Posted: 22 Jun 2018 08:51 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

สุรพศ ทวีศักดิ์

ในความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่ดำเนินไปกว่าสิบปีและยังดำเนินต่อไป มีการอ้างธรรม ศีลธรรม ความดี คนดีตามกรอบคิดพุทธไทยให้ความชอบธรรมกับการละเมิดหลักการสาธารณะ หรือสนับสนุนการแก้ปัญหาการเมืองด้วยวิถีทางที่ไม่เป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตยอย่างเข้มข้นที่สุด

ข้อแก้ต่างที่ว่า นั่นเป็นความผิดของ “คน” ไม่ใช่ความผิดของ “ศาสนา” เป็นข้อแก้ต่างแบบกำปั้นทุบดินและผิวเผินมากเกินไป เพราะบรรดาชาวพุทธที่อ้างธรรม ศีลธรรม ความดี คนดี เพื่อเป็น “ข้อยกเว้น” ที่จะไม่ยึดถือปฏิบัติตามหลักการและกระบวนการประชาธิปไตย ไม่ใช่ชาวพุทธบ้านๆ หากแต่เป็นพระสงฆ์และฆราวาสระดับปราชญ์ ราษฎรอาวุโส นักวิชาการ ผู้รู้ทางพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียง บางคนเป็นแกนนำมวลชน เป็นสื่อมวลชน กระทั่งเป็นบุคคลที่เข้าไปทำงานให้รัฐบาลจากรัฐประหาร อย่างวิษณุ เครืองาม, บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นต้น

ดังนั้น ปรากฏการณ์ที่บรรดาผู้รู้ทางพุทธศาสนาทั้งพระและฆราวาสอ้างธรรม ศีลธรรม ความดี คนดี ตามกรอบคิดพุทธศาสนาในทางเป็นข้อยกเว้นที่จะไม่ปฏิบัติตามหลักการสาธารณะ หรืออ้างในทางยอมรับและสนับสนุนความชอบธรรมของรัฐประหาร จึงไม่น่าจะเป็นปัญหาของ “คน” เท่านั้น รากฐานสำคัญของปัญหาน่าจะเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังที่มีอิทธิพลในการกำหนดวิธีคิดและบทบาทของคนเหล่านั้นมากกว่า

ตามความเห็นผม (เท่าที่คิดได้เวลานี้) อิทธิพลเบื้องหลังปรากฏการณ์ดังกล่าวคือ “กรอบคิดศีลธรรมแบบพุทธ + ระบบอำนาจนิยมชนชั้นนำไทย” ซึ่งสองสิ่งนี้เป็นมิตรสหายอุปถัมภ์ค้ำจุนกันมายาวนานมาก

กรอบคิดศีลธรรมแบบพุทธถือว่า “ความดีอยู่ที่ตัวบุคคล” เชื่อว่าการกระทำที่ถูกต้องคือการกระทำที่ออกมาจากคนที่เป็นคนดี, คนมีคุณธรรม หรือเชื่อว่าคนดี คนมีคุณธรรมคือคนที่มีวิจารณญาณในการตัดสินอย่างถูกต้องว่าในสถานการณ์แบบไหนควรจะทำอะไร ดังนั้นคนดีในความหมายนี้จึงไม่จำเป็นต้องมีพันธะในการปฏิบัติตามหลักการสาธารณะ หากในบางสถานการณ์เขาเห็นว่าควรใช้ศีลธรรมแบบพุทธ เช่นใช้เจตนาดี (เป็นต้น) ที่บอกกับตนเองและคนอื่นว่ามุ่งทำเพื่อส่วนรวม เพื่อชาติ เขาก็สามารถละเมิดหลักการสาธารณะหรือล้มระบบประชาธิปไตยได้ และเป็นความจริงว่าในสังคมที่คนส่วนใหญ่นับถือพุทธอย่างบ้านเราเวลานี้ มีคนจำนวนมากที่ยอมรับและสนับสนุนรัฐประหารทั้งโดยตรงและโดยอ้อมใช้กรอบคิดศีลธรรมพุทธแบบนี้เป็นกรอบอ้างอิงรองรับความชอบธรรมให้กับการตัดสินใจของตนเอง

กรอบคิด “ความดีอยู่ที่ตัวคน” หรือ “ความถูกต้องมาจากคนดี” ดังกล่าวนี้มีที่มาจากพระไตรปิฎกและอรรถกถา เนื้อหาของธรรม ศีลธรรมในคัมภีร์นั้นมีมาก แต่หลักใหญ่ใจความคือธรรม ศีลธรรมเป็นเรื่องการปฏิบัติของบุคคล เมื่อเขาปฏิบัติตามคำสอนนั้นเขาย่อมเป็นคนดี และคนดีย่อมทำสิ่งที่ถูกต้อง และถ้าเขาปฏิบัติจนหลุดพ้นจากกิเลส เขาก็จะทำแต่สิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น ไม่ทำผิดศีลธรรมใดๆ อีกเลย

กรอบคิดศีลธรรมแบบพุทธดังกล่าวนี้อยู่คู่กับ “ระบบอำนาจนิยมชนชั้นนำไทย” มายาวนาน ระบบอำนาจนิยมนี้ถือว่าชนชั้นบนคือผู้มีอำนาจกำหนดว่าอะไรถูก ผิดในทางสังคมและการเมือง เริ่มจากชนชั้นบนสุดคือ “ผู้ปกครอง” และผู้มีอำนาจหลดหลั่นลงมา ดังนั้น ปรากฏการณ์ฉีกกติกาสาธารณะซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่ทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา ก็คือปรากฏการณ์ที่เกิดซ้ำบนกรอบคิด “ความถูกต้องมาจากคนดี + ระบบอำนาจนิยมชนชั้นนำไทย” แน่นอน มันมีปัจจัยซับซ้อนอื่นๆ อีกมากที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เหล่านั้น แต่ถ้าวิเคราะห์ลึกลงไปจะเห็นว่า “รากฐาน” ของปัญหามาจากกรอบคิดทางศีลธรรมบวกระบบอำนาจนิยมดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญมาก

ประเด็นคือ กรอบคิด “ความถูกต้องมาจากคนดี + ระบบอำนาจนิยมชนชั้นนำไทย” ย่อมขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับกรอบคิด “หลักการสาธารณะ” ในระบอบประชาธิปไตย เพราะกรอบคิดหลักการสาธารณะถือว่า “ความถูกต้องมาจากหลักการ” หมายถึง ตัวหลักการเป็นตัวกำหนดว่าการกระทำแบบไหนถูกหรือผิด มันจึงไม่จำเป็นว่าผู้กระทำจะเป็นใคร หากเขาทำถูกหลักการคือถูก ทำผิดหลักการคือผิด

ขณะที่กรอบคิด “ความถูกต้องมาจากคนดี + ระบบอำนาจนิยมชนชั้นนำไทย” เชื่อมโยงประชาชนให้เป็นเอกภาพภายใต้การยึด “ตัวบุคคล” บนสำนึกที่ว่า ถ้าได้คนดีมาเป็นผู้ปกครองและประชาชนเชื่อฟังอำนาจผู้ปกครองเช่นนั้น บ้านเมืองย่อมสงบสุข แต่ “กรอบคิดหลักการสาธารณะ” สิ่งที่เชื่อมโยงประชาชนเป็นให้เอกภาพได้คือหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของทุกคนเท่ากัน หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคที่ใช้เป็นรากฐานในการสร้างสำนึกร่วมและออกแบบรัฐธรรมนูญ กฎหมายอื่นๆ ตลอดทั้งกำหนดสถานะและบทบาทหน้าที่ของทุกสถานบันทางการเมือง ทางสังคม เศรษฐกิจและอื่นๆ และปัจเจกบุคคลให้อยู่ภายใต้หรือมีพันธะต้องปฏิบัติตามหลักการสาธารณะดังกล่าว

เมื่อกรอบคิด “ความถูกต้องมาจากคนดี + ระบบอำนาจนิยมชนชั้นนำไทย” ขัดแย้งกันอย่างถึงรากกับ“กรอบคิดหลักการสาธารณะ” แต่กลับมีวัฒนธรรมการอ้างธรรม ศีลธรรม ความดี คนดีตามกรอบคิดเช่นนั้นในทางสนับสนุนระบบอำนาจนิยมชนชั้นนำตลอดมา ย่อมทำให้ “คนดี” ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองที่เป็นคนดี, พระที่เป็นคนดี, นักวิชาการพุทธ, ปัญญาชนพุทธ, ราษฎรอาวุโสพุทธ, พลเมืองพุทธที่เป็นคนดี ไม่เคารพ, ละเมิด หรือยอมรับ, สนับสนุน หรือ (อย่างดีหน่อยก็) เพิกเฉยต่อการละเมิดหลักการสาธารณะเสมอไป

บางคนอาจจะบอกว่า คนดีแบบพุทธเหล่านั้นอาจไม่ใช่ “คนดีที่แท้จริง” ก็ได้ ถ้าเป็นคนดีที่แท้จริงเขาย่อมไม่ทำผิดหลักการสาธารณะ ผมคิดว่าคำโต้แย้งแบบนี้ไม่มีน้ำหนัก เพราะต่อให้เป็นคนดีที่แท้จริง ถ้าหากเขาทำตามกรอบคิดธรรม ศีลธรรม ความดี คนดีที่ไม่ยึดโยงอยู่กับหลักการสาธารณะของโลกสมัยใหม่ คนดีที่แท้จริงเช่นนั้นก็ไม่เคารพหลักการสาธารณะอยู่ดี เช่นคนดีแท้จริงอย่างพระเวสสันดรก็บริจาคลูกเป็นทาสได้ แม้แต่คนดีที่สุดอย่างพุทธะเองก็ช่วยเหลือโจรฆ่าคนนับพันอย่างองคุลีมาลให้ไม่ต้องรับผิดใดๆ ทางกฎหมายได้

ถ้าใครจะแย้งผมว่า “ก็พระเวสสันดรกับพุทธะท่านทำตามบริบทสังคมสมัยนั้น เขาทำแบบนั้นกันได้ ไม่ถือว่าผิด คุณจะเอาหลักการปัจจุบันไปตัดสินการกระทำในอดีตได้อย่างไร” ผมก็ขอตอบว่า “ผมเห็นด้วยว่าข้อโต้แย้งนี้ฟังขึ้น” แต่คำถามของผมก็คือ แล้วทำไมจึงนิยมอ้างธรรม ศีลธรรม ความดี คนดีแบบพุทธให้ความชอบธรรมกับระบบอำนาจนิยมที่ขัดกับหลักการสาธารณะในสังคมสมัยใหม่ล่ะ

ไม่มีปัญหาเลยครับที่ใครจะสมาทานความเชื่อเรื่องธรรม ศีลธรรม ความดี คนดีแบบพุทธเพื่อความสุขส่วนตัว หรือความ “พ้นทุกข์ส่วนตัว” เพราะนั่นเป็นเสรีภาพส่วนบุคคล แต่ไม่ใช่อ้างความเชื่อเรื่องธรรม ศีลธรรม ความดี คนดีแบบพุทธมาให้ความชอบธรรมในการไม่เคารพ ละเมิด หรือล้มหลักการสาธารณะอย่างที่เป็นมาและเป็นอยู่ เพราะนี่คือการ “ก่อทุกข์ทางสังคม” อย่างเลือดเย็น

มันจะมีประโยชน์อะไรเล่ากับการประกาศความดีงามของพุทธศาสนาว่า เป็นศาสนาที่สอนสัจธรรมช่วยให้คนพ้นทุกข์ทางใจ มี “เสรีภาพด้านใน” แต่พุทธศาสนาไทยกลับสร้างทุกข์ทางสังคม ด้วยการสร้างความชอบธรรมแก่ระบบอำนาจนิยม ที่ทำลาย “เสรีภาพทางสังคมการเมือง” อันเป็นหลักการสาธารณะเสียเอง

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.