Posted: 16 Nov 2018 07:55 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatia.com)
Submitted on Sat, 2018-11-17 10:55


สนช.มีมติเห็นชอบผ่านวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 169 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง เตรียมประกาศใช้เป็นกฎหมาย หวังปฏิรูปโครงสร้างภาษียกเลิกการเก็บภาษีบำรุงท้องที่ภาษีโรงเรือนและที่ดินแบบเดิม ปรับอัตราภาษีแบบถดถอยมาเป็นอัตราก้าวหน้า

เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2561 เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว หลัง สนช. มีมติรับหลักการไปตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 2560 โดยการประชุมครั้งนี้ เปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นและชี้แจงระหว่างสมาชิก สนช. กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมาย ที่มีนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ เป็นประธาน และสมาชิก สนช. ผู้เสนอแปรญัตติ ก่อนมีการลงมติร่างกฎหมายดังกล่าวรายมาตรา และท้ายที่สุดลงมติให้มีการประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นกฎหมาย ด้วยเสียง 169 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง โดยไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย

สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายเป็นการยกเลิกภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งประสบปัญหาที่ว่าการเก็บภาษีบำรุงท้องที่ ไม่ได้รับการปรับราคาปานกลางมาเป็นเวลานาน เป็นอัตราภาษีถดถอยและมีการยกเว้นลดหย่อนจำนวนมาก ขณะเดียวกันภาษีโรงเรือนและที่ดิน เดิมมีอัตราสูง ฐานภาษีซ้ำซ้อนกับภาษีเงินได้ และมีการใช้ดุลพินิจในการประเมินค่อนข้างสูง แต่การกำหนดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ จะช่วยปฏิรูปโครงสร้างระบบภาษีทรัพย์สินให้มีความทันสมัย เป็นสากลเช่นเดียวกับนานาประเทศซึ่งจากการศึกษามีการเทียบเคียงตัวเลขจากต่างประเทศ และเทียบเทียงผู้เสียภาษีเดิมทั้งกลุ่มที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อการพาณิชย์ และการอุตสาหกรรม ทั้งนี้ เป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และเพิ่มอิสระและประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งจะช่วยให้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง มีงบประมาณเพียงพอในการพัฒนาพื้นที่

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่จะนำมาใช้แทนภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีโรงเรือนและที่ดินนั้น มีผลต่อกลุ่มเกษตรกรรมคือเกษตรกรส่วนใหญ่จะมีภาระภาษีลดลงเมื่อเทียบกับปัจจุบัน แต่นิติบุคคลที่ทำเกษตรกรรมขนาดใหญ่จะมีภาระภาษีเพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มที่อยู่อาศัย ผู้มีที่อยู่อาศัยหลังเดียวมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี ผู้มีกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยหลายหลัง ต้องเสียภาษีที่อยู่อาศัยหลังที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยหลัก ขณะผู้เช่าอยู่อาศัยระยะยาว ซึ่งต้องรับภาระภาษีทางอ้อม จะได้รับประโยชน์จากภาษีที่ลดลง สำหรับกลุ่มธุรกิจพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม ธุรกิจ SMEs เก็บตามสัดส่วนการใช้ประโยชน์ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับภาษีโรงเรือนและที่ดินที่เสียอยู่ในปัจจุบัน ธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งมีทรัพย์สินมูลค่าสูงจะมีภาระภาษีสูงขึ้นจากอัตราก้าวหน้า ขณะธุรกิจที่เป็นบริการสาธารณะ อาทิ สถานศึกษาเอกชน สถานที่เล่นกีฬา จะได้รับการบรรเทาภาษี ส่วนกลุ่มที่ดินรกร้าง ต้องรับภาระภาษีสูงขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการนำที่ดินมาใช้ประโยชน์ ซึ่งจะช่วยลดการกักตุนที่ดินเพื่อเก็งกำไร

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.