อนุสรณ์ อุณโณ (ที่มา: Facebook/ กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย)

Posted: 24 Jun 2018 10:35 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

อนุสรณ์ อุณโณ ขึ้นปาฐกถาเรื่องการปฏิวัติ 2475 เล่าความพยายามลบเลือนประวัติศาสตร์การเปลี่ยนระบอบการปกครองตั้งแต่หนังสือเรียนประถมศึกษาไปจนการแทนที่หมุดคณะราษฎร รัฐธรรมนูญใหม่เผยรัฐพันลึกออกมาชัดเจน คาด ยุคข่าวสารทั่วถึงจะไม่ทำให้ประชาชนถูกอำนาจเก่าจูงจมูกอีกต่อไป

เมื่อ 24 มิ.ย. 2561 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เครือข่ายนักวิชากรเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) และกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย จัดงานเสวนา “86 ปี 2475 กิ่งก้านและผลพวงการอภิวัฒน์สยาม” อนุสรณ์ อุณโน คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการในเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองหรือ คนส. ได้ขึ้นกล่าวปาฐกถาในประเด็นเกี่ยวกับการปฏิวัติปี 2475 ของคณะราษฎร มีใจความดังนี้

อนุสรณ์กล่าวว่า ได้รับเกียรติไปทานกาแฟหลังมีเหตุการณ์หมุดคณะราษฎรหายไปและถูกแทนที่ด้วยหมุดใหม่ และมีกระแสการตามหาหมุดที่หาย ก็ได้รับเกียรติไปรับประทานกาแฟพร้อมชี้แจงว่าเกิดอะไรขึ้น ความสำคัญของหมุดและแนวทางการปฏิบัติตัว นำมาสู่ปาฐกถาที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิวัติ 2475

"แต่คำถามคือ หมุดคณะราษฎรมีความสำคัญอย่างไร ทำไมต้องถูกเคลื่อนย้ายและแทนที่ด้วยหมุดอันใหม่ สุดท้ายวันนี้ก็ถูกปิด ทำให้มลายหายไป ไม่มีใครเข้าไปสืบค้นได้อีก ประวัติศาสตร์การปฏิวัติปี 2475 มีความสำคัญอย่างไร ทำไมถึงถูกเล่าไม่ได้ และในทุกวันนี้ถูกเล่าใหม่ ถ้าอ่านหนังสือเรียนประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้นจะพบว่าถูกเขียนไว้สั้นๆ กระชับๆ ว่าก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองก่อนสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่าเหมาะกับสังคมไทยสมัยก่อนอย่างไร ต่อมาด้วยความขัดแย้งหรืออะไรก็ตามแต่ จนกระทั่งมาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำไมประวัติศาสตร์ถึงถูกเล่าใหม่ ทำไมการจัดกิจกรรม 2475 เมื่อปีที่แล้วถูกประกบตัวจนทำอะไรไม่ได้

ตนคิดว่าข้อหนึ่งที่สำคัญคือ เราอยู่ในห้วงเวลาประวัติศาสตร์ที่การปฏิวัติ 2475 สำคัญต่อปัจจุบันและอนาคตของไทย เพราะสิ่งที่การปฏิวัติ 2475 ดังกล่าวทำอย่างสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงระบอบจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เป็นการเคลื่อนย้ายอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดจากพระมหากษัตริย์มาสู่ประชาชน

การเปลี่ยนแปลงตรงนี้เกิดขึ้นอย่างฉับพลันและรุนแรง จึงถูกโต้กลับจากกลุ่มที่เสียอำนาจและประโยชน์ไป ในภาษาวิชาการอาจจะเรียกกลุ่มเหล่านั้นว่ากลุ่มก้อนทางประวัติศาสตร์บ้าง กลุ่มสถาบันจารีตในเชิงเครือข่ายบ้าง รัฐพันลึกบ้าง กลุ่มเหล่านี้มีความพยายามโต้กลับอย่างฉับพลัน ยกตัวอย่างเช่นกบฏบวรเดชซึ่งเกิดขึ้นหนึ่งปีหลังจากนั้น และจากนั้นก็มีความพยายามต่อต้านเรื่อยมาในการรื้อฟื้นสถานะการนำของพวกเขา ในสมัยที่ทหารเป็นใหญ่ ไม่ว่าจะในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือที่เห็นชัดขึ้นคือในสมัย 14 ต.ค. 2516 โดยเฉพาะในช่วงพฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2534-2535 ในช่วงเวลาพฤษภาทมิฬนั้น เหมือนประหนึ่งว่าทุกภาคส่วนของสังคมไม่ว่าจะเป็นรัฐ ทุน ประชาชน หรือภาคประชาสังคมเห็นพ้องต้องกันในการจัดสรรอำนาจ หรือประโยชน์ให้กับสังคมไทย ถ้าดูแผนพัฒนาเศรษฐกิจในขณะนั้นจะเห็นว่ามีความลงรอยของภาคส่วนต่างๆ เสมือนว่าประเทศนี้มีการจัดสรรอะไรๆ อย่างลงตัวแล้ว สิ่งที่เป็นความโกลาหลที่ผ่านมาคงไม่เกิดขึ้นอีก

แต่โลกไม่ได้เป็นเช่นนั้น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชนบทโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นในช่วง 3 ทศวรรษเศษที่ผ่านมาก่อให้เกิดความปรารถนาใหม่ๆ แรงบันดาลใจใหม่ๆ การจัดสรรประโยชน์แบบสมัยก่อนอาจไม่พอที่จะตอบสนองความต้องการของผู้คนเสมอไป กระแสการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นตั้งแต่การมีองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในปี 2535 รวมถึงการมีรัฐธรรมนูญ 2540 และการเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองมาให้ความสำคัญกับนโยบาย ทำให้คนรู้สึกว่า เสียงของพวกเขาซึ่งก่อนหน้านั้นไม่เคยถูกนับ ไม่มีความหมาย ขึ้นมามีความสำคัญ คนเริ่มรู้สึกว่าอำนาจอธิปไตยที่เคยเขียนไว้แค่ในกระดาษมีความสำคัญ ทำให้เขารู้สึกว่าคนที่เลือกเข้าไปจำเป็นต้องตอบสนองเจตนารมณ์ของพวกเขา พูดให้ถึงที่สุดคือมันเกิดความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างผู้ปกครองกับประชาชน

การเปลี่ยนแปลงตรงนี้คล้ายจะไปท้าทายหรือสั่นคลอนการจัดการอำนาจที่กลุ่มอำนาจเก่าเคยจัดไว้เมื่อทศวรรษ 2530 เพราะมีผู้นำกลุ่มใหม่ที่ขึ้นมาและอ้างฉันทานุมัติจากประชาชนในการที่จะเข้าไปแบ่งปันอำนาจที่กลุ่มชนชั้นนำเก่าเคยได้ไว้ ในขณะเดียวกันกลุ่มอำนาจเก่าก็เริ่มกังวลว่าประชาชนที่ตระหนักถึงอำนาจตัวเองมากขึ้นจะไม่ยอมรับความชอบธรรมของการจัดสรรอำนาจจากกลุ่มอำนาจเก่าอีกต่อไป ก็จริง มีการโต้กลับอีกระลอกหนึ่ง ซึ่งสามารถเห็นได้อย่างน้อย 3-4 รูปแบบ มีกลไกตุลาการภิวัฒน์ มีการใช้อำนาจจากศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ซึ่งมีการเขียนไว้ค่อนข้างจะชัด รัฐพันลึกที่แต่เดิมซ่อนตัวไ้วข้างหลังก็เผยตัวอย่างล่อนจ้อนและอุจาดมาก

ขณะเดียวกันเขาก็ใช้มวลชนกึ่งจัดตั้ง เราจะเห็นสิ่งที่เรียกว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา และค่อยคลี่คลายจนได้คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ขณะเดียวกันเราก็จะได้สิ่งที่เรียกว่ารัฐประหารที่เป็นหนึ่งกลไกของกลุ่มอำนาจเก่าที่พยายามเหนี่ยวรั้งอำนาจไว้กับพวกเขา รัฐประหารปี 2549 ก็เป็นส่วนหนึ่ง ปี 2557 ก็ใช่ ล่าสุดที่เราเห็นก็คือพรรคการเมือง เราเห็นพรรคการเมืองที่ไปจดจัดตั้งพรรคการเมืองและประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่นับรวมพรรคที่จดจัดตั้งขึ้นมาเป็นการเฉพาะกิจ พรรคประชารัฐก็ดี พรรครวมพลังประชาชาติไทยก็ดี เหล่านี้ทั้งหมดค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นกลุ่มที่เครือข่ายอำนาจำเก่าต้องการใช้เพื่อคงไว้ซึ่งอำนาจและประโยชน์ที่พวกเขามีอยู่ โดยเฉพาะกับแนวปะทะต่อไปคือการเลือกตั้งที่ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องเกิดขึ้น

แต่ปัญหาคือ การโต้กลับไม่ได้เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย เพราะคนปัจจุบันตื่นรู้มากขึ้นแล้ว รับรู้ข้อมูลข่าวสารและมีประสบการณ์ไม่ต่างจากคณะราษฎรที่อาจเป็นคนกลุ่มน้อยในปี 2475 ได้ประสบ คนปัจจุบันเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างไม่ต่างกัน ไม่แบ่งชั้นรวยจน เข้าถึงเฟซบุ๊กและไลน์ได้พอๆ กัน หรืออีกนัยหนึ่ง เราไม่ได้เป็นราษฏรที่ต้องรอให้คณะราษฎรมาบอกว่าประเทศนี้เป็นของใคร ใครเป็นผู้กดขี่อยู่ อะไรที่ไม่เป็นธรรม เราอยู่ในยุคที่ทุกคนเป็นพลเมืองที่ตระหนักรู้ดีด้วยตัวเองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศนี้เป็นอย่างไรและจะต่อสู้กันแบบไหน การเคลื่อนไหวของมวชนกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมาไม่ว่าจะเป็นประชาชน นักวิชาการ นักศึกษาล้วนเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงการตื่นรู้ของพลเมืองในฐานะประชาชนที่ตระหนักว่าอำนาจอธิปไตยควรเป็นของประชาชน

สุดท้ายก็คือ คณะราษฎรได้กรุยทางเอาไว้ แม้เป็นคนจำนวนน้อยแต่ก็เป็นเส้นทางที่ถูกต้อง พวกเราในฐานะคนปัจจุบันและลูกหลานอนาคต มีภารกิจที่จะส่านต่อตรงนี้ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ที่ปีนี้เราสามารถจัดกิจกรรมได้ค่อนข้างจะกว้างขวางและคึกคักมากขึ้น ไม่ว่าจะได้เหตุผลใดๆ ก็ตามแต่ แต่ก็ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีว่าการสานต่อภารกิจของคณะราษฎรในฐานะคนปัจจุบันก็คงจะทำได้อย่างมั่นคง"

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.