Posted: 26 Nov 2018 04:54 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-11-26 19:54
สปสช. กรมควบคุมโรค สภากาชาดไทย ภาคีเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ลงนามความร่วมมือ “ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย” มุ่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เอดส์ชาติ บรรลุเป้า “ยุติปัญหาเอดส์ ปี 2573” พร้อมแจงแนวทางบริการป้องกันติดเชื้อเอชไอวี กองทุนบัตรทองปี 2562 กสม. ย้ำผู้ติดเชื้อเอชไอวีต้องไม่ถูกกีดกันสิทธิการเข้าถึงการจ้างงานทั้งในหน่วยงานรัฐ/เอกชน แนะรัฐบาลเร่งส่งเสริมความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อ - ป้องกันการเลือกปฏิบัติ
26 พ.ย.2561ที่ รร.เซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการฯ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมควบคุมโรค สภากาชาดไทย และองค์กรภาคีและเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ ร่วมลงนามความร่วมมือในการดำเนินงานป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย พร้อมร่วมประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ประจำปีงบประมาณ 2562 โดยมีผู้บริหาร เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค ผู้แทนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานป้องกันและควบคุมโรคเขตทุกแห่ง องค์กรภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เอดส์ เป็นปัญหาสาธารณสุขที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญเพื่อยุติการแพร่กระจายโรค ประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์อย่างมุ่งมั่นที่จะยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573โดยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560-2573 มีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ 1.ลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่เหลือไม่เกิน 1,000 ราย/ปี 2.ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวีเหลือปีละไม่เกิน 4,000 ราย และ 3.ลดการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวีและเพศภาวะลงจากเดิมร้อยละ 90
ในส่วนกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้สนับสนุนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ฯ มาอย่างต่อเนื่อง โดยปีงบประมาณ 2562 รัฐบาลจัดสรรงบบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์จำนวน 3,046 ล้านบาท เป็นงบบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจำนวน 200 ล้านบาท แต่การบรรลุเป้าหมายได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน นำมาสู่การลงนาม “ความร่วมมือในการดำเนินงานป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย”ครั้งนี้ เพื่อผนึกกำลังร่วมกันให้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแผนงานระดับโลกเพื่อทราบสถานการณ์ติดเชื้อของตนเองตามคำขวัญที่ว่า “ตรวจเร็ว รักษาเร็ว ยุติเอดส์”
ส่วนการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ปีงบประมาณ 2562 เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจแนวทางดำเนินงานปีนี้ และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การดำเนินงาน สะท้อนปัญหาและอุปสรรคสู่การปรับปรุงและพัฒนางานป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี พร้อมเชื่อมโยงทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน 3 ประการ คือ ไม่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ไม่มีการเสียชีวิตเนื่องจากเอดส์ และไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ สู่ความสำเร็จในการยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573
นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ไทยเป็นหนึ่งใประเทศที่ประสบความสำเร็จการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ให้เข้าถึงการรักษา รวมถึงการป้องกันและลดอัตราการติดเชื้อรายใหม่ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากรายงานสถานการณ์เอชไอวี ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ ปี 2559 พบผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ 6,200 ราย หรือเฉลี่ยวันละ17 ราย ความสำเร็จนี้เป็นผลของความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยศูนย์วิจัยโรคเอดส์เป็นหน่วยงานที่ร่วมขับเคลื่อน และเพื่อให้การควบคุมและป้องกันเอดส์เป็นไปอย่างมีประสิทธิผล ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ฯ ได้กำหนดเป้าหมายลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ให้เหลือไม่เกิน 1,000 ราย/ปี
ทั้งนี้แม้ว่าปัจจุบันสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ครอบคลุมทั้งการรักษาและการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีแล้ว แต่เป้าหมายยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ฯ จะเกิดขึ้นได้ต้องมีกระบวนการขับเคลื่อนโดยใช้กลไก “ตรวจเร็ว รักษาเร็ว ยุติเอดส์” เนื่องจากปัจจุบันยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่ยังไม่ทราบสถานการณ์การติดเชื้อของตนเอง เพราะผู้ติดเชื้อระยะแรกส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการและทราบได้โดยการตรวจเลือดเท่านั้น ดังนั้นการตรวจเร็วและรักษาเร็วจึงสำคัญอย่างยิ่งต่อการลดการแพร่กระจายเชื้อและลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่
นพ.ประพันธ์ กล่าวต่อว่า การลงนามความร่วมมือเพื่อดำเนินงานป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยในครั้งนี้ ได้แสดงถึงเจตนารมณ์ความมุ่งมั่นของหน่วยงานและภาคีเครือข่ายภาคีที่เกี่ยวข้อง ส่งผลต่อร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาเอดส์อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น ประกอบกับความเสียสละและทุ่มเทแรงกายแรงใจของคนทำงานและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน เชื่อว่าจะทำให้ประเทศไทยประสบผลสำเร็จอีกครั้งเพื่อยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573
กสม. ย้ำผู้ติดเชื้อเอชไอวีต้องไม่ถูกกีดกันสิทธิการเข้าถึงการจ้างงาน
วันเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สนง.กสม.) รายงานว่า ฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านสิทธิผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก การศึกษา และการสาธารณสุข เปิดเผยถึงกรณีที่มีผู้ร้องเรียนมายังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่า ถูกเลือกปฏิบัติในการสมัครเข้าทำงานเนื่องจากเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus : HIV) จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างกำหนดให้การตรวจหาเชื้อเอชไอวีเป็นเงื่อนไขในการพิจารณารับเข้าทำงาน ทั้งที่ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกและศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ยืนยันว่าการติดเชื้อมีได้เพียง 2 ทาง คือ 1. การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย และ 2. การใช้เข็มฉีดยา (เสพติด) ร่วมกัน ซึ่งปัจจุบันมียาต้านไวรัสที่ให้ผลการรักษาเป็นอย่างดี ผู้ติดเชื้อเอชไอวีจึงสามารถมีสุขภาพที่แข็งแรง สามารถดำรงชีวิตหรือทำกิจกรรมได้เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป ดังนั้น สถานะการเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีจึงไม่ควรเป็นอุปสรรคต่อการทำงานไม่ว่าในตำแหน่งใด
ฉัตรสุดา ระบุว่า เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้รับการคุ้มครองสิทธิในการทำงานและไม่ถูกเลือกปฏิบัติจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อันสอดคล้องกับหลักความเสมอภาคและความเท่าเทียมของบุคคลที่ได้รับการรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights – ICESCR) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รวมทั้งแนวปฏิบัติระหว่างประเทศว่าด้วยเชื้อเอชไอวี/เอดส์และสิทธิมนุษยชน (International Guidelines on HIV/AIDS and Human Rights) เนื่องในวันเอดส์โลก 1 ธันวาคม ที่จะถึงนี้ จึงขอเสนอแนะและเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนทุกแห่งพิจารณายกเลิก ปรับปรุง แก้ไข กฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือเงื่อนไขการตรวจหาเชื้อเอชไอวีก่อนรับเข้าทำงานในทุกตำแหน่ง และขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเร่งเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเชื้อเอชไอวีต่อไป เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีซึ่งสามารถใช้ชีวิตอย่างปกติร่วมกับคนทั่วไป ได้มีสิทธิในการทำงานและการเข้าถึงการจ้างงานโดยปราศจากเงื่อนไขในที่สุด
แสดงความคิดเห็น