Posted: 21 Nov 2018 05:05 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2018-11-21 20:05
สถาบันคีนันแห่งเอเชีย เผยผลสำรวจอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในระบบห่วงโซ่คุณค่าโลก พบร้อยละ 57 มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการกระบวนการทำงาน ปรับเปลี่ยนหน้าที่ รวมทั้งเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ บางที่นักศึกษาฝึกงานทำงานแทบไม่ต่างกับคนงานทั่วไป แต่ได้ค่าตอบแทนน้อย
เมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมเอส 31 สุขุมวิท สถาบันคีนันแห่งเอเชีย จัดกิจกรรมประชุมระดมความเห็นประกอบการนำเสนอผลการศึกษาโครงการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในระบบห่วงโซ่คุณค่าโลก โดย จิดาภา มีเพียร และจงดี จันทร์ดำ นักวิจัยสถาบันคีนันแห่งเอเชีย โดยมีภาครัฐและเอกชนเข้ารับฟัง การนำเสนอดังกล่าวเป็นการนำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้น โดยผู้วิจัยระบุว่าจะนำเอาข้อเสนอจากวงคุยไปสรุปเพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อภาครัฐในภายหลัง
ผู้วิจัยระบุว่า วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยนี้เพื่อวิเคราะห์การเข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่าโลกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทย เชื่อมโยงความเชื่อมโยงอุตสาหกรรมไทยกับห่วงโซ่คุณค่าโลก ผ่านการทบทวนวรรณกรรม การลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้ประกอบการและแรงงาน โดยการศึกษาทั้งเอกสารทบทวนวรรณกรรมทั้งไทยและต่างประเทศ ปัจจุบันมีโรงงานที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์กว่า 500 ราย ส่วนมากเป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อม ร้อยละ 50 รองลงมาเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่คือร้อยละ 27 โรงงานส่วนใหญ่หรือร้อยละ 49 กระจายตัวอยู่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล รองลงมาคือพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคกลาง
ผู้วิจัยระบุว่าจากการสำรวจผู้ประกอบการจำนวนทั้งสิ้น 60 ราย แบ่งเป็นขนาดกลางร้อยละ 58 ขนาดเล็กร้อยละ 34 และขนาดใหญ่ร้อยละ 8 ร้อยละ 75 เป็นบริษัทข้ามชาติ ขณะที่ร้อยละ 25 เป็นบริษัทที่มีเจ้าของเป็นผู้ประกอบการไทย พบว่าในจำนวนนี้ ร้อยละ 43 หรือ 26 รายนั้นไม่มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการ ขณะที่ร้อยละ 57 หรือ 34 รายนั้นมีการปรับเปลี่ยน โดยแบ่งเป็น 24 ราย มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการ 5 รายมีการปรับเปลี่ยนหน้าที่ และอีก 5 ราย ปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตามความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมนี้ยังสูงขึ้นอย่างน้อยถึงปี 2020 โดยที่ร้อยละ 50 ต้องการแรงงานที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษา หมายถึงต้องการจ้างแรงงานที่มีทักษะต่ำมากกว่าแรงงานในระดับทักษะสูง
ในเชิงประมาณนั้นไปสำรวจแรงงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 200 คน ทั้งโรงงานขนาดใหญ่ กลางและเล็ก ร้อยละ 78 เป็นแรงงานในสายการผลิต ร้อยละ 13 เป็นช่วงเทคนิค และร้อยละ 7 เป็นวิศวกร พบว่า ชั่วโมงการทำงานของแรงงานโดยเฉพาะในส่วนสายการผลิตเฉลี่ยต่อวันคือ 10 ชั่วโมง เฉลี่ยทำงานเดือนละ 24-25 วัน และจากการศึกษาพบว่าภายในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ชั่วโมงการทำงานของแรงงานยังคงเหมือนเดิม
นอกจากนี้ยังพบว่าแรงงานสายการผลิตส่วนใหญ่การฝึกอบรมเกิดขึ้นระหว่างการดำเนินงาน แรงงานในระดับช่างเทคนิคและวิศวกรจะมีโอกาสในการได้รับการพัฒนาทักษะ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งจากบริษัทแม่และหน่วยงานที่เป็นลูกค้า แรงงานในส่วนที่เป็นแรงงานประจำได้รับสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐาน สวัสดิการที่ได้รับจากสถานประกอบการส่วนใหญ่ประกอบด้วย ค่ารักษาพยาบาล เครื่องแบบ ประกันสังคม ในบางสถานประกอบการมีการจัดรถรับ-ส่งพนังงานด้วย
ทีมวิจัยเล่าถึงการเก็บข้อมูลในเขตอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ซึ่งพบรูปแบบการจ้างงานแบบ Out Source รวมทั้งพบรูปแบบการทำงานใหม่บางโรงงาน จากกรณีที่อาชีวะศึกษาที่มีระบบทวิภาคีเพื่อให้มาฝึกงานในโรงงานยกระดับศักยภาพของนักศึกษา แต่ปรากฏว่าที่พบนักศึกษาเหล่านั้นเข้ามาอยู่ในสายการผลิตและกลายเป็นแรงงานราคาถูก ทำงานเหมือนพนักงานที่ต้องทำถึง 9-10 ชั่วโมงเหมือนพนักงานทั่วไป นักศึกษาเหล่านั้นยืนยันว่ามีการแจ้งเรื่องเหล่านี้ไปยังสถานศึกษา แต่ด้วยความที่ว่ายังต้องพึ่งพาผู้ประกอบการทำให้ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข มันจะไม่มีปัญหาหากนักศึกษาที่เข้าไปทำแล้วได้รับสวัสดิการที่ใกล้เคียงหรือเท่ากับของพนักงานทั่วไป แต่สิ่งที่ได้มันน้อยกว่า ขณะที่ทำงานในปริมาณที่เท่าๆ กัน
แรงงานได้เปล่าชื่อ ‘นักศึกษาฝึกงาน’: สวัสดิการไม่ต้องมี โอทีไม่ปรากฏ บาดเจ็บ-ตายรันทดจบง่าย
จิดาภา โดยสรุปโดยหวังว่า การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อกัน การทำงานที่บูรณาการของภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษาและแรงงาน ที่ทำงานคู่กันไป ภาครัฐก็มีนโยบายที่ชัดเจน และสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเข้าถึงเทคโนโลยี เชื่อว่าหากพัฒนาทุกอย่างไปจะทำให้อุตสาหกรรมของเรามีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น
สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์นั้น เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญของประเทศ ไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่ม Tier 2 ในปี 2560 คิดเป็นร้อยละ 15 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ
แสดงความคิดเห็น