ที่มาภาพ: army.mil

Posted: 16 Nov 2018 06:59 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2018-11-16 21:59


ศาลฎีกาอินโดนีเซียตัดสินจำคุกครูมัธยมศึกษา 6 เดือน ฐานเผยแพร่บันทึกการสนทนาที่เธอถูกคุกคามทางเพศจากอดีตครูใหญ่ ทำให้คู่กรณีเสื่อมเสียชื่อเสียง ด้านองค์กรเครือข่ายเสรีภาพเผยแพร่วิดีโอที่เธออ้อนวอนขอความเป็นธรรมจากประธานาธิบดีโจโก วิโดโด องค์กรพิทักษ์สิทธิต่างๆ ออกมาวิจารณ์กฎหมายและการตัดสินว่าไม่เป็นธรรม กดขี่เสรีภาพในการแสดงออก

14 พ.ย. 61 ทางจาการ์ตาโพสต์รายงานข่าวว่าเมื่อศุกร์ที่ 11 พ.ย. 61 ได้มีการตัดสินจำคุก ไบก์ นูริล มักนุม ครูมัธยมศึกษาชาวเมืองมะตะรัม โดยโทษของเธอมาจากความผิดที่ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง จากการที่เธอเผยแพร่บันทึกการสนทนาของมุสลิม ผู้เป็นอดีตครูใหญ่ประจำโรงเรียนที่เธอสอน และเขาได้ติดต่อนูริลทางโทรศัพท์พร้อมทั้งใช้คำพูดส่อไปเชิงลามกอนาจาร บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ของเขากับเหรัญญิก พร้อมทั้งบอกกับเธอว่าถ้ามีเวลาก็เจอกับเขาที่โรงแรมบ้าง

คำสั่งจำคุกครั้งนี้เป็นคำสั่งของศาลฎีกา มีรายละเอียดให้จำคุกนูริล 6 เดือน และปรับเป็นเงิน 500 ล้านรูเปียห์ (คิดเป็นเงินไทยราว 1,133,745 บาท) โทษฐานที่เธอละเมิดมาตรา 27 ในกฎหมายว่าด้วยข่าวสารและธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยเป็นการกลับคำตัดสินของศาลชั้นตั้นที่ตัดสินว่าเธอไม่มีความผิด

ในปัจจุบัน กฎหมายควบคุมสื่อฉบับดังกล่าวก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงถึงความชอบธรรม เนื่องเพราะมีผู้ถูกจำคุกด้วยกฎหมายฉบับนี้ในข้อหาหมิ่นประมาทจากการแสดงความคิดเห็น มุมมองและวิพากษ์วิจารณ์บนพื้นที่ออนไลน์และโซเชียลเน็ตเวิร์ก องค์กรเครือข่ายอิสรภาพในการแสดงออกแห่งเอเชียตะวัยออกเฉียงใต้ (SAFEnet) ได้บันทึกไว้ว่า มีผู้ถูกจำคุกจากกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อย 381 ราย นับแต่มีการประกาศใช้ในปี 2008 โดยร้อยละ 90 ของคดีทั้งหมดเป็นโทษจากการหมิ่นประมาท และที่เหลือเป็นโทษจากการใช้คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง

สำหรับกรณีของนูริลนั้น เดิมทีเธอกลัวที่จะเปิดเผยเหตุการณ์ที่เธอพบเจอ ในขั้นต้นเธอเพียงเก็บเรื่องราวให้รู้กันแค่กับเธอและแม่ อย่างไรก็ตาม เมื่อมุสลิมโทรหาเธออีกครั้ง เธอตัดสินใจบันทึกการสนทนา และเพื่อนร่วมงานของเธอ อิมัม มุดาวิน ที่ได้นำบันทึกการสนทนาดังกล่าวยื่นรายงานต่อหน่วยงานด้านการศึกษาของเมืองมะตะรัม และจากการยื่นรายงานครั้งนั้น ทำให้มุสลิมถูกปลดจากตำแหน่ง และในเวลาต่อมาเขาก็ได้แจ้งความกับทางตำรวจว่าเธอเป็นผู้เผยแพร่บันทึกการสนทนา ซึ่งนูริลก็ยืนยันว่าเธอไม่ได้เป็นผู้เผยแพร่ อย่างไรก็ตาม มุสลิมก็ได้เข้ารับตำแหน่งในหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่อีกครั้ง

และเมื่อวันที่ 13 พ.ย. 61 ช่องยูทูบที่ชื่อว่า contact safenet ซึ่งเป็นช่องของ SAFEnet ได้เผยแพร่วิดีโอความยาวประมาณ 1 นาที ซึ่งเป็นวิดีโอที่นูริลออกมาร้องขอประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ให้ปล่อยตัวเธอ โดยสิ่งเธอพูดมีเนื้อหาว่า “ท่านประธานาธิบดี ชั้นเพียงแค่เรียกร้องความเป็นธรรม เพราะฉันเป็นเหยื่อ.... ฉันผิดด้วยหรือที่ฉันพยายามปกป้องตัวเองด้วยวิธีของฉัน?”

ด้านฟุรฺกัน รูดี เออร์มันซะห์ อาสาสมัครจาก SAFEnet ซึ่งเป็นทั้งผู้ที่บันทึกวิดีโอเรียกร้องความเป็นธรรมและช่วยเหลือนูริลมาตลอดตั้งแต่ช่วงที่เกิดเรื่องในปลายปี 2557 เชื่อว่านูริลคือเหยื่อของการคุกคามทางเพศและเป็นเหยื่อของครูใหญ่ที่ไล่เธอออกทั้งๆ ที่เธอไม่มีความผิด โดยเขายังได้กล่าวเพิ่มเติมกับทางจาการ์ตาโพสต์ว่า เขาต้องการให้ทางประธานาธิบดีและผู้มีอำนาจในประเทศช่วยเหลือนูริล เธอเป็นเหยื่อซ้ำยังถูกลงโทษ ค่าปรับที่ศาลสั่งนั้นสูงเกินกว่าที่ครอบครัวของเธอจะรับไหว นูริลไม่เพียงต้องออกจากงานเมื่อเรื่องเริ่มแดง สามีเธอเองก็ต้องออกจากงานเก่าเพื่อมาดูแลลูกทั้งสามคน

“กรณีของนูริลจะทำให้ผู้หญิงอินโดนีเซียที่ตกเป็นเหยื่อการคุกคามทางเพศกลัวที่จะเปิดเผยว่าเธอประสบพบเจออะไรมาบ้าง” อิเกอ นิงเตียส อาสาสมัคร SAFEnet อีกคนได้แสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ โดยเขาได้กล่าวต่อว่า “เพราะพวกเธอจะกลัวการต้องถูกกฎหมายลงโทษอย่างที่นูริลกำลังเผชิญ ซึ่งนี่ถือเป็นตัวอย่างที่แย่ของการคงไว้ซึ่งการละเมิดและคุกคามทางเพศในอินโดนีเซีย”

ทางฝั่งกรรมการบริหารของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สาขาอินโดนีเซีย อุสมาน ฮามิด ได้แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า การตัดสินของศาลที่ลงโทษนูริลเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล เธอไม่ควรถูกลงโทษเพียงเพราะเธอบันทึกการถูกละเมิดจากนายจ้าง “การพูดถึงเรื่องเพศที่ชัดเจน และการล่วงละมิดในบทสนทนาก่อให้เกิดการคุกคามทางเพศ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญก่อน ควรมีการสืบสวน แต่อย่างกับล้อกันเล่นที่ในด้านหนึ่งเหยื่อซึ่งคาดว่าถูกคุกคามทางเพศถูกตัดสินโทษ อีกด้านหนึ่งกลับแทบไม่มีการดำเนินการจากผู้มีอำนาจในการสอบสวนหาความจริงๆ เลย”

ฮามิดยังได้กล่าวถึงกรณีของนูริลว่าเป็นการใช้กฎหมายในฐานะเครื่องมือปราบปรามประชาชน “คำนิยามที่คลุมเครือของ ‘การใส่ร้าย’ ‘การหมิ่นประมาท’ และการแสดงออกที่ไม่เหมาะสม มักถูกใช้การละเมิดและควบคุมเสรีภาพในการแสดงออก ในกรณีนี้ เห็นได้ว่าผู้หญิงถูกตัดสินลงโทษเพื่อให้การละเมิดที่เธอประสบนั้น ได้รับการแก้ต่าง”

ทางด้านองค์กรชุมชนเหยื่อของกฎหมาย ITE (Paku ITE) ก็ได้จัดแคมเปญระดมเงินทุนเพื่อช่วยหาเงินจ่ายค่าปรับให้แก่นูริลเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยยอดบริจาคเมื่อวันที่ 15 พ.ย. คือ 89 ล้านรูเปียห์ ในขณะที่วิดีโอของทาง SAFEnet ก็มียอดแชร์ราว 8,900 ครั้งแล้ว

แปลและเรียบเรียงจาก

Defamation convict allegedly harassed multiple times by superior, The Jakarta Post, Nov. 15, 2018

Jailed for reporting her alleged sexual offender, Mataram woman cries for help, The Jakarta Post, Nov. 14, 2018

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.