Posted: 25 Nov 2018 06:14 AM PST
Submitted on Sun, 2018-11-25 21:14

อรรถพล อนันตวรสกุล

หลังการสั่งการและควบคุมของฝ่ายการเมืองในการเร่งให้จัดทำหลักสูตรวิชาขีพครู 4 ปี อย่างเร่งด่วน มีหลายเรื่องที่น่ากังวล ลำพังแค่การเร่งทำหลักสูตรก็อยู่ในขั้นวิกฤตมากทั้งเวลาและคุณภาพ แต่ที่น่าห่วงกว่าคือการแก้ไขกรอบมาตรฐานวิชาขีพโดยไม่ผ่านกระบวนการรับฟังสาธารณะ มีการอนุมัติกันไปเรียบร้อยแล้วด้วยเพื่ิอให้แต่ละสถาบันเอาไปใช้ประกอบการแก้ไขหลักสูตร ที่น่าตกใจคือเพิ่งมีการอนุมัติกันไป เมื่อวันที่ 19 พ.ย.นี้้เอง หลังจากปล่อยให้แต่ละสถาบันไปปรับแก้หลักสูตรรอกันก่อนล่วงหน้า

นั่นแสดงว่าที่แต่ละมหาวิทยาลัยเร่งทำหลักสูตร 4 ปีฉบับใหม่กันในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อตอบสนองนโยบายท่านรัฐมนตรีที่สั่งการนั้น เราทำกันโดยเป้าหมายยังไม่ชัดเสียด้วยซ้ำว่าสมรรถนะที่คาดว่าจะให้เกิดขึ้นคืออะไร เรียกว่าจำเป็นต้องละเลยทุกทฤษฎี และวิธีวิทยาในการออกแบบพัฒนาหลักสูตร ที่ร่ำเรียนกันมา และพร่ำสอนลูกศิษย์ของเรากันอยู่

อะไรทำนองนี้เวลาเกิดขึ้นกับหลักสูตรเฉพาะเรื่องในการจัดหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือหลักสูตรระดับสถานศึกษา เราก็มักจะหยิบยกมาใช้ประกอบการสอนกันว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่มีประเทศไหนทำกัน แต่นี่เกิดขึ้นกับกรอบสมรรถนะและการจัดทำหลักสูตรวิชาชีพ ที่สำคัญยิ่งขึ้นก็คือกับหลักสูตรวิชาขีพครูที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับคุณภาพการจัดการศึกษาของชาติ

ภาวะนี้สะท้อนความอ่อนแอและอ่อนล้าของทั้งวิชาขีพครูและแวดวงครุศึกษาผู้มีหน้าที่ในการเตรียมครูใหม่และพัฒนาครูประจำการ ที่มิอาจต้านทานนโยบายสั่งการและปกป้องมาตรฐานวิชาชีพของวิชาชีพตนเองได้เลย

แค่เรื่องเบื้องต้นที่มีคำถามถึงเหตุผลเชิงวิชาการ งานวิจัยที่รองรับนโยบายว่าทำไมต้องเร่งกลับไปทำหลักสูตรใหม่ 4 ปี ให้ทันใช้ในเดือนสองเดือนนี้ เรายังไม่ได้คำตอบจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องแม้แต่คนเดียว

ความสำคัญของการออกแบบและพัฒนาหลักสูตรนั้น ไม่ใช่แค่เอกสารหลักสูตรที่ถูกเขียนขึ้นจนแล้วเสร็จ เป็น Written Curriculum แต่หัวใจอยู่ที่กระบวนการในการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน วางทิศทางร่วมกัน ทั้งระดับผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ที่จะนำหลักสูตรไปใช้ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่การปรับกรอบมาตรฐานวิชาชีพครั้งนี้ และการเร่งวางทิศทางหลักสูตรกันใหม่ครั้งนี้ที่ต้องเร่งรีบอย่างที่สุด ไม่มีพื้นที่ของการมีส่วนร่วม มีแต่การรับนโยบายมาทำ ผู้ที่ได้เข้าไปทำหน้าที่ตัวแทนในการประชุมพูดตรงกันว่า "ถามไม่ได้ แย้งไม่ได้ ต้องทำให้เสร็จ"

กรอบมาตรฐานที่เผยแพร่ออกมาก็แสดงให้เห็นถึงปัญหาในการเร่งรีบจัดทำ เพราะแม้ภาพรวมจะดูน้อยลง เพราะจัดเป็น 4 ด้าน แต่พิจารณาละเอียดลงไป ปรากฎเป็นมาตรฐานถึง 21 เรื่อง (กรอบมาตรฐานเดิมมี 11 ประเด็นเป็นมาตรฐานอิงชุดวิชา (Discipline-based Standard)) หนำซ้ำยังมีความสับสนระหว่างมาตรฐานอิงบทบาทหน้าที่ (Functional Standard) กับมาตรฐานอิงสมรรถนะ (Competency-based Standard) ทั้งที่ตามนโยบายสั่งการระบุว่าให้ทำหลักสูตรอิงสมรรถนะ (Competency-based Curriculum)


ทั้งนี้ยังไม่นับความสับสนในการออกข่าวตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ที่มีการออกมาขับเคลื่อนเรื่องการเข้าสู่วิชาชีพครู ว่าไม่จำกัดว่าเป็นบัณฑิตจากหลักสูตร 4 ปี 5 ปี หรือหลักสูตรอะไรก็ได้ที่เทียบเคียงได้ ขอให้มีประสบการณ์ห้องเรียน 1 ปี โดยไม่จำเป็นต้องต่อเนื่อง แล้วให้ไปวัดกันตอนสอบภาคปฏิบัติ นำมาซึ่งความสับสนแน่ ๆ ว่าแล้วจะให้แต่ละสถาบันจัดการฝึกหัดครูไปกันคนทางสองทาง กระทั่งคนที่ไม่ได้เรียนมาแต่มาจากหลักสูตรที่เทียบเคียงได้จะเทียบเคียงกันอย่างไรในเมื่อการฝึกหัดครูเป็นหลักสูตรวิชาชีพมีสมรรถนะเฉพาะอยู่

ถึงตรงนี้หลักสูตร 4 ปี ของหลายสถาบันระบุให้ฝึกปฏิบัิติการวิชาชีพเต็มรูปแบบแค่ 1 ภาคการศึกษา จำนวนเวลาที่เหลือให้ไปแทรกกันในปฏิบัติการระหว่างเรียน ปี 1 ถึง 3 ซึ่งจะเป็นปัญหาที่ต้องไปตามแก้กันอีกทีเมื่อเริ่มนำหลักสูตรไปใช้

นอกจากนี้แล้ว ระยะยาว ๆ ระเบิดเวลาลูกถัดไปที่รออยู่อีก 3-4 เรื่อง คือ

(1) การสอบวัดระดับภาษาอังกฤษก่อนจบให้ผ่านตามเกณฑ์ จะเพิ่มคุณภาพบัณฑิตให้มีสมรรถนะด้านภาษากันอย่างไร ภายในเวลา 3 ปีครึ่งที่เรียนด้วยจำนวนหน่วยกิตจัดเต็มทุกภาคการศึกษา เนื่องจากจำนวนหน่วยกิจลดลงไปมากว่า 30-40 หน่วยกิต

(2) จบแล้วไม่ได้ใบประกอบวิชาชีพอัตโนมัติ ต้องไปวัดกันที่การสอบปฏิบัติ แสดงว่าเราต้องมีความมั่นใจในการสอบภาคปฏิบัติว่าจะมีความเที่ยงตรงเป็นธรรม มีเกณฑ์ชัดเจน มีกรรมการที่ qualified ในการให้คะแนนการปฏิบัติ ไม่มีอคติความลำเอียง ไม่ถูกแทรกแซงได้โดยผู้มีอำนาจ ฯลฯ

(3) การบริหารจัดการหลักสูตรที่จะเหลื่อมซ้อนเวลากัน และจะกระทบคุณภาพการเรียนการสอนแน่นอน เช่น รายวิชาวิธีวิทยาการสอน ที่ปกติจะจัดในปีก่อนออกฝึกปฏิบัติการ นั่นเท่ากับว่าในปีการศึกษา 2564 นิสิตนักศึกษาหลักสูตร 4 ปีรุ่นแรก (รับเข้าปี 2562) จะต้องเรียนวิชาวิธีวิทยาการสอนที่เน้นการปฏิับัติ พร้อมกับนิสิตนักศึกษาหลักสูตร 5 ปี (รับเข้าปี 2561) ลำพังสอนกัน 1 ตอนเรียน 25-30 คน เคี่ยวให้เข้มยังต้องลงแรงลงเวลา พากันทดลองสอน สะท้อนประสบการณ์ แต่ปี 2564 คณาจารย์ครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ จะต้องทำงานเป็น 2 เท่า และเป็นเช่นนี้ต่อเนื่องจนถึงการฝึกปฏิบัติการวิชาชีพ ที่อย่างไรเสียก็เลี่ยงไม่ได้ว่าต้องออกฝึกปฏิบัติการพร้อมกันในปี 2565 จะมีโรงเรียนที่มีความพร้อมเพียงพอในการเป็นพื้นที่ภาคสนามหรือไม่ และสถาบันครุศึกษาจะเอากำลังคนที่ไหนออกไปตามนิเทศอย่างมีคุณภาพครับ

(4) คำถามที่ยังไม่ใครยอมตอบเลยก็คือ ปี 2566 เราจะมีบัณฑิตครูสองรุ่นสองหลักสูตรที่จบออกมาพร้อมกันไม่น้อยกว่า 50,000-60,000 คน ท่านมีตำแหน่งงานรองรับพวกเขาจริง ๆ เท่าไหร่ ใครจะรับผิดชอบต่อภาวะเตรียมบัณฑิตครูออกไปตกงาน ทั้ง ๆ ที่เป็นบัณฑิตในสาขาวิชาชีพ
ทั้งหมดนี้จะนำมาซึ่งโจทย์อีกมากให้ต้องแก้ไข แต่ปัญหาเดิมที่ทำให้การเตรียมครูไม่มีคุณภาพไม่ได้ถูกแก้ เช่น

- ปฏิบัติการระหว่างเรียนยังจัดให้น้อย ไม่เป็นระบบ และแยกส่วนจากภาคทฤษฎี

- รายวิชาในหมวดวิชาครูและวิชาเอกยังขาดการบูรณาการกัน

- ยังขาดความจริงจังในการพัฒนานิสิตครูให้ทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาผู้เรียน

- การดูแลนิสิตฝึกงานปี 5 ที่ไม่เคยเอาจริงเอาจัง หลายสถาบันแทบจะไม่เคยลงนิเทศ ปล่อยให้ครูพี่เลี้ยงต้องรับมือฝ่ายเดียว

- บทบาทของครูพี่เลี้ยงที่ยังต้องการการทำความเข้าใจว่าต้องประกบนิสิตฝึกสอน ไม่ใช่ละเลย ปล่อยให้นิสิตเผชิญหน้างานลำพัง และมอบหมายงานอื่นจำนวนมากให้ทำ ฯลฯ

กล่าวได้ว่า เพียงแค่เริ่มช่วงแรกของกระบวนการก็อลเวงเสียแล้ว 8 ปีจากนี้ไปที่ต้องคณาจารย์ในสถาบันครุศึกษาต้องเผชิญในการทำหน้าที่เตรียมครูรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพ ท่านคิดว่าเราได้ทำงานอย่างมีคุณภาพกันจริงหรือ

ผู้กำหนดนโยบายมาแล้วก็ไปด้วยวาระทางการเมือง แต่คนทำงานอย่างพวกผม ก็ต้องตกเป็นจำเลย และตามวิ่งวุ่นแก้ปัญหากันต่อไป ทั้งหมดนี้ใครได้ประโยชน์ เสียประโยชน์กันแน่ สังคมไทย ปัญหาคุณภาพการจัดการศึกษาของไทย จะได้รับคุณรับโทษอย่างไรกับวิกฤติที่รออยู่ในเวลาอันใกล้นี้ เหนืออื่นใด สิ่งที่กำลังเกิดนี้กำลังยกระดับเชิงคุณภาพ หรือพากันไปสู่ความสุ่มเสี่ยงในเชิงคุณภาพและประสิทธิภาพในการผลิตครูกันแน่

และถึงวันนั้นความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับระบบเตรียมครูใหม่ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ




เกี่ยวกับผู้เขียน: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อรรถพล อนันตวรสกุล สอนอยู่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.