเสียชีวิตไปหลายคนในช่วงที่เกิดความปั่นป่วนทางการเมืองเช่นกัน

นาดา ทอว์ฟิก นักข่าวบีบีซีวิเคราะห์ว่าการถอนตัวของสหรัฐฯ ในครั้งนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่ต้องการให้สหรัฐฯ เป็นผู้ปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ทอว์ฟิกตั้งข้อสังเกตว่าในสมัยรัฐบาลบุชสหรัฐฯ ก็เคยมีความขัดแย้งกับยูเอ็นเช่นกัน และทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็นในสมัยนั้นก็คือจอห์น โบลตัน คนเดียวกับที่กำลังเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงให้กับรัฐบาลทรัมป์

แต่ก็มีชาติพันธมิตรหลายชาติที่พยายามโน้มน้าวให้สหรัฐฯ ยังคงอยู่เป็นสมาชิกต่อไปแม้แต่กลุ่มที่เห็นด้วยกับข้อวิจารณ์ของสหรัฐฯแต่ก็แนะนำให้สหรัฐฯ ควรทำงานเพื่อปฏิรูปจากภายใน แทนที่จะถอนตัว


เรียบเรียงจาก
US quits 'biased' UN human rights council, BBC, 20-06-2018
https://www.bbc.com/news/44537372

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.