Posted: 26 Nov 2018 07:07 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-11-26 22:07


นุชประภา โมกข์ศาสตร์

นับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมาระบบเศรษฐกิจโลกได้พัฒนาภายใต้ระบบ “โลกาภิวัฒน์เสรีนิยมใหม่” (Neo-liberal Globalization) ทำให้หลายประเทศเผชิญกับคลื่นการเปลี่ยนแปลงนานัปการทั้งในส่วนของสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การปะทะกันระหว่างพลเมืองที่แบ่งออกเป็นสองขั้ว (polarization) การประสบกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เช่น วิกฤตการณ์ซับไพร์ม ค.ศ. 2008 วิกฤตหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นใน กรีซ สเปน อิตาลี ไอซ์แลนด์ ฯลฯ รวมถึงวิกฤตเงินเฟ้ออย่างรุนแรง (hyperinflation) ในเวเนซูเอล่า

ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจ การถดถอยของระบอบประชาธิปไตยทำให้โลกอยู่ในบริบทของ “ความไม่มั่นคง” และ “ความเสี่ยง” อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเฉพาะความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จนมีความกังวลว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าโลกจะเผชิญกับภาวะ “tipping point” หรือภาวะที่โลกไม่สามารถกลับคืนเป็นเหมือนเดิมได้อีกต่อไป

การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นทำให้หลายประเทศเผชิญกับช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของการคิดค้นแนวทางการพัฒนาแนวทางใหม่ (new development approach) เพื่อบรรเทาสภาพปัญหารวมถึงผลกระทบและวิกฤตการณ์จากสภาวะเศรษฐกิจ การเมือง สังคม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างฉับพลัน ปัจจุบันการพัฒนาที่ยั่งยืนกลายเป็นแนวทางที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญไม่ต่างจากบริบทการส่งเสริมการมีงานทำเต็มที่และการสร้างความมั่นคงในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 1929 โดยการหันมาให้ความสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนของหลายประเทศนั้นส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการตั้งคำถามต่อรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมที่เชื่อว่าเมื่อประเทศทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตได้สำเร็จเม็ดเงินจากกำไรจะหลั่งไหลลงไปสู่สังคมโดยอัตโนมัติ หรือหลักคิดเกี่ยวกับการทำให้ผลประโยชน์ไหลจากส่วนบนลงไปยังส่วนล่าง (tickle down effect)

อย่างไรก็ตามผลลัพธ์กลับขัดแย้งกับหลักทฤษฎีที่ได้เคยกล่าวไว้ เนื่องจากกลไกการสะสมทุนอย่างเข้มข้น (capital accumulation) ทำให้ช่องว่างระหว่างช่วงชั้นทางเศรษฐกิจคือคนรวยคนจนทวีความรุนแรงและถ่างกว้างมากขึ้น เกิดการผูกขาดรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัทขนาดใหญ่ จนนำมาสู่การกระจุกตัวของความมั่งคั่งและปัญหาความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นความเชื่อที่เคยมองว่าเม็ดเงินจากสภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวจะส่งผลให้ผลประโยชน์ของสังคมเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติจึงไม่ได้เกิดขึ้นจริง ขณะที่การพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development) มีความแตกต่างจากความเชื่อดังกล่าวเนื่องจากมีการนำมิติของ “ประชาธิปไตย” เข้ามาเป็นส่วนประกอบในการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อสร้างสมดุลการพัฒนาที่ตอบรับกับผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ของสังคม

การพัฒนาที่ยั่งยืนมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ในบางประเทศที่เปลี่ยนผ่านสังคมเข้าสู่ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมประชาชนส่วนใหญ่เป็นแรงงาน กลไกการจัดสรรทรัพยากรจำเป็นต้องให้รัฐเข้ามาแทรกแซงเพื่อนำส่วนเกินทางเศรษฐกิจมากระจายกลับไปสู่ประชาชน ตัวอย่างเช่น ประเทศในแถบยุโรปเหนือเป็นกลุ่มประเทศที่มีความโดดเด่นในด้านการพัฒนาที่นำทางสายกลาง (The middle way) มาปรับใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ มีการจัดการเศรษฐกิจแบบผสม (mixed economy) ระหว่างระบบทุนนิยมกับระบบสังคมนิยมเพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเมือง ประเทศในแถบนี้จึงมุ่งไปที่การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำผ่านกลไกทางสถาบัน โดยพัฒนาระบบรัฐสวัสดิการเพื่อเชื่อมประสานประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ กับความเสมอภาคทางสังคมเพื่อลดผลกระทบของระบบทุนนิยม ลักษณะของรัฐสวัสดิการจึงเป็นการส่งตัวแทนจากองค์กรแรงงานเข้าไปในระบบการเมืองเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับกลุ่มทุน รัฐสวัสดิการจึงเป็นการสร้างความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตยในมิติเศรษฐกิจและมิติทางสังคมที่เสริมสร้างความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยให้กับประชาชน (trygghet) บรรเทาปัญหาความยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำ รวมถึงปัญหาการแบ่งขั้วทางการเมือง นอกจากนี้หลัก “กระจายซ้ำทรัพยากร” (redistribution) ภายใต้รัฐสวัสดิการยังเป็นหลักประกันการพัฒนาประชาธิปไตยที่ยั่งยืน (sustainable democracy) อีกด้วย

ทั้งนี้การพัฒนาที่ยั่งยืนอาจมีรูปแบบอื่นนอกเหนือจากรัฐสวัสดิการ เช่น ในสังคมเกษตรกรรมแบบเอเชียที่ดินคือปัจจัยการผลิตที่มีความสำคัญต่อประชาชน ทำให้การเกษตรมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิต กลายเป็นวิถีชีวิตและเป็นภูมิปัญญาที่มีการสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน สำหรับประเทศไทยมีการปรับใช้หลักทางสายกลางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสร้างวิถีชีวิตแบบพึ่งพาตัวเอง และลดการพึ่งพาระบบเศรษฐกิจแบบเงินตราที่มีความผันผวนและมีความสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ เช่น หนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะ ฯลฯ การพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้หลักเศรษฐกิจพอเพียงจึงให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิคุ้มกันและการปรับสมดุลชีวิต รวมถึงการสร้างความมั่นคงปลอดภัยภายใต้ความสัมพันธ์ต่างตอบแทนและความสัมพันธ์แบบครัวเรือนระหว่างคนในชุมชน ขณะเดียวกันประชาชนที่อาศัยอยู่รวมกันเป็นชุมชนสามารถจัดตั้งสหกรณ์เพื่อกระจายถ่ายโอนทรัพยากรจากส่วนกลางไปสู่พื้นที่อื่นๆ ของชุมชนเหมือนระบบสหกรณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เพื่อสร้างดุลยภาพและความยั่งยืนภายในชุมชน

อย่างไรก็ตามข้อสังเกตที่หลายคนมีต่อหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือ การมองว่าหลักของความพอเพียงไม่สามารถปรับให้เข้ากับสภาพของสังคมสมัยใหม่ได้ เพราะเน้นการกลับไปใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ และการทำเกษตรกรรมเป็นหลัก ไม่ได้นำพาให้ผู้คนมีชีวิตที่สะดวกสบาย รวดเร็ว และมีความมั่งคั่งเหมือนสังคมปัจจุบัน ทว่าหากลองพิจารณาถึงความเสี่ยงที่เกิดจากการพึ่งพาระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม โดยเรียนรู้ผ่านวิกฤตการณ์ที่เกิดกับโลกในปัจจุบันแล้วจะพบว่า ความพอใจที่เกิดจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันเกิดจากการสร้างสมดุลชีวิตเป็นภูมิคุ้มกันความทุกข์ที่มีความยั่งยืนมากกว่าการพึ่งพาระบบเศรษฐกิจแบบเงินตราเพราะในกรณีที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติการมีเงินอาจไม่สามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงน้ำและอาหารได้ เนื่องจากโรงงานผลิตน้ำได้รับผลกระทบจึงต้องปิดโรงงานชั่วคราว หรือกรณีวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง 2540 ที่รัฐปล่อยลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้มูลค่าของเงินลดลงอย่างรวดเร็วกลายเป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อคนไทย เงินจึงเป็นเพียงสื่อกลางการแลกเปลี่ยนที่มีความเสี่ยงและไม่ใช่ปัจจัยที่นำไปสู่ความยั่งยืนตามที่สังคมเข้าใจ นอกจากนี้ความทุกข์ที่เกิดจากระบบทุนนิยม ผ่านภัยพิบัติทางธรรมชาติ ผลกระทบจากโรคภัยไข้เจ็บ มลพิษในอากาศ สารเคมีในแม่น้ำลำคลอง ผลกระทบจากขยะพลาสติก ตลอดจนผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ฯลฯ เป็นตัวสะท้อนถึงความไม่แน่นอนของระบบเศรษฐกิจ ความยั่งยืนจึงจำเป็นต้องถูกนำกลับมาตีความใหม่เพื่อพัฒนาแนวทางเลือกที่เป็นเส้นทางสำรองไว้รับมือกับความผันผวนและความไม่แน่นอนของระบบทุนนิยมในปัจจุบันและอนาคต

ในประวัติศาสตร์โลกมีบทเรียนและแนวทางเลือกหลายแนวทางให้ประเทศต่างๆได้ศึกษาและลองนำมาปรับใช้ แนวทางหนึ่งคือแนวทางของรัฐสวัสดิการ ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาของระบบทุนนิยม ขณะที่อีกแนวทางคือแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อลดการทำลายธรรมชาติและการพึ่งพาระบบทุนนิยม ทั้งนี้การพัฒนาเศรษฐกิจที่เคยผิดพลาดสามารถนำมาสรุปบทเรียนเพื่อออกแบบการจัดการเศรษฐกิจที่ได้ดุลยภาพ และสอดรับกับบริบทยุคใหม่มากขึ้น เหมือนกับที่ จอห์น เอฟ เคนเนดี้เคยกล่าวว่า “สิ่งใดที่ออกแบบโดยมนุษย์ย่อมออกแบบใหม่ได้โดยมนุษย์”

ในบางประเทศที่เลือกเดินบนเส้นทางรัฐสวัสดิการจะมุ่งเน้นไปยังหลักของการกระจายทรัพยากร ประเทศในแถบยุโรปเหนือซึ่งมีทุนรอนจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอันเป็นผลของบริบทสังคม การเมืองในช่วงศตวรรษที่ 19-20 จึงมองว่าการจะทำให้ประเทศมีเสถียรภาพและมีความมั่นคงรัฐจำเป็นต้องสร้างหลักประกันขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน ดังนั้นรัฐจึงออกแบบระบบการจัดการเศรษฐกิจแบบรัฐสวัสดิการ กลไกการทำงานของรัฐสวัสดิการเกิดจากแนวคิดการกระจายความเท่าเทียมไปสู่สังคม หรือสอดคล้องกับทฤษฎีอ่างเก็บน้ำ การสร้างหลักประกันทางสังคมของประเทศในแถบสแกนดิเนเวียเปรียบเสมือนการปล่อยน้ำไหลออกจากอ่างเก็บน้ำเพื่อทำให้ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ เมื่อป่ามีความอุดมสมบูรณ์น้ำจะไหลกลับคืนมาสู่อ่างเก็บน้ำคือรัฐ กลายเป็นความอุดมสมบูรณ์ที่มากขึ้น การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนเปรียบเสมือนการพัฒนาผืนป่าที่เคยแห้งแล้งให้กลายเป็นแหล่งอาหาร แหล่งน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อสร้างชีวิต สร้างอนาคต โดยความเท่าเทียมที่ถูกกระจายออกไปจะย้อนกลับมาสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อรัฐในอนาคต

กระบวนการดังกล่าวจึงเป็นกลไกหรือนวัตกรรมในการป้องกันความเสี่ยงที่เกิดจากการมองเห็นข้อดีของการกระจายความเท่าเทียมไปสู่สังคม ที่สามารถนำไปปรับใช้ทั้งในระดับชุมชนและในระดับรัฐซึ่งเสถียรภาพ ความมั่นคง และความมั่งคั่งที่ถูกแบ่งปันออกไปคือหลักประกันการพัฒนาประชาธิปไตยที่ยั่งยืนคล้ายกับหลักทางสายกลางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่มุ่งสร้างหลักประกันในมิติของการพึ่งพาตัวเอง ความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นความยั่งยืนในอีกมิติหนึ่ง การศึกษากลไกการทำงานของรัฐสวัสดิการกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงมุ่งเน้นไปที่การสร้าง “ความมั่นคงปลอดภัย” ที่เกิดจากการจัดวางสมดุลระหว่างเศรษฐกิจกับสังคม และระหว่างชีวิตกับธรรมชาติ การพัฒนาที่แท้จริงจึงควรมุ่งเน้นไปที่สารัตถะหรือผลสัมฤทธิ์เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม รัฐสวัสดิการกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือหนึ่งในรูปธรรมหรือผลสัมฤทธิ์ของการนำแนวคิดทางสายกลางไปปรับใช้ภายใต้บริบทและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน

แม้ว่าทั้งสองการจัดการเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นคนละซีกโลกคือยุโรปกับเอเชีย แต่แนวคิดทั้งสองรูปแบบได้กลายเป็นทางเลือกที่นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่น่าพอใจในการจัดการกับปัญหาของระบบทุนนิยมอันเป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้หลักการจัดการของรัฐสวัสดิการกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีคุณูปการต่อสังคมที่ช่วยสะท้อนให้เห็นมิติการจัดการเศรษฐกิจที่หลากหลาย และทำลายความเชื่อของระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมที่มองว่ารูปแบบเศรษฐกิจที่เน้นประสิทธิภาพสูงสุดคือรูปแบบที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของสังคมได้ดีที่สุด ทั้งนี้การมองเห็นถึงข้อจำกัดและผลกระทบของระบบทุนนิยมที่เกิดขึ้นกับโลกสมัยใหม่ รวมถึงผลกระทบต่อผู้คน สังคม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าไม่จำเป็นที่โลกในศตวรรษที่ 21 ต้องมีระบบการจัดการเศรษฐกิจเพียงรูปแบบเดียวคือรูปแบบทุนนิยมเสรี แต่ทุกประเทศสามารถออกแบบและกำหนดเส้นทางการพัฒนาที่มีความหลากหลายเพื่อบูรณาการหลากมิติของการพัฒนาเข้าด้วยกันอันจะนำไปสู่เสถียรภาพ ความมั่นคง และความยั่งยืนในอนาคต

อ้างอิง
Maclellan, L. (2017). The Swedish concept of “trygghet” explains why having an erratic leader is so destabilizing. (Available on) : https://qz.com/949064/the-swedish-concept-of-trygghet-explains-why-having-an-erratic-leader-is-so-destabilizing/?fbclid=IwAR3AUMBxB39mPS0GKivxni-BmAzXDa9SgkE1mowILkZrYEkgc2e8UmzIz_o.
Maracaibo, the story of Venezuela's collapse. (Available on) https://www.youtube.com/watch?v=el3OlIaUrsU&feature=share.
นุชประภา โมกข์ศาสตร์.(2561). วิกฤติการณ์ของกระบวนทัศน์การพัฒนาในปัจจุบันและทางเลือกสำหรับอนาคต, คอลัมน์มุมมองบ้านสามย่าน. Online. http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/645669.
สาทิศ กุมาร.(2556). จาริกบนผืนโลก, แปลโดยอัฐพงษ์ เพลินพฤกษา, สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา, กรุงเทพมหานคร.

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.