Posted: 21 Nov 2018 06:09 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2018-11-21 21:09
ปกป้อง พงศาสนองกุล


รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่ร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ภายใต้การยึดอำนาจของคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเข้ามายึดอำนาจประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ได้กำหนดเงื่อนไขและวิธีการเลือกตั้งเอาไว้ดังนี้
  • ที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)
  • ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)
  • ที่มาของนายกรัฐมนตรี

สภาผู้แทนราษฎร

1. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 350 คน
2. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง จำนวน 150 คน
พรรคการเมืองใดส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว ให้มีสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้
ให้พรรคการเมืองจัดทำบัญชีรายชื่อพรรคละ 1 บัญชี โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งของแต่ละพรรคต้องไม่ซ้ำซ้อนกัน และไม่ซ้ำกับรายชื่อผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

การคำนวณหาจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค

การคำนวณจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ
1. นำคะแนนรวม “ทั้งประเทศ” ของ “ทุกพรรค” “ที่ส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ” ตั้ง แล้วหารด้วย 500 ซึ่งเป็นตัวเลขของ ส.ส. ทั้งหมด
2. นำผลลัพธ์ ตามข้อ 1 ไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศของ “แต่ละพรรค” ที่ได้มาจากการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต จำนวนที่ได้ ให้ถือเป็นจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคนั้นจะพึงมีได้
3. นำจำนวน ส.ส. ที่พรรคพึงมี ตามข้อ 2 ลบด้วยจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขต ที่พรรคนั้นได้รับการเลือกตั้ง ผลลัพธ์คือ จำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่จะได้รับ
4. ถ้าพรรคการเมืองใด ได้รับเลือกตั้งให้เป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต “เท่ากับ” หรือ “สูงกว่า” ส.ส. ที่พรรคนั้นพึงมี พรรคเหล่านั้นจะไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และให้นำจำนวน ส.ส. พึงมี เหล่านั้น ไปจัดสรรให้กับ พรรคการเมืองที่ได้คะแนนต่ำกว่าจำนวน ส.ส. พึงมี ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่เกินจำนวน ส.ส.ที่พึงมี ของแต่ละพรรค
5. เมื่อได้จำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อแล้ว ให้ผู้สมัครได้รับการเลือกตั้ง ตามลำดับหมายเลข

หากคะแนนไม่เลือกผู้ใด สูงกว่าผู้ได้อันดับ 1

เขตเลือกตั้งใด หากผู้ที่ได้คะแนนอันดับ 1 มีคะแนนน้อยกว่า “ไม่เลือกผู้ใด” ให้ดำเนินการจัดเลือกตั้งใหม่ โดยจะไม่นำคะแนนที่ได้ไปคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ
และการจัดเลือกตั้งใหม่ จะเปิดรับสมัครผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งใหม่ โดยผู้สมัครเดิมทุกรายไม่มีสิทธิสมัครในการเลือกตั้งใหม่นี้

จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่ออาจลดลงหากมีการเลือกตั้งใหม่

ในการเลือกตั้ง ถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ในบางเขต หรือเลือกตั้งไม่แล้วเสร็จ หรือยังไม่มีประกาศผลการเลือกตั้งครบทุกเขตไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ในกรณีที่ผลการคำนวณจำนวน ส.ส. พึงมี ลดลง ให้ ส.ส. บัญชีรายชื่อลำดับสุดท้ายพ้นจากตำแหน่งไปด้วย
ภายใน 1 ปี หลังจากวันเลือกตั้ง หากมีการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตใหม่ ด้วยเหตุผลต่างๆ หากจำนวน ส.ส. พึงมีลดลง ก็ให้ ส.ส. บัญชีรายชื่อลำดับสุดท้ายพ้นจากตำแหน่งเช่นกัน
แต่ถ้าเกินเวลา 1 ปี หลังจากการเลือกตั้งทั่วไป หากมีการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตใหม่ จะไม่มีผลต่อการคำนวณจำนวน ส.ส. พึงมี

วุฒิสภา

สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ประกอบด้วยสมาชิก จำนวน 200 คน * มาจาก “การเลือกกันเอง” ของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชียวชาญ ประสบการณ์ อาชีพต่างๆ ฯลฯ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
* แต่ในบทเฉพาะกาล มาตรา 269 กำหนดว่า “ส.ว. ชุดแรก” มีจำนวน 250 คน
แม้ว่าในรัฐธรรมนูญฯ 2560 จะกำหนดถึงการบวนการวิธีได้มาซึ่ง สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มีจำนวน 200 คน แต่ในบทเฉพาะกาล ไม่ได้นำความดังกล่าวมาใช้งานในวาระเริ่มแรก (ส.ว. ชุดแรก ภายใต้รัฐธรรมนูญฯ 2560)
มาตรา 269 เขียนไว้ว่า ส.ว. วาระแรก ให้มีจำนวน 250 คน ซึ่งมาจากการสรรหาของผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 9-12 คน ด้วยกระบวนการต่อไปนี้
1. ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง จัดการคัดเลือก ส.ว. ตามปกติ จากนั้นส่งให้ คณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.)
2. คณะผู้ทรงคุณวุฒิ (9-12 คน) คัดเลือกบุคคลที่มีความรู้คความสามารถ จำนวนไม่เกิน 400 คน จากนั้นเสนอรายชื่อให้ คสช.
3. คสช. คัดเลือก ส.ว. จากข้อ 1. จำนวน 50 คน และ จากข้อ 2 จำนวน 194 คน
4. ส.ว. ที่ได้มาจากการดำรงตำแหน่งในกองทัพ 6 คน ได้แก่
  • ปลัดกระทรวงกลางโหม
  • ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
  • ผู้บัญชาการทหารบก
  • ผู้บัญชาการทหารเรือ
  • ผู้บัญชาการทหารอากาศ
  • ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
สรุปแล้ว “ส.ว. ชุดแรก” ภายใต้บทเฉพาะกาล มาตรา 269 ของรัฐธรรมนูญฯ 2560 จะประกอบด้วย การคัดเลือกกันเอง (แล้วให้ คสช. คัดเลือก) 50 คน, ผู้ทรงคุณวุฒิเลือก (แล้วให้ คสช. คัดเลือก) 194 คน รวมกับ ผู้นำกองทัพ 6 คน เป็น 250 คน

นายกรัฐมนตรี

1. พรรคการเมือง จัดทำรายชื่อผู้เสนอตัวเป็น "นายกรัฐมนตรี" พรรคละไม่เกิน 3 ชื่อ โดยพรรคการเมืองจะไม่เสนอรายชื่อดังกล่าวก็ได้
2. ให้ ส.ส. ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 10 ของจำนวน ส.ส. เท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นชอบ เสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จากรายชื่อของแต่ละพรรค และมาจากพรรคการเมือง ที่มีสมาชิกได้รับเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 5 ของจำนวน ส.ส. เท่าที่มีอยู่
3. การลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี ให้กระทำโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของ ส.ส. เท่าที่มีอยู่ **
นายกรัฐมนตรี สามารถดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปี ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งในวาระติดกันหรือไม่
** แต่ในบทเฉพาะกาล มาตรา 271 ในระหว่าง 5 ปีแรก กำหนดให้ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรีด้วย
มาตรา 271 ในระหว่าง 5 ปีแรก ต้้งแต่มีรัฐสภาชุดแรก ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ให้เป็นการเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา (สภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภา) และ ผู้ที่ได้รับการเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (ส.ส. 500 คน และ ส.ว. 250 คน)
แต่ถ้าหากไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรี จากบัญชีรายชื่อ 3 คน ของแต่ละพรรค ให้สมาชิกกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา เสนอให้งดเว้นการคัดเลือกบุคคลจากบัญชีรายชื่อ 3 คน ของแต่ละพรรค และหากมีสมาชิกเห็นด้วย มากกว่าสองในสาม ก็สามารถเสนอชื่อ บุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ 3 คน ของแต่ละพรรค หรือไม่ก็ได้

เผยแพร่ครั้งแรกใน: ผลการเลือกตั้ง 2562

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.