ภาพทหารนาวิกโยธินสหรัฐฯ และกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นที่ค่ายคินเซอร์ ประเทศญี่ปุ่น ฐานทัพสหรัฐฯ ในโอกินาวะ (ที่มา:wikipedia)
Posted: 16 Nov 2018 06:10 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2018-11-16 21:10
สื่อ Foreign Policy in Focus นำเสนอบทวิเคราะห์เกี่ยวสถานการณ์ความตึงเครียดในแถบทะเลจีนตะวันออกระหว่างจีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น โดยระบุว่ามีโอกาสที่จะปะทุกลายเป็นความขัดแย้งใหญ่ได้ เธอเสนอทางออกให้รับฟังข้อเสนอของผู้ว่าฯ คนใหม่ของโอกินาวะ ที่เรียกร้องให้ยับยั้งการสร้างฐานทัพในสหรัฐฯ เพื่อลดการเผชิญหน้า
16 พ.ย. 2561 บทวิเคราะห์ของ อเล็กซิส ดัดเดน ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอนเนคติคัทผู้เขียนเรื่องเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกระบุว่า ในช่วงครบรอบ 100 ปีสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเชื่อว่าจะเป็น "สงครามที่จบทุกสงคราม" นั้น กลับมีเรื่องน่าเป็นห่วงเกี่ยวกับภาคพื้นทะเลจีนตะวันออก ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการปะทุมาตั้งแต่ในปี 2557 และจนถึงปัจจุบันนี้สถานการณ์ก็ยิ่งตึงเครียดมากขึ้นและมีความคาบเกี่ยวกับความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ด้วย เฮนรี คิสซิงเจอร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ประเมินว่าการปะทะกันระหว่างจีนกับญี่ปุ่นในภาคพื้นทะเลจีนตะวันออกอาจจะกลายเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งที่ใหญ่กว่านี้ได้
ดัดเดนระบุว่าพื้นที่อย่างทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออกกลายเป็นเสมือนพื้นที่ๆ ประเทศซึ่งเป็นมหาอำนาจกำลังทหารทางน้ำใช้เป็นพื้นที่ทดสอบท้าทายฝ่ายอื่นและเตรียมตัวสำหรับความรุนแรงในวงกว้างที่อาจจะเกิดขึ้น นอกจากนี้นักการเมืองทั้งจากสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น ต่างก็เห็นผลประโยชน์ต่อพวกตัวเองจากความตึงเครียดนี้ โดยอ้างใช้มันเพื่อสร้างความภาคภูมิใจแบบชาตินิยมในประเทศตัวเอง ส่วนสหรัฐฯ เองนั้น ในการที่จะเลี่ยงความขัดแย้งในอนาคต จำเป็นจะต้องคำนึงถึงบทบาทของตนเองให้จริงจังมากกว่านี้จากการที่ตัวเองสร้างความสับสนเอาไว้มากมาย
สำหรับทางแก้ปัญหานี้ ดัดเดนเสนอว่าสหรัฐฯ ควรเริ่มก้าวแรกด้วยการรับฟังผู้ว่าราชการคนใหม่ของจังหวัดโอกินาวะ เดนนี ทามากิ ผู้ที่พยายามเรียกร้องไม่ให้มีการสร้างฐานทัพสหรัฐฯ เพิ่มในจังหวัดของตัวเองโดยการไปเยือนสหรัฐฯ เพื่อหารือเรื่องดังกล่าว ซึ่งแนวทางของเขาจะช่วยลดโอกาสในการเผชิญหน้ากันได้ จากการที่โอกินาวะเป็นพื้นที่ตั้งฐานทัพของสหรัฐฯ ในญี่ปุ่นและถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในทะเลจีนตะวันออก
ปัจจุบันโอกินาวะรองรับฐานทัพสหรัฐฯ ไว้ถึงร้อยละ 70 ของพื้นที่แล้ว คิดเป็นร้อยละ 1 ของพื้นที่แผ่นดินใหญ่ของญี่ปุ่น มีกองกำลังของสหรัฐฯ 50,000 นายตั้งอยู่ที่ญี่ปุ่นรวมถึงทรัพยากรนิวเคลียร์ส่วนหนึ่ง โดยที่ฐานทัพใหม่ของสหรัฐฯ ใช้เวลาในการสร้าง 20 ปีทางชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือแถบอ่าวโออุระ ใกล้กับแคมป์ชวาบฐานทัพนาวิกโยธินสหรัฐฯ ที่เมืองเฮะโนโกะ
มีการประเมินทางยุทธศาสตร์จำนวนมากที่ระบุว่าไม่จำเป็นต้องสร้างฐานทัพใหม่ในโอกินาวะ นอกจากนี้มูลนิธิกองทุนเวิร์ลไวล์ดไลฟ์ (World Wildlife Fund) ยังทำการสำรวจทางสิ่งแวดล้อมแล้วระบุว่าการสร้างแผ่นคอนกรีตไว้ที่ชายฝั่งทะเลจะก่อผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาทางน้ำ ชาวโอกินาวะส่วนใหญ่ยังทำการต่อต้านฐานทัพนี้เป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าทามากิจะต่อต้านการมีอยู่ของกองทัพสหรัฐฯ ในโอกินาวะ และเขาก็ไม่ได้ต่อต้านอเมริกัน ทามากิเองก็เป็นลูกชายของทหารนาวิกโยธินของสหรัฐฯ ที่เขาไม่เคยได้เจอ เขาเติบโตขึ้นโดยอาศัยอยู่กับแม่ของเขาในโอกินาวะ ซึ่งเขาเรียกว่าเป็น "รูปลักษณ์ทางกายภาพ" ของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น สิ่งที่ทามิกิต่อต้านคือฐานทัพใหม่ในเมืองเฮโนโกะโดยเฉพาะ ซึ่งข้อเสนอนี้รัฐบาลกลางของญี่ปุ่นไม่สนใจ ทามากิจึงเข้าหาสหรัฐฯ ในประเด็นนี้โดยบอกว่าการระงับการสร้างฐานทัพเฮลิคอปเตอร์ที่เฮโนโกะจะเป็นแนวทางที่ดีในการเสริมสันติภาพกับคาบสมุทรเกาหลีและลดระดับความเป็นไปได้ในการปะทะกับจีน
นอกจากนี้ยังมีการชี้ถึงปัญหาที่รัฐบาลญี่ปุ่นกล่าวอ้างว่าฐานทัพใหม่ของสหรัฐฯ มีความสำคัญ แต่ดินที่จะใช้สร้างในโอกินาวะมีไม่มากพอจนต้องนำดินจากทรัพยากรจากแผ่นดินหลักของญี่ปุ่นมาใช้แทน ทำให้ทามากิตั้งคำถามว่าถ้าญี่ปุ่นมองว่าฐานทัพใหม่จะสร้างความปลอดภัยต่อญี่ปุ่นได้ขนาดนั้น ทำไมพวกเขาถึงไม่ไปสร้างบนแผ่นดินใหญ่ของญี่ปุ่นแทนที่จะสร้างในพื้นที่ของพวกเขาซึ่งทำให้เกิดปัญหาการถมปะการังในอ่าวโออุระ
กรณีของดินนี้ยังชวนให้นึกย้อนไปถึงสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ใหม่ๆ เมื่อปี 2501 ที่โอกินาวะยังคอยู่ภายใต้การยึดครองของสหรัฐฯ ในตอนนั้นทีมเบสบอลมัธยมฯ ของโอกินาวะไปแข่งที่โตเกียวเป็นครั้งแรกหลังจากจบสงคราม หลังจากที่พวกเขาแพ้ เยาวชนโอกินาวะเหล่านั้นก็พากันตักดินจากสนามแข่งกลับบ้านตัวเอง แต่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ก็ห้ามพวกเขาไว้โดยอ้างกฎหมายการกักด่านพืชพันธุ์ของสหรัฐฯ บอกว่าพวกเขาไม่ควรนำดิน "ที่ไม่สะอาด" ไปสู่โอกินาวะ และหลายสิบปีนับจากนั้นชาวโอกินาวะเองก็ต้องแบกรับการถูกเหยียดหยามว่ามีความเป็นคนญี่ปุ่นไม่มากเท่าคนในแผ่นดินหลัก
ดัดเดนวิจารณ์อีกว่าการแก้ปัญหาแบบขอไปทีของทางการญี่ปุ่นในเรื่องฐานทัพสหรัฐฯ ยังเน้นให้ชาวโอกินาวะรู้สึกตกเป็นเบี้ยล่างมากขึ้น เธอจึงเรียกร้องให้สหรัฐฯ พิจารณาแก้ไขข้อผิดพลาดในอดีต ยอมรับความปรารถนาที่เป็นประชาธิปไตยของชาวโอกินาวะและคิดให้กว้างขึ้นในเรื่องสันติภาพของทะเลจีนตะวันออกและสันติภาพในที่อื่นๆ
เรียบเรียงจาก
Listen to the Governor of Okinawa, Alexis Dudden, FPIF, Nov. 13, 2018
แสดงความคิดเห็น