Posted: 17 Nov 2018 11:36 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatia.com)
Submitted on Sun, 2018-11-18 02:36
อาจินต์ ปัญจพรรค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เสียชีวิตแล้วในวัย 91 ปี จะมีพิธีรดน้ำศพที่วัดตรีทศเทพวันอาทิตย์นี้ โดยอาจินต์ฝากผลงานเขียนหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องสั้นชุด "เหมืองแร่" ที่มาของภาพยนตร์ "มหา'ลัย เหมืองแร่" นอกจากนี้ยังตีพิมพ์นิตยสาร "ฟ้าเมืองไทย" และยังเป็นผู้แต่งเพลงประกอบละคร-ภาพยนตร์ อาทิ มาร์ชลูกหนี้ และสวัสดีบางกอก
ภาพปกรวมเรื่องสั้นเหมืองแร่ ฉบับสมบูรณ์ เล่ม 1 และ 2 ฉบับที่พิมพ์ใหม่ปี พ.ศ. 2536 โดยสำนักพิมพ์หมึกจีน
อาจินต์ ปัญจพรรค์ ในสมุดภาพไทยทีวี
เมื่อเวลา 22.58 น. วันที่ 17 พ.ย. 2561 ใน Facebook Page เพจอาจินต์ ปัญจพรรค์ได้แจ้งข่าวว่า "เรียนแฟนเพจทุกท่าน เรามีความเศร้าอย่างยิ่งที่จะแจ้งให้ทราบว่า คุณลุงอาจินต์ ปัญจพรรค์ อันเป็นทีรักของเราทุกคน ถึงแก่มรณะกรรมแล้วเมื่อเวลาประมาณ 17 .44 น. ณ โรงพยาบาลบางไผ่ ของวันที่ 17 พฤศจิกายน 2561 สิริรวมอายุ 91 ปี 1 เดือน 6 วัน เพจอาจินต์ ปัญจพรรค์ ขอกราบลาคาราวะด้วยความอาลัยอย่างที่สุด"
สำหรับกำหนดการในวันที่ 18 พ.ย. เวลา 16.00 น. จะมีพิธีรดน้ำศพที่วัดตรีทศเทพ ศาลา 9 โดยบุคคลทั่วไป แฟนหนังสือ สามารถเข้าร่วมพิธีได้ โดยผู้จัดขอให้แต่งกายสุภาพ
ข้อมูลในวิกิพีเดีย อาจินต์ ปัญจพรรค์ เกิดวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2470 ที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เป็นบุตรชายของขุนปัญจพรรค์พิบูล (พิบูล ปัญจพรรค์) อดีตนายอำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี และข้าหลวงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และข้าหลวงจังหวัดนครปฐม กับนางกระแส ปัญจพรรค์ (โกมารทัต) มีพี่น้องร่วมบิดามารดา คือ ชอุ่ม ปัญจพรรค์ พล.ต.ท.ลัดดา ปัญจพรรค์ และวัฒนา ปัญจพรรค์ มีน้องสาวต่างมารดาคือ เยาวรัตน์ ปัญจพรรค์
อาจินต์เรียนชั้นประถมที่โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย จังหวัดนครปฐม เรึยนชั้นมัธยมที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ ปากคลองตลาด กรุงเทพมหานคร โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เรียนระดับอุดมศึกษาที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อกำลังเรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้มหาวิทยาลัยงดการเรียนการสอน นิสิตต่างพากันกลับบ้านเกิดหนีการทิ้งระเบิดเพื่อทำลายจุดยุทธศาสตร์สำคัญในกรุงเทพมหานคร เมื่อภาวะสงครามสงบอาจินต์กลับมาเรียนอีกครั้ง แต่การใช้ชีวิตในช่วงหนีภัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้อาจินต์กลับมาเรียนต่อได้ไม่ดี ทำให้ถูกรีไทร์ บิดาจึงส่งไปทำงานหนักในเหมืองแร่เพื่อดัดนิสัยที่จังหวัดพังงา อาจินต์ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าวมาเขียนในเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่
ในช่วงที่ทำงานเหมืองแร่ จ.พังงา ปี พ.ศ. 2490 อาจินต์เริ่มเขียนเรื่องสั้น "ในทะเลมีเศรษฐศาสตร์" และสารคดี "จดหมายจากเมืองใต้" ใช้นามปากกา "จินตเทพ" ตีพิมพ์ใน "โฆษณาสาร" รายเดือน
พ.ศ. 2492 ทำงานที่เหมืองดีบุกกระโสม ใน จ.พังงา ซึ่งจะเป็นฉากในเรื่องสั้นชุด "เหมืองแร่" ในเวลาต่อมา
พ.ศ. 2494 ตีพิมพ์ "เศรษฐศาสตร์กลางทะเลลึก" เผยแพร่ใน "พิมพ์ไทย" วันจันทร์
พ.ศ. 2496 หลังกิจการเหมืองแร่เลิกกิจการจึงกลับกรุงเทพมหานคร และเขียนนวนิยายจริงจัง เช่น "บ้านแร" "ค่ายโคบาล" ผลงานแปล "เฮนรี่ เจ.ไกซเอร์" รวมทั้ง "ในเหมืองแร่มีนิยาย 4 ตอนจบในนิตยสาร "จ.ส.ช."
พ.ศ. 2497 เรื่องสั้น "สัญญาต่อหน้าเหล้า" ในนามปากกา “จินตเทพ” ลงพิมพ์ "สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์" ฉบับปฐมฤกษ์ ประหยัด ศ.นาคะนาท เป็นบรรณาธิการ ทำให้มีโอกาสเขียนเรื่องสั้นชุด "เหมืองแร่" ลงพิมพ์ในนิตยสาร “ชาวกรุง”
ทั้งนี้เรื่องสั้นชุด "เหมืองแร่" ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 จิระ มะลิกุลจะนำไปเขียนบทและสร้างภาพยนตร์ มหา'ลัย เหมืองแร่ (The Tin Mine)
นอกจากนี้อาจิตนยังทำงานที่สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหม เมื่อปี พ.ศ. 2498 เป็นบรรณาธิการนิตยสาร "ไทยโทรทัศน์" รายเดือน ของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4
พ.ศ. 2502 ได้รับเลือกให้ไปดูงานด้านโทรทัศน์กับชาวอเมริกัน ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 4 เดือน
พ.ศ. 2508 ตั้งสำนักพิมพ์ "โอเลี้ยง 5 แก้ว" เพื่อพิมพ์เรื่องสั้นของตนเอง นอกจากนี้ยังตั้งคณะละครโทรทัศน์ของตนเอง
พ.ศ. 2511 ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าแผนกผังรายการ และหัวหน้าแผนกบริการธุรกิจ และตำแหน่งบรรณาธิการนิตยสาร "ไทยโทรทัศน์"
พ.ศ. 2512 ร่วมหุ้นตั้งโรงพิมพ์อักษรไทย และทำนิตยสาร "ฟ้าเมืองไทย" รายสัปดาห์ ออกฉบับปฐมฤกษ์ วันจักรี 6 เมษายน พ.ศ. 2512 โดยดำเนินการพิมพ์จนถึงปี พ.ศ. 2531 โดยหลังจากนั้นพิมพ์แบบรายเดือนจนถึงตุลาคม พ.ศ. 2543
ทั้งนี้เขาได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ในปี 2534 และรางวัลศรีบูรพา ประจำปี 2535
อาจินต์ยังมีผลงานแต่งเพลงได้แก่ เพลงประกอบละคร "สวัสดีบางกอก" และ "อย่าเกลียดบางกอก" เนื้อเพลง "มาร์ชลูกหนี้" และ "อาณาจักรผีๆ" เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง "เงิน เงิน เงิน" และ "แม่นาคพระนคร" "จดหมายรักจากเมียเช่า" เนื้อเพลงในชุด "ปริญญาชาวนา" ขับร้องโดย ธานินทร์ อินทรเทพ
แสดงความคิดเห็น