Posted: 16 Nov 2018 08:12 PM PST
Submitted on Sat, 2018-11-17 11:12

ผู้จัดการชุมชนในสหรัฐฯ เขียนบทความวิพากษ์แนวคิดเรื่องการอ้างกลไกราคาตลาดของที่อยู่อาศัย การตั้งราคาเอาไว้สูงจะกลายเป็น 'ราคาที่จ่ายได้' ในเวลาต่อมา แต่ในความเป็นจริงแล้วคนจนไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยเหล่านี้ได้อยู่ดี ข้ออ้างแบบนี้ก็มักจะถูกนำมาใช้ไล่ที่ผู้คนเพื่อสร้างของแพงๆ ผลักให้คนจนออกไปเป็นชายขอบและอยู่ห่างจากบริการสาธารณะ

นิตยสารจาโคบินนำเสนอบทความวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดที่อ้างว่าการวางผังเมืองและพัฒนาเมืองในแบบที่เต็มไปด้วยการโดยสารสาธารณะจะจำกัดการพัฒนาให้เน้นอยู่แต่ในการตัดสินใจของกลุ่มคนรวยหยิบมือเดียวเพราะมีแต่คอนโดมีเนียมหรูเช่นที่เกิดขึ้นในซานฟรานซิสโกและนิวยอร์ก ขณะที่ผังเมืองแบบที่เน้นการใช้รถใช้ถนนแบบในดัลลาสและแอตแลนตาจะทำให้เกิดบ้านราคาถูกขึ้น อย่างไรก็ตามคาเรน นาเรฟสกี ผู้จัดการชุมชนจากซอมเมอร์วิลล์ รัฐแมสซาชูเซตส์ระบุว่าแนวคิดดังกล่าวไม่ได้เป็นจริงเสมอไป

แนวคิดดังกล่าวเดิมทีมีการนำเสนอจากเอ็ด แกลเซอร์ ในหนังสือของเขาที่ออกมาในปี 2554 อย่างไรก็ตามนาเรฟสกีระบุว่าแนวคิดของแกลเซอร์ทำให้เกิดความเข้าใจผิดที่ว่าการสร้างที่พักอาศัยใดๆ ก็ตามจะทำให้เกิดกลไกทางตลาดจนราคาลดลงและจะทำให้ผู้คน 'สามารถซื้อได้' ซึ่งข้ออ้างนี้ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างให้ความชอบธรรมต่อการไล่รื้อชุมชนเมืองเพื่อทำให้กลายเป็นย่านของคนมีฐานะ พวกเขาพยายามอธิบายว่าเมื่อมีคนรวยเข้าไปอาศัยอยู่ในย่านเหล่านั้นแล้ว ราคาตลาดก็จะปรับลงให้กับชนชั้นกลางเข้าไปอยู่ได้ แต่ทว่าคำอธิบายเหล่านี้ไม่ได้พูดถึงคนจนเลย

เดวิด แมดเดน เคยเขียนถึงเรื่องนี้ไว้ในเดอะการ์เดียนว่าข้ออ้างดังกล่าวละเลยความเป็นจริงที่ว่าคนรวมที่ 'โชคดีมากๆ' เหล่านี้จะบิดเบือนทางการและใช้ที่ดินเหล่านี้ไปในทางความต้องการของตัวเอง รวมถึงรัฐบาลที่จัดการเมืองก็๋กระทำในแบบที่ตัดสวัสดิการและกดขี่คนจนให้หนักขึ้น

นอกจากนี้แกลเซอร์ยังชี้ให้เห็นว่าระดับที่อยู่อาศัยที่ 'เงินซื้อได้' (affordable) ซึ่งมักจะใช้เรียกราคาที่อยู่ที่ต่ำกว่าราคาตลาดก็อาจจะรองรับคนรายได้ปานกลางหรือรายได้น้อยในบางระดับ แต่กับคนจนก็ยังไม่สามารถซื้อหาที่อยู่อาศัยเหล่านี้ได้อยู่ดี แนวคิดเรื่องการปล่อยให้ราคาตลาดซึ่งไม่ได้มั่นคงไปตลอด ไม่สามารถทำให้คนจนและชนชั้นแรงงานซื้อหาที่อยู่อาศัยได้ รวมถึงยังเป็นข้ออ้างปิดกั้นไม่ให้รัฐเข้ามาแทรกแซงการก่อสรางใหญ่ๆ ด้วย

ขณะที่แกลเซอร์มองว่าการเคหะของรัฐบาลต่างๆ ในสหรัฐฯ มีปัญหาที่ทำให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไม่ล้มเหลวในการที่จะซ่อมแซมหรือทำนุบำรุง เธอก็ระบุถึงตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในเรื่องการเคหะคือแผนการของพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยสวีเดนในช่วงราวปี 2503-2513 ที่สามารถสร้างที่พักอาศัยให้ประชากรจำนวนมากถึง 1 ใน 4 ของประเทศ ในช่วงที่ดำเนินการโครงการนี้พวกเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งอนุรักษ์นิยม เสรีนิยม ในเรื่องดีไซน์ที่ดูเป็นบล็อกๆ สถานที่ๆ อยู่รอบนอกตัวเมือง และความมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้อพยพเข้าประเทศใหม่ๆ แต่โครงการนี้ก็ยังกลายเป็นที่พักอาศัยที่มีคุณภาพสำหรับคนรายได้ต่ำในสวีเดนได้ มีการยืนยันไม่ให้แปรรูปเป็นของเอกชนและมีบางส่วนถูกปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพในทางสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ในบทความยังได้ยกตัวอย่างกรณีของฮ่องกงในช่วงราวปี 2496 ที่มีการกดดันจากกลุ่มประชาชนรายได้ต่ำและรัฐมนตรีสายก้าวหน้าให้สร้างการเคหะของรัฐเพื่อรองรับที่อยู่อาศัยของคนจนในขณะที่สิ่งก่อสร้างแบบพรีเมียมกำลังผุดขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาถึงขั้นเสนอให้มีการควบคุมราคาค่าเช่า แต่รัฐบาลฮ่องกงก็ถูกบีบให้ต้องแข่งกับผู้เล่นในตลาดผู้ที่ดูดเอาเงินอุดหนุนมาใช้ทำให้น่าหวั่นใจเกี่ยวกับสวัสดิการรัฐ

แกลเซอร์เสนอว่าที่อยู่อาศัยนั้นไม่ควรจะปฏิบัติเหมือนสินค้าอื่นๆ ทั่วไป เพราะมันเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ผู้คนทุกคนต้องการ ขณะเดียวกันที่อยู่อาศัยที่ราคาน้อยลงหน่อยก็มักจะผันผวนตามราคาที่ดินที่สูงขึ้นไปด้วยทำให้มักจะราคาสูงกว่าราคาตลาดอยู่ดี ทำให้คนจนไม่มีทางเลือกที่ดีสำหรับที่พักอาศัย ทำให้หลายคนต้องไปแออัดยัดเยียดอยู่ในที่พักที่ไม่ค่อยได้มาตรฐาน บางคนกลายเป็นคนไร้บ้าน บางคนพลัดถิ่นไปอยู่นอกเมืองหรือตามขอบเมือง ซึ่งยิ่งห่างออกไปก็ยิ่งทำให้เข้าถึงบริการสาธารณะยากขึ้น

แกลเซอร์ระบุอีกว่าในขณะที่เมืองต่างๆ พยายามขายฝันด้วยสิ่งก่อสร้างหรูหราที่เน้นศูนย์ธุรกิจสำหรับคนจากต่างประเทศและเชื่อว่าความยากจนจะไม่มีอีกต่อไป แต่จริงๆ แล้วความยากจนยังคงมีอยู่ แค่ไปอยู่ที่อื่นนอกสายตาเท่านั้น แกลเซอร์ยังได้อ้างอิงถึง เฟรเดอริค เองเกล หนึ่งในนักคิดสังคมนิยมที่เคยพูดถึงเรื่องที่อยู่อาศัยมาก่อน ทำให้ทราบว่าที่อยู่อาศัยของผู้คนนั้นไม่สามารถแยกออกจากเรื่องสภาพทางเศรษฐกิจของผู้คนที่แวดล้อมอยู่ได้ การตั้งคะแนนเครดิต หรือการต่อต้านการควบคุมกลไกราคาไม่ให้สูงเกินไป บวกกับการได้รับค่าแรงต่ำ ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดปัญหาและการไร้ที่อยู่อาศัยมันก็ไม่ใช่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน แต่เป็นปัญหาจากการจัดการระดับสถาบันสังคมทุนนิยม

ที่มาภาพประกอบ: Keith Ewing (CC BY-NC 2.0)

เรียบเรียงจาก
Trickle-down Gentrification, Karen, Narefsky, 31-12-2013
https://jacobinmag.com/2013/12/trickle-down-gentrification

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.