ซ้ายไปขวา: ไชยันต์ รัชชกูล วาด รวี พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ สมยศ พฤกษาเกษมสุข เพียงคำ ประดับความ

Posted: 24 Jun 2018 12:35 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

วงเสวนาดอกผล กิ่งก้านปฏิวัติ 2475 ถกโจทย์ปัญหาหลายด้านตั้งแต่คณะราษฎรเรืองอำนาจจวบจนโรยรา สถาบันกษัตริย์บนเส้นทางประชาธิปไตย กับ ม.112 ที่สร้างสุญญากาศทางความคิด มอง 2475 ผ่านเลนส์อดีตและปัจจุบัน ปฏิวัติจบแต่การต่อสู้ไม่จบ สมยศชวนดูดอกผลปฏิวัติ คาดปัญหาเศรษฐกิจทำให้กระแสเปลี่ยนแปลงการเมืองครั้งใหญ่สุกงอม

24 มิ.ย. 2561 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) และกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย จัดงานเสวนา “86 ปี 2475 กิ่งก้านและผลพวงการอภิวัฒน์สยาม”

งานเสวนามี รศ.ไชยันต์ รัชชกูล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวี สิริอิสสระนันท์ (วาด รวี) นักเขียนและเจ้าของสำนักพิมพ์ SHINE รศ.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย บรรณาธิการบริหารนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ โดยมีเพียงคำ ประดับความ เป็นวิทยากร

โจทย์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่คณะราษฎรสอบตก

พิชิต กล่าวว่า สิ่งที่ขาดไปคือเมื่อพูดถึงการปฏิวัติ 2475 คือการประเมินคณะราษฎรและเหตุการณ์ 24 มิ.ย. จากมุมมองของคณะราษฎรและผู้ร่วมก่อการ เป็นการตีความของฝ่ายนิยมเจ้า ในเวลาที่คณะราษฎรมีอำนาจอยู่ จนถึงวันสิ้นสุดของอำนาจด้วยรัฐประหารของสฤษดิ์ในปี 2500 รวมเวลาทั้งสิ้น 25 ปี ที่มีการปกครองลุ่มๆ ดอนๆ ของคณะราษฎร พวกเขาตอบโจทย์สิ่งที่ตั้งขึ้นใน 24 มิ.ย. มากน้อยเพียงใด

พิชิตประเมินว่าโจทย์ของคณะราษฎรคือหลักหกประการที่ตั้งไว้ คือสัญญาประชาคมที่คณะราษฎรได้ให้กับประชาชน โดยวันนี้จะวิเคราะห์เรื่องความตอบโจทย์ในไม่กี่ประการ

ในประเด็นการศึกษาถ้วนหน้า พิชิตกล่าวว่า ในปี 2464 สยามมีประชากร 14 ล้านคน ในจำนวนนี้ 6.8 ล้านคน หรือร้อยละ 68 ไม่รู้หนังสือ ถึงปี 2503 ประชากรเพิ่มจาก 14 ล้านเป็น 26 ล้าน อัตราการรู้หนังสือเพิ่มเป็นร้อยละ 70 ระหว่างนั้น รัฐบาลคณะราษฎรได้ออกกฎหมายใหม่ในปี 2479 กำหนดการศึกษาภาคบังคับถึง ป.4 จนสิ้นยุคคณะราษฎร ปี 2503 ได้มีการกำหนดการศึกษาภาคบังคับเป็น ป.7 ในช่วง 25 ปีของคณะราษฎร การศึกษาภาคบังคับก็คืบหน้าไปพอสมควร แม้จะมีคนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้อยู่ก็ตาม

หลักการเรื่องเศรษฐกิจ ที่เป็นความตั้งใจของคณะราษฎรที่จะไม่ให้ราษฎรอดตายนั้น หลังจากประกาศรธน 24 ธค 2475 ปรีดี พนมยงค์ สมาชิกคณะราษฎรได้ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษย์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) หรือสมุดปกเหลือง ซึ่งได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรง ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะพระบรมราชวินิจฉัยของ ร.7 อ่านแล้วเหมือนเหมือนโครงการเศรษฐกิจของสตาลินแห่งสหภาพโซเวียต กลายเป็นกระแสต่อต้านคอมมิวนิสต์ยุคแรกเริ่ม ทั้งที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ยังไม่ถูกจัดตั้ง เป็นการปลุกผีคอมมิวนิสที่นำไปสู่การเกิด พ.ร.บ. การป้องกันการเป็นคอมมิวนิสต์ฉบับแรก ที่เกิดขึ้นก่อนจะมีการจัดตั้ง พคท. เสียอีก เค้าโครงเศรษฐกิจฉบับนั้นไม่ถูกนำมาใช้อีกเลยนับจากนั้น และก็ไม่มีใครทำการศึกษาในประเด็นการไม่ถูกหยิบมาใช้อีก แต่เพราะความล้มเหลวของเค้าโครงฯ ก็ทำให้คณะราษฎร์ ต้องหาโครงการเศรษฐกิจอื่นมาแทนเพื่อสร้างความชอบธรรมในการปกครอง สุดท้ายแนวทางเศรษฐกิจของคณะราษำณก็ไปทางขวา คือไปทางลัทธิชาตินิยมในช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเข้ามาเป็นนายกฯ เกิดระบบเศรษฐกิจชาตินิยมแบบขวา รัฐบาลควบคุมการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจของเอกชน มีรัฐวิสาหกิจหลายร้อยแห่ง นำมาสู่ปัญหาเศรษฐกิจเยอะไปหมด โครงสร้างเศรษฐกิจที่เจอในทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นดอกผลของความล้มเหลวของเค้าโครงฯ ในยุคแรกที่ไม่สามารถเอาแนวคิดของปรีดีมาใช้

เมื่ออ่านเค้าโครงเศรษฐกิจฯ จะพบว่ามีลักษณะเป็นเศรษฐกิจสังคมนิยม ประชาชนทุกคนอยู่ในกำกับของรัฐ ในเค้าโครงฯ เขียนว่าราษฎรเป็นข้าราชการหมด รัฐจะตั้งสหกรณ์หลายประเภทขึ้นมาและให้ประชาชนอยู่ในนั้นโดยรัฐบาลเป็นผู้จ่ายเงินเดือนและเก็บภาษี คนในสหกรณ์ก็ทำงานและได้ผลตอบแทนตามที่ทำ มุ่งสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งตัวเอง มีการค้ากับต่างประเทศให้น้อยที่สุด ทรัพย์สินส่วนบุคคลยังให้มีที่ดินส่วนบุคคลเพื่ออยู่อาศัย รัฐเป็นเจ้าของที่ดินที่ใช้เป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจ เครื่องจักรก็เป็นของรัฐ ด้วยเหตุผลว่า การมีโรงงานโดยเอกชนจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง แต่กิจการส่วนบุคคลที่เป็นอาชีพก็ยังคงมีอยู่

แต่ในเค้าโครงฯ ก็ได้เขียนย้ำไว้หลายจุดว่าระบบเศรษฐกิจดังกล่าวไม่ใช่คอมมิวนิสต์ เพราะไม่ได้เป็นการแย่งยึดกรรมสิทธิ์ประชาชน มีทางเลือกให้ประชาชนขายสินทรัพย์ให้รัฐได้ โดยรัฐจะออกใบกู้ ออกพันธบัตรแล้วให้ประชาชนกินดอกเบี้ย ซึ่งในตอนนั้นถือเป็นวิธีที่ก้าวหน้า การปฏิรูปที่ดินสมัยที่สหรัฐฯ เข้ายึดครองญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อทำลายระบอบเจ้าที่ดินเดิม และการปฏิรูปที่ดินในไต้หวันของเจียงไคเช็กก็ใช้วิธีเดียวกัน เห็นได้ว่าเป็นวิธีที่รัฐบาลที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ก็ทำกัน

พิชิตกล่าวว่า หากจะมาพูดในวันนี้ว่าระบบเศรษฐกิจตามเค้าโครงฯ ใช้การไม่ได้จากประสบการณ์การล้มของเศรษฐกิจสังคมนิยมในจีน กัมพูชา และที่ใกล้จะล้มคือเกาหลีเหนือก็คงเป็นเรื่องมักง่ายไปหน่อย ถ้าย้อนเวลาไปช่วงนั้นซึ่งเป็นช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสอง ช่วงนั้นเป็นยุคเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ตลาดหุ้นล้มละลาย ซึ่งนัยหนึ่งคือสาเหตุที่ทำให้เกิดการปฏิวัติ 2475 เพราะตอนนั้นรัฐบาลสยามไม่สามารถส่งออกข้าว และไม่สามารถเก็บภาษีส่งออกข้าวได้ รายจ่ายเยอะ มีการปลดข้าราชการออกทำให้เกิดความไม่พอใจ ตอนนั้นเป็นช่วงของความเฟื่องฟูของระบบสหการรวมหมู่ ระบบทุนนิยมสูญเสียความน่าเชื่อถือ ไม่แปลกที่นักคิดอย่างปรีดีซึ่งเรียนจบจากฝรั่งเศสจะอยู่ในกระแสคิดดังกล่าวด้วย แนวคิดดังกล่าวถูกต่อต้านจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม เนื่องจากยิ่งอ่านก็ยิ่งเหมือนของสหภาพโซเวียต เมื่อปรีดีกลับเข้ามาร่วมรัฐบาลได้ ก็ไม่กล้านำเค้าโครงฯ เดิมกลับมาใช้ จุดนี้ตนวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะต้องการลดแรงเสียดทานจากฝ่ายต่อต้าน จนเมื่อจอมพล ป. ขึ้นสู่อำนาจและได้เลือกใช้ระบบเศรษฐกิจแบบฟาสซิสต์

อีกดอกผลที่คณะราษฎรสอบตกคือเรื่องบทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย เรากำลังพูดถึงสถาบันที่อยู๋ในองคาพยพของรัฐ เป็นตำแหน่งทางการเมืองและราชการในฐานะประมุขรัฐในเชิงสถาบัน ที่มีพระราชอำนาจในทางกฎหมายและประเพณี การปฏิวัติต่างๆ ทั่วโลก จะสำเร็จเด็ดขาดลงได้ต่อเมื่อตอบคำถามว่า บทบาท สถานะ พระราชอำนาจทางกฎหมายและประเพณีควรอยู่ตรงไหน เท่าใด มีขอบเขตแค่ไหน แต่ระยะเวลา 25 ปีของคณะราษฎรไม่ได้ตอบคำถามนี้อยางชัดเจนแม้จะมีกบฏบวรเดชเกิดขึ้น แต่ในที่สุดแล้วความไม่ชัดเจนทำให้ไม่มีแรงกดดันและความท้าทายให้คณะราษฎรต้องขีดเส้นให้ชัดว่าสถาบันกษัตริย์จะอยู่ที่ใดภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่มีเพราะในหลวง ร.8 ขึ้นครองราชย์ในขณะที่ยังทรงพระเยาว์ และพำนักอยู่ต่างประเทศจนสิ้นสงครามโลกครั้งที่สองจึงเสด็จกลับ ระหว่างช่วงนั้นจึงต้องมีผู้สำเร็จราชการ และผู้สำเร็จราชการในขณะนั้นส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือกับคณะราษฎรเป็นอย่างดี จึงไม่มีความขัดแย้ง ความขัดแย้งเรื่องพระราชอำนาจในเชิงกฎหมายและราชประเพณีจึงไม่ได้รับการตอบอย่างชัดเจน เพราะไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง

นอกจากนั้นยังมีการจับกุมนักโทษการเมือง ก็คือกลุ่มนิยมเจ้าในยุคจอมพล ป. จับไปปล่อยเกาะตะรุเตาอย่างที่รู้กัน พอสิ้นสงครามโลกครั้งที่สองก็จะเห็นชัดว่าคณะราษฎรปีกทหารแพ้ไปเพราะไปร่วมมือกับญี่ปุ่น ส่วนกลุ่มนิยมเจ้ายังเป็นนักโทษทางการเมืองที่ถูกจับกุมไว้ก่อน จึงเหลือแต่ปีกพลเรือนคือปรีดี ซึ่งท่านก็ต้องการความปรองดองแห่งชาติ แก้ไขไม่แก้แค้น หลังถูกญี่ปุ่นยึดครอง 3-4 ปี แปรจากประเทศแพ้สงครามเป็นชนะสงครามด้วยวิธีการทางการทูต จึงนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองและอาชญากรสงครามทั้งหมด กลุ่มนิยมเจ้าและอดีตอาชญากรสงครามได้ร่วมมือยึดอำนาจปรีดีในยุค 2490 สุดท้ายจึงเหลือกลุ่มนิยมเจ้า จอมพล ป. และพรรคประชาธิปัตย์ที่กลุ่มนิยมเจ้าจัดตั้งขึ้น จนปี 2500 คณะนายทหารรุ่นใหม่ซึ่งเป็นคนละรุ่น เติบโตมาใต้ระบอบทหาร ระบอบขุนศึกโดยแท้ และไม่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากคณะราษฎร นำไปสู่การรื้อฟื้นพระราชพิธี พระราชอำนาจ บทบาท สถานะของพระบารมีของถาบันกษัตริย์เรื่อยมา

สถาบันพระมหากษัตริย์บนเส้นทางประชาธิปไตย ม.112 ปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ สร้างสุญญากาศทางความคิด

วาดกล่าวว่า ธีมหลักที่จะพูดวันนี้คือ การยึดอำนาจจากกษัตริย์ทำให้เกิดอะไรขึ้น และลงเอยอย่างไร การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไม่ใช่เกิดขึ้นในเวลาไม่กี่วัน ไม่เกี่เดือน แต่มีการต่อต้านจากฝ่ายนิยมกษัตริย์เรื่อยมาจนสุดท้ายก็มีนิรโทษกรรม มีการคืนดีกันจนฝ่ายนิยมกษัตริย์มีกำลังขึ้นอีกครั้งและล้มคณะราษฎร

แต่ประเด็นที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงคือฝ่ายคณะราษฎรก็ไม่มีความเป็นเอกภาพ มีการแบ่งขั้วระหว่างจอมพล ป. กับปรีดี สภาวะดังกล่าวปรากฎตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อจอมพล ป. หมดอำนาจหลังญี่ปุ่นแพ้สงคราม ทำให้ขั้วปรีดี คือเสรีไทยที่จับมือกับฝ่ายกษัตริย์ไปอยู่กับฝ่ายสัมพันธมิตรมีอำนาจ ซึ่งเท่ากับฝ่ายกษัตริย์ก็เข้มแข็งขึ้น หลังกรณีสวรรคตของ ร.8 ฝ่ายนิยมกษัตริย์ก็หันมาโจมตีปรีดีจนกระทั่งปรีดีต้องลี้ภัยไป ทำให้ฝ่ายจอมพล ป. กลับมามีอำนาจอีกครั้ง จอมพล ป. ก็สู้กับฝ่ายกษัตริย์ในเวลาต่อมาจนถูกยึดอำนาจไปในช่วง 2500 ทั้งหมดที่เล่ามากินเวลา 25 ปีตั้งแต่การยึดอำนาจในปี 2475 และปิดฉากด้วยความพ่ายแพ้ของคณะราษฎร

ในที่สุดรัฐธรรมนูญ 2492 ถูกล้มเลิกไปเมื่อจอมพล ป. กลับคืนสู่อำนาจอีกครั้ง และต่อมาก็แพ้ให้กับสฤษดิ์ หลังปี 2500 การเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยก็ได้รับการเปลี่ยนแปลงหลายทาง โดยเฉพาะกับสหรัฐฯ ที่ใช้ไทยเป็นฐานปฏิบัติการสงครามเย็นในภูมิภาคอินโดจีน ก่อนถึงรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มีรัฐธรรมนูญถึง 9 ฉบับ

วาดกล่าวว่า ประเด็นการเมืองก่อนจะเกิดวิกฤตการเมือง นึกถึงบรรยากาศก่อนจะเกิดวิกฤตการเมือง ก่อนหน้านี้ประเด็นคณะราษฎรไม่เคยกลับมาเป็นประเด็นในการเมืองไทย ไม่ว่าจะเป้นช่วง 14 ต.ค. 6 ต.ค. หรือ พ.ค. 34-35 มันมีการรื้อฟื้นความสำคัญของคณะราษฎรโดยมุ่งฟื้นฟูเกียรติปรีดี แต่เป็นความพยายามฟื้นในแบบที่ไม่ขัดกับสถาบันกษัตริย์

วาดกล่าวต่อไปว่า ช่วงแรกของคณะราษฎรที่เถียงกันที่ประเด็น ร.7 กับคณะราษฎรเถียงกันตรงๆ ในเชิงประเด็น กระบวนทัศน์ในการถกเถียงเป็นเรื่องเดียวกัน ต่างคนต่างรู้ว่าอีกฝ่ายคิดอะไร ประเด็นคือจะจัดการอำนาจกษัตริย์อย่างไรในรัฐธรรมนูญ ตัดกลับมาที่ภาพเมื่อก่อนจะเกิดวิกฤตสมัยทักษิณ สภาพการเมืองตอนนั้นไม่มีแนวคิดเรื่องสถาบันกษัตริย์ โฟกัสการเมืองอยู่ที่ทหาร ตำรวจและนักการเมือง ไม่มีใครเห็นสถาบันกษัตริย์ในระบบการเมือง คนไม่เห็นความเกี่ยวข้อง มีคำพูดทักษิณเมื่อนานแล้วที่ให้สัมภาษณ์นักข่าวต่างประเทศว่ากษัตริย์ในไอเดียเขาเหมือนพระเจ้า ไม่ใช่คน ไม่ใช่สิ่งที่มีอำนาจในระบบการเมือง คือล่องลอยอยู่นอกระบบ

ตอนนั้นสังคมไทยภาพกว้างไม่ค่อยมีไอเดียเรื่องนี้ กลุ่มพันธมิตรก็ด่านักการเมืองเลว ทุนสามานย์ แต่ก็มีคนจุดประเด็นเรื่องพระราชอำนาจ มีพระราชดำรัสของในหลวง ต่อมาการเลือกตั้งก็เป็นโมฆะ ทักษิณจึงเริ่มรู้สึกตัวและเริ่มพูดถึงผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ

หลังวิกฤตการเมือง 2549-2553 กระบวนทัศน์การเมืองที่คนไทยรับรู้นั้นเปลี่ยนไป คนเริ่มเห็นความจริงที่ไม่สามารถกลับไปไม่เห็นได้อีกแล้วไม่ว่าจะเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือฝ่ายก้าวหน้า ไม่สามารถมองการเมืองแล้วไม่เห็นประเด็นสถาบันกษัตริย์ได้อีกแล้ว นี่คือประเด็นที่เป็นปัญหา เพราะนี่คือข้อแตกต่างระหว่างสมัยคณะราษฎรที่มีการโต้แย้งเชิงประเด็นอย่างเปิดเผย ก่อนวิกฤติการเมืองมองไม่เห็น แต่พอเกิดวิกฤตก็เห็นแล้วแต่ไม่สามารถแสดงออก

วาดคิดว่าประเด็นสำคัญที่คณะราษฎรกลับมาคือปัญหาเรื่องพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งไม่เพียงแค่ว่ากฎหมายอาญามาตรา 112 ไปละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ปัญหาคือการปิดปากด้วยกฎหมายไม่สามารถจะย้อนความคิดคนให้กลับไปมอง ไม่เห็นประเด็นนี้เหมือนเดิมแล้ว

ถ้าไม่มีการปิดกั้น คนที่เห็นปรากฏการณ์ก็จะแสดงออกอย่างแตกต่างกันไป และเมื่อเห็นการแสดงออกก็จะเกิดจุดที่ปรับการรับรู้ เห็นการแสดงออกของคนอื่น เกิดการถกเถียงและจะเกิดการปรับการรับรู้ ทำให้ทราบขอบเขตของประเด็น ไม่งงว่าเถียงกันเรื่องอะไร แต่เมื่อมีความพยายามเปลี่ยนแปลงการรับรู้ ทำให้การจัดการทางการเมืองที่มีใจกลางอยู่ที่อำนาจของกษัตริย์ทำไม่ได้ ต่างคนก็ต่างเก็บความคิดไว้ในหัว เป็นการเดาทั้งนั้นว่าแต่ละคน แต่ละฝ่ายคิดอะไร เมื่อความคิดถูกขัง ความคิดไม่มีการจัดตั้งก็เกิดความสับสนอลหม่านที่เกิดจากการถูกห้าม แต่การห้ามก็ทำได้ไม่หมดเพราะความคิดถูกแพร่กระจายในยุคสมัยที่มีอินเทอร์เน็ต แต่คนที่ไม่เข้าอินเทอร์เน็ต ฟังแต่ คสช. ที่บ้านก็มี จึงมีสุญญากาศในสังคมที่เกิดจากการปิดกั้น จึงขาดไอเดียร่วมกัน ฉันทามติในสังคมก็ไม่เกิด ฉันทามติจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่สามารถพูดความคิดในหัวออกมา ทางออกคือการปรับการรับรู้ให้อยู่ในระดับที่เท่ากัน

สมยศชวนดูดอกผลปฏิวัติ 2475 คาด ปัญหาเศรษฐกิจกำลังทำให้กระแสเปลี่ยนแปลงการเมืองครั้งใหญ่สุกงอม

สมยศกล่าวว่า วันนี้เดินทางมามีรถตำรวจนำทางด้วย ก็ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่ง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจยังให้เกียรติในการสอบถามรายละเอียด ขอร้องในเรื่องบางเรื่องที่ไม่เหมาะสมที่จะมาพูด โดยสิ่งที่ถูกขอร้องไม่ให้พูด คือเรื่องหมุดคณะราษฎรหาย ซึ่งตนก็ทั้งเกรงใจและกลัว ส่วนตัวไม่ได้ทราบเรื่องเพราะตอนที่หมุดหายนั้นอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก็คงพูดไม่ได้มากเท่าวิทยากรท่านอื่น

สมยศกล่าวต่อไปว่า การปฏิวัติ 2475 นำมาซึ่งอารยธรรมสมัยใหม่กับสังคมไทย เช่น ทำให้เกิดการศึกษาภาคบังคับ มีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ต่อมาได้เป็นสถานที่หนึ่งที่ผลิตนักการเมือง ซึ่งน่าเสียดายที่นักการเมืองเหล่านี้ไม่ได้รับเจตนารมณ์ 2475 มาใช้ จึงมีนักการเมืองที่หักหลังระบอบประชาธิปไตย เช่น ชวน หลีกภัย ส่วนประชาชนก็มีเสรีภาพ ได้ลืมตาอ้าปากบ้างแม้เสรีภาพจะผุกร่อน กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ถูกเปลี่ยนจากจำคุก 7 ปี เป็น 15 ปี อัตราโทษถูกปรับขึ้นเมื่อมีการเข่นฆ่าประชาชนสมัย 6 ต.ค. 2519 อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติ 2475 ทำให้ประชาชนมีเสรีภาพ และประชาชนก็ยังต่อสู้เพื่อเสรีภาพอยู่ถึงทุกวันนี้

ด้านเศรษฐกิจ การปฏิวัติช่วยให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่ การลงทุนแบบเสรีนิยมที่เกิดขึ้นจากปฏิวัติ 2475 ทำให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้ ไม่เช่นนั้นเราก็คงยังเป็นไพร่ที่ถูกรัฐกดขี่ หลังปี 2475 ก็มีการยกเลิกภาษีหลายประเภท เหลือแต่ภาษีแบบปัจจุบัน

สมยศกล่าวว่า มีความผิดพลาดบางประการในการปฏิวัติ 2475 สิ่งหนึ่งคือคณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงได้ในระดับกลไกเชิงอำนาจ ถ่ายอำนาจจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่คณะราษฎรได้ แต่ก็ไม่มีอุดมการณ์ใหม่เข้าไปแทนที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และไม่ได้ขุดรากถอนโคนระบอบดังกล่าวให้หมดไป ทำให้อุดมการณ์จารีตนิยมยังอยู่ วัชพืชเผด็จการยังอยู่และถูกพัฒนาจนงอกงามถึงทุกวันนี้ ขณะเดียวกัน กิ่งก้านของคณะราษฎรก็ถูกลิดรอนลงเรื่อยๆ จนหมดอย่างสิ้นเชิงในยุคที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจ และในยุคนั้นได้มีการเปลี่ยนวันชาติไทยจากเดิมที่เป็นวันที่ 24 มิ.ย. ถูกเปลี่ยนเป็นวันที่ 5 ธ.ค.

อดีตบรรณาธิการวอยซ์ออฟทักษิณกล่าวว่า ปัจจุบันลูกหลานคณะราษฎรก็ยังหลงเหลืออยู่ ตอนที่มีข่าวหมุดหายตนก็ได้ข่าวว่ามีลูกหลานคณะราษฎรไปทวงถามอยู่ ก็เห็นได้ชัดว่าความสัมพันธ์ทางสายโลหิตหมดไปเพราะลูกหลานหลายคนไม่ได้สืบเจตนารมณ์ของคณะราษฎร แต่ประวัติศาสตร์ไม่ได้ขาดตอนหรือถูกลบทิ้งไปอย่างง่ายๆ การปฏิวัติ 2475 ไม่ได้เกิดขึ้นแบบโดดๆ แต่เป็นผลมาจากความพยายามปฏิวัติประเทศไทยก่อนหน้านี้ หรือที่เรียกว่ากบฏ ร.ศ.130 สมัย ร.6 ที่มีการนำกลุ่มทหารเตรียมล้มล้างการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐเสียด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่แล้วเสร็จเพราะความลับรั่วไหล ร.6 ก็ได้ปราบปรามกลุ่มกบฏเสียก่อน ผู้ก่อการถูกประหารชีวิตบ้าง ถูกจำคุกบ้าง แต่สุดท้ายคนเหล่านี้ก็ได้รับการปล่อยตัวเมื่อมีปฏิวัติ 2475 ขึ้น

ทั้งนี้ สมยศกล่าวว่า การที่หมุดหายไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีความพยายามที่จะทำลายสัญลักษณ์ของการปฏิวัติ 2475 อยู่โดยตลอด ทั้งการบิดเบือนประวัติศาสตร์ 2475 ให้เป็นเรื่องการชิงสุกก่อนห่ามบ้าง ชิงทำปฏิวัติบ้างทั้งๆ ที่ ร.7 เตรียมพระราชทานประชาธิปไตยอยู่แล้ว จำกัดวงการรับรู้ประวัติศาสตร์การปฏิวัติ 2475 เปลี่ยนวันชาติ ทำลายสถาปัตยกรรมคณะราษฎร เช่น อาคารศาลฎีกา หมุดคณะราษฎรเป็นเพียงหนึ่งในความทรงจำเรื่องปฏิวัติ 2475 แต่ปรากฎการณ์ที่เห็นในปัจจุบันคือยิ่งทำลายก็ยิ่งโผล่ มีคนอยากเลือกตั้งที่เกิดขึ้นมา

“ผมก็สังเวชใจกับประเทศไทยมาก เพราะเราไม่ควรจะคุยเรื่องนายกฯ คนนอกกันตั้งนานแล้ว เพราะพฤษภาทมิฬที่สู้กันบาดเจ็บล้มตายเพราะต่อต้านนายกฯ คนนอก ที่เจ็บใจคือ ยังอยากได้นายกฯ สมอง...แบบประยุทธ์ ก็ไม่เข้าใจว่าจะงงอะไรกับประวัติศาสตร์ เราล้มตายจาก 14 ตุลามาแล้ว พฤษภาทมิฬมาแล้ว แล้วยังต้องมีคนอยากเลือกตั้งแบบน้องโบว์ น้องโรม น้องนิวมาพูดเรื่องหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง ความเท่าเทียม การเลือกตั้ง เราไม่ควรพูดเรื่องนี้แล้ว ควรจะไปไกลกว่านี้แล้ว แต่ก็ถือเป็นสีสันทางการเมืองที่ไม่ทำให้บ้านเมืองเป็นเรื่องการปกครองของคนแบบประยุทธ์คนเดียว” สมยศกล่าว

สมยศระบุเพิ่มเติมว่า ช่วง 10 ปีต่อไปคงเป็นช่วงระทึกใจ เนื่องจากดูแล้วพบว่า มีองค์ประกอบที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่เกิดขึ้น เพราะเศรษฐกิจแย่มาก เป็นภาวะที่ความยากจน ความเป็นหนี้สินเกิดทุกหย่อมหญ้า การรีดภาษีอากรในรัฐบาลประยุทธ์ที่ทำมาหากินไม่ค่อยเป็น พัฒนาเศรษฐกิจไม่ได้ แต่กลับใช้เงินอย่างมือเติบ

เมื่อไม่นานมานี้กลุ่ม 24 มิ.ย. ได้ไปยื่นข้อเรียกร้องสามข้อที่ทำเนียบรัฐบาล หนึ่ง คัดค้านการใช้ภาษีสรรพสามิต น้ำมัน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้น้ำมันแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด สอง คัดค้านการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นร้อยละ 9 และสาม เลิกใช้งบประมาณฟุ่มเฟือยไปกับการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์และขึ้นเงินเดือนของพวกพ้อง

ส่วนกรณีหมุดราษฎรหาย สมยศกล่าวว่า วันนี้หายไปไม่เป็นไร วันดีคืนดีเราได้ประชาธิปไตย ได้รัฐบาลแล้วก็เอาของใหม่ไปติดตั้งแทนได้ อย่างน้อยก็เป็นสัญลักษณ์เชิงอุดมการณ์ของประชาธิปไตยและคณะราษฎร

ชวนมอง 2475 ผ่านเลนส์อดีตและปัจจุบัน ปฏิวัติจบแต่การต่อสู้ไม่จบ

ไชยันต์กล่าวว่า สี่ปีหลังรัฐประหาร 2557 มีข้อดีอย่างหนึ่งคือ เมื่อก่อนฝ่ายที่จะเตะตัดขาประชาธิปไตยจะคุยกันในบ้านหรือในกองทหาร แต่ปรากฎว่าครั้งนี้เขาออกมาที่ถนน นี่เป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในสังคมไทย ทำให้เรารู้ว่าฝ่ายไหนบ้างที่ไม่เอาประชาธิปไตย

คนวิจารณ์การปฏิวัติ 2475 มากมาย ตนไม่เห็นด้วยกับเรื่องสอบตก ยกตัวอย่างเปรียบเปรยกับฟุตบอลว่า ไม่มีใครที่ชนะมีแล้วจะชนะตลอด อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องสู้ต่อ เกมการเมืองคือสิ่งที่ต่อเนื่องไปตลอด คณะราษฎรยิงประตูได้ใน 2475 แต่ก็ถูกโต้กลับไปเรื่อยๆ สิ่งสำคัญไม่ใช่ว่าอีกฝ่ายโต้กลับได้ก็ไม่ใช่ว่าจะชนะตลอดเหมือนกัน

ไชยันต์ยังระบุว่า การทำความเข้าใจการปฏิวัติ 2475 ต้องมาจากความเข้าใจทั้งอดีตและปัจจุบัน คือต้องสมมติว่าเอาปฏิวัติ 2475 วางตรงกลาง แล้วย้อนหน้าและย้อนหลังไปอย่างละ 86 ปี ก่อนจะเป็นการให้ความหมายของปฏิวัติ 2475 เอง เช่น ถ้ามีคนที่ไม่ชอบนักการเมืองก็จะมองปฏิวัติ 2475 ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของนักการเมืองที่ไม่ดี มองคณะราษฎรเป็นตัวขัดจังหวะสภาพชีวิตที่คิดว่าดีมาก่อน

ตอนที่ ร.7 สละราชสมบัติ พระองค์ท่านเขียนว่า "ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร" (ที่มา:nationtv) ก็มาคิดดูว่า ถ้าย้อนหลังไปจากปฏิวัติ 2475 ไป 80 ปี คือเมื่อ พ.ศ.2395-2475 คือสมัย ร.4 ถามว่ามีการปกครองไหนที่ฟังเสียงราษฎรโดยแท้จริง ก็ไม่มี แปลว่าการที่ ร.7 กล่าวอย่างนี้แปลว่า จะเอาสิ่งที่ไม่เคยมีมาเป็น new normal (ความปกติที่ไม่ปกติ)

คำว่า new normal เป็นเรื่องที่สำคัญหากจะพูดเรื่อง 2475 เพรามันคือการเปลี่ยนความคิดอย่างมาก เป็นการวางประเด็นประชาธิปไตยบนโต๊ะ สถาปนาประชาธิปไตยไปอยู่ในหัวของเรา เมื่อเห็นแล้วจะกลับมามองไม่เห็นไม่ได้ แม้คนที่เป็นเผด็จการ หรือคนไม่อยากเลือกตั้งยังพูดเรื่องประชาธิปไตย การมีกฎหมาย นิติรัฐ นิติธรรม ถือการปักหมุดหมายทางความคิดใหม่

ประเด็นที่คณะราษฎรยกขึ้นมาคือจะขอเปลี่ยนคนขับเคลื่อนรัฐนาวาใหม่ เปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ และที่สำคัญคือจะนำไปทางไหน นี่เป็นคำถามและพยายามเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ นักประวัติศาสตร์ บางคน นักกิจกรรมหลัง 14 ต.ค. บางคนยังโจมตี 2475 โจมตีคณะราษฎรบ้างซึ่งก็วิจารณ์ได้และเราก็ควรวิจารณ์คณะราษฎร แต่ประเด็นกลับมาอยู่ที่ว่า เราได้สานต่อสิ่งที่คณะราษฎรได้ปลูกเอาไว้หรือไม่ หลังเกิด 14 ต.ค. ใหม่ๆ ปรีดีถูกเชิญไปพูดที่สมาคมนักเรียนไทยในหลายประเทศ มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ปรีดีเขียนว่า จงพิทักษ์ประชาธิปไตย ตอนนั้นตนไม่เข้าใจคำว่าพิทักประชาธิปไตย แต่ต่อมาได้มาเข้าใจคำนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ต.ค. ว่าคือเมื่อชนะแล้วก็ขอให้รักษาไว้
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.