Posted: 24 Nov 2018 05:23 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sat, 2018-11-24 20:23
ใบตองแห้ง
พึ่งรู้นะนี่ ว่าคนรุ่นใหม่สนใจการเมือง หน้าตาสวยใส โปรไฟล์เด่นดัง หลั่งไหลเข้าพรรคต่างๆ ไม่เว้นพรรคพลังรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ตอนอยากเลือกตั้ง เห็นแต่รังสิมันต์ โรม, โตโต้, จ่านิว กับเพื่อนๆ ไม่กี่คนเท่านั้น
พูดอย่างนี้ไม่ใช่ผิดหวัง คนรุ่นใหม่ก็ไม่ต่างจากรุ่นเก่า ที่มีความคิดหลากหลาย ยิ่งในโลกยุคปัจจุบัน ความคิดทางการเมืองผันผวนไปมากมาย คนรุ่นใหม่ที่น่าจะเปิดกว้าง รักสิทธิเสรี กลายเป็นนีโอคอนก็เยอะไป แบบเลือกตั้งออสเตรีย ได้ผู้นำอายุน้อยที่สุดในโลก ชูนโยบายชาตินิยมฝ่ายขวา หรือเลือกตั้งบราซิล บรรดาซุปตาร์นักเตะก็เชียร์ประธาธิบดีที่ได้ฉายาทรัมป์+ดูเตอร์เต
คือในขณะที่ Gen Y Gen Z เติบโตมาท่ามกลางข้อมูลข่าวสารท่วมท้นโลกออนไลน์ คนรุ่นใหม่ที่สนใจใคร่รู้ ก็เก่งกาจกว้างไกลกว่าคนรุ่นเก่าหลายร้อยพันเท่า แต่ในด้านกลับกัน ความท่วมท้นรวดเร็ว ก็ทำให้เกิดการเลือกรับข้อมูลข่าวสารที่โดนใจ หรือถูกจริต ท่ามกลางชีวิตในสังคมบริโภค ซึ่งเกิดความคิดแยกส่วน โลกส่วนตัวสูง คล้อยไปทางหนึ่งทางใดได้ง่าย
นี่ยังไม่พูดถึงการเติบโตมาในระบบการศึกษา การอบรมบ่มเพาะโดยสังคมไทย ซึ่งผลสำรวจธนาคารโลกพบว่า ในประเทศส่วนใหญ่ ผู้มีการศึกษาสูงจะเชื่อมั่นประชาธิปไตยมากกว่าผู้มีการศึกษาน้อย แต่พี่ไทยกลับกัน เหนือชาติใดในโลก คือคนจบปริญญาเชื่อประชาธิปไตยแค่ 53% คนจบประถม 62% เชื่อว่าประชาธิปไตยกินได้
จึงยังไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่า คนรุ่นใหม่ 6 ล้านกว่าเสียง ที่ไม่เคยเลือกตั้ง จะสนใจการเมืองแค่ไหน จะไปเลือกตั้งเท่าไหร่ เลือกฝั่งไหน เลือกฝั่งประชาธิปไตยหรือสืบทอดอำนาจ ฯลฯ ถึงแม้ผลประชามติปี 59 พบว่า นักศึกษาแทบทุกมหาวิทยาลัย ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปลาปักเป้า
คนรุ่นใหม่สนใจอะไร เกม กีฬา อีสปอร์ต ไอดอล ฯลฯ อยากมีชีวิตของตัวเอง ไลฟ์สไตล์ของตัวเอง แล้วรู้สึกไหมว่าการเมืองกระทบตัวเอง หรือสี่ปีไม่เดือดร้อนอะไร ไม่สนใจ พ.ร.บ.คอมพ์ พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์
รู้มั้ย ในขณะที่ทุกพรรคหาเสียงกับคนรุ่นใหม่ เนวินกลับเป็นที่นิยมเหนือความคาดหมาย เพราะคนรุ่นใหม่หลายพื้นที่ อยากให้จังหวัดตัวเองมีทีมฟุตบอลมีสนามแบบบุรีรัมย์
เอ่อ ก็ชอบสโลแกนภูมิใจไทยนะ ที่ชูกระจายอำนาจ แต่นี่คือความสนใจเฉพาะเรื่องโดยไม่สนใจอดีตและอนาคต ไม่สนใจจุดยืนว่าร่วมรัฐบาลกับใคร
คนรุ่นใหม่เอาประชาธิปไตยแค่ไหน เข้าใจความสำคัญของการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่ จึงยังคาดไม่ถูก อย่างไรก็ดี ประเด็นเฉพาะหน้าในการต่อสู้ช่วงชิงคนรุ่นใหม่ หลักๆ น่าจะสู้กันอยู่ใน 2 ประเด็นคือ ฝั่งหนึ่งรณรงค์คัดค้านการสืบทอดอำนาจ อีกฝั่งหนึ่งขายฝัน ก้าวข้าม แบบคนรุ่นใหม่ในพรรคที่ดูดนักการเมืองเก่า อ้างว่าอยากผลักดันการเมืองไทยให้พ้นไปจากวังวนความขัดแย้งแบบเดิมๆ
การเมืองแบบเก่ามันน่าเบื่อ ลืมอดีต Lost Decade ลืมเรื่องขัดแย้งกัน มาระดมสมอง ใช้เทคโนโลยี AI พัฒนาประเทศภายใต้ท่านผู้นำ ฯลฯ สำหรับคนรักประชาธิปไตย คนเจ็บแค้นกับความอยุติธรรม คนคัดค้านอำนาจไม่ชอบธรรม อาจทนฟังไม่ได้
กระนั้นอย่าลืมนะ สำหรับคนรุ่นใหม่ที่คิดว่าตัวเองไม่ควรต้องรับภาระอะไร แค่ชีวิตตัวเอง ก็หนักพอแล้ว มันฟังเหมือนโดนใจ ยุ่งยากวุ่นวาย เถียงกันอยู่ได้ ไม่เห็นเกี่ยวกับเรา
แต่นั่นคือการชูประเด็นผิวเผิน โดยไม่พูดเรื่องใหญ่ อะไรคือการสืบทอดอำนาจ มันไม่ใช่แค่ผู้นำหน้าเดิม ทีมเศรษฐกิจเดิมๆ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน แต่มันคือการสืบทอดระบอบอำนาจนิยม รัฐราชการเป็นใหญ่ รัฐที่ควบคุมโดยฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายกฎหมาย ซึ่งขยายอำนาจไปกว้างขวาง และกระชับอำนาจสู่ศูนย์กลาง มาตลอดสี่ปี ตอนนี้ก็จะลงหลักปักฐาน ไปอีกอย่างน้อยห้าปี ถึงตอนนั้น ต่อให้มีรัฐบาลจากเลือกตั้ง ก็แทบทำอะไรไม่ได้
นี่คือรัฐระบอบคุณลุงรู้ดี ที่จะควบคุมวิถีชีวิตคุณ เป็นผู้ปกครองและจัดระเบียบ เหมือนไม่ต้องออกจากโรงเรียนจนวันตาย โดยมุ่งรักษาโครงสร้างอำนาจแบบเดิมๆ เป็นเป้าหมายสำคัญ เป็นรัฐที่ใหญ่โต กีดขวาง เป็นภาระงบประมาณ แค่ปัจจุบันก็มีหนี้มหาศาล ซึ่งคน Gen X Gen Y จะต้องแบกภาษีอ่วมไปอีก 40-50 ปี ถ้าไม่สามารถลดอำนาจลดขนาดรัฐลงไปสู่ รัฐบริการ หรือ รัฐสวัสดิการ เป็นหลักประกันระยะยาว
เว้นแต่จะได้เข้ารับราชการ ตำแหน่งดี เงินเดือนสูง แถมเบี้ยประชุม หรืออยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากความเหลื่อมล้ำ ก็ว่าไปอย่าง
นี่ต่างหากคือการ ลบล้างผลพวงรัฐประหาร ที่คนรุ่นใหม่ควรตระหนัก
เผยแพร่ครั้งแรกใน: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/hot-topics/news_1864996
แสดงความคิดเห็น