ภาพบรรยากาศมหกรรมฟุตบอลโลก 2561 ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย (ที่มา: Facebook/ FIFA World Cup)

Posted: 19 Jun 2018 09:22 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

เรียบเรียงโดย: ภฤศ ปฐมทัศน์

หนึ่งข้อกังวลของแฟนบอลรักเพศเดียวกันคือการมาดูฟุตบอลโลกในรัสเซีย ประเทศที่สังคมเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน พวกเขาถูกกดดัน คุกคามจากทั้งผู้อยู่อาศัย และนโยบายจากรัฐที่ไม่สนับสนุนให้เปิดเผยตัวตน แม้ฟีฟ่ามีมาตรการจัดการการเหยียดในสนาม แต่สถานการณ์นอกสนามยังคงไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ

มีความกังวลจากชาว LGBT ในเรื่องความปลอดภัยของกลุ่มคนรักเพศเดียวกันที่เข้าร่วมชมมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2561 ที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพ เนื่องจากมีกรณีอาชญากรรมจากความเกลียดชังและความเกลียดกลัวอย่างไม่มีเหตุผลต่อคนรักเพศเดียวกัน (Homophobia) มากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศที่มีสังคมแบบอนุรักษ์นิยม

ดี คันนิงแฮม หนึ่งในแฟนบอลชาวอังกฤษที่เดินทางไปเยือนรัสเซียโดยเข้าใจสถานการณ์ความเกลียดกลัวเป็นอย่างดี เธอเป็นออร์แกนไนเซอร์ของกลุ่ม "ทรีไลออนส์ไพรด" ซึ่งเป็นกลุ่มสนับสนุนแฟนบอลชาว LGBT ในอังกฤษ คันนิงแฮมเปิดเผยว่าแฟนบอลที่เป็น LGBT หลายคน โดนข่มขู่คุกคามว่าจะถูก "แทง" ถ้าหากเดินทางเข้ารัสเซีย คันนิงแฮมยังบอกอีกว่ามันเป็นเรื่องโชคร้ายที่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่าจัดแข่งฟุตบอลในประเทศที่ "คนบางกลุ่มไม่ได้รับการต้อนรับ"

แต่นั่นไม่ทำให้คันนิงแฮมล่าถอย ในการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อก่อนหน้านี้เธอบอกว่ายังคงมีแผนการชมฟุตบอลนัดเปิดสนามที่อังกฤษแข่งกับตูนีเซีย และมีแผนประท้วงด้วยการชูป้ายผ้าที่มีธงสีรุ้งขณะรับชมการแข่งขัน รวมถึงอาจจะมีการโบกธงสีรุ้งที่เป็นตัวแทนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย

ถึงแม้ทางการรัสเซียระบุว่าพวกเขาจะไม่ดำเนินการปลดป้ายผ้าในสนามฟุตบอลออก แต่ก็เตือนว่าการนำเสนอเรื่องแบบนี้ตามท้องถนนอาจจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายข้อหา "ห้ามโฆษณาเกี่ยวกับคนรักเพศเดียวกัน (gay propaganda)" ตามกฎหมายของรัสเซียที่เพิ่งออกมาเมื่อปี 2556 โดยถึงแม้ว่ารัสเซียจะทำให้ความรักระหว่างคนเพศเดียวกันกลายเป็นเรื่องถูกกฎหมายตั้งแต่ปี 2536 แล้ว แต่หลังจากที่มีกฎหมาย "ห้ามโฆษณาเกี่ยวกับคนรักเพศเดียวกัน" ออกมาก็ทำให้เกิดอาชญากรรมจากความเกลียดชัง (Hate Crime) ต่อชาว LGBT มากขึ้น

สื่อพิงค์นิวส์รายงานว่า ก่อนหน้าวันแข่งขันฟุตบอลโลกไม่กี่วันก็มีเหตุทำร้ายคนรักเพศเดียวกันจนมีคนเข้าโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังมีคนส่งคำขู่ฆ่ากลุ่มนักกิจกรรม LGBT ที่ชื่อ "ไพรด์อินฟุตบอล" ทางการรัสเซียเตือนว่าคนรักเพศเดียวกันควรแอบซ่อนเพศวิถีของตัวเองไว้ขณะอยู่ในที่สาธารณะ นอกจากนี้ทางการอังกฤษก็ออกคำเตือนเอาไว้ในทำนองเดียวกัน รวมถึงเตือนว่าแฟนบอลชาวอังกฤษอาจจะต้องเผชิญความเสี่ยงต่างๆ ในการเข้าชมฟุตบอลในรัสเซียเช่น "การทำร้ายโดยมีแรงจูงใจมาจากการเหยียดเชื้อชาติสีผิว ความเกลียดกลัวอย่างไม่มีเหตุผลต่อคนรักเพศเดียวกัน หรือกระทั่งจากความรู้สึกต่อต้านชาวอังกฤษ"

ฮวน ปาโบล โมริโน เลขาธิการฝ่ายกีฬาของสมาพันธ์ผู้มีความหลากหลายทางเพศแห่งอาร์เจนตินาวิจารณ์ในเรื่องนี้ว่า การที่รัสเซียไม่มีการบังคับใช้กฎหมายที่ห้ามการกีดกัน-เลือกปฏิบัติต่อคนรักเพศเดียวกัน แต่กลับปกป้องเสรีภาพในการกระทำของกลุ่มคนที่ต่อต้านชาว LGBT ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ส่งเสริมให้เกิดการทำร้ายชาว LGBT เรื่องนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิพลเมืองโดยตรง โมริโนกล่าวอีกว่าแม้ในกรณีการเข้าร่วมฟุตบอลโลกจะมีเรื่องน่าเป็นห่วงเกี่ยวกับการกระทำจากความเกลียดชังอัตลักษณ์ แต่เขาก็อยากลองนึกสภาพของ LGBT ในรัสเซียที่ต้องมีชีวิตอยู่แบบนี้โดยตลอดไม่เพียงแค่ช่วงฟุตบอลโลก

อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มต่างๆ รวมถึงฟีฟ่าที่พยายามแก้ปัญหาในจุดนี้ หนึ่งในนั้นคือเครือข่ายนานาชาติเพื่อการต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติในกีฬาฟุตบอลของยุโรป (FARE) ริเริ่มให้มีการจัด "พื้นที่ปลอดภัย" ให้กับกลุ่ม LGBT และชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธ์ ในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ในชื่อว่า "บ้านแห่งความหลากหลาย" (Diversity House) โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมบรรยากาศที่ยอมรับความต่างของแฟนฟุตบอลที่เป็นชาวเกย์และแฟนบอลที่ไม่ใช่คนขาว

FARE ซึ่งร่วมมือกับฟีฟ่าในโครงการนี้ระบุว่า "บ้านแห่งความหลากหลาย" จะเป็นพื้นที่ที่ไม่เพียงแค่ให้ผู้คนมาพบปะสังสรรค์หรือจัดประชุมกันเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ไว้สำหรับจัดแสดงในเรื่องความหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับกีฬาฟุตบอลด้วย "ถ้าไม่มีความหลากหลายเราก็คงไม่มีฟุตบอล" เปียรา โพวาร์ ผู้อำนวยการของ FARE กล่าว "พวกเราต้องการเฉลิมฉลองความหลากหลายและให้พื้นที่สำหรับแฟนบอลที่มาเยือน ถ้าหากคุณรักฟุตบอล และคุณเชื่อว่าฟุตบอลจะเป็นพลังสำหรับความเปลี่ยนแปลงได้ ฟุตบอลโลกในรัสเซียจะเป็นฟุตบอลโลกที่น่าสนใจมาก"

แต่ทว่ารัสเซียก็ไม่ได้ทำตัว "น่าสนใจ" มากเท่าที่คิด โครงการนี้กลับถูกยกเลิกสัญญาอย่างกระทันหันโดยเจ้าของสถานที่รวมถึงล็อกประตูไม่ให้ผู้จัดงานเข้าไปใช้พื้นที่ได้ ผู้จัดงานบอกว่าคนไล่ที่พวกเขาปฏิบัติกับพวกเขาอย่างหยาบคายมาก มีการปิดไฟและไม่ยอมอธิบายอะไรกับผู้จัดงาน ซึ่งทาง FARE เห็นว่าเรื่องนี้มีแรงจูงใจทางการเมือง และอาจจะมาจากความกลัวกฎหมาย "ห้ามการโฆษณาเกี่ยวกับคนรักเพศเดียวกัน" โพวาร์กล่าวว่าการสั่งปิดพื้นที่เช่นนี้แสดงให้เห็นว่าการหารือเรื่องสิทธิมนุษยชนในรัสเซียถูกปิดกั้นจากกลุ่มการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้อย่างไร

ทางฟีฟ่าเองก็มีการวางระบบตรวจสอบเพื่อสกัดกั้นการกัดกัน-เลือกปฏิบัติเพื่อส่งเสริมให้เกิดความหลากหลาย โดยระบุว่าจะมีการวางตัวผู้สังเกตการณ์ 3 คนบนสแตนด์เชียร์ในแต่ละแมทช์ของฟุตบอลโลกเพื่อเฝ้าระวังพฤติกรรมของผู้ชมในสนาม อีกทั้งยังให้อำนาจกับกรรมการในการสั่งระงับการแข่งขันชั่วคราวหรือแม้กระทั่งสั่งยกเลิกการแข่งขันถ้าหากยังคงมีพฤติกรรมในเชิงกีดกันเกิดขึ้น

เฟเดอริโก แอดดีชี ประธานฝ่ายความยั่งยืนและความหลากหลายของฟีฟ่าแถลงไว้ช่วงต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาว่าพวกเขามีระบบการตรวจสอบเฝ้าระวังที่เข้มงวด อีกทั้งยังมีการฝึกอบรมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการแข่งขันทุกคนไม่ว่าจะเป็นคณะทำงานต่างๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในการดำเนินการอย่างถูกต้องถ้าหากมีเหตุการณ์กีดกัน-เลือกปฏิบัติเกิดขึ้น

ถึงแม้ว่ากลุ่มด้านสิทธิต่างๆ และกลุ่มแฟนบอลชาว LGBT จะยินดีที่ฟีฟ่ามีมาตรการพยายามแก้ไขปัญหานี้ แต่ก็ยังมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยภายนอกสนามฟุตบอล

"พวกเรามีความรู้สึกอย่างแท้จริงว่าพวกเขาจะปลอดภัยภายในสนามฟุตบอล แม้พวกเราจะมีสัญลักษณ์ที่เป็นสีรุ้งที่เรามีเสรีภาพในการใช้มันเพื่อแสดงการสนับสนุนทีมของพวกเราในแง่ของการส่งเสริมประชาคม LGBT ในวงการฟุตบอลได้ แต่มันก็ยังไม่ชัดเจนว่าพวกเราจะปลอดภัยมากน้อยแค่ไหนถ้าหากเราแสดงตัวตนในฐานะแฟนบอลขณะอยู่ในเมืองที่จัดการแข่งขัน" คันนิงแฮมกล่าว

เรียบเรียงจาก

England fan ready to fly the flag for gay rights in Russia, Reuter, Jun. 18, 2018

Russia, football World Cup and rising homophobia, Aljazeera, Jun. 18, 2018

World Cup 2018: 'Safe space' for Russia LGBT football fans shut, BBC, Jun. 17, 2018

Gay World Cup fan left with brain injuries after brutal attack, Pink News, Jun. 15, 2018

FIFA joins opening of Diversity House initiative in Russia, FIFA, Jun. 14, 2018

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.