Posted: 16 Nov 2018 09:55 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatia.com)
Submitted on Sat, 2018-11-17 12:55


'สมุดเบาใจ' จัดทำโดยกลุ่ม Peaceful Death กลุ่มคนที่สนับสนุน 'การอยู่ดีและตายดี' ให้เป็นนิยามง่ายๆ ของผู้คนในสังคมไทย โดยใช้เครื่องมือการสื่อสาร เรียนรู้และจัดกิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลาย

สมัยเด็กๆ ทุกคนจะมีไดอารี่เล่มเล็กๆ บอกเล่าชีวิตประจำวันและความฝันว่าอยากจะทำโน่น นี่ นั่น ... เมื่อเติบโตขึ้น หลายคนมีหน้าที่การงานรัดตัว เริ่มหลงลืมไดอารี่เล่มเดิม มานึกขึ้นได้อีกครั้งวันวัยก็ร่วงโรยห่างไกลจากครั้งที่เริ่มเขียนไดอารี่เล่มแรกไปไกลโข

ถ้าใครอยากเขียนบันทึกชีวิตตัวเองอีกครั้ง ขอแนะนำ 'สมุดเบาใจ' ที่คงไม่ใช่ไดอารี่สวยหรูเพ้อฝัน แต่เป็นสมุดโน้ตที่บอกเล่า “ความต้องการของฉัน” เกี่ยวกับสุขภาวะในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตและ 'การตายดี'

สมุดเบาใจ จัดทำโดยกลุ่ม Peaceful Death กลุ่มคนที่สนับสนุน 'การอยู่ดีและตายดี' ให้เป็นนิยามง่ายๆ ของผู้คนในสังคมไทย โดยใช้เครื่องมือการสื่อสาร เรียนรู้และจัดกิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลาย

การอยู่ดี...คงไม่แปลกอะไร เพราะทุกคนล้วนปรารถนาอยู่แล้ว แต่การตายดี..ดูจะยังเป็นเรื่องใหม่ที่สังคมไม่คุ้นเคย

สมุดเบาใจ เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยทบทวนใคร่ครวญชีวิต เป็นหนึ่งในรูปแบบของ Living Will หรือหนังสือแสดงเจตนาล่วงหน้าเกี่ยวกับสุขภาพช่วงสุดท้ายและการตายดี ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 12

สมุดเล็กๆ จะช่วยบอกกล่าวแนวทางและสิทธิในการเลือกรักษาพยาบาลยามเจ็บไข้ได้ป่วยว่า แพทย์ พยาบาล หรือญาติพี่น้องใกล้ชิด ควรจะทำได้แค่ไหน อย่างไร กับร่างกายของเรา ช่วยให้พวกเขาไม่ต้องเดาใจยามที่เราป่วยหนักหมดสติไป หรือไม่สามารถสื่อสารได้ นำไปสู่การตายอย่างสงบตามธรรมชาติ คล้ายๆ 'พินัยกรรมชีวิต' นั่นเอง

เนื้อหาในสมุดครอบคลุม 5 ประเด็น คือ 1.การกู้ชีพ เมื่อเจ็บป่วยระยะสุดท้ายต้องการดูแลคุณภาพชีวิตอย่างไร ให้แพทย์ปั๊มหัวใจ เจาะคอ ใส่ท่อช่วยหายใจ ฯลฯ หรือไม่ 2.ความสุขสบายที่ต้องการ จะรักษาตัวที่โรงพยาบาล อยากกลับบ้านอยู่กับครอบครัว หรือใช้ยาระงับความเจ็บปวดระดับใด 3.การปฏิบัติจากคนอื่นๆ ที่ต้องการ ขอให้เราตายอย่างสงบไม่เร่งหรือยืดออกไป การได้ระลึกถึงสิ่งดีงาม สัมผัสสุดท้ายและโอบกอดจากคนที่รัก ฯลฯ

4.การจัดการร่างกายและงานศพ ขอให้คนข้างหลังช่วยบริจาคอวัยวะ หรือจัดฌาปนกิจเรียบง่ายประการใด 5.ผู้แทนการตัดสินใจด้านสุขภาพ ระบุรายละเอียดให้ชัดว่าสุดท้ายแล้วใครคือผู้จะบอกแพทย์ว่ารักษาได้แค่ไหน ภายใต้เจตนารมณ์ของผู้ป่วย

นพ. ชนินทร์ ลิ่มวงศ์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

นพ. ชนินทร์ ลิ่มวงศ์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำให้ทุกคนทำพินัยกรรมชีวิตหรือสมุดเบาใจเก็บไว้ เปรียบเสมือนมีแผนการรักษาล่วงหน้า หรือ Advance care plan เพื่อความชัดเจนในการรักษา เมื่อภาวะสุดท้ายมาถึงซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ แต่ปัญหาคือผู้ป่วยจำนวนมากยังไม่มีแผนไปสู่การตายดี

ที่สำคัญ คือ เมื่อเขียนสมุดเบาใจเสร็จแล้ว ช่วยบอกกล่าวให้ลูกหลานใกล้ชิดได้รู้ล่วงหน้าว่ามีรายละเอียดอะไรบ้างและเก็บไว้ตรงไหน เพื่อหยิบฉวยมาใช้ยามจำเป็นได้ทัน



อีกเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารว่าความตาย ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไป ก็คือ 'เกมไพ่ไขชีวิต' ชวนให้ผู้คนมาล้อมวงสร้างบทสนทนาเรื่องราวเกี่ยวกับวาระสุดท้ายอย่างสนุกสนาน

วงไพ่จะมีผู้เล่นประมาณ 4-6 คน เลือกใครคนหนึ่งที่ใจร่มๆ ใจกว้างๆ เป็น 'เจ้ามือ' เพื่ออำนวยความสะดวกในการสนทนา และทุกคนควรมีเวลาประมาณ 40 นาทีขึ้นไปต่อเกม

รูปแบบของไพ่ก็เหมือนที่เราเห็นทั่วไป เพียงแต่แบ่งสีให้น่าสนใจ โดยเจ้ามือจะแจก ไพ่กดไลค์ (Like) ใบสีชมพูให้แก่ผู้เล่นทุกคน ก่อนจะอุ่นเครื่องด้วย 'ไพ่คำถาม' ว่าแต่ละคนกังวลใจหรือคาดหวังอะไรกับการเล่นเกมครั้งนี้หรือไม่...

เมื่อทุกคนพร้อม เจ้ามือก็จะให้เลือก 'ไพ่คำถาม' แห่งชีวิต เช่น จะทำอย่างไรหากคุณป่วยหนัก รักษาไม่หาย อยู่ในวาระสุดท้ายและต้องใช้อุปกรณ์ช่วยชีวิต อยากให้ใครตัดสินใจแทนคุณ?

ถ้าหมอบอกว่าคุณจะมีชีวิตเหลืออยู่ 6 เดือน คุณจะบอกข่าวนี้ให้ใครทราบบ้าง?

สามคำแรกที่คุณคิดถึง เมื่อได้ยินคำว่า Palliative Care หรือ การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง ?

อะไร คือสิ่งสำคัญที่สุด ที่คุณต้องการทำให้สำเร็จก่อนตาย?

ทุกคนในวงไพ่ จะได้พูดถึงความในใจของตัวเอง ความหวัง ความปรารถนา สิ่งที่ค้างคาความรู้สึกที่มีต่อความตายซึ่งต้องมาถึงในสักวันโดยอาศัยไพ่สีชมพูแสดงความถูกใจ

ใครได้ไพ่ 'กดไลค์' นี้มากที่สุดคือผู้ชนะ(ใจ) รอบวง

มัณฑนา บรรณาธรรม หนึ่งในวิทยากรบอกว่า เครื่องมือนี้ถูกคิดค้นในต่างประเทศเพื่อเปิดประเด็นการพูดคุยเรื่องชีวิตและความตาย ซึ่งแต่เดิมสังคมไทยมองเป็นเรื่องไม่ค่อยมงคลเท่าไหร่ แต่จริงๆ แล้วความตายเป็นมิตร ไม่ได้ห่างไกลตัวเรา และยังมีแง่มุมที่ดีต่างๆ ให้เรียนรู้

ขณะที่ เอกภพ สิทธิวรรณถนะ ผู้แทนกลุ่ม Peaceful Death บอกว่าการสื่อสารเพื่อสร้างแรงบันดาลใจเรื่องการตายดีมีความสำคัญมาก จะทำให้เกิดการช่วยเหลือกันเพื่อดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายมากขึ้น ซึ่งเวทีสร้างสุขที่ปลายทาง ปีที่ 2 เมื่อวันที่ 1-2 พ.ย. 2561 จัดโดยคณะทำงานสร้างสุขที่ปลายทาง โดยความร่วมมือขององค์กรด้านสุขภาพ 11 แห่ง ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซนเตอร์ แจ้งวัฒนะ สามารถขับเคลื่อนกิจกรรมและเชื่อมโยงเครือข่ายบุคลากรด้านการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้เข้มแข็งมากขึ้นในอนาคต

การขับเคลื่อนของทุกภาคส่วนในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้ 'การตายดี' ไม่ใช่เรื่องแปลก หรือ เรื่องต้องห้าม(พูด) ในสังคมไทยอีกต่อไป

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.