Posted: 15 Jun 2018 07:50 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

จากกรณีที่มื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้แถลงข่าวออกหมายจับเจ้าของเพจ KonthaiUK ซึ่งเป็นเพจการเมืองที่มีคนติดตามกว่า 500,000 ในฐานความผิดบิดเบือนข่าวกระทบความมั่นคงตามมาตรา 14 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 จากการนำเสนอภาพประกอบโควท “เรือเหาะก็ซื้อมาซ่อม ยังจะซื้อดาวเทียม 91,200 ล้านมาแดกอีก.. จะยอมมันอีกมั้ย!” พร้อมกันนั้นตำรวจยังจับคนทั่วไปที่แชร์ข่าวนี้อีกรวมแล้ว 29 คน ในจำนวนนี้มี 7 คนที่ถูกนำตัวมาแถลงข่าวด้วย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานความคืบหน้าในส่วนของประชาชนธรรมดาที่ออกหมายจับตามความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในกรณีนี้พบว่า หลายกรณีเป็นการติดตามไปถึงบ้านเพื่อแสดงหมายจับและพาตัวไปสอบคำให้การในทันทีที่ ปอท. บางกรณีเล่าว่าเขาไม่ใช่ผู้โพสต์ข้อความ บางกรณียืนยันว่าเป็นการแสดงความเห็นต่างโดยสุจริต

กรณีนายสมบัติ (ไม่เปิดเผยนามสกุล) หนึ่งในผู้ที่ถูกควบคุมตัวไปแถลงข่าวที่ ปอท. เล่าว่า วันที่ 12 มิ.ย. เวลาประมาณ 14.00 น. ตำรวจท่องเที่ยวจากหัวหินไปที่ทำงานของเขา ตำรวจได้แสดงหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหาจาก ปอท. เรียกให้เขาไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ บก.ปอท. ถ.แจ้งวัฒนะ ในหมายระบุว่าพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดี จากการแชร์ข้อความอันเป็นเท็จที่กระทบความมั่นคงภายใน และทำให้ตื่นตระหนก จากนั้นก็ได้ควบคุมตัวไปส่งที่ ปอท. ด้วยรถยนต์ของตำรวจ

เมื่อไปถึงได้มีการสอบคำให้การ โดยเจ้าหน้าที่ชี้แจงว่าเขาจะรับสารภาพหรือไม่ก็ได้ เขาจึงให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาไป

สมบัติเล่าเพิ่มเติมอีกว่า ตำรวจปอท.ได้แสดงภาพโพสต์จากเพจ KonthaiUK มาให้เขาดู 3 ภาพ เขาทราบจากตำรวจว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพที่ทางฝ่ายทหารปริ้นท์ออกมาแจ้งความเขา

กรณีนายสุรใจ เจือทอง อดีตพนักงานรัฐวิสาหกิจวัยเกษียณถูกแจ้งความว่าได้ทำการแชร์ข้อความและข่าวจากเพจ Konthai UK และมีการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล จนนำมาสู่การแจ้งข้อกล่าวหาความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) (2) (3) (4)

เขาเล่าว่า โดยปกติเขาใช้เฟสบุ๊คส่วนตัวในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอยู่สม่ำเสมอ หากแต่ไม่เคยเดินทางออกไปร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐประหารหรือไปชุมนุมอื่นใด แต่ยืนยันว่าในทัศนคติส่วนตัวแล้วไม่พอใจระบอบการเมืองที่เป็นอยู่ที่เต็มไปด้วยการโกงกินและระบบบ้านเมืองที่ทุกอย่างบิดเบี้ยว

การควบคุมตัวเขาเกิดขึ้นจนเมื่อเวลา 10.30 น. ของวันที่ 12 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบเดินทางมาที่บ้านพักในกรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกเขาจากหน้าบ้าน เขาเดินออกมาและได้รับการแนะนำตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่มาจาก ปอท.พร้อมแจ้งว่าเขามีความผิดฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จและเชิญตัวเขาไปที่ ปอท. แต่เขาขอขับรถไปเอง เจ้าหน้าที่ก็ยอมให้ขับรถส่วนตัวไปโดยมีเจ้าหน้าที่นั่งไปด้วยกัน 1 นาย เมื่อไปถึงได้พบกับหัวหน้าชุดสืบสวน มีการสอบคำให้การตามบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา จนกระทั่งเวลา 19.00 น. จึงสอบคำให้การเสร็จและเจ้าหน้าที่ปล่อยตัวกลับ โดยที่เขาไม่ยอมลงชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา

อุบลศักดิ์ สามารถ 1 ใน 7 คนที่ถูกพาตัวไปในวันที่ 12 มิ.ย.เล่าว่าเคยรับราชการทหารชั้นประทวนและเคยขอไปรับราชการที่ภาคใต้จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ

เขากล่าวว่า ในช่วงเช้าของวันนั้น ขณะเขากำลังทำงานบ้านอยู่หลังบ้าน เจ้าหน้าที่ได้มาที่หน้าบ้านถามถึงตัวเขากับภรรยาและได้ยื่นบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาให้ดู

สำหรับอุบลศักดิ์การแสดงความเห็นทางการเมืองเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน แต่เขาไม่เคยใช้สื่อออนไลน์ในการสื่อสารมาก่อนเลย เพิ่งเริ่มมาใช้สมาร์ทโฟนในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเพียง 1 เดือนก่อนหน้านี้ จนกระทั่งโดนแจ้งข้อหาในคดีนี้ พื้นที่แสดงออกทางการเมืองของเขาคือการพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน โดยแสดงออกอย่างเปิดเผยว่าชื่นชอบอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 4 นายพาตัวเขาไปที่สำนักงาน ปอท. เขาจึงได้พบกับพนักงานสอบสวน ชื่อ พ.ต.ท.กฤช เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา โดยเขายอมรับว่ากดไลค์และแชร์ข่าวจากเพจ KonThaiUk จริงเพราะถูกใจที่ความเห็นเกี่ยวกับโกงกินของรัฐบาลยุคนี้ ในการสอบคำให้การ เขายอมรับข้อความที่ถูกนำมาแจ้งความและลงลายมือชื่อในคำให้การ บันทึกประจำวัน
ย้อนดูการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จัดการคนเห็นต่างในคดีก่อนหน้า

รายงานของศูนย์ทนายฯ ยังระบุด้วยว่า กรณีการตั้งข้อกล่าวหาต่อประชาชนผู้เห็นต่างเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ที่ผ่านมีลักษณะที่ไม่แตกต่างไปจากคดีที่เคยมีคำพิพากษาไปแล้วอย่างน้อย 2 กรณี

คดีนางแจ่ม (นามสมมุติ) โพสต์บนเฟสบุ๊คส่วนตัวเกี่ยวกับข่าวการทุจริตคอรัปชั่นการสร้างอุทยานราชภักดิ์ฯโดยพาดพิงถึงบุคคลในรัฐบาล อัยการศาลแขวงพระโขนงสั่งไม่ฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า ข้อความในเฟสบุ๊คของเธอ เป็นความเชื่อของผู้กล่าวหาว่าเป็นสิ่งผิดตามกฎหมาย แต่ไม่มีพยานยืนยันว่าข้อความนั้นเป็นเท็จหรือไม่ และขณะเกิดเหตุประชาชนทั่วไปกำลังสนใจเรื่องโครงการอุทยานราชภักดิ์

อัยการเห็นว่า การกระทำของแจ่มเป็นการติชมเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ ไม่เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือโครงสร้างพื้นฐานหรือทำให้ประชาชนตื่นตระหนก แม้ว่าข้อความดังกล่าวอาจจะเป็นการใส่ความ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุววรณ และ พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร เข้าลักษณะหมิ่นประมาทก็ตาม แต่เมื่อผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์จึงไม่อาจดำเนินคดีกับผู้ต้องหาได้

ในความเห็นสั่งไม่ฟ้องของอัยการสูงสุดเขียนครอบคลุมไปถึงว่า โพสต์ของแจ่มไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ มาตรา 14 (2) ด้วย

คดีรินดา (สงวนนามสกุล) ถูกทหารควบคุมตัวและนำมาตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 จากการโพสต์เฟสบุ๊คข่าวลือว่า พล.อ.ประยุทธ์ และภริยาโอนเงินหมื่นล้านไปประเทศสิงคโปร์

แม้ว่าเธอถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตาม มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่เนื่องจากการกระทำของจำเลยเป็นเพียงการโพสต์เฟสบุ๊คที่มีข้อความหมิ่นประมาท พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และภรรยา ศาลทหารเห็นว่าเป็นคดีหมิ่นประมาทจึงจำหน่ายคดีออกจากศาล แต่ ปอท.ทำความเห็นสั่งฟ้องต่ออัยการในระบบยุติธรรมปกติในข้อหาเดิม จากนั้นอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องในข้อหาตาม มาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เมื่อมีการโต้แย้งเรื่องเขตอำนาจศาล ศาลอาญาก็ได้ทำความเห็นในทำนองเดียวกับศาลทหารว่า คดีนี้ไม่เป็นความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 คดีจึงถูกจำหน่ายออกจากศาลทหาร

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.